| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าโป่งลาน - ทุ่งคอก
อยู่ในเขตตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง มีพื้นที่ประมาณ ๒๐,๕๐๐ ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ
ไม่มีหนองน้ำ ไม่มีภูเขา สภาพทั่วไปเป็นป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันทางราชการได้มมอบพื้นที่ทั้งหมดให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
(ส.ป.ก.) เข้าทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
ป่าเขาทุ่งดินดำ - เขาดาเก้า
อยู่ในเขตตำบลบ้านโข้ง ดอนคา อำเภออู่ทอง มีพื้นที่ประมาณ ๒๑,๐๐๐ ไร่ สภาพทั่วไปเป็นภูเขาเกือบทั้งหมด
มีที่ราบอยู่เพียงเล็กน้อย ไม้ดีมีค่าถูกตัดฟันไปหมด คงเหลือแต่ไม้เล็ก ๆ
ไม้ไผ่ ไม้รวก
ป่าเขาตะโกปิดทอง - ป่าเขาเพชรน้อย
อยู่ในเขตตำบลจระเข้สามพัน ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐
ไร่ ลักษณะภูมิประเทศและสภาพป่าโดยทั่วไป เช่นเดียวกับป่าเขาทุ่งดินดำ
ป่าสระยายโสม
อยู่ในเขตตำบลสระยายโสม อำเภออู่ทอง มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ
มีต้นสักขึ้นอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่ ปัจจุบันได้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
(ส.ป.ก.) เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดิน
ป่าบ้านโข้ง
อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง มีพื้นที่ประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ เป็นป่าเตรียมการสงวน ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นไปหมด
เหลือแต่ซากไม้เล็ก ๆ และไม้ไผ่
ป่าห้วยขมิ้น - น้ำพุร้อน - หนองหญ้าไซ
อยู่ในเขตตำบลด่านช้าง ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง มีพื้นที่ประมาณ
๓๑๘,๕๐๐ ไร่ สภาพป่าเป็นป่าไม้เบญจพรรณ พื้นที่เปผ็นที่ราบขณะนี้ทางราชการกำลังดำเนินการมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าดำเนินการ
ป่าองค์พระ - พุระกำ - เขาห้วยพลู
อยู่ในเขตตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง มีพื้นที่ประมาณ ๔๓๙,๕๐๐ ไร่ สภาพป่าโดยทั่วไปสมบูรณ์
ประมาณร้อยละ ๖๐ ทางราชการได้มอบให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า
หลังจากที่บริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานทำไม้ออกไปแล้ว
อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติพุเตย
มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๒,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ในเขตตำบลห้วยขมิ้น ตำบลองค์พระ
และตำบลวังยาว
- ป่าสนสองใบ
อยู่บนเขาพุเตย ถือว่าเป็นป่าไม้ที่แปลกของจังหวัดสุพรรณบุรี เพราะป่าสนสองใบเป็นไม้เมืองหนาว
โดยทั่วไปจะขึ้นบนภูเขาสูง ที่มีอากาศเย็นในภาคอีสาน และภาคเหนือ เช่น ที่ภูเรือ
ภูกระดึง ทุ่งแสลงหลวง จะไม่มีในภาคตะวันออกและภาคใต้ ป่าสนบนเขาพุเตยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
๗๖๐ เมตร มีต้นสนสองใบขึ้นอยู่นับพันต้น คละไปกับไม้เบญจพรรณ ในพื้นที่ประมาณ
๒,๐๐๐ ไร่ บางต้นใหญ่ขนาด ๒ - ๓ คนโอบ แต่ละต้นมีอายุกว่าร้อยปี
ทั้งที่ภูเขาในบริเวณนั้นบางลูกสูงกว่า เขาพุเตย เช่น เขาเทวดา ที่บ้านตะเพินคี่
ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี คือสูง ๑,๑๒๓ เมตร ก็ไม่มีสนสองใบ
สนสองใบเป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง
เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งต่ำกว่าสนสามใบ เปลือกสีน้ำตาลปนดำเป็นร่องลึกและเป็นสะเก็ดหนา
ใบยาวรีเป็นรูปเข็มออกเป็นกระจุก ๆ ละสองใบ ขนาด ๑๕ - ๒๕ เซนติเมตร ดอกตัวผู้จะเป็นช่อสีเหลืองแบบหางกระรอก
ติดเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ช่อยาว ๒ - ๔ เซนติเมตร ดอกตัวเมียจะออกชิดติดกิ่งถัดเข้ามา
มักออกเป็นดอกเดี่ยวหรือคู่ ผลเป็นโคนส่วนฐานป้อมปลายสอบขนาด ๕ - ๘ เซนติเมตร
เนื้อไม้สนสองใบใช้ในการก่อสร้างได้ดี และทำเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง
ฯลฯ เยื่อไม้เหมาะที่จะใช้ทำกระดาษ น้ำมันและชัน ใช้ทำน้ำมันชักเงา ให้ปริมาณยางมากกว่าสนสามใบ
ป่าบ้านตะเพินคี่
อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงมีสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก
วนอุทยานพุม่วง
อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
มีแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดีอยู่ด้วย
บนเขาถ้ำเสือมีซากเจดีย์สมัยทวาราวดี ทำด้วยหินล้วน อยู่ ๔ - ๕ องค์ แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง
- น้ำตกพุม่วง
เป็นน้ำตกที่สวยงาม เหนือบริเวณน้ำตกขึ้นไปเป็นที่ราบกว้างใหญ่มีพื้นที่ประมาณ
๕,๐๐๐ ไร่ มีต้นไม้และมีกลุ่มหินน้อยใหญ่เรียงรายลดหลั่นกันไป ในช่วงฤดูน้ำมากจะมีน้ำตกลงมาถึงห้าชั้น
ใกล้บริเวณน้ำตกมีถ้ำอยู่ ๘ ถ้ำ เรียกว่า ถ้ำโบสถ์ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่
- น้ำตกพุกระทิง
อยู่ที่บ้านคลองเหล็กไหล ตำบลองค์พระ น้ำตกพุกระทิงจะมีน้ำเฉพาะฤดูฝน เป็นน้ำตกที่สูงและสวยที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี
มีทั้งหมด ๙ ชั้น และมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่
พืชพันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ข้าวหอมสุพรรณบุรี
เป็นข้าวหอมที่มีลักษณะและคุณภาพคล้ายข้าวดอกมะลิ ๑๐๕ ต้นเตี้ย ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง
มีอายุนับจากวันตกกล้าถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ ๑๒๐ วัน ให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ
๕๘๐ กิโลกรัมต่อไร่ ในนาปี
มะเกลือ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๕ - ๘ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกนอกสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามแนวยาวพบมากในพม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไปที่มีความสูง ๕ - ๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม - กันยายน ติดผลระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม มะเกลือเป็นไม้ที่มีประโยชน์ทั้งต้น กล่าวคือเนื้อไม้เป็นมันสีเข้มมีน้ำหนักมากที่สุดในประเทศไทย นิยมทำไม้คือ กบไสไม้ และเครื่องตกแต่งบ้าน เปลือกใช้ผสมเครื่องดื่มพื้นเมืองเพื่อกันบูด ผลใช้ย้อมผ้าและใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
มะขามยักษ์วัดแค
เป็นต้นมะขามที่มีขนาดใหญ่มาก วัดรอบลำต้นได้ถึง ๙.๕๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาใหญ่โตให้ร่มเงากว้างขวางมาก
มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี มีเรื่องของมะขามต้นนี้อยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
ปัจจุบันเป็นต้นไม้อนุรักษ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้นไม้ที่มีอายุอยู่ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
ต้นโพธิ์
เป็นต้นไม้อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา
ในสุพรรณบุรี เป็นต้นไม้ที่ผูกพันกับชุมชนหลายแห่ง ในทุกอำเภอเป็นชื่อของชุมชน
เช่น คุ้งโพธิ์กระ โพธิ์คอย โพธิ์นางเทรา โพธิ์อ้น โพธิ์คลาน โพธิ์พระ โพธิ์พระยา
บ้านโพธิ์ โพธิ์สำนัก และโพธิ์ปันทุน
ต้นตาล
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความผูกพันกับเมืองสุพรรณบุรี เป็นชื่อบ้าน ชื่อสถานที่ในวรรณกรรมประวัติศาสตร์
เมืองสุพรรณบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีต้นตาลมาก ที่เป็นชื่อบ้านได้แก่บ้านดอนตาล
บ้านต้นตาล บ้านลาดตาล บ้านตาลเสี้ยน ฯลฯ
แหล่งน้ำ
แม่น้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน)
เป็นแม่น้ำที่ไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
แล้วไหลผ่านจังหวัดชัยนาทเรียกว่า แม่น้ำมะขามเฒ่า
แล้วไหลเข้าสู่เขตจังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก อำเภอศรีประจันต์
อำเภอเมือง ฯ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้องช่วงที่ไหลผ่านเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า
แม่น้ำสุพรรณบุรี
จากนั้นไหลเข้าเขตจังหวัดนครปฐม ผ่านอำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรีช่วงนี้เรียก
แม่น้ำนครชัยศรี
จากนั้นไหลเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน
ตามทางภูมิศาสตร์ การกำหนดชื่อแม่น้ำจะใช้ชื่อที่ปลายน้ำ ัดงนั้นแม่น้ำสายนี้ซึ่งมีถึงสี่ชื่อจึงได้ชื่อว่า
แม่น้ำท่าจีน
แม่น้ำท่าจีนมีความยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๖๐ เมตร ในช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะเอ่อล้น ท่วมบ้านเรือนไร่นา กระแสน้ำไม่ไหลเชี่ยว ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา
(เขื่อนชัยนาท) และเขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี) ในฤดูที่ไม่ใช่ฤดูน้ำหลากคือ
ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม น้ำในแม่น้ำจะขึ้นลงตามกำลังหนุนของน้ำทะเล
ในสามลักษณะคือ น้ำขึ้น น้ำทรง และน้ำลง แต่หลังจากที่ได้สร้างเขื่อนทั้งสองแล้ว
กระแสน้ำจะไหลลงสู่ทะเลอย่างเดียว
ลำห้วยกระเสียว
เป็นสำหรับที่เป็นสาขาสำคัญของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นสาขาใหญ่และมีความยาวที่สุดคือ
ยาว ๑๔๐ กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาแหลว กับเขาใหญ่เหนืออำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี
ไหลเข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรี ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช ไปบรรจบแม่น้ำสุพรรณบุรีที่บ้านทั่ง
อำเภอสามชุก สำหรับกระเสียวมีความลาดเขามาก และมีพื้นที่รับน้ำมากกว่าลำห้วยอื่น
ๆ จึงได้ดำเนินการโครงการกระเสียว ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนเก็บน้ำ เขื่อนทดน้ำ
ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และถนนขนส่ง เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ แล้วเสร็จในปี
พ.ศ.๒๕๒๔ ใช้งบประมาณ ๙๒๗ ล้านบาท
เขื่อนเก็บน้ำกระเสียวสร้างระหว่างเขาโล้นกับเขาวังเดือนห้า ในเขตตำบลด่านช้าง
อำเภอด่านช้าง เป็นเขื่อนลูกรังปนดินเหนียวแห่งแรกของประเทศไทย ยาว ๔๒๕ เมตร
สูง ๓๕ เมตร สันเขื่อนกว้างสุด ๑๗๐ เมตร ระดับสันเขื่อนสูง ๙๒.๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
อ่างเก็นน้ำเขื่อนกระเสียว เก็นกักน้ำได้ ๓๙๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็นน้ำ
ยาว ๑๒ กิโลเมตร กว้าง ๗ กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝน ๑,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๔๘ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ ๑๖๘ ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนทดน้ำสร้างปิดกันลำห้วยกระเสียวทางใต้เขื่อนห่างออกไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
เพื่อทดน้ำในลำกระเสียวให้มีระดับสูงพอที่จะไหลเข้าคลองส่งน้ำเป็นเขื่อนคอนกรีต
ระบายน้ำได้ ๒๖๐ ลูบาศก์เมตร ต่อวินาที
โครงการเขื่อนกระเสียวสามารถส่งน้ำไปช่วยการเพาะปลูกให้สามารถทำนาในฤดูฝนได่
๑๓๐,๐๐๐ ไร่ และปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งได้ ๖๘,๐๐๐ ไร่
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |