| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
แม่น้ำปราณบุรี
ต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี มีลำห้วยและลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลมารวมกัน
ที่บริเวรบ้านกร่าง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แล้วไหลลงทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ปกคลุมด้วยป่ามีความลาดเขามาก
ไหลเข้าเขตจังหวัดประจวบ ฯ ทางอำเภอหัวหิน แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ผ่านเขตอำเภอปราณบุรีถึงเขาเจ้า แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเขาหินเทินกับเขาปากทวาร
เมื่อไหลผ่านตัวอำเภอปราณบุรีแล้ว ก็ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และไหลลงสู่อ่าวไทยที่บ้านปากน้ำปราณ
มีความยาวตลอดสายประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
บริเวณฝนในเขตลุ่มน้ำปราณบุรีมีน้อย จะมีฝนตกหนักในช่วงที่มีความกดอากาศต่ำผ่านในประมาณเดือนตุลาคมเท่านั้น
ที่ราบผืนใหญ่ที่ใช้เพาะปลูกเกือบทั้งหมด ได้รับน้ำจากลำห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลผ่าน
จึงขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูก เมื่อเวลาฝนตกหนักน้ำจะหลากจากแม่น้ำปราณบุรี
และะลำน้ำสาขาที่ไหลบ่าเข้าท่วม ทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนเส้นทางคมนาคม
ลำน้ำกุย ต้นน้ำเกิดจากเขาหนองบอน ที่แยกจากเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตอำเภอกุยบุรี แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ผ่านซอกเขาซึ่งมีความลาดเทมาก ลำน้ำตอนนี้ชื่อว่า ห้วยหุบผาก และคลองอ่างหิน จากนั้นไหลไปบรรจบกับห้วยตะเคียน แล้วไหลไปทางทิศตะวันออก เรียกชื่อว่า คลองกุย ไหลผ่านบ้านยางชุม และที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปราณบุรี ในช่วงตอนปลายของลำน้ำ ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยที่บ้านปากคลองเกลียว มีความยาวประมาณ ๖๗ กิโลเมตร
เขื่อนยางชุม
เป็นเขื่อนดินสร้างปิดกันคลองกุย ที่บริเวณซอกเขาหาดเขือ
เหนือบ้านยางชุมประมาณ ๓ กิโลเมตร ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี ตัวเขื่อนสูง ๒๓
เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร อ่างเก็บน้ำ กักน้ำได้ ๓๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
ปริมาณน้ำใช้งาน ๒๘ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือเขื่อน ๓๖๖ ตารางกิโลเมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนยางชุมคือ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งคลองกุย
และบริเวณอำเภอกุยบุรี ในฤดูฝนส่งน้ำได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ
๘,๐๐๐
ไร่ นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำกุย บรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำเค็มบริเวณลุ่มน้ำกุยในฤดูแล้ง
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เขื่อนคลองบึง
เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นเขื่อนดิน ตั้งอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบ ฯ ตำบลอ่าวน้อย
อำเภอเมือง ฯ ตัวเขื่อนสูง ๑๘ เมตร ยาว ๑,๒๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘
เมตร อ่างเก็บน้ำ กักเก็บน้ำได้ ๒๒.๒ ล้านลูกบาศ์กเมตร ปริมาณน้ำใช้งาน ๑๑,๙
ล้านลูกบาศ์กเมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนคลองบึงคือ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกตำบลอ่าวน้อย
อำเภอเมือง ฯ ในฤดูฝนประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่
ช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำคลองบึง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด
เขื่อนปราณบุรี
เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัดประจวบ ฯ เป็นเขื่อนดินสร้างปิดกั้นแม่น้ำปราณบุรี
อยู่ในเขตตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี ตัวเขื่อนสูง ๔๒ เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร
สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร อ่างเก็บน้ำกักเก็บน้ำได้ ๔๔๕ ล้านลูกบาศ์กเมตร
ความจุน้ำต่ำสุด ๖๐ ล้านลูกบาศ์กเมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนปราณบุรีคือ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกของอำเภอปราณบุรี
อำเภอกุยบุรี อำเภอเมือง ฯ และกิ่งอำเภอสามร้อยยอด ในฤดูฝนส่งน้ำได้ประมาณ
๒๒๐,๐๐๐ ไร่ ฤดูแล้งประมาณ ๔๔,๐๐๐ ไร่ นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอปราณบุรี
เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคแก่อำเภอหัวหิน
และหน่วยราชการใกล้เคียง เช่น รพ.ค่ายธนะรัชต์ กองพลที่๑๖ สวนสน และเขาเต่า
ส่งน้ำลงในแม่น้ำปราณบุรี เพื่อช่วยการประปาปราณบุรี และผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง
เขื่อนห้วยไทรงาม
สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกของราษฎรในเขตอำเภอหัวหิน
เป็นเขื่อนดินอยู่ในเขตตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน ตัวเขื่อนสูง ๑๕ เมตร ยาว
๘๑๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร เก็บกักน้ำได้สูงสุด ๑๒.๕ ล้านลูกบาศ์กเมตร
ความจุน้ำระดับต่ำสุด ๒ ล้านลูกบาศ์กเมตร เก็บกักน้ำที่ไหลหลากในฤดูฝน จากบริเวณเหนือเขื่อน
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนห้วยไทรงามคือ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอหัวหิน
ในฤดูฝนส่งน้ำได้ประมาณ ๙,๐๐๐ ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด
เขื่อนช่องลม
สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนน้ำในการอุปโภค และบริโภคของราษฎรในเขตอำเภอทับสะแก
ตัวเขื่อนตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก เป็นเขื่อนดินสร้างปิดกั้นคลองช่องลม
ตัวเขื่อนสูง ๒๕ เมตร ยาว ๖๕๕ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร เก็บกักน้ำได้ ๖.๕
ล้านลูกบาศ์กเมตร ความจุน้ำระดับต่ำสุด ๐.๓๐ ลูกบาศ์กเมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนช่องลมคือ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอทับสะแก
ในฤดูฝนส่งน้ำได้ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ในฤดูแล้งส่งน้ำได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด
เขื่อนคลองลำชู
มีลักษณะเหมือนฝาย สร้างปิดกันคลองลำชู อยู่ในเขตตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย
สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในเขตอำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย
ซึ่งในฤดูฝนน้ำจะหลากท่วมพื้นที่เพาะปลูก แต่ฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำ ตัวเขื่อนสูง
๕ เมตร ยาว ๖๑ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๕.๕ เมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนนี้คือ ส่งน้ำให้เแก่พื้นที่เพาะปลูกเขตอำเภอทับสะแก
อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ในฤดูฝนจะส่งน้ำได้ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ฤดูแล้งส่งน้ำได้ประมาณ
๑,๐๐๐ ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด
เขื่อนคลองจะกระ
เป็นเขื่อนดินสร้างขวางปิดกั้นคลองจะกระ อยู่ในเขตตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก
สร้างตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค ในเขตอำเภอทับสะแก
และอำเภอบางสะพาน ตัวเขื่อนสูง ๒๖ เมตร ยาว ๕๑๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร
เก็บกักน้ำได้สูงสุด ๑๐.๔๐ ล้านลูกบาศ์ก ความจุของน้ำระดับต่ำสุด ๐.๕๐ ล้านลูกบาศ์กเมตร
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนนี้คือ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอทับสะแก
และอำเภอบางสะพาน ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด
แร่ทองคำ
ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในอดีต และปัจจุบันอยู่สามแห่งคือ
อำเภอกบินทรบุรี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และอำเภอบางสะพาน
จังหวัดประจวบ ฯ
จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๙ ผู้รั้งเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนักสามตำลึงที่ขุดได้จาก
บางสะพาน
ทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ต่อมาพระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลจำนวน ๒,๐๐๐ คน ไปร่อนทองที่บางสะพานจนถึงปี
พ.ศ.๒๒๙๑ ได้ทองคำหนัก ๙๐ ชั่งเศษ หรือประมาณ ๓,๖๐๐ บาท พระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้นำทองคำทั้งหมดไปหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี
ในอดีต อำเภอบางสะพานเดิมชื่อว่า เมืองกำเนิดนพคุณ
ซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ท่ามะนาว
ฝั่งขวาแม่น้ำรำพึง ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ท่ากะหลอ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านหลักเมือง
อยู่ริมฝั่งขวาของลำน้ำบางสะพานใหญ่ ปัจจุบันยังมีหลักฐานเสาหินหลักเมืองปรากฎอยู่
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ มีการจัดการปกครองท้องถิ่นเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงได้ยุบเมืองกำเนิดนพคุณเป็นอำเภอเมืองนพคุณ
ขึ้นต่อเมืองชุมพร ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้งเมืองประจวบ ฯ จึงยกเมืองกำเนิดนพคุณขึ้นต่อเมืองประจวบ
ฯ และได้ย้ายมาตั้งที่ริมทางรถไฟสายใต้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางสะพาน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ส่วนกำเนิดนพคุณเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอนี้
แหล่งแร่ทองในอดีตอยู่ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน โดยเฉพาะที่บ้านป่าร่อน
มีการขุดทองกันมากที่สุดบริเวณห้วยจังหัน บริเวณที่มีการขุดทองมักจะมีชื่อว่า
เนินนำหน้า เพื่อเป็นที่สังเกตของผู้ขุดทอง
เนินทองคำมีทั้งหมด ๓๓ เนิน ทุกเนินมีชื่อหมด เช่น เนินม้า เนินไก่เขี่ย เนินยายบี้
ฯลฯ เนินทองคำได้ถูกขุดไปแล้ว ๓๑ เนิน ยังเหลืออีกสองเนิน ที่เจ้าของยังไม่เปิดให้ขุดคือ
เนินขี้เหล็ก และเนินหินแก้ว
ยังมีแหล่งร่อนแร่เหลืออยู่อีกหลายแห่งคือ
- ห้วยจังหัน
เป็นลำธารขนาดเล็ก มีต้นกำเนิดจากภูเขาห้วยจังหัน กว้าง ๓ - ๑๘ เมตร ยาวประมาณ
๔ กิโลเมตร ไหลมาบรรจบกับคลองใหญ่ ณ บริเวณหมู่บ้านห้วยจังหัน มีการทำทองมาไม่น้อยกว่า
๑๐๐ ปี เป็นแหล่งแร่ทองนพคุณ
- คลองใหญ่
เป็นแม่น้ำสายสำคัญของบางสะพาน ต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี กว้างประมาณ
๖ - ๓๐ เมตร เป็นที่รวมของธารน้ำที่ไหลมารวมกันเป็นคลองขนาดใหญ่ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณปากคลองบางสะพาน
คลองนี้เมื่อไหลผ่านหมู่บ้านจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น เมื่อไหลผ่านหมู่บ้านห้วยจังหัน
ก็เรียกว่า ห้วยจังหัน
- คลองทอง
เกิดจากคลองใหญ่และห้วยจังหันไหลมาบรรจบกัน กว้างประมาณ ๓ - ๑๘ เมตร ยาวประมาณ
๔ กิโลเมตร ไหลผ่านเนินไก่เตี้ย และหมู่บ้านเกาะยายฉิม คลองทองมีประวัติการขุดพบแร่ทองคำมากเช่นเดียวกับห้วยจังหัน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |