| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
พื้นที่ป่า
จังหวัดประจวบ ฯ มีพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์หลายแห่ง มีพืชพันธุ์ไม้หลายหลากชนิด
และสัตว์ป่า สัตว์น้ำ นานาชนิด
ป่าสงวนแห่งชาติ
ในเขตจังหวัดประจวบ ฯ มีอยู่ ๒๐ แห่งด้วยกันคือ
- ป่าดอนเต็งรัง
อยู่ในเขตอำเภอปราณบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๘๒๐ ไร่
- ป่าคลองเก่าคลองคอย
อยู่ในเขตอำเภอปราณบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
- ป่าเขาเขียว
อยู่ในเขตอำเภอปราณบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๓,๗๐๐ ไร่
- ป่ากุยบุรี
อยู่ในเขตกิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอเมือง ฯ และอำเภอกุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ
๙๑๖,๐๐๐ ไร่
- ป่าเขาน้อย
อยู่ในเขตอำเภอกุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่
- ป่าคลองวาฬ
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่
- ป่าเขาตาม่องล่าย
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื่นที่ประมาณ ๙๐๐ ไร่
- ป่าเขาทุ่งมะเม่า
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่
- ป่าทุ่งกระต่ายขัง
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
- ป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง
อยู่ในเขตอำเภอทับสะแก มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๕๐๐ ไร่
- ป่าทับสะแก
อยู่ในเขตอำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๑,๐๐๐ ไร่
- ป่ากลางอ่าว
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่
- ป่าพุน้ำเค็ม
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๖๑,๒๐๐ ไร่
- ป่าเขาไชยราชและป่าคลองกรูด
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ ไร่
- ป่าคลองแม่รำพึง
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๔,๖๐๐ ไร่
- ป่าเขาสีเสียด
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๐ ไร่
- ป่าเขากลอย
อยู่ในเขตอำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๕,๑๐๐ ไร่
- ป่าเขาถ้ำพยอม
อยู่ในเขตอำเภอสามร้อยยอด มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๐๐ ไร่
- ป่าเขาน้อยห้วยตามา
อยู่ในเขตกิ่งอำเภอห้วยยอด มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่
- ป่าเลนบางปู
อยู่ในเขตกิ่งอำเภอห้วยยอด มีพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่
อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มีอยู่ทั้งหมด ๙ แห่งด้วยกันคือ
- อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๙๕๕ ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ ๕๙๗,๐๐๐ ไร่ นับเป็นอุทยาน ฯ ที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดประจวบ
ฯ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าในเขตอำเภอปราณบุรี กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี
และอำเภอเมือง ฯ มีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกจดแนวพรมแดนไทย-พม่า
สภาพป่ามีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจอยู่มาก
เช่น ไม้ยาง ไม้จันทน์ ไม้ตะแบก ไม้มะค่าโมง ไม้มะยมหอม ไม้ตะเคียนทอง ฯลฯ
สัตว์ป่าที่พบมีหลายชนิดเช่น เก้ง หมีควาย หมูป่า เสือ กวาง กระทิง หมาป่า
หมาไน เลียงผา สมเสร็จ ช้างป่า ฯลฯ มีสัตว์ป่าสงวนได้แก่ เลียงผา และสมเสร็จ
แหล่งธรรมชาติที่น่าสนใจได้แก่ น้ำตก มีอยู่สองแห่งคือ น้ำตกห้วยดงมะไฟ
เกิดจากต้นน้ำลำน้ำกุยบุรี แพรกขวา มีลักษณะเป็นผาลาดชัน ลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น
ๆ จำนวน ๑๕ชั้น ชั้นที่ ๙ เป็นชั้นน้ำตกที่สวยที่สุด สูงประมาณ ๕ เมตร
กว้างประมาณ ๓ เมตร ส่วนน้ำตกที่สูงที่สุดคือ น้ำตกชั้นที่ ๑๔ และชั้นที่
๑๕ สูงประมาณ ๑๒ - ๑๕ เมตร มีแอ่งน้ำลงเล่นน้ำได้ น้ำตกผาหมาหอน
เกิดจากต้นน้ำกุยบุรี แพรกซ้าย มีลักษณะเป็นผาลาดชันเกือบตั้งฉากมีสามชั้น
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ น้ำใส ไหลแรงตลอดปี บริเวณตอนล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ลงไปเล่นน้ำได้
- อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด
เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๖๑,๓๐๐ ไร่
อยู่ในเขตอำเภอปราณบุรี และอำเภอกุยบุรี มีเขาสามร้อยยอดอยู่ในเขตอุทยาน ฯ
สภาพภูมิประเทศ เป็นภูเขาหินปูนสูงชัน มีริมฝั่งทะเลที่สวยงาม ที่ราบริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลน
และห้วงน้ำทะเลตื้น มีหมู่เกาะหินปูนในทะเลใกล้ชายฝั่งรวม ๕ เกาะ คือ เกาะสัตกูด
เกาะโครำ เกาะนมสาว เกาะระวิง และเกาะระวาง ส่วนพื้นที่ราบมีน้ำขังตลอดปี
อยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยาน ฯ คือ ทุ่งสามร้อยยอด
เป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของนกและปลาน้ำจืดนานาชนิด
มีพื้นที่ประมาณ ๓๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ หนึ่งในสี่ของพื้นที่อุทยาน
น้ำจืดในทุ่งนี้มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลมาทางห้วยโพดก ห้วยขมิ้น
ห้วยหนองคาว ห้วยไร่ตาพึง แล้วไหลลงสู่ทะเลตามคลองเขาแดง
ยอดเขาสามร้อยยอด ที่สูงสุดในเขตอุทยาน
ฯ สูง ๖๐๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล ยอดเขาที่สำคัญได้แก่ เขาใหญ่
เขาถ้ำ เขาประทุน เขาแดง เขาหุบจันทร์ เขาคั่นบันได
จากการกัดเซาะหินปูนหลายแห่งมีลักษณะเป็นถ้ำปล่อง หุบเหวขนาดใหญ่ที่สำคัญได้แก่
ถ้ำแก้ว ถ้ำไทร ถ้ำพระยานคร
ภายในถ้ำดังกล่าว มีหินงอกหินย้อยสวยงามเป็นจำนวนมาก
เขาสามร้อยยอดมีระบบนิเวศน์ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ห้วงน้ำทะเลตื้น ชายหาด
ป่าชายเลน ทุ่งน้ำจืด ทุ่งหญ้า ป่าเขาหินปูน เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
โดยเฉพาะนกชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีป่าที่พบพืชประเภทต่าง ๆ ได้แก่ป่าชายหาด
ป่าชายเลน ป่าเขาหินปูน มีพืชน้ำที่สำคัญได้แก่ สนทะเล โพทะเล กระทิง จันทน์
เกตุ มะเลือ อ้อยช้าง โมกมัน จันทน์ผา จันทน์แดง มะค่าโมง โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก
โปรง ตะบูน แสม ฯลฯ พืชที่พบในทุ่งน้ำจืดมี กก พง อ้อ หญ้าปล้อง หญ้าไซ บัว
ผักแวน บอน หัวแห้ว ฯลฯ
ความแตกต่างทางสภาพธรรมชาติของเขาสามร้อยยอด ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
ที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของนกประจำถิ่นและนกที่อพยพเข้ามาอาศัยตามฤดูกาลถึงเกือบ
๓๐๐ ชนิด เช่น นกกระสาแดง นกกระสานวล เป็ดแดง เป็ดหางแหลม เป็ดลาย นกหัวโตเล็กเขาเหลือง
นกหัวโตทรายเล็ก นกชายเลนบึง นกชายเลนน้ำจืด นกชายเลนปากแอ่น นกอีก๋อยตะโพกน้ำตาล
นกซ่อมทะเลอกแดง นกอัญชันอกเทา นกอัญชันคิ้วขาว นกอีโด้ง นกนางนวลแกลบเล็ก
นกหัวโตมลายู นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ นกออก นกหัวขวาน ฯลฯ
นอกจากนี้บริเวณเทือกเขาหินปูนยังเป็นที่อยู่อาศัยของเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่สำคัญชนิดหนึ่ง
ส่วนสัตว์ป่าอื่น ๆ ก็มี เสือปลา เก้ง ลิงแสม ค่างแว่น อีเห็น เม่น และกระต่ายป่า
เป็นต้น
- อุทยานแห่งชาติหาดนวกร
อยู่ในเขตตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก มีพื้นที่ประมาณ ๒๓,๘๐๐ ไร่ มีชายหาดที่เงียบสงบ
สะอาดสวยงาม ในเขตอุทยาน ฯ มีเกาะเล็ก ๆ อยู่สองเกาะคือ เกาะจาน
และเกาะท้ายทริย์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก
โดยการปิดกั้นลำห้วยสำคัญได้แก่ ห้วยคลองหินจวง ซึ่งไหลผ่านตอนกลางพื้นที่อุทยาน
ฯ
อุทยาน ฯ แห่งนี้เดิมเป็นพื้นที่สวนเก่า ป่าไม้ธรรมชาติมีอยู่เพียงเล็กน้อย
เช่น เกด ยาง ประดู่ มะค่า ฯลฯ พันธุ์ไม้ที่ปลูกใหม่ได้แก่ สนทะเล สนประดิพัทธ์
สะเดา สัก สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่เป็นนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกเอี้ยงสาริกา นกขมิ้นท้ายทอยดำ
นกยางกรอด นกแซงแซว นกตะขาบทุ่ง นกกระแตแต้แว๊ด นาจาบคาเล็ก นกกาใหญ่ นกแอ่นบ้าน
นกนางแอ่นกินรัง ฯลฯ ส่วนสัตว์ป่าอื่น ๆ ได้แก่ อีเห็น กระต่ายป่า เม่น
ฯลฯ สัตว์น้ำมี ปลาดุก ปลาช่อน ปลาขาว สำหรับปะการังพบในบริเวณเกาะจาน
และเกาะท้ายทริย์
- วนอุทยานป่ากลางอ่าว
อยู่ในเขตตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน มีพื้นที่ประมาณ ๑,๒๐๐ ไร่ เดิมเป็นป่าสงวนชื่อ
ป่ากลางอ่าว วนอุทยานแห่งนี้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗
ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบอยู่ตอนกลางของหมู่บ้าน รอบอุทยานเป็นสวนมะพร้าว
มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยโดยรอบ ในวนอุทยานมีพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่นไม้ยางนา
ไม้ตะเคียนทอง ไม้ตะเคียนทราย ไม้มะม่วงป่า เป็นต้น ส่วนพันธุ์พืชที่ใช้เป็นอาหารมี
ผักหวาน ผักกะพูน เสม็ดชุน กุบบก ไข่เน่า เห็ดยาง เห็ดโคน เห็ดไข่ไก่ สัตว์ป่าที่พบมี
เก้ง กระจง ไก่ป่า และนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกจุกขาว (นกกะราง) นกแซงแซว นกตีทอง
และนกกาเหว่า เป็นต้น
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |