| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพุทธศาสนา

ศาสนสถาน

           เพิงผาพระระเบียง กุฎิฤาษี หรือถ้ำพระนอน  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขานาห้วย บ้านนาห้วย ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี ลักษณะเป็นการก่อสร้างดัดแปลงเพิงผาธรรมชาติให้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เดิมมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ประดิษฐานอยู่โดยหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง แต่ถูกทำลายไปเกือบหมด บางส่วนราษฎรในท้องถิ่นนำไปซ่อมแซม โดยพอกปูนทับแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ตามที่ต่าง ๆ ในเขตอำเภอปราณบุรี เช่น วัดนาห้วย วัดนาน้อย โรงเรียนวัดนาห้วย และโรงเรียนปากน้ำ เป็นต้น
            ปัจจุบันเพิงผาพระระเบียง มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเหลือเพียงผนังก่ออิฐ จากการสำรวจภายในบริเวณเพิงผา พบชิ้นส่วนปูนฉาบ กลีบบัวปูนปั้น เศษกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา เศษภาชนะดินเผา และเศษเครื่องถ้วยจีน ภายในบริเวณเพิงผาพบอิฐขนาดใหญ่ลักษณะเหมือนอิฐที่พบในแหล่งทวารวดี ปะปนอยู่กับอิฐแบบอยุธยา

           วัดเขาน้อย  ตั้งอยู่ที่บ้านเขาน้อย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี เป็นวัดเก่าสันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา พบเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนยอดเขาลูกโดด มีสภาพหักพังเสียหายมาก จนไม่สามารถเห็นรูปทรงที่ชัดเจน ฐานอุโบสถอยู่ที่พื้นด้านล่าง ทางทิศตะวันตกของเขาน้อยทางวัดได้สร้างอาคารซ้อนทับไปแแล้ว ปัจจุบันในเสมาเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว เป็นใบเสมาสลักจากหินทรายแดง และมีเศียรพระพุทธรูปจำนวนสองเศียรแกนเป็นหินทรายแดง ส่วนองค์พระพุทธรูปทำขึ้นใหม่
            บริเวณภูเขาด้านล่างทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชาวบ้านเคยพบฐานสิ่งก่อสร้างสองแห่ง นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องถ้วยจีนประเภทเครื่องลายคราม
            ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านปรือน้อย ตำบลปราณบุรี สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนโบราณสมัยอยุธยา พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา โดยเฉพาะเครื่องลายครามเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ทำจากโลหะ เช่น ตะเกียง เงินพดด้วง เครื่องประดับ

           พระพุทธบาทเขาล้อมหมวก  เขาล้อมหมวกเป็นเขาหินปูนชายทะเล มีลักษณะสูงชัน อยู่ในเขตกองบิน ๕๓ ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง ฯ ยอดเขาสูงประมาณ ๘๗๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล พบโบราณสถานมีร่องรอยแนวก่ออิฐถือปูนเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละ ๒.๕ เมตร อิฐที่พบนิยมใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร และมีรอยพระพุทธบาทจำลอง สลักจากหินแกรนิต จำนวนสี่ชิ้นประกอบกันเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดยาวประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร กว้าง ๕๐ เซนติเมตร หนา ๑๓ เซนติเมตร รอยพระพุทธบาทสลักลงในหินเพียงตื้น ๆ ชำรุดบริเวณส้นพระบาทเล็กน้อย
            เดิมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนนิยมขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทแห่งนี้ แต่หลังจากปี พ.ศ.๒๔๖๕  เมื่อมีการตั้งกองบินน้อยที่ ๕ (กองบิน ๕๓ ปัจจุบัน)  บริเวณนี้ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ปัจจุบันกองบิน ๕๓ กำลังสร้างบันไดขึ้นบนยอดเขา และจัดสร้างพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
           ดอนวัด  อยู่ที่บ้านบ่อกุ่ม ตำบลหนองยายหนู อำเภอกุยบุรี มีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ อยู่ท่ามกลางทุ่งนาและป่าละเมาะ เดิมมีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ต่อมาเมื่อมีการไถปรับพื้นที่ได้พบโบราณวัตถุ เป็นภาชนะบรรจุกระดูกจำนวน ๖ ใบ เป็นหม้อก้นกลมแบบหม้อทะนน ตกแต่งผิวด้วยลายกดประทับ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามแบบจีน ชิ้นส่วนพระบาทของพระพุทธรูปยืน ซึ่งทำจากหินทราย เศษอิฐ และกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา
            จากโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะภาชนะดินเผา เป็นรูปแบบภาชนะที่พบทั่วไปจากแหล่งโบราณคดีสมัยอยุธยา ขนาดของอิฐรูปแบบของกระเบื้อง ตลอดจนชิ้นส่วนรูปเคารพ ล้วนแต่เป็นแบบที่พบในสมัยอยุธยาทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าบริเวณดอนวัดนี้ น่าจะเป็นศาสนสถานสมัยอยุธยา โดยมีแหล่งชุมชนตั้งอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันตก และทิศเหนือ ซึ่งพบร่องรอยการอยู่อาศัย มีเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน
ศาสนบุคคล

          หลวงพ่อเปี่ยม  หลวงพ่อเปี่ยม แห่งวัดเกาะหลัก เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ชาวเมืองประจวบ ฯ เคารพนับถืออย่างสูง เนื่องจากท่านได้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่สังคมนานัปการ เป็นที่ประจักษ์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต
            หลวงพ่อเปี่ยมเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเกาะหลัก ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระสุเมธีวรคุณ นิบุณคีรีเขตต์ ชลขันธประเวศสังฆปาโมกข์
            หลวงพ่อเปี่ยมเกิดที่บ้านนาห้วย ตำบลเมืองเก่า อำเภอปราณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่ออายุได้ห้าขวบ มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระอุปัชฌาย์อู เจ้าอาวาสวัดนาห้วย ท่านได้เรียนหนังสือไทยและหนังสือขอม จนอ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ โดยพระครูสุวรรณมุนี วัดพระทรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญ วัดชีว์ประเสริฐ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เกตุ และพระอาจารย์พุ่ม วัดลาด เป็นคู่กรรมวาจา อนุศาวนาจารย์ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดลาด ๕ ปี  ได้ศึกษาภาษาบาลี บำเพ็ญสมณกิจด้วยความเคร่งครัด
            ต่อมาท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดนาห้วย ได้เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแลการสร้างโบสถ์ วัดนาห้วยจนสำเร็จ
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๘  ท่านได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้รักษาการณ์ในตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดนาห้วย และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙  ระหว่างที่อยู่วัดนาห้วย ท่านได้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และเริ่มมีชื่อเสียงทางโหราศาสตร์นับแต่นั้นมา
            ในปี พ.ศ.๒๔๖๒  ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำหน่งเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี และอำเภอเมือง ฯ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระครูธรรมโสภิต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ และได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระครูสุเมธีวรคุณ เจ้าคณะรอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕  และปี พ.ศ.๒๔๖๗ ตามลำดับ
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๓  ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบ ฯ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระสุเมธีวรคุณ ฯ
            งานสำคัญของท่านคือ การปกครองภิกษุสามเณรด้วยคุณธรรม ริเริ่มบูรณปฎิสังขรณ์ปรัปปรุงแก้ไขการวางผังเสนาสนะ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การสร้างพระอุโบสถ การเปิดโรงเรียนนักธรรม และบาลี การสร้างบ่อน้ำ และถังน้ำประปาสำหรับวัดเกาะหลัก และการก่อสร้างอื่น ๆ อีกมาก
            หลวงพ่อเปี่ยมเป็นผู้มีเมตตาอารีกับบุคคลทั่วไป มีอัธยาศัยละมุนละม่อม พูดน้อย แต่น่าฟัง พูดจริงทำจริง สงเคราะห์ผู้เดือดร้อน โดยยึดหลักธรรมสี่ข้อคือ
                -  แผ่เมตตาแก่ทุกคน ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน
                -  เมื่อเห็นใครได้ทุกข์ ก็ช่วยให้พ้นทุกข์เท่าที่สามารถจะช่วยได้
                -  รักความยุติธรรม
                -  มีความเฉียบขาดในเรื่องควรเฉียบขาด
            ส่วนหลักธรรมในการทำงานให้สำเร้จ ใช้หลักอิทธิบาทสี่ คือ
                -  ทำให้รักใคร่ในงานที่ทำให้จริงให้ยิ่งที่สุด
                -  พยายามพากเพียรบากบั่นให้กล้าแข็ง
                -  อย่าย่อถ้อต่ออุปสรรคซึ่งมาปรากฎเฉพาะหน้า
                -  ใช้ความดำริตริตรอง พินิจพิจารณาในการงาน พอนึกก็ให้มองเห็น
            นอกจากนี้ท่านยังมีคติธรรมที่น่าสนใจ จารึกไว้ที่กำแพงทั้งด้านในและด้านนอก พระอุโบสถวัดเกาะหลัก เช่น
                -  ถ้ามัวเห็นแต่ความยากเสียแล้วก็พ้นทุกข์ไม่ได้ เหมือนบุคคลที่จะดับไฟที่ไหม้บ้าน ถ้ามัวกลัวร้อนอยู่ก็ดับไม่ได้
                -  คนเราอยู่ในเรือนของผู้ใด แม้วันเดียวคืนเดียว หรือได้รับข้าวรับน้ำใจในเรือนผู้ใดบริโภค ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้แต่ใจคิด
                -  ความชั่วไม่ทำเสียดีกว่า เพราะความชั่วย่อมเผาผลาญผู้กระทำในภายหลัง ส่วนความดีที่ทำแล้วไม่เผาผลาญผู้กระทำในภายหลัง ทำนั่นแหละดีกว่า
                -  อันกิริยาวาจาอัชฌาสัย แม้ตั้งใจทำให้ดีไม่มีเฉา ประชาชนพลพรรคย่อมรักเรา ไม่ต้องเป่าเสกสั่งยังขลังเอย
                -  รักดีต้องหนีชั่ว ประกอบตัวให้มีดี ให้ดีอย่างสืบดี รักษาดีให้คงทน ความดีที่มีแล้ว หากคลาดแคล้วก็ไร้ผล มีดีประจำตน ย่อมส่งผลให้คนดี
                -  วิญญูชนคนมีเชาว์เข้าใกล้ปราชญ์ ครู่เดียวอาจรู้ธรรมข้ามสงสัย ด้วยน้อมรับสดับบทกำหนดใน เหมือนลิ้นได้รสแกงก็แจ้งจริง
                -  หากทางไกลไปไม่หยุดคงสุดสิ้น ครลุถิ่นที่ประสงค์ลงสักหน กิจการงานที่ทำไม่นิ่งจน ควลุผลสำเร็จดังเจตนา
                -  วัดดีจะมีสถานเพราะบ้านช่วย บ้านสะสวยเพราะวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยอำนวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง


ฯลฯ

| ย้อนกลับ | บน |