| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน  ที่สามารถศึกษาได้จากหลักฐานทางโบราณคดี และเอกสารต่างๆ ตำนาน และนิทานพื้นบ้าน  ลำดับความเป็นมาของจังหวัดสกลนคร แบ่งออกได้เป็นสองสมัยคือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์

       แหล่งอารยธรรมยุคบ้านเชียง  แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มีกระจายอยู่ในเขตลุ่มน้ำสงครามตอนบน และบริเวณใกล้เคียง และมีอยู่ตามที่ราบลุ่ม ลำน้ำหลายสายที่ไหลผ่าน คือลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำสงคราม ลำห้วยปลาหาง และลำน้ำอูน  นอกจากนี้ ยังมีแหล่งที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมบ้านเชียงอีก ๒ บริเวณคือ บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อกับเขตอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และบริเวณพื้นที่ระหว่างลำห้วยยามกับลำห้วยปลาหาง  ระหว่างเขตอำเภอสว่างแดนดินติดต่อกับ เขตอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
            แหล่งโบราณคดีที่พบในเขตจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ เนื่องจากพบว่า เครื่องปั้นดินเผาที่พบในเขต อำเภอสว่างแดนดิน และบริเวณใกล้เคียง มีอายุประมาณ ๖,๕๐๐ ปี มาแล้ว  แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ในจังหวัดสกลนครเท่าที่พบ จากหลักฐานการขุดค้นที่สำคัญๆ มีดังนี้
       บ้านบงเหนือ  อำเภอสว่างแดนดิน ลักษณะเป็นเนินขนาดใหญ่อยู่สองเนิน  ชาวบ้านเรียกว่า โนนบ้านหนาด กับบ้านโนนวัว  ทั้งสองเนินนี้พบโครงกระดูก และเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีเป็นจำนวนมาก
       บ้านเตาไห  ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน ตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยยาม มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะ และวัตถุแบบบ้านเชียง  ทางท้ายบ้านด้านทิศเหนือมีเนินดิน และสระรูปสี่เหลี่ยมในเขตวัดทุ่งเตาไห มีฐานศิลาแลงของศาสนสถาน สมัยลพบุรี  ซึ่งต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นโบสถ์ หรือวิหารในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ พบใบเสมาหิน ๒ - ๓ หลัก ปักอยู่ใกล้ ๆ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทวาราวดีอยู่ในย่านนี้ด้วย
       บ้านม้า  ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน เป็นแหล่งหนึ่งในกลุ่มชุมชน ลำน้ำยาว - ลำห้วยปลาหาง มีลักษณะเป็นเนินดินยาว พบโครงกระดูก เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา ในหลุมฝังศพ  ที่ฐานพระอุโบสถวัดศรีรัตนาราม มีใบเสมาหินสมัยทวาราวดี
       วัดกู่บ้านม้า  ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน พบเครื่องปั้นดินเผาสมัยบ้านเชียงหลายชิ้น  นอกจากนี้ยังมีปราสาทขอม และบาราย (สระน้ำ) เข้าใจว่าคงเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม
       บ้านพันนา  ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน พบเครื่องปั้นดินเผายุคบ้านเชียง เป็นจำนวนมากในชั้นเหนือดินขึ้นมา  พบภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุ สมัยทวาราวดี และสมัยลพบุรี จนมาถึงสมัยล้านช้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๓
       บ้านสร้างดู่  ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีเนินดินยาวติดต่อกันไปทางด้านทิศตะวันออก  มีโคกเนินที่เป็นที่ฝังศพ  พบกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องประดับสำริดและลูกปัดต่าง ๆ

       บ้านดอนธงชัย  อำเภอสว่างแดนดิน  พบโบราณวัตถุเป็นภาชนะ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องสำริด กล้องยาสูบดินเผา ลูกกลิ้งดินเผา ลูกปัดดินเผา หินแต่งผิวหม้อ ขวานเหล็ก หอกเหล็ก กำไลมือ ฯลฯ
       บ้านหนองสูง  ตำบลพังโคน อำเภอพังโคน มีเนินดินเป็นระยะทางอยู่ทางฝั่งด้านใต้ของลำห้วยปลาหาง พบโครงกระดูก เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ภาชนะลายขูดขีด และลายเขียนสีเป็นจำนวนมาก
       บ้านพังโคน  ตำบลพังโคน อำเภอพังโคน มีเนินดินขนาดใหญ่ พบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับสำริด และภาชนะยุคบ้านเชียง เป็นจำนวนมาก
       บ้านทุ่งเชือก  ตำบลตาดภูวง อำเภอวาริชภูมิ อยู่ติดกับเชิงเขาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน อยู่ใกล้กับลำน้ำห้วยปลาหาง  พบชิ้นส่วนของสำริด เครื่องมือเหล็ก และโบราณวัตถุยุคบ้านเชียงหลายชนิด
       บ้านดอนยาวใหญ่  ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ มีลักษณะเป็นเนินยาว ที่วัดธรรมาภิรตาราม พบโครงกระดูก และเครื่องปั้นดินเผายุคบ้านเชียง
       บ้านดงแสนตอ  ตำบลวัฒนา อำเภอส่องดาว มีลักษณะเป็นเนิน พบเครื่องปั้นดินเผาที่แตกละเอียด เนื่องจากถูกขุดค้นทำลาย
       บ้านไร่นาดี  ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม พบเนินดินขนาดใหญ่ ๒ แห่ง คือด้านทิศใต้ของบ้านไร่ และด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านนาดี พบโครงกระดูก และโบราณวัตถุแบบบ้านเชียงเป็นจำนวนมาก
       บ้านม่วง  ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ฯ อยู่ใกล้เชิงภูพาน เป็นเนินขนาดใหญ่ พบโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะลายเชือกทาบ และลายเขียนสีจำนวนมาก เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว
       บ้านหนองสระ และบ้านกกส้มโฮง  ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินยาว พบภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบ ๆ โครงกระดูกมนุษย์ ลูกปัดแก้ว เครื่องประดับสำริด และเครื่องมือเหล็ก
       บ้านนาดอกไม้  ตำบลบ้านโฮง อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินยาวอยู่ริมหนองหาน ทางด้านทิศตะวันตก พบโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะลายเชือกทาบ เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก
       บ้านท่าวัด  ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ฯ พบภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบ บนเนินดินมีร่องรอยการสร้างศาสนสถาน สมัยทวาราวดีตอนปลาย สมัยลพบุรี จนถึงสมัยล้านช้าง
       บ้านโพนงามท่า และบ้านโพนบก  ตำบลบ้านแปน อำเภอโพนนาแก้ว อยู่ริมหนองหานด้านทิศตะวันออก พบภาชนะลายเชือกทาบ เครื่องประดับสำริด
       ศิลปถ้ำและผาหินสกลนคร  เป็นผลงานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในจังหวัดสกลนครที่สำคัญมีอยู่ ๓ แห่งด้วยกันคือ ถ้ำผาลาย ภูผายนต์ อำเภอเมือง ฯ ถ้ำม่วง อำเภอเต่างอย ถ้ำภูผักหวาน อำเภอส่องดาว
สมัยประวัติศาสตร์

            ยุคประวัติศาสตร์ของจังหวัดสกลนคร  เริ่มเมื่อเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมจากอินเดียและจีน  ในดินแดนอิสานเริ่มก่อตั้งเป็นเมือง เป็นรัฐเล็ก ๆ ขึ้นมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๕๕๐ เป็นต้นมา เช่น อาณาจักรฟูนัน เจนละ และทวาราวดีเป็นต้น จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า มีโบราณสถานอยู่มากกว่า ๒๐๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปในภาคอิสาน ที่เข้ามาสู่จังหวัดสกลนคร ได้แก่ทับหลังและปราสาทขอม เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุภูเพ็ก ปราสาท สะพานหิน เสมาหินสมัยทวาราวดี และบรรดาจารึกต่าง ๆ
       กำเนิดเมืองสกลนคร
            เมืองสกลนคร ขาดความต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มานานเท่าใดไม่ปรากฎ  มาปรากฎในสมัยทวาราวดีเป็นต้นมา  ตามหลักฐานของเสมาหินที่พบในเขตจังหวัดสกลนคร เช่น เสมาหินที่บ้านหนองยาง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง ฯ เสมาหินที่บ้านเตาไห ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน เสมาหินที่บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ฯ ในระยะต่อมาได้รับอิทธิพลจากขอม ล้านช้าง และอยุธยา ตามลำดับ
            ในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเหตุให้ผู้คนจากท้องถิ่นอื่นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  จำนวนชุมชนแบบหมู่บ้านจึงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  ส่วนใหญ่จะไปตั้งอยู่ตามลำน้ำที่สำคัญ คือ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำห้วยปลาหาง และตามแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนองหานมีชุมชนเกิดขึ้นมาก
            นอกจากเหตุผลด้านความอุดมสมบูรณ์แล้ว  ยังมีสาเหตุจากภัยสงครามและความไม่สงบสุขในถิ่นฐานเดิมของตน  จึงได้อพยพหลบภัยดังกล่าว มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ดินแดนส่วนนี้  ดังจะเห็นได้จากกรณีการอพยพของกลุ่มเจ้าผ้าขาวและเจ้าโสมพะมิตร  จากเมืองเวียงจันทน์ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ได้อพยพข้ามลำน้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านพันนา ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน  บ้านผ้าขาวในเขตอำเภอพังโคน ต่อมาได้อพยพข้ามเทือกเขาภูพานไปตั้งหลักแหล่ง บริเวณใกล้ลำน้ำปาวที่บ้านแก่งส้มโฮง หรือแก่งสำโรง  ซึ่งต่อมาคือตัวจังหวัดกาฬสินธุ์
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ยกกำลังไปปราบเจ้าอนุวงศ์ ได้นำผู้คนจากเมืองอูเมืองบำ เมืองมหาชัยกองแก้ว ซึ่งอยู่ในเขตประเทศลาวในปัจจุบัน  เข้ามาตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดสกลนคร
            การเกิดชุมชนในเขตจังหวัดสกลนคร ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่าง ๆ ในภาคอิสานทั่วไป คือเป็นการตั้งถิ่นฐานรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ตามโคกเนินที่อยู่บนที่ราบเหมาะแก่การทำนา  มีการเรียกหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้งตามธรรมชาติ เช่น บ้านโพนงามท่า บ้านโพนบก บ้านโคกเลาะ บ้านโคกสุง บ้านโคกศาลา บ้านโนนหอม บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านสูงเนิน เป็นต้น อีกลักษณะหนึ่ง เป็นการตั้งถิ่นฐานไปตามแนวลำน้ำได้แก่ บ้านน้ำพุง บ้านน้ำก่ำ บ้านห้วยทราย บ้านห้วยยาง บ้านห้วยหวด บ้านหนองศาลา บ้านหนองเสือ บ้านบึงแวก บ้านบึงสถาน บ้านบึงศาลาเป็นต้น
            ชุมชนทุกชุมชนจะประกอบด้วย สิ่งที่สำคัญของหมู่บ้านได้แก่ วัด โรงเรียน และศาลปู่ตา หรือมเหสักข์หลัก

       สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น  เป็นสมัยฟูนัน เริ่มตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา  ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคอิสาน  เกิดมีแว่นแคว้นต่างๆมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน  สมันนี้สิ้นสุดลงเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒
       สมัยทวาราวดี  เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ เป็นสมัยที่มีหลักฐานทางจารึก โบราณสถานโบราณวัตถุแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชนในภาคอิสาน กับชุมชนในแคว้นเจนละ ในลุ่มแม่น้ำโขง และแคว้นทวาราวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  หลักฐานของศิลปกรรมสมัยทวาราวดี ได้แก่
            ใบเสมาหิน  เป็นโบราณวัตถุที่มีมาก่อนสมัยลพบุรี ต่อมาจนถึงสมัยลพบุรี สมัยอยุธยา จนถึงปัจจุบันรูปลักษณะของใบเสมาหินแบ่งออกได้เป็น ๓ แบบคือ แบบแท่งหิน แบบแผ่นหิน และแบบแท่งหินธรรมดา  ใบเสมาที่พบในเขตจังหวัดสกลนคร จะเป็นแบบแท่งหิน มีรูปพระสถูปเจดีย์ประดับอยู่ตรงกลางแผ่นเสมา  การปักใบเสมาจะปักประจำทิศรอบเนินดิน หรือศาสนสถานเพื่อแสดงเขต สถานที่พบใบเสมาที่พบในเขตจังหวัดสกลนคร ได้แก่ วัดบ้านม้า ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน  ยังไว้ในดินบริเวณพระอุโบสถเก่า ทำด้วยหินทรายแดง หนา ๒๕ เซนติเมตร กว้าง ๖๓ เซนติเมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร  ด้านหนึ่งแกะเป็นรูปคนแบกเด็กอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว วัดกลางศรีเชียงใหม่  บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ฯ ใบเสมาปักไว้ทั้ง ๘ ทิศ มีจำนวน ๑๖ ใบ แกนกลางแกะเป็นรูปหม้อน้ำทรงสูง  วัดเชิงดอยเทพรัตน์  บ้านม่วง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ฯ เป็นหินทรายแดง ลักษณะเป็นแผ่นหินธรรมชาติ ไม่มีการถากโคนและสลักใด ๆ ปักอยู่ตามเนินดิน  สิมเก่าบ้านโพนงาม และบ้านโพนบก ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว ใบเสมาทำด้วยหินทรายแดง มีการสลักเป็นร่องและฐานบัว  บ้านหนองยาง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง ฯ ใบเสมาฝังอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน  เป็นใบเสมาที่ไม่มีการแกะสลักใด ๆ

            พระพุทธรูปหินแบบทวาราวดี ได้แก่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดเชิงดอยเทพรัตน์ อยู่ที่บ้านม่วง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากก้อนหินที่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าผาที่เชิงเขาภูพาน
            สมัยขอมหรือเจนละ  เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘ ได้พบศาสนสถานแบบขอมที่ฐานปราสาทอิฐขนาดเล็ก ที่พระธาตุดุม  ลวดลายทับหลังเสากรอบประตู และรูปแบบแผนผังของปราสาทของพระธาตุนารายณ์เจงเวง  โบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมได้แก่
            เมืองโบราณ  ในสมัยอิทธิพลขอม เมืองสกลนครได้เปลี่ยนการสร้างเมือง จากเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบหลายชั้น มาเป็นการสร้างเมืองที่มีรูปร่างสม่ำเสมอ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  และมีคูน้ำเพียงชั้นเดียว เช่น เมืองหนองหานหลวง เป็นต้น
            ชุมชนโบราณ  ก่อนสมัยขอมจะมีลักษณะที่เลียนแบบเมืองคือ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบอยู่หลายชั้น
            ศาสนสถาน  ส่วนมากเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู  โดยทั่วไปจะมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีลำน้ำอยู่ใกล้ ๆ เช่นพระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง มีสระน้ำอยู่ติดกับพระธาตุ เรียกว่าบาราย ศาสนสถานที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะขอม ได้แก่ พระธาตุดุม พระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง และพระธาตุภูเพ็ก             ถนนโบราณ  จะพบในคูเมืองเก่า จะมีแนวสะพานหินแบบขอมต่อเนื่องถึงกัน
       สมัยล้านช้าง  หลังจากขอมเสื่อมอำนาจลงไปจากภาคอิสานในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อาณาจักรล้านช้างก็ได้ตั้งตนเป็นอิสระ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖ โดยเจ้าฟ้างุ้มได้รับการสนับสนุนให้ไปครองเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ได้รวบรวมลาวให้เป็นปึกแผ่น ได้ทำไมตรีกับ พระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัย และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โดยได้ตกลงแบ่งอาณาเขตล้านช้างกับอยุธยา ตามแนวภูเขาดงพระยาพ่อ (ดงพระยาไฟ) และภูสามเส้า (ภูเขาเพชรบูรณ์)
            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๕๐ อาณาจักรล้านช้างเกิดความแตกแยกออกเป็นสามส่วน คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ทำให้เกิดการแยกตัวของเจ้านาย และขุนนางพร้อมด้วยสมัครพรรคพวก ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ใหม่นอกอาณาเขตทั้งสามดังกล่าวแล้ว คือไปอยู่ทางดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองบัวลำพู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร ไปจนถึงนครพนม  ดังนั้นการตั้งหลักแหล่งของชุมชนลาว  จึงได้อาศัยแหล่งชุมชนเดิมที่อยู่มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ และได้มี การสร้างศาสนสถาน หรือดัดแปลงศาสนสถานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ให้มีศิลปะแบบล้านช้างผสมอยู่ด้วย เช่น พระธาตุเชิงชุม มีบัวย่อเป็นเหลี่ยมขององค์พระธาตุ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านช้าง  การใช้อักษรไทยน้อย (ลาว) มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป เช่นการจารึกพระธรรมในใบลาน  หนังสือนิทานพื้นบ้าน ตำรายาที่จารึกในใบลาน เป็นต้น
       สมัยรัตนโกสินทร์  เมืองหนองหานได้กลายเป็นเมืองร้างไปแต่เมื่อใด ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ปรากฎหลักฐาน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์พร้อมครอบครัวไพร่พล  มาตั้งรักษาพระธาตุเชิงชุม ณ ตำบล พระธาตุเชิงชุม และหมู่บ้านอื่นๆอีกหลายตำบล  เมื่อมีผู้คนมาอยู่มากขึ้นพอจะตั้งเมืองได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมขึ้นเป็นเมือง สกลนครทวาปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เป็น พระธานี เจ้าเมืองสกลนครทวาปีคนแรก
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์  กองทัพไทยยกกำลังขึ้นไปปราบ พระยาราชสุภาวดีผู้เป็นแม่ทัพ ได้มาตรวจราชการที่เมืองสกลนครทวาปีพบว่า เจ้าเมืองไม่เอาใจใส่ต่อราชการจึงให้ประหารชีวิตเสีย  เมื่อปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองสกลนครทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรี เมืองประจันตคาม คงเหลือบางส่วนไว้รักษาพระธาตุเชิงชุม
            ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ อุปฮาด ราชวงศ์ และท้าวชินผู้เป็นน้องได้พาสมัครพรรคพวกมาพึ่ง พระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มาตั้งภูมิลำเนาที่เมืองสกลนครทวาปีได้  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ เจ้าราชวงศ์ (ดำ) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสกลนครทวาปี
            ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองสกลนครทวาปี เป็นเมืองสกลนคร และแต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เป็นพระยาประเทศธานี  ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวโฮงกลาง พระเสนาณรงค์ เป็น
            ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองสกลนครทวาปี เป็นเมืองสกลนคร และแต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เป็นพระยาประเทศธานี  ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวโฮงกลาง พระเสนาณรงค์ เป็นเจ้าเมืองพรรณานิคม  ยกบ้านพังพร้าวเป็นเมืองพรรณานิคม  ตั้งเมืองกุสุมาลย์มณฑลให้ขึ้นกับเมืองสกลนครให้เพี้ยเมืองสูง  เป็นหลวงอารักษ์อาญา เจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล  ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓  โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวโถงเจ้าเมืองมหาชัย เป็นอุปฮาด ให้ท้าวเหม็น น้องชายอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตร เมืองสกลนคร
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งเมืองต่าง ๆ ขึ้นหลายเมืองในจังหวัดสกลนคร ได้แก่  เมืองอากาศอำนวย  เมืองวานรนิวาส  เมืองโพธิไพศาล  ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ในเมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้รับความเสียหายมาก  ยังคงเหลืออยู่แต่องค์พระธาตุเชิงชุม วัดธาตุศาสดาราม เจ้าเมืองพาผู้คนออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดงบาก  ห่างจากเมืองเดิมออกไป ๕๐ เส้น  อัก ๕ ปีต่อมาจึงได้อพยพกลับมาอยู่ที่เดิมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑  ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโพหวาเป็นเมืองภูวดลสอาง แล้วให้ราชบุตร (เหม็น) เป็นที่พระภูวดลบริรักษ์ เป็นเจ้าเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหาง เป็นเมืองสว่างแดนดิน โดยให้ท้าวเทพกัลยา หัวหน้าไทยโย้ยเป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประสิทธิ์ศักดิ์ประสิทธิ์  ขึ้นกับเมืองสกลนคร  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง ปิด บุตรอุปฮาดตีเจา (ดำสาย) เป็นราชวงศ์ และให้ท้าวลาด บุตรอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างอยู่
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัว ได้เกิดการจลาจลจีนฮ่อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นแม่ทัพคุมกองทัพจากกรุงเทพ ฯ กับกำลังจากหัวเมืองลาวไปรวมพลที่เมืองหนองคาย  เมืองสกลนครได้ส่งกำลังไปช่วย จำนวน ๑,๐๐๐ คน  โดยมีราชวงศ์ (ปิด) กับพระศรีสกุลวงศ์ (โง่นคำ) เป็นหัวหน้า ร่วมกันปราบปรามจีนฮ่อจนสงบราบคาบ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมืองสกลนครเกิดโรคระบาดร้ายแรง อุปฮาด (โถง) กับราชบุตร (ลาด) ถึงแก่กรรม  ทางราชการจึงแต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ปิด) เป็นผู้รักษาราชการเมือง ในปีต่อมาจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร
            เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบเทศาภิบาล (มณฑล) ทั่วประเทศเจ้าเมืองมาจากส่วนกลาง ยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุริยเดช (กาจ) ไปเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครเป็นคนแรก
            ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองวาริชภูมิ ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับเมืองหนองหาน มาขึ้นกับเมืองสกลนคร ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐  ให้เมืองวานรนิวาส เป็นอำเภอวานรนิวาส และยกเมืองวาริชภูมิเป็นอำเภอวาริชภูมิ
            ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ เกิดกบฎผีบุญในท้องที่เมืองสกลนคร จึงได้มีใบบอกขอกำลังทหารจากมณฑลอุดร มาช่วยปราบปรามกบฎ กบฎผีบุญจนสงบราบคาบ
            ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้ง และเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครอง โดยผสมผสานระเบียบการปกครองเดิมเข้ามาสู่ ระเบียบการปกครองใหม่ดังนี้
                -  เมืองสกลนคร รวมทั้งบรรดาเขตแขวงต่าง ๆ ให้เรียกว่าบริเวณสกลนคร
                -  ข้าหลวงประจำเมือง ให้เรียกว่าข้าหลวงประจำบริเวณ
                -  เมืองต่าง ๆ ให้เรียกว่าอำเภอ ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ ให้อุปฮาดเป็นปลัดอำเภอ ให้ราชวงศ์เป็นสมุหอำเภอ  ให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ สำหรับพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองเดิม ให้เป็นทีปรึกษาราชการของ ข้าหลวงบริเวณ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนคำว่าเมืองมาเป็น จังหวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสนามบินขึ้นในเขตอำเภอเมือง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งข้าหลวง มาเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔  และข้าหลวงคนที่คนที่ ๗ ของจังหวัดสกลนคร คือ พระตราษบุรีศรีสมุทรเขต จึงได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สกลนครคนแรก
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |