| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |
มรดกทางวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดี
            จังหวัดสกลนคร อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าแอ่งสกลนคร เป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  แม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีจะขาดช่วงอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการสำรวจไปไม่ถึง  อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่สมัยทวาราวดีเป็นต้นมา ก็มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาโดยตลอด  เป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างมั่นคงตราบถึงปัจจุบัน
       เกาะดอนสวรรค์ใหญ่  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นดอนใหญ่ที่สุดในหนองหาน  มีซากศาสนสถานเก่า ก่อด้วยศิลาแลง และมีศาสนสถานที่ก่อด้วยอิฐสร้างซ้อนทับขึ้นภายหลัง  ใกล้ ๆ กับศาสนสถานไปทางเหนือเป็นศาลาโถง สร้างด้วยไม้เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
       ดอนสวนหมาก  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นดอนเล็ก ๆ ในหนองหาน  อยู่ห่างจากดอนสวรรค์ใหญ่ไปทางใต้ ประมาณ ๓ กิโลเมตร  พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ลายขูดขีด บางเรียบ ทาสลับสีต่าง ๆ หลายชิ้นมีลักษณะร่วมสมัยกับบ้านเชียง  และอีกหลายชิ้นน่าจะอยู่ในสมัยทวาราวดี และในสมัยอื่น ๆ  ทางด้านทิศใต้ของดอนมีซาก ศาสนสถานก่อด้วยศิลาแลง และหินทรายประกอบกัน  ด้านเหนือของศาสนสถานมีหลักเสมาหินทรายมีรอยสลักเป็นยอดแกนสถูปทั้งสองด้าน
       บ้านคูสนาม  อยู่ในเขตตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง ฯ แหล่งชุมชนโบราณอยู่กลางหมู่บ้าน มีคันดินชั้นเดียวล้อมรอบ กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ลักษณะคล้ายเป็นสระน้ำมากกว่าเป็นคูเมือง มีพระอุโบสถ์แบบล้านช้างปรากฎอยู่
       บ้านโพธิศรี  อยู่ในเขตตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง ฯ มีคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่  ชาวบ้านเรียกว่าคูขวางคูซอย  รอบพื้นที่กว้าง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๙๐๐ เมตร ความกว้างของสันคู ประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๑.๕ เมตร ได้ขุดพบไหน้ำอ้อย และไหสีขาวอ่อน  ไหบรรจุกระดูกซึ่งเป็นแบบอย่างของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
       บ้านหนองสระ  อยู่ในเขตตำบลดงชน อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ริมหนองหาน ทางด้านทิศใต้มีแนวเนินดินยาว  ชาวบ้านขุดพบภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบ โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับสำริด และเครื่องมือเหล็ก ในระดับความลึก ๑.๕๐ เมตร
       บ้านนาดอกไม้  อยู่ในเขตตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง ฯ เป็นเนินดินยาว อยู่ริมหนองหานทางด้านตะวันตก พบโครงกระดูก ภาชนะลายเชือกทาบอย่างหยาบ เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้วและเครื่องมือเหล็กในระดับความลึก ๑.๕๐ เมตร
       บ้านลาด  อยู่ในเขตตำบลปอแดง อำเภอเมือง ฯ อยู่ริมหนองหาน ทางด้านทิศใต้  พบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบแบบหยาบ พบเนินดินที่มีการสร้างศาสนสถาน  ในสมัยทวาราวดีตอนปลาย สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง โบราณสถานที่สำคัญได้แก่เนินดินที่มีเสมาหินปักล้อม ในเขตวัดท่าวัดเหนือ  เป็นเสมาขนาดเล็กที่มีการสลักเป็นพระสถูป หรือลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา พบฐานวิหารที่ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ พบพระพุทธรูปแบบทวาราวดีตอนปลาย และแบบลพบุรี ฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยล้านช้าง
       ศิลปะถ้ำพระด่านแร้ง  เป็นสลักบนเพิงผาหินทราย ผนังมีสีเทายาวประมาณ ๖๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภาพส่วนใหญ่ถูกทำลายไปโดยผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ตระหนักถึงคุณค่า จึงเหลือภาพอยู่เพียงเล็กน้อย เป็นลายเรขาคณิตและภาพมือ เป็นการทำรูปรอยลงบนหินด้วยวิธีฝนเซาะร่อง กับการจาร เป็นเส้นลายต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ ภูผายนต์ และยังมีภาพเหมือนกันอีกด้วย  ภายในถ้ำซึ่งกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร มีหลังคาดานหิน ภายในถ้ำมีรูปภาพเขียนสีลงบนแผ่นหินเป็นภาพมือมนุษย์ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่นอาวุธ สัตว์ กว่า ๑๐๐ ภาพ เป็นภาพเขียนของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
โบราณสถาน
         โบราณสถานก่อนประวัติศาสตร์  พบในเขตอำเภอสว่างแดนดิน เช่นแหล่งโบราณคดี วัดชัยมงคล บ้านดอนชัย บ้านเตาไห บ้านสร้างดู่ และบ้านพันนา เป็นต้น
         โบราณสถานสมัยประวัติศาสตร์

       สะพานขอม  เป็นสะพานศิลาแลง ยาว ๑๖ เมตร กว้าง ๔ เมตร สูง ๓ เมตร มีบันไดขึ้นละสองทาง สร้างเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ใช้เป็นทางสัญจรในสมัยโบราณ  นับว่าเป็นสะพานที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕

       ปราสาทบ้านพันนา  อยู่ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน เป็นปราสาทศิลาแลงแบบขอม  สันนิษฐานว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ภาษาถิ่นในจังหวัดสกลนคร
            ภาษาถิ่นสกลนคร มีอยู่หลายภาษาด้วยกัน  เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ หลายกลุ่ม  มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ในเขตจังหวัดสกลนคร  พอจะแบ่งออกได้เป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่กลุ่มไทย - ลาว กลุ่มภูไท กลุ่มย้อ กลุ่มมะเลิง กลุ่มโย้ย และกลุ่มโซ่  แต่ละกลุ่มมีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง พอประมวลได้ดังนี้
       กลุ่มไท - ลาว  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ภาษาถิ่นไทย - ลาว ในเขตจังหวัดสกลนคร  มีสำเนียงพูดสูง ๆ ต่ำ ๆ ไพเราะน่าฟัง  คำที่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ - วรรณยุกต์โท ในภาษาไทยกลาง จะเป็นเสียงวรรณยุกต์โท และเสียงสามัญในภาษาถิ่น
       กลุ่มภูไท  เป็นกลุ่มที่มีจำนวนเป็นรองลงมาจากกลุ่มไทย - ลาว  ชาวภูไท จังหวัดสกลนครจะอยู่ในเขตอำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณานิคม อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอส่องดาว อำเภอพังโคน อำเภอคำตากล้า อำเภอเต่างอย อำเภอบ้านม่วง และอำเภอนิคมน้ำอูน ภาษาของชาวภูไท จะมีภาษาของชาวลื้อ และภาษาของชาวลาวตะวันออกปนอยู่ด้วย  ภาษาภูไทมีเสียงพูดส่วนมากใกล้เคียงกับพวกพวน ในเขตเมืองเชียงขวางของลาว  และพวกพวนในเขต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  ชาวภูไทในสกลนครมีภาษาพูด และเสียงวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาไทยกลาง  มักทอดเสียงยาว และตวัดเสียงสูงขึ้นในพยางค์ท้าย
       กลุ่มย้อ  ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวานรนิวาส และบางส่วนของอำเภอสว่างแดนดิน ย้อมีภาษาพูดและสำเนียงคล้ายภาษาไทยกลางมากที่สุด  เวลาพูดจะทอดเสียงไพเราะ
       กลุ่มกะเลิง  อยู่ในเขตอำเภอกุดบาก บ้านดงมะไฟ บ้านนายอในเขตอำเภอเมือง ฯ และตามบริเวณหนองหาน  มีภาษาพูดใกล้เคียงกับภาษาไทย - ลาว และย้อ  แต่สำเนียงและจังหวะในการพูดจะสั้น และห้วนกว่า
       กลุ่มกะโซ่  เป็นกลุ่มชนที่อยู่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาภูพาน บริเวณหนองหาน มีมากและเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอกุสุมาลย์  มีภาษาพูดและสำเนียงคล้าย เขมร และมอญ ชาวกะโซ่ไม่มีตัวอักษรใช้ ลักษณะเด่นของภาษากะโซ่ คือ ออกเสียงควบกล้ำ ร,ล ได้ชัดเจนมาก  พยางค์หน้าของคำมักมีเสียง อะ อัง หรือ อัน ซึ่งจะออกเสียงสั้นและเบา
       กลุ่มโย้ย  ชาวโย้ยจะอาศัยอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย  อำเภอวานรนิวาส และอำเภอสว่างแดนดิน สำเนียงพูดจะทอดเสียงยาว และออกเสียงหนักทุกพยางค์  จะมีคำว่า ฮ่อ ท้ายประโยคคำถามอยู่เสมอ
            ปัจจุบัน ผู้คนในจังหวัดสกลนคร ใช้ภาษาไทยกลางในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ และบุคคลทั่วไป  แต่ยังคงรักษาภาษาถิ่นของคนไว้ใช้ในหมู่ของตนอย่างมั่นคง
จารึกในจังหวัดสกลนคร

            ในจังหวัดสกลนคร  ได้สำรวจพบหลักฐานด้านการจารึกอยู่เป็นจำนวนพอสมควร  พอประมวลได้ดังนี้
       จารึกบ้านแร่  เป็นจารึกบนแผ่นศิลามีอยู่ ๕ หลักด้วยกัน  หลักที่ ๑  เป็นเสมาทรงใบพาย มีดวงฤกษ์อยู่ด้านบน ขนาดสูง ๗๙ เซนติเมตร กว้าง ๔๒ เซนติเมตร  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย ๑๒ บรรทัด และมีหลายส่วนชำรุด พออ่านได้ความว่า จารึกเมื่อ จ.ศ.๗๑๒ (พ.ศ. ๑๘๙๓) แต่ต่อมาได้มีการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นปี จ.ศ.๑๐๗๒,๑๐๘๒, และ ๑๑๘๒ (พ.ศ. ๒๒๕๓,๒๒๖๓,และ ๒๓๖๓) มีข้อความเกี่ยวกับการอุทิศที่ดินให้แก่วัด ของบรรดาหัวหน้าชุมชนระดับ พระยาและแสน หลักที่ ๒  เป็นเสมาหินทราย กว้าง ๔๕ เซนติเมตร สูง ๑๔๐ เซนติเมตร  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย ๒๗ บรรทัด ตัวอักษรลบเลือนไปมาก  เป็นจารึก เมื่อปี จ.ศ.๑๐๒๒ (พ.ศ. ๒๒๐๓) เนื้อหาคงเป็นจารึกที่เกี่ยวกับการอุทิศที่ดินให้วัด
       จารึกวัดบ้านแร่  อยู่ที่วัดบ้านแร่ ตำบลแร่ อำเภอพังโคน เป็นเสมาหินทราย กว้าง ๔๕ เซนติเมตร ยาว ๑๔๐ เซนติเมตร  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย จำนวน ๒๗ บรรทัด อยู่ในสภาพลบเลือนมาก จารึกเมื่อปี จ.ศ.๑๐๒๒ (พ.ศ. ๒๒๐๓) กล่าวถึงบรรดาท้าวพระยาในท้องถิ่นได้ถวายที่ดินให้กับวัด
       จารึกภายในอุโมงค์ฐานพระธาตุเชิงชุม  เป็นแผ่นศิลาจารึกอักษรขอมสมัยพระนคร  ประมาณพุทศตวรรษที่ ๑๖ เป็นหลักฐานประวัติการตั้งถิ่นฐาน   และการบูรณะศาสนสถาน ในยุคสมัยไทย - ลาว เป็นต้นมา
       จารึกวัดบ้านริมท่า  เป็นศิลาจารึกประเภทหินทราย เป็นจารึกภาษาไทยด้วยตัวอักษรไทยน้อย  จารึกไว้ด้านเดียว มีจำนวน ๓ บรรทัด เป็นเรื่องการถวายที่ดินสำหรับสร้างวัดพระธาตุดุม
ตำนานเมืองหนองหาน
            บริเวณหนองหาน เป็นชุมชนที่มีความรุ่งเรืองมาก่อน มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน  ทั้งที่เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ และวีรกรรมของบรรพบุรุษ ตำนานของเมืองหนองหานพอประมวลได้ดังนี้
            ขุนขอมซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าโกเมราช  ได้พาบริวารมาสร้างเมืองอยู่ที่ริมหนองหานหลวง ตรงกับท่านางอาบ ให้ชื่อเมืองว่า เมืองหนองหานหลวง  ขุนขอมได้เป็นเจ้าเมืองขึ้นกับกรุงอินทปัฐนคร มีโอรสชื่อ เจ้าสุรอุทกกุมาร ได้ขึ้นครองเมืองเมื่ออายุได้ ๑๕ พรรษา หลังจากที่ขุนขอมสวรรคต
            พระยาสุระอุทก มีโอรส ๒ องค์ องค์ใหญ่มีนามว่า เจ้าภิงคาระ องค์น้องมีนามว่าเจ้าคำแดง อยู่มาวันหนึ่ง พระยาสุระอุทกประพาสมาถึงปากน้ำพมูลนทีซึ่งเป็นเขตติดต่อกับกรุงอินทปัฐนคร ได้ทราบจากเสนาบดีว่า พญานาคชื่อ ธนมูล เป็นผู้รักษาเขตติดต่อนี้  พระยาสุระอุทก ได้ทราบเรื่องก็ไม่พอพระทัย จึงได้ท้าทายให้ธนมูลนาคมาสู้กัน ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงอิทธิฤทธิ์ข่มขู่กันแต่ยังไม่แพ้ชนะกันต่างก็เลิกรากันไป
           ฝ่ายธนมูลพญานาคยังไม่หายโกรธ จึงได้จัดกำลังติดตามพระยาสุระอุทกไป พอถึงชายป่าริมหนองหานหลวงก็ออกอุบายแปลงกายเป็นพานด่อม (อีเก้งเผือก) ให้ฝ่ายพระยาสุระอุทกจับไปได้นำไปกิน แต่กินเท่าใดก็ไม่หมด ฝ่ายธนมูลพญานาค ได้สั่งให้บริวารมุดดำลงในหนองหานหลวง  ขุดแผ่นดินใต้เมืองให้เมืองถล่มจมน้ำ  แล้วพญานาคก็จับพระยาสุระอุทกไปยัง แม่น้ำธนะนที (แม่น้ำโขง) พระยาสุระอุทกก็สิ้นพระชนม์
            ฝ่ายเจ้าภิงคาระ กับเจ้าคำแดง ราชบุตร พร้อมทั้งญาติวงศ์และชาวเมืองที่รอดตาย ก็พากันอพยพไปพักอาศัยชั่วคราว อยู่ที่โพนเมืองริมหนองหานหลวงทางด้านทิศใต้  จากนั้นจึงไปสำรวจชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่  เห็นว่าที่ภูน้ำรอดเชิงชุมเป็นชัยภูมิดี จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะสร้างเมือง ณ ที่แห่งนี้ ขอให้บรรดาเทพยดาอารักษ์ได้ช่วยคุ้มครอง และทำนุบำรุงให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขมีความวัฒนาถาวรสืบไป
            ณ ที่นั้นมีพญานาคตนหนึ่งชื่อสุวรรณนาค  อยู่ในศีลธรรมอันดีได้ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วกล่าวว่า ตนเป็นผู้พิทักษ์รักษารอยพระพุทธบาท  อยู่ที่ถ้ำโพธิรอด แล้วรับเป็นผู้ประกอบพิธีอภิเษกเจ้าภิงคาระ เป็นเจ้าเมืองหนองหานหลวง เป็นพระยาสุวรรณภิงคาระ ตามที่สุวรรณนาคถือน้ำเต้าทองคำมาทำพิธีอภิเษก
            ทางเมืองหนองหานน้อย ก็ได้เจ้าคำแดงเป็นเจ้าเมือง  ทั้งสองเมืองก็ได้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับ พระยาสุวรรณภิงคาระได้อภิเษกสมรสกับพระนางนารายณ์เจงเวง ราชธิดาของพระเจ้าอินทปัฐ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |