| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


    จิตรกรรมฝาผนัง
            จิตรกรรมฝาผนัง ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเหลืออยู่เพียงน้อยแห่ง แต่ก็อาจแสดงวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยนั้นได้ชัดเจน มีความสวยงาม มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ที่สำคัญ พอประมวลได้ดังนี้

            วัดหน่อพุทธางกูร  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพิหารแดง อำเภอเมือง ฯ เป็นจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถเก่าเขียนด้วยสีฝุ่นมีรองพื้น มีอายุอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เป็นฝีมือช่างหลวงและช่างพื้นบ้าน เป็นเรื่องทศชาติชาดก พระพุทธประวัติ พระธาตุจุฬามณี และภาพเทพชุมนุม (ยังมีสมุดข่อยปรุภาพจิตรกรรมห้าเล่ม และเครื่องมือช่างเขียนประกอบด้วย กาลามะพร้าวขัดเกลี้ยง แปดใบ ฝาหอยกาบห้าฝา ถ้วยชาจีนขนาดเล็กหกใบ พู่กันขนาดเล็กทำจากขนหูวัวอัดแน่นในปลอกขนไก่ แล้วใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นด้ามสิบอัน พู่กันขนหางช้างมัดเป็นด้ามสำหรับมือถือเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งเซนติเมตร หนึ่งอัน  สากบดสีไม้เนื้อแข็งห้าอัน สีฝุ่น สีแดง เหลือง เขียว ขาบ ดำ อย่างละห่อ กาวแผ่นสิ่วขนาดเล็กฉลุลายสิบอัน เก็บรักษาไว้)

            วัดประตูสาร  ตั้งอยู่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ฯ เป็นจิตรกรรมฝาผนังด้านในโบสถ์ เขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูน มีรองพื้น มีอายุอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ฝีมือช่างหลวง เปฌรเรื่องราวของพระอดีตพระพุทธเจ้า และพระพุทธประวัติ และจิตรกรรมที่ไม้คอสองหอสวดมนต์เรื่องทศชาติชาดก นอกจากนั้นยังมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ติดกรอบ เป็นเรื่องมหาชาติ และพระพุทธประวัติ
            วัดปู่บัว  ตั้งอยู่ในตำบลสนามชัย อำเภอเมือง ฯ เป็นจิตรกรรมบนไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้ ฝีมือช่างพื้นบ้านเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ และทศชาติชาดก
            วัดพร้าว  ตั้งอยู่ในตำบลโพธิพระยา อำเภอเมือง เป็นจิตรกรรมที่ไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพรกะพุทธประวัติตอนสันตดุสิต - ปรินิพพาน มี ๓๖ ตอน
                จิตรกรรมในวิหารน้อย เขียนด้วยสีฝุ่น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๙  โดยฝีมือช่างหลวง เรื่องพระมาลัย และพระพุทธตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
                จิตรกรรมในสมุดข่อย เขียนด้วยสีฝุ่นยนกระดาษ สมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างหลวงและช่างพื้นบ้าน เรื่องพระมาลัย ตำราแพทย์แผนโบราณ และสวดคฤหัสถ์
                จิตรกรรมบนตู้พระธรรม เขียนเป็นลายกำมะลอ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา ฝีมือช่างหลวง เรื่องทศชาติชาดก
            วัดไทรย์  ตั้งอยู่ในตำบลท่าระหัด อำเภอเมือง เป็นจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถเก่า เขียนด้วยสีฝุ่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ฝีมือช่างพื้นบ้านเชื้อสายลาว เรื่องเทพชุมนุม พระพุทธประวัติ พระจุฬามณี  และพระมาลัย
            วัดแก้ว  ตั้งอยู่ในตำบลตีเหล็ก อำเภอเมือง เป็นจิตรกรรมบนไม้คอสอง ชายคาปีกนก ในศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่น ผสมกาว มีรองพื้น ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๗ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์
            วัดปราสาททอง  ตั้งอยู่ในตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง ฯ เป็นจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถเขียนด้วยสีน้ำมันบนผนังปูนสีขาว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ฝีมือช่างพื้นบ้านเรื่องพระพุทธประวัติแปดภาพ ทศชาติสิบภาพ ฎีกาพาหุงเจ็ดภาพ สังเวชนียสถานสี่ภาพ เวสสันดรชาดกสิบสามภาพ
            วัดชีปะขาว  ตั้งอยู่ในตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมที่คอสอง ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้มีรองพื้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ฝีมือช่างพื้นบ้านที่คอสอง ฝีมือช่างหลวงที่ชายคา ที่คอสอง เป็นภาพฎีกาพาพุง ที่ชายคาเป็นภาพพระพุทธประวัติ ที่เพดานเป็นตำราทายโชคชาตา และเทวดา
            วัดแก้วตะเคียนทอง  อยู่ในตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมบนคอสอง ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้ เรื่องพระมาลัย
                จิตรกรรมที่หอสวดมนต์บนคอสอง เขียนบนไม้ ฝีมือช่างพื้นบ้านเรื่องพระพุทธประวัติ
            วัดน้อย  ตั้งอยู่ที่บ้านยอด ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมในมณฑป เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว ไม่มีรองพื้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ เทพชุมนุม และพระมาลัย
            วัดรอเจริญ  ตั้งอยู่ในตำบลโคกคราม อำเภดปลาม้า เป็นจิตรกรรมบนคอสอง ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้มีรองพื้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ
            วัดมณีวรรณ  ตั้งอยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมบนคอสอง หอสวดมนต์ เขัยนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ มีรองพื้น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๙ - ๒๔๖๔ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ
            วัดลาดหอย  ตั้งอยู่ในตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญ เขียนด้วยสีฝุ่น บนไม้มีรองพื้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ และฎีกาพาหุง
            วัดสังโฆสิตาราม  ตั้งอยู่ในตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า เป็นจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูน มีรองพื้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือช่างพื้นบ้านเรื่องพระพุทธประวัติ เทพชุมนุม พระมาลัย ทศชาติชาดก และฎีกาพาหุง
                จิตรกรรมในวิหาร เขียนสีบนภาพปูนปั้นนูน ในรัชยมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เรื่องอดีตพระพุทธเจ้าพระพุทธประวัติ ยมโลกและพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี
                จิตรกรรมในสมุดข่อย เขียนด้วยสีฝุ่นบนกระดาษ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝีมือช่างหลวง เรื่องพระมาลัย
            วัดพยัคฆาราม  ตั้งอยู่ในตำบลศรีประจันต์ กิ่งอำเภอศรีประจันต์ เป็นกิจกรรมในวิหาร เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวมีรองพื้น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นน เรื่องเทพชุมนุม
            วัดจรรย์หัวขนอน  ตั้งอยู่ในตำบลศรีประจันต์ เป็นกิจกรรมภายในและภายนอกวิหาร เขียนด้วยสีฝุ่นมีรองพื้น รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือช่างพื้นบ้าน ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวง เรื่องพระพุทธประวัติตอนประสูติถึงปรินิพพาน
            วัดเสาธง  ตั้งอยู่ในตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ เป็นจิตรกรรมในอุโบสถ เขียนด้วยสีฝุ่นฝฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพุทธประวัติ และอดีตพระพุทธเจ้า
            วัดป่าพระเจ้า  ตั้งอยู่ในตำบลปลานนา อำเภอศรีประจันต์ เป็นจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร เขียนด้วยสีฝุ่น ผสมกาวมีรองพื้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือช่างพื้นบ้าน ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงและจากตะวันตก เรื่องอดีตพระพุทธเจ้า และพระพุทธประวัติตอน อภิเษกถึงปรินิพพาน
            วัดเดิมบาง  ตั้งอยู่ในตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนาางบวช เป็นจิตรกรรมด้านในและด้านนอกอุโบสถ เขียนด้วยสีฝุ่นมีรองพื้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องเทพชุมนุม อดีตพระพุทธเจ้าและพระพุทธประวัติ
            วัดนางบวช  ตั้งอยู่ที่ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช เป็นจิตรกรรมในอุโบสถ เขียนด้วยสีน้ำมันบนผนังปูน ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ
                จิตรกรรมในสมุดข่อย  เขียนด้วยสีฝุ่นบนกระดาษ ในสมัยรัตนโกสินตร์ตอนต้น ฝีมือช่างหลวง เรื่องพระมาลัย
            วัดเขาใหญ่  ตั้งอยู่ในตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช เป็นจิตรกรรมในศาลา เขียนด้วยสีฝุ่นบนฝนังปวูน ฝีมือช่างพื้นบ้าน เรื่องพระพุทธประวัติ
            พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ เป็นจิตรกรรมในห้องโถง ใต้ฐานองค์เจดีย์ เขียนด้วยสีน้ำมันบนไม้ ฝีมือช่างหลวง เป็นเรื่องพระราชวประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จารึก
            จารึกลานทองจากกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พบเมื่อครั้งเปิดกรุพระปรางค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้พระผงสุพรรณ พระกำแพงศอก และได้ลานทองสามแผ่น
            จารึกแผ่นที่ ๑  เป็นจารึกเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกย์ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๖ เป็นแผ่นทองคำกว้าง ๔.๒ เซนติเมตร ยาว ๒๗ เซนติเมตร หนัก ๑๐.๓ กรัม เป็นสุพรรณบัตรของเจ้านิสัยรัตน์ ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นที่เจ้ารัตนโมลีศรีไตราโลกย์
            จารึกแผ่นที่ ๒  เป็นจารึกพุทธฎีกาสมเด็จพระดรจุฬามุนีศรีสังฆราช จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาไทย ทำด้วยทองคำกว้าง ๔ เซนติเมตร ยาว ๑๙ เซนติเมตร หนัก ๘.๒ กรัม เป็นสุพรรณบัตรของมหาเถรสารีบุตรที่มีความถึงพระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิ์กับพระราเมศวร มีจิตศรัทธาอนุโมทนาด้วยกับพุทธฎีกาของสมเด็จพระครูจุฬามุนีศรีสังฆราช ในการตั้งมหาเถรสารีบุตรขึ้นเป็น พระมหาเถรปริยทัศศรีสารีบุตร
            จารึกแผ่นที่ ๓  เป็นจารึกลานทองวัดพระศรีมหาธาตุ จารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลี แผนทองคำกว้าง ๑๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๕๘ เซนติเมตร หนัก ๑๒.๕ กรัม กล่าววถึงการซ่อมพระปรางค์ซึ่งพระบรมราชมหาจักรพรรดิ์ได้ทรงสร้าง พระราชโอรสพระเจ้าราชาธิราชทรงซ่อม
            จารึกแผ่นทองแดง  พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ที่บริเวณเมืองอู่ทอง จารึกด้วยอักษรที่ปรับปรุงวิธีเขียนอักษรของอินเดียมาเป็นของตนเอง ทำให้แปลกออกไปจากอักษรปัลลวะ เรียกว่า อักษรหลังปัลลวะ อ่านได้ความว่า
            "พระเจ้าหรรษาวรมัน เป็นราชนัดดาของพระเจ้าศรีอิศานวรมัน ผู้ทรงพระเกียรติแผ่ไปทั่ว ได้รับสิงหาสนะมาโดยลำดับ
            พระองค์ได้ส่งสีวิกา อันประดับด้วยรัตนเป็นต้น พร้อมด้วยฟ้อนรำและดนตรีเป็นทักษิณา ถวายแด่พระศรีมัต อมราดเกสวร
            และภายหลังท้าวเธอได้ถวายของควรแก่การอุปกรณ์อันประเสริฐ และหมู่คนมีความสามารถในฟ้อนรำ และขับร้องเป็นต้น แด่พระศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์ศรัทธาเรศวร"
เพลงพื้นบ้าน

            เพลงพื้นบ้านหรือเพลงพื้นเมือง หรือดนตรีพื้นบ้าน มีความหมายเดียวกัน หมายถึง เพลงของคนที่อยู่ในสังคมชนบท มีเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง บรรเลงเป็นเพลงที่สืบต่อกันมา ปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เล่นเพื่อความสนุกสนานบรรเทิง ผ่อนคลายจากการทำไร่ทำนา หรือเพื่อแสดงออกถึงความรักของชายหนุ่มหญิงสาว หรือเพื่อพิธีกรรมต่าง ๆ บ้าง เพื่อเห่กล่อมบ้าง เพลงเหล่านี้เป็นภาษาถิ่น มีท่วงทำนองบทร้องท่าทาง และเครื่องดนตรีเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ
            ลักษณะเพลงพื้นบ้าน จะมีถ้อยนคำที่เรียบง่าย เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก เนื้อความส่วนใหญ่จะเป็นคำบอกจากพ่อเพลง แม่เพลง เนื้อหาที่ร้องกันดูเหมือนจะมีอย่างเดียวคือ เรื่องผู้ชายเกี้ยวผู้หญิง แล้วผู้หญิงก็ตอบหรือซักถามหรือว่าผู้ชายให้เจ็บ ผู้ร้องเพลงต้องคิดค้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณ ทำให้เกิดรสสนุกทั้งสองฝ่าย
            เพลงพื้นเมืองสุพรรณบุรี มีหลายสิบชนิด นิยมร้องกันในเทศกาลวันสำคัญที่มีการชุมนุมผู้คนในหมู่บ้าน เช่น ตรุษสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานเกี่ยวข้าว นวดข้าวเป็นต้น เพลงปรบไก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว
            ในสมัยก่อนมีการชุมนุมใหญ่งานหนึ่งคือ งานนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลย์ ในเดือนสิบสอง ซึ่งมีเป็นประจำปี ชาวสุพรรณบุรีถือเป็นธรรมเนียมกันว่า ต้องไปฟังเพลงที่วัดป่าเลไลย์ เป็นช่วงเวลาก่อนการเก็บเกี่ยว พาหนะที่สำคัญที่สุดในเวลานั้นคือเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือมาด สี่แจว พวกมาเรือก็เล่นเพลงเรือ พวกมาทางบกก็เล่นเพลงอีแซว เพลงปรบไก่ เพลงอีแซวนิยมกันมากเพราะเป็นเพลงเร็ว จังหวะกระชั้น เพลงอีแซวมีลักษณะคล้ายเพลงฉ่อย
            การร้องเพลงอีแซว เริ่มจากบทไหว้ครู ทั้งชายและหญิง ฝ่ายชายเป็นผู้ริเริ่ม เรียกว่า ปลอบ  ฝ่ายหญิงก็จะว่าบทรับแขก แล้วฝ่ายชายก็จะวกเข้าหาบทเกี้ยว  ฝ่ายหญิงรับด้วยบทเล่นตัว  ฝ่ายชายจะว่าบทออด  ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ คือ รับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบทเกี่ยงให้มาสู่ขอ  ฝ่ายชายมักอ้างขอพาหนี  พอหนีตามกันไปก็จะมาถึงบทชมนกชมไม้ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทถามตอบกันระหว่างหญิงกับชาย ซึ่งให้ความรู้แก่ผู้ชมผู้ฟังมาก
            มีแนวทางเล่นอีกแนวหนึ่งเรียกว่า ชิงชู้ เป็นลักษณะของหนึ่งหญิงสองชาย  กับตีหมากผัว เป็นลักษณะหนึ่งชายสองหญิง เป็นการแสดงแบบทะเลาะกันตามสภาพชีวิตจริง  ผู้ว่าเพลงจะสอดแทรกมุขต่าง ๆ ลงไว้ในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน
รวมทั้งบทตลกผสมกันไป สุดท้ายเป็นบทขอขมา  จากนั้นจะเป็นการให้พรซึ่งกันและกันทั้งเจ้าภาพและผู้ฟัง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป
            เพลงอีแซว  เป็นเพลงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงนี้เกิดในถิ่นสุพรรณบุรี เพลงอีแซวแต่ก่อนเรียก เพลงยั่ว เพราะร้องยั่วกันคล้ายเพลงกลองยาว ต่อมามีผู้เอาแคนไปขายที่สุพรรณ ฯ ก็เอาแคนมาเป่าประกอบด้วย เรียกเพลงแคน เวลาร้องใช้มือตบเป็นจังหวะ บางคนจึงเรียกว่า เพลงตบแผละ  จากนั้นเนื้อร้องและทำนองเพลงก็ค่อย ๆ มีแบบของตัวเองขึ้นจึงมาเรียกเพลงอีแซว มีการยืมเนื้อเพลงจากเพลงฉ่อยทางอ่างทองมาร้องเป็นเรื่องยาวขึ้น  เหตุที่เรียกเพลงอีแซวสันนิษฐานว่า เพราะยืนร้องแซวกันทั้งคืน เพลงอีแซวมีจังหวะกระชั้นเร็วกว่าเพลงฉ่อยหนึ่งเท่า คนร้องจึงต้องจำเพลงหลักให้แม่น
และมีปฏิภาณว่องไว มิฉะนั้นจะร้องไม่ทัน
            เพลงพิสฐาน  เพลงนี้น่าจะเคยร้องกันมาแต่โบราณในอำเภอสองพี่น้อง เป็นเนื้อเพลงเก่า เอ่ยชื่อหมู่บ้านในอำเภอสองพี่น้อง โอกาสที่ร้องคือ พอนวดข้าวเสร็จถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านพากันไปทำบุญที่วัด หนุ่มสาวหาพานดอกไม้เข้าไปในโบสถ์ว่าเพลงพิสฐานดัง ๆ  เนื้อเพลงแม้ว่าเสียดสีกันบ้าง แต่ก็ไม่หยาบคาย
            เพลงปรบไก่  เป็นการละเล่นพื้นเมืองมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า จะเก่าแก่กว่าเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ ของภาคกลางผู้เล่นร้องโต้ตอบกันโดยยืนเป็นวงกลม มักร้องหยาบ ๆ  สามารถเล่นเป็นเรื่องได้ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน  ในสมัยโบราณคงถือว่ามีหลักเกณฑ์ดี จนนักปราชญ์ทางดุริยางคศิลป์ ได้นำคำรับลูกคู่ของเพลงปรบไก่ มาแปลงเป็นวิธีตะโพนที่เรียกว่า หน้าทับปรบไก่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ถอดออกมาเป็นวิธีตีเครื่องหนังอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และหน้าทับปรบไก่นี้ก็เป็นหน้าทับสำคัญของการบรรเลงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง คำรับลูกคู่ที่แปลงมาเป็นหน้าทับตะโพน
            วิธีเล่นเพลงปรบไก่ จะมีผู้หญิงผู้ชายมาว่าแก้กัน เป็นเชิงเกี้ยวพาราสีบ้าง ลักหาพาหนีบ้าง หึงหวงบ้าง แล้วแต่จะพลิกแพลงกันไป
            เพลงยั่ว  เป็นเพลงร้องโต้ตอบยั่วให้รำ นิยมเล่นกันในเทศกาลตรุษสงกรานต์ หรือจะเป็นโอกาสอื่นก็ได้พบได้ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง อุปกรณ์การเล่นใช้การปรบมืออย่างเดียวโดยไม่มีอย่างอื่นประกอบก็ได้ มีแคนประกอบหรืออาจเอากลองยาวไปตีในการเล่น ตั้งวงร้องรำกันตามลานบ้าน ลานวัด ร้องโต้ตอบเย้าแหย่กันต่าง ๆ กลอนที่ใช้เป็นกลอนสั้น ๆ จะเป็นกลอนอะไรก็ได้ จังหวะค่อนข้างกระชั้นสนุกสนาน เมื่อหัวหน้านำร้องขึ้นแล้ว คนอื่นที่เป็นลูกคู่ก็ช่วยปรบมือ และร้องรับสับเปลี่ยนกัน ขณะที่ร้องก็จะรำไปด้วย คล้ายรำกลองยาวในปัจจุบัน
            เพลงเรือ  เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน ๑๑ - ๑๒ อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่ง และเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมีกรับธรรมดาหรือกรับพวง และฉิ่ง ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้ แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้าครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้ และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์
            เพลงฉ่อย  เป็นการเล่นพื้นเมืองประเภทหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี การแสดงเพลงฉ่อยหรือเพลงทรงเครื่อง โดยประเพณีแล้ว จะเริ่มด้วยการไหว้ครู ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะออกมาร้องไหว้คุณพระศรีรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์ คุณบิดามารดา เสียก่อน เมื่อจบแล้วปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงสาธุการจบแล้ว พ่อเพลงก็จะร้องเป็นการเบิกโรง เรียกว่า ฉะหน้าโรง ผู้ชายจะร้องเชิญชวนจนฝ่ายหญิงออกมาร่วมร้องด้วย แล้วก็เกี่ยวพาราสีและว่าเหน็บแนมกันเจ็บ ๆ แสบ ๆ ในสมัยโบราณจะเต็มไปด้วยคำหยาบโลน หรือมีความหมายสองแง่สองง่าม การร้องตอนนี้เรียกว่า ประ น่าจะย่อมาจากคำว่าประคารม เป็นตอนที่ผู้ชมชอบฟังกันมาก เพราะจะได้เห็นความสามารถของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงใช้ปฎิภาณร้องแก้กันได้ถึงอกถึงใจ ถ้าแก้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ก็เป็นที่อับอายกัน เมื่อประในตอนฉะหน้านี้หมดกระบวนแล้ว ในสมัยโบราณมักจะร้องส่งให้ปี่พาทย์รับเพลงหนัง เพลงที่ร้องนี้คือ เพลงพม่าห้าท่อนสองชั้นเฉพาะท่อนเเดียว และยังทำให้เพลงได้ชื่อว่า เพลงพม่าฉ่อย ไปด้วย
            เมื่อเพลงพม่าฉ่อยจบแล้วก็จะร้องกันต่อไปแนวที่จะว่ากัน อาจเป็นแนวลักหาพาหนี หรือไต่ถามความรู้เป็นปัญหาธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะร้องด้วยเรื่องอะไร ฝ่ายชายก็มักจะตอบวกเข้าเป็นเชิงสองแง่สองง่าม อยู่เสมอ
            ถ้าเป็นการแสดงเพลงทรงเครื่อง พอจบเพลงพม่าฉ่อยแล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงวา หรือเพลงเสมอ ตัวแสดงจะเริ่มแสดงเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป การแสดงเหมือนละครหรือลิเก ผู้แสดงแต่งเครื่องปักดิ้นเลื่อมแพรวพราย แต่ผู้แสดงต้องร้องเอง เพลงที่ร้องดำเนินเรื่องต้องใช้ทำนองเพลงฉ่อยทั้งสิ้น จะมีร้องส่งปี่พาทย์รับบ้างก็เพียงเล็กน้อย
            การเล่นเพลงฉ่อย จะมีการปรบมือให้จังหวะ เนื้อเพลงคล้ายเพลงพวงมาลัย เพลงจะต้องจบลงด้วยเสียงสระโอทุกคำกลอน เช่นกัน แต่เมื่อกถึงบทเกี้ยวเพลงจะคล้ายเพลงเรือ สำหรับลูกคู่ นอกจากจะปรบมือให้จังหวะแล้วก็จะต้องร้องรับตอนจบว่า "ชา เอ๋ ฉา ชา หน่อย แม่ เอย"
            สำหรับแม่เพลงฉ่อยจะขึ้นบทใหม่ทุกครั้งต้องขึ้นว่า "โอง โวง โว โชะ ละ โอ่ โง๋ง โง๋ย "
            การเล่นเพลงฉ่อยได้แยกแยะวิธีการเล่นออกไปอีกหลายอย่าง โดยคิดผูกเป็นเรื่อง สมมติขึ้นเพื่อหาทางใช้วาทศิลป์ได้แปลก ๆ เช่น ชุดสู่ขอ ลักหาพาหนี ตีหมากผัว และชิงชู้ เป็นต้น
            เพลงพวงมาลัย  นิยมเล่นในงานนักขัตฤกษ์งานมงคล เช่น บวชนาค ทอดกฐิน และลอยกระทง เป็นต้น แต่เดิมมักจะร้องเล่นควบคู่กับการเล่นกีฬาพื้นเมือง คือ ช่วงชัย หรือการเล่นลูกช่วง นั่นเอง ผู้ที่ถูกปาด้วยลูกช่วงจะต้องรำ ขณะที่ผู้ถูกปารำนั้น ผู้ที่ยืนล้อมอยฏู่จะร้องเพลงพวงมาลัย ถ้าฝ่ายหญิงรำฝ่ายชายจะร้องเพลงเกี้ยว ถ้าฝ่ายชายรำ ฝ่ายหญิงจะร้องเพลงว่าต่าง ๆ นานา บางทีก็จะร้องโต้ตอบไต่ถามบ้านช่องซึ่งกันและกัน การร้องเพลงพวงมาลัยเล่นได้ทั้งบนบกและในเรือ
            วิธีเล่นและวิธีร้อง ชายหญิงตั้งวงกลมมีพ่อเพลงและแม่เพลงข้างละคน นอกนั้นเป็นลูกคู่มีหน้าที่คอยรับและปรบมือให้จังหวะพร้อมกัน คำร้องเป็นการเกี้ยวพาราสีเป็นกลอนสดว่าแก้กัน ฝ่ายใดร้องก็ต้องมารำกลางวง การรับผิดกับเพลงฉ่อย คือลูกคู่รับเฉพาะวรรคต้นกับวรรคท้ายตอนจบเท่านั้น การขึ้นเพลงมักขึ้นว่า "เอ้อระเหย"
            ปัจจุบันการเล่นบนเวทีจัดเป็นสองฝ่าย ชาย - หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่การร้องเป็นการร้องเป็นท่อนยาว ๆ หลาย ๆ ท่อน หรือเป็น ท่อนสั้น ๆ เรียกว่า เพลง"พวงมาลัยหล่น" บางครั้งใช้กลองประกอบ บางครั้งก็ใช้แต่เสียงปรบมือ
ขนบธรรมเนียมประเพณี

            งานนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์  เป็นงานประเพณีที่มีสืบต่อกันมาแต่โบราณ มีงานปีละสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนห้าขึ้นห้าค่ำถึงเก้าค่ำ ครั้งที่สองในเดอืนสิบสองขึ้นห้าค่ำ ประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดต่าง ๆ พากันมานมัสการหลวงวพ่อโตเป็นจำนวนมาก งานในเดือนสิบสองเป็นช่วงที่มีการเล่นเพลงเรือ เป็นการชุมนุมพ่อเพลง แม่เพลง ในสมัยก่อน
            ประเพณีทำบุญตักบาตรเทโว  เป็นประเพณีทำบุญในนเทศกาลออกพรรษา นิยมทำในวันแรมยค่ำ เดือนสิบเอ็ด จัดงานใหญ่ที่วัดหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช มีการแข่งเรือยาว ซึ่งนิยมแข่งในช่วงเทศกาลทอดกฐิน และทอดผ้าป่า ของวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ

            ประเพณีไหว้พระแข  เป็นประเพณีของคนไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตตำบลบ้านโพธิ์ และตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง ฯ เป็นพิธีปวงสรวงและไหว้พระจันทร์ (แขแปลว่า พระจันทร์) จัดขึ้นตามวัดต่าง ๆ ได้แก่ วัดประชุมชน วัดสกุลปักษี วัดสุวรรณนาคี ประเพณีจัดกขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เวลาเที่ยงคืน

            งานรัฐพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ - ๓๐ มกราคม ของทุกปี วันที่ ๒๕ มกราคม ถือเป็นวันสำคัญที่สุดของการจัดงาน อันตรงกับวันกองทัพไทย เป็นงานใหญ่ของจังหวัด เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงมีชัยในการกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ จะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ และรำลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ท่าน
            ในงานนี้จะมีการแสดงสาธิตและการละเล่นต่าง ๆ ของส่วนราชการในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ รวมทั้งส่วนของเอกชน มีมหรสพจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |