| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
           ภาษาท้องถิ่น  จังหวัดประจวบ มีพื้นที่ติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ภาษาพูดจึงมีความผิดแผกแตกต่างกัน ไปตามเขตติดต่อ กล่าวคือ ทางตอนเหนือของจังหวัดได้แก่ อำเภอกุยบุรี กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี อำเภอหัวหิน ติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรี ชาวบ้านจะพูดสำเนียงภาษาภาคกลางค่อนข้างเหน่อ ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัด ได้แก่ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย ติดต่อกับจังหวัดชุมพร ชาวบ้านจะพูดสำเนียงภาคใต้ สำหรับอำเภอเมือง ฯ จะพูดสำเนียงภาคกลางและภาคใต้ปนกัน
            มีข้อน่าสังเกตว่าชาวประจวบ ฯ มีคำพูดเป็นเอกลักษณ์ที่ลงท้ายด้วยคำว่า ดุ๊ เสมอ เช่น ไปด้วยดุ๊ หมายถึงไปด้วยซิ  กินด้วยดุ๊ หมายถึง กินด้วยซิ  ดูดุ๊  หมายถึง ดูซิ  เป็นต้น
           วรรณกรรม  ตำนานพื้นบ้านชายทะเลเรื่องตาม่องล่าย  แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธุ์ระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เคียง การติดต่อกับชาวต่างประเทศ ต่างอาชีพ และภูมิทัศน์ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดประจวบ ฯ ซึ่งประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสวยงาม แปลกตา  ทำให้เกิดจินตนาการนำมาผูกเป็นตัวละครในตำนาน นิทานพื้นบ้าน ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาแต่อดีต

           ตำนานเขาตาม่องล่าย  ณ หมู่บ้านอ่าวน้อย มีบ้านหลังหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวชื่อ ม่องล่าย  เมียชื่อ รำพึง  และลูกสาวชื่อ ยมโดย ความงามและความดีของนางเลื่องลือ อยู่ในหมู่ชาวประมงแลพ่อค้าวานิช ที่เคยเข้ามาค้าขายในอ่าวน้อย ขณะเดียวกัน หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตเมืองเพชรบุรี มีเจ้าเมืองปกครองด้วยความร่มเย็น มีลูกชายรูปงามชื่อ เจ้าลาย ได้ยินกิตติศัพท์ความงามของยมโดย จึงคิดอุบายเพื่อชมความงามของนาง จึงได้ปลอมตัวเป็นชาวประมงล่องเรือขายปลามาถึงหมู่บ้านอ่าวน้อย และได้ทำความรู้จักนางรำพึง ด้วยความขยันขันแข็งสุภาพอ่อนน้อมของเจ้าลาย ทำให้นางรำพึงยินดีให้เจ้าลายสนิทสนมกับสาวยมโดย ส่วนตาม่องล่ายกลัยบไม่พอใจจึงขัดขวางทุกวิถีทาง
            ความรักของคนทั้งสองเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น เมื่อมีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขาย และได้จอดทอดสมอเรือที่บริเวณหน้าบ้านตาม่องล่ายในอ่าวน้อย เจ้าของเรือคือ เจ้ากรุงจีน ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ความงามของนางยมโดย  จึงตีสนิทกับตาม่องล่ายได้สำเร็จ แต่นางรำพึงไม่พอใจ ยายรำพึงกับตาม่องล่าย มักมีปากเสียงกันด้วยเรื่องนี้อยู่เสมอ
            ต่อมาเมื่อเจ้าลายส่งผุ้ใหญ่มาสู่ขอนางยมโดย จากยายรำพึง ยายรำพึงได้รับขันหมากเจ้าลาย โดยไม่ให้ตาม่องล่ายรู้ และเมื่อเจ้ากรุงจีนมาสู่ขอนางยม โดยจากตาม่องล่าย ตาม่องล่ายก็ไม่ให้ยายรำพึงรู้
            เมื่อถึงวันนัดหมายขบวนขันหมากของทั้งสองฝ่ายก็ยกเข้ามา โดยที่ทางเจ้ากรุงจีนยกเข้ามาทางด้านใต้ของอ่าวน้อย ส่วนขบวนขันหมากของเจ้า ลายยกเข้ามาทางด้านเหนือของอ่าวน้อย สร้างความตกตะลึงของทุกฝ่าย สองผัวเมียต่างก็ทุ่มเกี่ยวกันอย่างรุนแรง และต่างก็ใช้ข้าวของปาเข้าใส่กัน จนกลายเป็นตำนานของสถานที่ต่าง ๆ สืบมาคือ
            ยายรำพึงฉวยหมวกใบหนึ่ง ขว้างไปยังตามม่องล่าย แต่ตาม่องลายหลบทันหมวกจึงลอยไปตกบริเวณอ่าวเกาะหลัก หรืออ่าวประจวบ ฯ กลายเป็นเขาล้อมหมวก  ฝ่ายตาม่องล่ายคว้ากระบุงขว้างไปที่ยายรำพึงแต่ไม่ถูก กระบุงเลยตกทะเลลอยไปทางทิศตะวันออก กลายเป็นเกาะกระบุง ในจังหวัดตราด ยายรำพึงเอางอบขว้างไป งอบลอยไปตกกลายเป็น แหลมงอบ ในจังหวัดจันทบุรี ตาม่องล่ายคว้าสากตำข้าวขว้างยายรำพึง สากลอยไปถูกเขาทะลุ กลายเป็นเกาะทะลุ ในอำเภอบางสะพานน้อย ส่วนสากลอยไปตกกลางทะเลกลายเป็น เกาะสาก ในจังหวัดตราด
            บรรดาขันหมากที่ตาม่องล่ายขว้างไปได้กลายเป็นเขาขันหมาก หรือเขาสามร้อยยอด ในกิ่งอำเภอสามร้อยยอด ขนมจีนกลายเป็นสาหร่ายทะเล หมากพลูกลายเป็น หอยมวนพลู กระจกนางยมโดยลอยไปติดบนเขาเป็น เขาช่องกระจก จากกลายเป็นเกาะจาน  ตะเกียบกลายเป็นเขาตะเกียบ  แก้วแหวนเงินทองทับทิม กลายเป็นเปลือกหอยรูปร่างสวยงาม เหมือนเพชรพลอย ทับทิม อยู่ตามชายหาด ปูทอดกลายเป็น ปูหิน ด้วยความเสียใจ ยายรำพึงเดินซมซานไปนอนรำพึง ถึงเคราะห์กรรมของครอบครัวตน จนกลายเป็น เขาแม่รำพึง ในอำเภอบางสะพาน ส่วนตาม่องล่ายหันมาเห็นนางยมโดยซึ่งเป็นต้นเหตุ จึงจับลูกสาวฉีกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งขว้างไปทางบ้านเจ้าลายทางเหนือ ตกลงกลายเป็นเขานมสาว อยู่บริเวณชายทะเลบ้านบางปู กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อีกซีกหนึ่งขว้างไปทางเมืองเจ้ากรุงจีน ทางด้านทิศตะวันออกกลายเป็น เกาะนมสาว ในจังหวัดจันทบุรี เจ้าลายเสียใจจึงเดินทางกลับบ้านและตรอมใจตาย กลายเป็นเขาเจ้าลาย ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนตาม่องล่ายเสียใจไปนั่งดื่มเหล้าอยู่ที่เชิงเขา ริมทะเลจนตายกลายเป็นเขาตาม่องล่าย ที่หมู่บ้านอ่าวน้อย บรรดาชาวประมงในจังหวัดประจวบ ล้วนนับถือตาม่องล่ายจึงได้สร้างศาลไว้ให้
ความเชื่อและพิธีกรรม
            จังหวัดประจวบ ฯ มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดทั้งในด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิด ภาษา อาหาร การละเล่น การประกอบอาชีพรวมทั้งประเพณี และพิธีกรรมความเชื่อด้านต่าง ๆ
           พิธีรับส่งตายาย  เป็นประเพณีอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อกันว่าดวงวิญญาณที่อยู่ในยมโลก จะถูกปลดปล่อยให้ขึ้นมารับส่วนบุญในเดือนสิบของทุกปี และเป็นหน้าที่ของบรรดาลูกหลานของผู้ล่วงลับไปแล้ว จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวที ด้วยการจัดพิธีกรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ ให้แก่วิญญาณเหล่านั้น เชื่อว่าหากลูกหลานได้ทำพิธีดังกล่าว จะได้รับพรจากบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้มีความสุข ความเจริญในชีวิต ในทางตรงกันข้ามหากลูกหลานละเลย อาจถูกสาปแช่งจากดวงวิญญาณของบรรพบุรุษให้พบภัยพิบัตินานาประการ
            พิธีรับส่งตายาย เริ่มด้วยพิธีรับตายาย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบ เป็นต้นไป จนถึงวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบของทุกปี ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันส่งตายาย สถานที่ในการจัดพิธีส่วนใหญ่จะจัดขึ้นที่วัดในละแวกหมู่บ้าน หรือร่วมกันจัดพิธีขึ้นในหมู่บ้าน โดยบรรดาลูกหลานจะจัดหาอาหารคาวหวาน ผลไม้ น้ำดื่ม หมากพลู และอาจเอาอัฐิของบรรบุรุษไปร่วมในพิธี
            พิธีจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ มีการรับศีล เจริญน้ำพระพุทธมนต์ สวดบังสุกุล ถวายภัตตาหารและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระภิกษุสงฆ์ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และรับพรจากพระสงฆ์ แล้วจึงเป็นการทำพิธีอุทิศข้าวปลาอาหาร แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษด้วยการจุดธูปบอกกล่าวเชิญดวงวิญญาณให้มารับส่วนกุศล
           พิธีไหว้แม่ย่านางเรือ  ผู้ประกอบอาชีพประมง จำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการจับสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดพิธีกรรมเกี่ยวกับเรือ ตั้งแต่การขุดเรือ การต่อเรือ และการใช้เรือ
            ชาวประมงถือว่าส่วนสำคัญของเรือคือ โขนหัวเรือ และท้ายเรือ โดยเฉพาะโขนหัวเรือซึ่งหมายถึงไม้ที่ทำมุมตั้งขึ้นจากกระดูกงูของเรือ ส่วนใหญ่โขนเรือจะทำด้วยไม้ตะเคียนทอง ทำหน้าที่ยึดกระดานต่อเรือในส่วนหัวเรือ จะต้องติดตั้งอย่างแข็งแรงที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่จะรองรับแรงกระแทกจากคลื่น หรือการชนกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และที่สำคัญคือถือว่าโขนหัวเรือเป็นที่สิงสถิตของแม่ย่านางเรือ ซึ่งประจำเรือแต่ละลำมีหน้าที่ปกปักรักษาเรือให้ปลอดจากภัยทั้งปวง และเอื้ออำนวยให้เรือที่ใช้ทำมาหากินประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของเรือจึงมีประเพณีเซ่นไหว้ แม่ย่านางเรือ ในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อต่อเรือแล้วเสร็จ ก่อนนำเรือลงน้ำ หรือหลังจากนำเรือขึ้นคานเพื่อซ่อมแซม หรือทำพิธีก่อนออกเรือจับปลา ในฤดูกาลใหม่ หรือในฤดูกาลที่สามารถจับปลาได้มากเป็นพิเศษ
            ของที่ใช้ในการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ ประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ส่วนเครื่องดื่ม มีน้ำ สุราและน้ำผลไม้ต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน อาจใช้ผ้าแดง ผ้าขาว หรือใช้ด้ายแดง ด้ายขาว ที่เป็นด้ายดิบ สำหรับผูกโขนหัวเรือ เพื่อเป็นศิริมงคล อาจมีการนำผ้าเยื่อไม้สีต่าง ๆ เช่น สีแดง เขียว หรือเหลือง ผูกโพกกับโขนหัวเรือ ด้วยความเชื่อว่าเป็นการแต่งตัวเพื่อความสวยงามให้แก่แม่ย่านางเรือ
            การทำพิธีส่วนใหญ่เจ้าของเรือเป็นผู้ทำพิธี พิธีทำสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
           ชาวประจวบ ฯ มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกับชาวภาคกลางทั่วไป อย่างไรก็ตามภายในท้องถิ่น ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวประจวบ ฯ

            ประเพณีการเล่นผีพุ่งใต้  เป็นประเพณีของชาวตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จะเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้ผู้เล่นประมาณ ๓๕ - ๔๐ คน เรียกว่า พวง  คนต้นแถวเป็นหัวหน้า คนท้ายแถวเป็นผู้ถือใต้เอาไว้ เมื่อวิ่งเข้าหากันจะโห่สามลา และร้องเพลง เมื่อผ่านเส้นทางใดถ้ามีผู้อยากเล่นด้วยก็จับมือต่อแถวยาวไปได้เรื่อย ๆ เมื่อวิ่งไปได้ระยะหนึ่ง ปลายแถวจะวิ่งลอดหัวแถวระหว่างคนที่หนึ่งกับคนที่สอง เมื่อแถวผีพุ่งใต้ผ่านบ้านใดบ้านนั้นจะใช้น้ำสาด ถือว่าเป็นการไล่เคราะห์ ทุกข์โศก
            เมื่อวิ่งความจุดที่กำหนดแล้วหัวแถวจะวิ่งลงทะเล เปรียบเสมือนเป็นการนำทุกข์โศก โรคภัย สิ่งอัปมงคลทั้งหลายทิ้งลงทะเลไป
            ประเพณีทำบุญทุ่ง  เป็นประเพณีของชาวตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จัดขึ้นในเดือนมีนาคม เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล และชะล้างสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ และฉันภัตตาหารกลางทุ่ง โดยไม่มีการบังร่มเงา
            ประเพณีไหว้พระจันทร์  เป็นประเพณีของชาวตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน เป็นการสักการะเทพเจ้า ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำ รูปแบบของพิธีแบ่งเป็นสองแบบคือ ไหว้ประจำเดือน และไหว้ประจำปี
            การไหว้ประจำเดือน  จะไหว้ในวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ  ส่วนการไหว้ประจำปี จะไหว้ในวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ  ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม และ ระหว่างเดือน มีนาคม - พฤษภาคม  โดยกำหนดตามความพร้อมของผู้ทำพิธี
            พิธีไหว้พระจันทร์ จะเริ่มหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ หรือเริ่มลงมือเพาะปลูก ในระหว่างพิธีจะถือศีลห้าด้วย
            ประเพณีการเล่นแม่ศรี  เป็นประเพณีของชาวตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี ภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ คือวันที่ ๑๕ เมษายน โดยมีการเชิญเจ้าที่ ผีสาง นางไม้ มาเล่นด้วย กำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้ทรงแม่ศรี โดยปิดตาแล้วให้นั่งบนครกตำข้าว แล้วจุดธูปเทียนบนศีรษะ ผู้ที่ร่วมเล่นจะร้องเพลงเชิญแม่ศรีให้มาเข้าทรง
            ประเพณีส่งวัวส่งเกวียน เป็นประเพณีของชาวตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี เริ่มงานพิธีในกลางเดือนแปด ชาวบ้านจะชวนกันนำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน แล้วเอามาทำเป็นเกวียน เอาดินมาปั้นเป็นรูปวัวและคนขับเกวียน ใช้เชือกผูกและนำไปทำพิธี โดยนิมนต์พระสงฆ์มาบิณฑบาต จากนั้นชาวบ้านก็จะทำพิธีลากเกวียนเทียมวัวจำลองนั้นส่งเข้าป่า
            ประเพณีทำบุญอ่างเก็บน้ำ  เป็นประเพณีของชาวตำบลไร่ใหม่ อำเภอกุยบุรี ที่พากันมาทำบุญที่อ่างเก็บน้ำนาวัวเปรียว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตามโครงการในพระราชดำริเพื่อให้ชาวบ้านวังไทรและบ้านหนองแกได้ใช้ประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน ได้ร่วมกันทำบุญทุกวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี
            ประเพณีทำบุญหมู่บ้าน  เป็นประเพณีของชาวตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง ฯ  จะจัดในเดือนเมษายนของทุกปี มีการทำบุญ ที่ศาลากลางหมู่บ้าน โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์และฉันภัตตาหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งลูกหลานได้บรรจุอัฐิไว้ในเจดีย์ใกล้หมู่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี
            ประเพณีตักบาตรดาวดึงส์  เป็นประเพณีของชาวตำบลไร่เก่า กิ่งอำเภอสามร้อยยอด ในเทศกาลวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด จะมีการทำบุญตักบาตรแด่พระภิกษุสามเณร ถือเป็นประเพณีสำคัญ จัดให้มีทุกปี
            ประเพณีทำบุญกลางบ้าน  เป็นประเพณีของตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ และฉันภัตตาหารเพล บริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ริมถนน จากนั้นมีการสวดมาติกาบังสุกุลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นจะมีการสรงน้ำพระ อาบน้ำญาติผู้ใหญ่ และมีการละเล่นพื้นบ้าน เป็นวันที่ชาวบ้านจะมาพบปะร่วมกันเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคี เป็นประจำทุกปี
            ประเพณีวันกตัญญู  เป็นประเพณีของชาวตำบลไชยราษฎร์ อำเภอบางสะพานน้อย จัดขึ้นในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี โดยหมู่บ้านทั้งหกแห่งจะหมุนเวียนกันจัด และหมู่บ้านอื่นจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำผู้เฒ่าผู้แก่และมีของขวัญมอบให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ทุกคน จากนั้นมีการแข่งขันกีฬาเพื่อความสมัครสมานสามัคคี
            ประเพณีการเล่นเรือบก  เป็นประเพณีของหมู่บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน โดยสร้างเรือจำลอง กว้าง ๑.๕๐ เมตร ยาว ๘ เมตร ในเรือจะมีพ่อเพลงเป็นผู้ร้องนำ และมีฝีพายแปดคนขานรับเป็นทอด ๆ
            ประเพณีนี้ดัดแปลงมาจากการแข่งเรือในลำน้ำ สำหรับใช้ในท้องถิ่นที่ไม่มีลำน้ำ ประเพณีการเล่นเรือบกได้รับความนิยมจากชาวหัวหินมาจนถึงปัจจุบัน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |