| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางวัฒนธรรม

    แหล่งโบราณคดี
            วัดพระนอน  ตั้งอยู่ที่บ้านบัวหลวง ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณฝั่งตะวันออก ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง ฯ พบโบราณวัตถุเป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนมากมีลายประทับ ฝาภาชนะเป็นลักษณะดินเผาที่ทำกันมาก ในสมัยอยุธยา พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง ตกแต่งผิวแบบมีลายและไม่มีลาย บางชิ้นมีลายรูปช้าง มีลักษณะเป็นการชนช้าง คล้ายที่พบที่ดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ลวดลายใบไม้ เขียนด้วยสีน้ำเงินเคลือบด้วยสีขาว พบเครื่องสังคโลกเป็นแบบเคลือบสีเขียวอ่อน เนื้อค่อนข้างละเอียด
             จากจุดสำรวจบริเวณตัวเมืองเก่า ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร พบเศษภาชนะดินเผาต่าง ๆ กระจายไปทั่ว ทั้งเนื้อหยาบและเนื้อแกร่ง จึงน่าจะมีแหล่งเตาเผาบริเวณวัดพระนอน
            วัดชีสุขเกษม  ตั้งอยู่ที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ บางชิ้นมีการขัดผิว  พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง มีภาชนะแบบต่าง ๆ คือหม้อปากผาย ไหขนาดใหญ่ ไหรูปเท้าช้าง และครก เป็นต้น ลักษณะลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายขุดนูน และลายขุดลึก พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูงชนิดเคลือบ ซึ่งเคลือบด้วยสีน้ำตาลและสีดำ

            บ้านบางปูน  ตั้งอยู่ในริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีทางฝั่งตะวันตกติดกับวัดสว่างอารมณ์ เขตตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง พบเศษภาชนะดินเผาหลายประเภทกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ พบหนาแน่นบริเวณตลิ่งและชายน้ำ คือ ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำตกแต่งผิวแบบลายขุดขีดและลายขุด ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูงเนื้อค่อนข้างหยาบ ตกแต่งผิวด้วยลายขุดแนวเส้นตรง และรูปกากบาท เครื่องถ้วยจีนเนื้อละเอียดเคลือบทั่งด้านในและด้านนอก เคลือบสีเขียว และสีเขียวมะกอก
             เศษภาชนะดินเผาที่บ้านปูนพบเป็นจำนวนมาก มีลักษณะลวดลายและเทคนิคเป็นของตัวเอง
            บ้านธรรมกุล  ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันตกติดกับวัดชีสุขเกษม ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะกระจายอยู่ทั่วไป อย่างหนาแน่นตามผิวดิน โดยเฉพาะที่ริมแม่น้ำและชายน้ำ พบชิ้นส่วนของขอบเตาเผาแบบเตาขุดดินดิบ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำแต่งผิวแบบลายขูดขีด ลายขูดรูปแนวเส้นตรง เส้นทะแยงมุม และรูปสามเหลี่ยม พบเศษภาชนะเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง เนื้อค่อนข้างหยาบตกแต่งผิวด้วยลายขีด ลายขุด ลายปั้นแกะทั้งเคลือบสีน้ำตาลและไม่เคลือบ พบเครื่องถ้วยจีนเนื้อละเอียดสีขาว ลายน้ำเงินใต้พื้นเคลือบสีขาวเป็นลายใบไม้ ลายดอกหญ้า ลายตัวหนังสือ เครื่องสังคโลก เนื้อค่อนข้างละเอียดสีเทาขาว เคลือบสีเขียวทั้งด้านนอกด้านใน
            วัดโพธิเจริญ  อยู่ที่บ้านสนามชัย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะประเภทต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป คือ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ๆ มีลายขุดเส้นตรง ลายขุดรูปตัวนก และลายขุดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ๆ ชนิดไม่เคลือบ เลียนแบบเครื่องถ้วยจีนและเตรื่องสังคโลก ลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายขุดรูปคลื่นระหว่างเส้นตรง ลายขุดรูสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายประทับเป็นจุดหลายจุด ลายขุดรูปกลีบบัวบาน รูปกากบาทมีวงกลมเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง พบเศษเครื่องถ้วยจีนเนื้อละเอียดเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบขาว ลายดอกไม้ ใบไม้ และเส้นตรง เป็นเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์เหม็ง พบเศษเครื่องสังคโลก เคลือบสีเขียว ทั้งด้านนอกและด้านใน

            วัดปู่บัว  ตั้งอยู่ที่บ้านสนามชัยริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ตามผิวดิน ห่างจากแม่น้ำเขามาประมาณ ๑๐๐ เมตร พบชิ้นส่วนเตาแบบดินขุด พบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ๆ ลวดลายเป็นลายจุดแบบเส้นตรง ลายขุดรูปจุด พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ๆ ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบสีน้ำตาลเข้ม ลวดลายต่าง ๆ พบเครื่องถ้วยจีนเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบสีขาว ลายใบไม้ดอกไม้ ดอกบัว เป็นเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์เหม็ง พบเครื่องสังคโลกเคลือบสีเขียวทั้งด้านนอกด้านใน พบชิ้นส่วนแก้วสีเขียวและสีน้ำตาลเป็นลักษณะแก้วที่หลอม เพื่อใช้ทำเครื่องประดับ เช่น ลูกปัด เป็นต้น
            วัดลำปะซิว  ตั้งอยู่ที่บ้านสนามชัย ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก พบเตาอิฐแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้นเป็นเตาที่พัฒนามาจากเตาดินขุด ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ห้องบรรจุเชื้อเพลิง ห้องบรรจุภาชนะ และปล่องไฟ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ๆ มีลาย พบเศษภาชนะเนื้อแกร่ง ๆ ทั้งชนิดเคลือบสีน้ำตาลและไม่เคลือบ พบเครื่องถ้วยจีนเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบสีขาว ลวดลายสมัยราชวงศ์เหม็ง พบเครื่องสังคโลกเคลือบสีเขียวทั้งด้านนอกและด้านใน
            วัดลาวทอง  ตั้งอยูที่บ้านสนามชัย บนฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี พบเตาแบบอิฐระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ๆ ลายเป็นจุดเส้นตรง และรูปฟันปลา พบเศษภาชนะเนื้อแกร่ง ๆ มีลายขุดแนวตรงและรูปเจดีย์ พบเศษภาขนะเนื้อแกร่ง ๆ ชนิดเคลือบคล้ายเครื่องสังคโลก และเครื่องถ้วยจีน
            วัดโพธิคลาน  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขตตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อ
หยาบ ๆ มีลายขุดแนวเส้นตรงและรูปฟันปลา พบเศษภาชนะเนื้อแกร่ง ๆ มีลายขุดแนวเส้นตรง และรูปคลื่นระหว่างเส้นตรง พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง พบเครื่องสังคโลกเคลือบสีเขียวทั้งด้านในด้านนอก มีลายจุด ด้านนอกเป็นเส้นตรงแนวตั้ง ด้านในเป็นรูปดอกไม้
            บ้านดอนยายก่อย  อยู่ที่บ้านทุ่งกระเจ็ด ตำบลสะพังลาน อำเภออู่ทอง เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาตร์ตอนปลาย มีลักษณะเป็นเนินดินรูปรี ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร วางตัวไปแนวตะวันออก - ตะวันตก สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณสองเมตร พบฟันกรามมนุษย์ กระดูกสัตว์ เศษหิน มีร่องรอยการขัดฝน ลูกปัดหินอาร์เกตและคาเนเลี่ยน เศษกำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก แลดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เบี้ยดินเผา ภาชนะดินเผา มีทั้งชนิดเนื้อหยาบ ๆ และเนื้อแกร่ง ๆ ชนืดเคลือบ
             สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ในช่วงสมัยหินใหม่ตอนปลาย ต่อเนื่องถึงยยุคสำริดและยุคเหล็ก
            บ้านดอนมะเกลือ  อยู่ที่บ้านดอนมะเกลือ ตำบลดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง มีลักษณะเป็นเนินดิน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณสามเมตร กลางเนินทางทิศตะวันตกมีบ่อน้ำบาดาล มีคลองส่งน้ำผ่านกลางเนิน จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก พบกระดูกสัตว์ เปลือกหอยโข่งและหอยกาบแม่น้ำ กระดูกสัตว์มีร่องรอยการขัดแต่ง กระดูกต้นขามนุษย์ เครื่องมือหินโกลบ ชิ้นส่วนกำไลหิน หินลับ เครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ๆ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งต่าง ๆ ชนิดเคลือบและไม่เคลือบ
             สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในช่วงยุคหินใหม่ตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
            เขาผักหวาน  ตั้งอยู่ในเขตตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง อยู่ในเขตเทือกเขาที่เป็นแนวสุดท้ายต่อกับเขตที่ราบ มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐๐ เมตร พบเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ใช้ภูเขาเป็นกำแพงโดยธรรมชาต สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลาย ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น
            บ้านวังหญ้าไทร  อยู่ที่บ้านวังหญ้าไทร ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง ตั้งอยู่บนสันที่ราบ ริมลำน้ำจระเข้สามพัน พบซากหอยโข่งขนาดใหญ่ รวมกับเศษภาชนะดินเผา ลูกปัด ทั้งที่ทำจากหิน ดินเผา และแก้วสี ภาชนะดินเผามีสันบ่า ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมมาแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดี
            บ้าโคกหินกอง  อยู่ที่บ้านโคกหินกอง ตำบลวังคัน อำเภอด่านช้าง ตั้งอยู่ในหุบเขา มีห้วยทับละครไหลผ่านทิศด้านทิศใต้ พบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ๆ เคลือบด้วยสีน้ำตาลประเภทไหขนาดใหญ่ ปากผายออก มีหูสี่หู ขึ้นรูปด้วยการขดและแป้นหมุน ภายในไหลพบกระดูกมนุษย์ที่เผาแล้ว ลูกปัด หินควอทซ์ ลูกปัดแก้ว กระดูกดินเผาขนาดเล็ก กำไลสำริด ลูกกระพรวนสำริด เต้าปูนสำริด ถ้วยชามเคลือบสีเขียว สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยสุโขทัย
    แหล่งประวัติศาสตร์
            เมืองอู่ทอง  ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งอำเภออู่ทอง จากภาพถ่ายทางอากาศเป็นร่องรอยคคูคันดินชัดเจน ลักษณะทั่วไปเป็นรูปวงรียาว คูเมืองทางด้านทิศใต้ป่อง และแหลมเป็นรูปสี่เหลี่ยมมนตอนเหนือ
             สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรง ฯ ทรงเล่าถึงสภาพเมืองโบราณที่อำเภออู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ มีความว่า
             ....เมืองตั้งอยู่ข้างฟากตะวันตกของลำน้ำจระเข้สามพัน ดูเป็นเมืองเก่าใหญ่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแต่หักพังไปเกือบหมด ยังเหลือคงรูปแต่ประตูข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งอยู่บนที่ดอนดูเป็นตระพัก สูงราว ๖ ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่อไปอีก ๕ เส้น ถึงริมน้ำจระเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมือง ตรงไปถึงท่าเรือเรียกว่า ท่าพระยาจักร ข้างในเมืองสังเกตุดูพื้นที่เป็นโคกน้อยใหญ่ต่าง ๆ กันไป ตามโคกมีก้อนหินและก้อนอิฐหักปนอยู่กับดิน เพราะเคยเป็นปูชนียสถาน เช่น พระเจดีย์ วิหาร.....
             ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองอู่ทอง จะเป็นที่ราบลุ่มต่ำกว่าที่ตั้งตัวเมือง มีร่องรอยทางน้ำเก่าหลายแห่ง ส่วนทางตะวันตกห่างจากตัวเมืองไปประมาณกิโลเมตรเศษ เป็นทิวเขายาวในแนวเหนือ - ใต้ ทางด้านทิศตะวันออก พื้นที่ลาดต่ำลงไปถึงแม่น้ำสุพรรณบุรี และต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ มีหลักฐานแสดงว่าเป็นทะเลมาก่อน
             ถนนท้าวอู่ทอง  จากร่องรอยที่ปรากฎบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นว่า คลองจระเข้สามพัน นั้นแต่เดิมไหลผ่านมาทางเส้นทางที่ผ่านเมืองอู่ทองไปทางเหนือแล้วอ้อมมาทางตะวันออก แต่ต่อมาทางน้ำได้เปลี่ยนทางเดินลงมาทางใต้ ตามแนวคลองหางตลาด การขุดคูกับดินกั้นน้ำที่ตะวันออก บ้านดอนทองได้บังคับน้ำให้ไหลกลับมาทางแนวแม่น้ำจระเข้สามพันที่ผ่านเมืองอู่ทองตามเดิม เห็นได้จากมีคูคันดินรอบชุมชนแบบเหลี่ยมมุมสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด ๓๔๐ x ๓๔๐ เมตร สร้างขึ้นทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณรับน้ำจากคูคลองดังกล่าว การสร้างคูคันดินบริเวณเมืองอู่ทอง มีข้อสันนิษฐานว่า เป็นถนนโบราณที่เชื่อมต่อกันมาแต่เมืองกำแพงแสน ผ่านเมืองอู่ทองไปยังเมืองสิงห์บุรี
             คอกช้างดิน  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองอู่ทอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๖ ไร่ คันคอกโดยรอบยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ลึก ๑๖ เมตร รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปากคอกหันเข้าหาภูเขา ที่ลาดเชิงเขามีซากฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๖ x ๑๔ เมตร สูงประมาณหนึ่งเมตร สร้างด้วยศิลาแลง
             บรรดาเมืองโบราณที่พบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ล้วนมีคอกช้างดินเป็นส่วนประกอบของเมือง อายุของคอกช้างดิน อยู่ประมาณ ๑,๔๐๐ ปี ตกอยู่ในสมัยทวารวดี
             เมืองสุพรรณ  จากร่องรอยของคูน้ำคันดินล้อมรอบชุมชนโบราณบนฝั่งขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรี ตรงข้ามกับที่ตั้งตัวจังหวัดสุพรรณบุรีปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า เป็นที่ตั้งชุมชนโบราณขนาดใหญ่ และสำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากเมืองอู่ทอง รูปแบบคูน้ำคันดินมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวไปตามลำน้ำ กว้างประมาณ ๔๗๐ วา ยาวประมาณ ๑,๗๗๐ วา มีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มีการขุดคูอ้อมเป็นเกาะยื่นออกจากแนวเส้นตรง แสดงให้เห็นลักษณะเป็นป้อมหรือประตูเมือง ลักษณะดังกล่าวนี้มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
             เมืองหนองแจง  ชุมชนโบราณบ้านหนองแจง (หนองพายเรือ) อยู่ในเขตตำบลบ้านไร่รก อำเภอดอนเจดีย์ ลักษณะทั่วไปเป็นเมืองที่มีคันคูสองชั้น ชั้นในเป็นรูปวงรี ขนาดกว้าง ๕๐๐ เมตร ยาว ๑,๐๐๐ เมตร ส่วนชั้นนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๒,๐๐๐ เมตร สภาพในเมืองเป็นที่ราบ ไม่มีทางน้ำไหลผ่าน มีเนินดินอยู่เป็นตอน ๆ
             จากการพบโบราณวัตถุในพื้นที่ ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีอายุสมัยทวารวดีตอนกลาง มาสิ้นสุดที่สมัยลพบุรี ได้พบพระพุทธรูปบูชาศิลปทวารวดี พระพิมพ์เนื้อชิน ศิลปะลพบุรี อีแปะจีน มีอักษรไคหยวน ทงป่าว ถึงห้าราชวงศ์ สิบแค้วน อีแปะญี่ปุ่น ไม่ทราบสมัย เศษเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป ทั้งสมัยลพบุรี และของจีนในราชวงศ์ทางเหนือ เครื่องเคลือบขาวเป็นตลับลูกจัน กลีบฟักทองกลีบถี่ เป็นของซ้งใต้  นอกจากนี้ยังพบเครื่องเหล็ก มีมีด กรรไกร จอบเสียม และโซ่
             โบราณสถานที่ปรากฏร่องรอยกว่าสิบแห่ง เป็นซากพระปรางค์ มีแผ่นอิฐขนาดใหญ่กับศิลาแลงเป็นจำนวนมาก ทางทิศใต้ของชุมชนโบราณเป็นคอกช้างดิน มีความสูงของเนินดินประมาณสองเมตรเศษ
             เมืองบึงกระเทียม  อยู่ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง ฯ  ปัจจุบันยังเห็นขอบคันดินได้ชัดเจน  เป็นเมืองขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๒,๐๐๐ เมตร ทิศเหนือจดบ้านหัวตาล ทิศตะวันออกจดบ้านบึงกระเทียม ทิศใต้จดบ้านหลวง และทิศตะวันตกจดบ้านตีนเป็ด
             โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นศิลปะลพบุรี เช่น พระบูชา พระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง (พระร่วงหลังรางปืนและหลังกาบหมาก) และพระทรงเทริดสมัยอยุธยา  สันนิษฐานว่า เป็นเมืองสมัยลพบุรีเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๐๐
             ที่บ้านดอนหลวงนอกคูเมือง พบคอกช้างดินขนาดเล็ก พบเศษเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบสีเขียวไข่กาของจีนสมัยราชวงศ์หยวน และเครื่องเคลือบลายครามสมัยราชวงศ์เหม็ง
             ซากเจดีย์อยู่นอกคูเมืองด้านเหนือที่วัดร้างขรัวตาหนู เป็นเจดีย์สมัยอยุธยา
    ย่านประวัติศาสตร์

            ตลาดเก้าห้อง  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นตลาดเก่าที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต เพราะสมัยก่อนการคมนาคมทางน้ำใช้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันเมื่อการเดินทางทางบกสะดวกขึ้น ตลาดเก้าห้องจึงเงียบเหงาลง

            บ้านเก้าห้อง  ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งหนึ่ง ผู้คนพากันอพยพหนีมาโดยมีหัวหน้าชื่อ ขุนกำแหงเห็นว่า บริเวณอันเป็นที่ตั้งบ้านเก้าห้องเป็นที่ว่าง ก็มาปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่ เป็นบ้านขนาดสี่ห้องขึ้น ต่อมาเกิดไฟไหม้ จึงได้เกิดมีการทำนายทายทักว่า บ้านหลังนี้ต้องปลูกให้ได้เก้าห้อง และให้มีที่เคารพบูชาไว้หลังหนึ่งให้ชื่อว่า ศาลเจ้าปู่บ้านย่าเมือง จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อขุนกำแหงถึงแก่กรรม ลูกหลานเหลนโหลนก็ได้อยู่กันต่อมา และได้เปลี่ยนตัวบ้านเป็นฝากระดาน หลังคามุงกระเบื้อง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
    สถานที่สำคัญ

            พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  ประกอบด้วยพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธาร กับองค์เจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์
            เจดีย์ยุทธหัตถี  เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในโอกาสที่ทรงชนะสงครามยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย เจดีย์องค์นี้ได้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ โดยสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองสุพรรณบุรี และเจ้าเมืองกาญจนบุรีออกค้นหา ทางเจ้าเมืองสุพรรณบุรี พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูต) ได้ค้นพบซากเจดีย์เก่าองค์หนี่งในเขตตำบลหนองสาหร่าย กลางป่าไม้เบญจพรรณ อยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๑๕๐ เส้น ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลื่ยมกว้างด้านละสิบวา ส่วนสูงกำหนดไม่ได้เนื่องจากยอดชำรุดเหลือแต่ฐานสูงหกวาสามศอก ได้สอบถามชาวบ้านได้ความว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ได้เล่าสืบทอดกันมาว่า พระนเรศวร ฯ กับพระมหาอุปราชา ชนช้างกันตรงนั้น
             เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงทราบเรื่องแล้วจึงได้เสด็จไปสักการบูชาในปีเดียวกัน และโปรดเกล้า ฯ ให้มีการบวงสรวงสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถี
             ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๓ กองทัพบกได้ดำเนินการบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถี เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด พระบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๒
             การบูรณะองค์เจดีย์ ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ เจดีย์องค์ใหม่เป็นสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ เป็นเจดีย์ทรงลังกา ฐานกว้าง ๓๖ เมตร ความสูงถึงยอดเจดีย์ ๖๖ เมตร และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงคชาธารออกศึก หล่อด้วยทองสำริด กว้าง ๒.๙๐ เมตร ยาว ๕.๔๕ เมตร สูง ๗.๐๐ เมตร ไว้ด้านหน้าองค์เจดีย์
             ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๓๑ มกราคม ของทุกปีทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดให้มีงานรัฐพิธีเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบรรดาทหารของไทยในอดีตที่พลีชีพเพื่อชาติ ป้องกันอริราชศัตรูผู้รุกรานแผ่นดินไทย มีงานมหรสพสมโภช มีการแสดงแสงและเสียง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของชาติไทย
            ศาลเทพารักษ์หลักเมือง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ฯ  ทางด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นของเก่ามาแต่เดิม ปรากฏหลักฐานจากนิราศสุพรรณของเสมียนมี เมื่อครั้งมาเก็บภาษีอากรที่เมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ มีความตอนหนึ่งว่า "ไปไหว้เจ้าหลักเมืองเรืองศักดา  ตั้งบูชาบัดพลีพลีกรรม"
             สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในนิทานโบราณคดีนิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ ได้กล่าวถึงศาลเทพารักษ์หลักเมืองไว้ มีความตอนหนึ่งว่า "เป็นศาลไม้เก่ามีเทวดารูปพระพิษณุแบบเก่ามากจำหลักศิลาตั้งอยู่สององค์ ฉันรับเป็น หัวหน้าชักชวนชาวเมืองสุพรรณ ให้ช่วยกันสร้างศาลาใหม่ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ก่อเชื่อมถนนดินเป็นชานรอบศาล" ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีครั้งแรก พระองค์ได้เสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ได้พระราชทานเงินให้สร้างศาลาที่พักกับกำแพงแก้ว ขยายบริเวณศาลให้กว้างออกไป
             ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ได้เสด็จไปทรงสังเวยศาลเทพารักษ์หลักเมือง ตามหลักฐานในจดหมายเหตุราชกิจรายวัน
             จากสาส์นสมเด็จ  สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทูลสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เล่าถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) ขอให้ช่วยคิดเรื่องการบูรณะศาลเทพารักษ์หลักเมือง โดยได้ทำแผนที่ถ่ายแบบมาให้ทอดพระเนตร ได้มีคำพรรณนาถึงสภาพของศาลว่า "มีกำแพงล้อมเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านสกัดหน้ามีประตูทางเข้าอย่างสง่า สองมุมกำแพงด้านหน้ามีศาลาที่พักคนไปบูชา  ส่วนตัวศาลวางไว้ชิดทางด้านสกัดหลัง หน้าศาลามีศาลบูชา เห็นว่ามีพร้อมเพรียงสมควรแก่การอยู่หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก นอกจากซ่อมแซมที่ปรักหักพังให้กลับคืนดี เสียเท่านั้น  แต่ความคิดเห็นนั้นขัดกับความคิดเห็นของพระพรหมวิจิตร อยากให้รื้อร้างลงเสียให้หมดแล้วทำใหม่ เพราะเดิมทำไว้แบบจีน เว้นไว้แต่ตัวศาลเท่านั้นที่ทำเป็นแบบไทย"
             จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แต่เดิมนั้นศาลเทพารักษ์หลักเมืองสร้างเป็นแบบไทยมาแต่ดั้งเดิม จนถึง ปี พ.ศ.๒๔๔๗
สมัยที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงไปชักชวนชาวเมืองให้สร้างขึ้นใหม่ เป็นตึกก่ออิฐถือปูนก็คงเป็นแบบไทย มาจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เพียงแต่ส่วนประกอบอื่น ๆ ไม่เป็นแบบไทย ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างต่อเติมหลัง ปี พ.ศ.๒๔๖๖ จนพระพรหมวิจิตรเสนอให้รื้อออกแล้วสร้างใหม่ แต่เมื่อไม่มีการรื้อออกในครั้งนั้น การต่อเติมในสมัยต่อมา ทำให้มีรูปแบบไม่เป็นแบบไทยมากยิ่งขึ้น แม้แต่ตรีศาลเทพารักษ์เองที่ยังเป็นแบบไทย อยู่ในปี พ.ศ.๑๔๘๐ ก็ไม่เป็นแบบไทยอีกต่อไป
            สระอภิเศก (สระน้ำศักดิ์สิทธิ์)  สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประกอบด้วยสระน้ำสี่สระคือ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกตุ เป็นโบราณสถานที่มีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในเขตตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ฯ
             เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จประพาสคลองมะขามเฒ่า เมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้เสด็จสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทรงมีพระราชหัตถเลขามีความตอนหนึ่งว่า "ที่สระนั้นมีสัณฐานต่าง ๆ อยู่ต่างเป็นระเบียบตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคาก่อน สระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตะวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกตุอยู่ข้างได้แนวเดียวกับสระแก้ว และเห็นปรากฎว่าเป็นสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพระรูปหนึ่ง ไปก่อเสริมฐานเก่าที่สระคาแห่งหนึ่ง ที่สระแก้วเป็นศาลเจ้าที่ซึ่งสำหรับบวงสรวงก่อนตักน้ำในสระ ที่สระเกตุมีคันดินสูงยาวไปมาก ที่บนนั้นมีรากค่อมพื้นดินสูง จะเป็นเจดีย์มณฑปที่ถูกแก้แต่ไม่สำเร็จ สงสัยว่าที่เหล่านี้น่าจะเป็นเทวสถานที่มิใช่วัด" ทรงพรรณาต่อไปอีกว่าพระราชาในเมืองต่าง ๆ ในสมัยโบราณจะราชาภิเษกต้องให้มาตักน้ำในสระนี้ไป สืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีเลกอยู่ประจำรักษาสระนี้ มีความตอนหนึ่งว่า "เมื่อเร็ว ๆ นี้ พระเจ้ากาวิโลรส เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้มาลักน้ำสี่สระนี้ไปทำอภิเษก"
             จากบันทึกสมัยก่อนได้ระบุขนาดของสระทั้งสี่ไว้ดังนี้
             สระแก้ว กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สระคากว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
             สระยมนา กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สระเกตุกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร
 

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |