| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบร่องรอยหลักฐานการประกอบกิจกรรมของมนุษย์มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ได้พบ หลักฐานประเภทเครื่องมือหินขัด เครื่องมือโลหะ ดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องประดับโลหะประเภทต่าง ๆ และเศษภาชนะ ดินเผารูปทรงต่าง ๆ  กระจายอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่จังหวัดในเขตอำเภอต่าง ๆ เช่น
            อำเภออู่ทอง  ที่บ้านท่าพระ บ้านท่าม่วง ในตำบลคอบคา
            อำเภอเมือง ฯ  ที่บ้านดอนระฆัง บ้านม่วงงาม ในตำบลตลิ่งชั้น ที่บ้านสนามคลี บ้านหัวโคก ในตำบลสนามคลี และที่บ้านดอนมะมอก บ้านหนองปรือ ในตำบลสระแก้ว
            อำเภอดอนเจดีย์  ที่บ้านหนองนา ในตำบลไร่รถ ที่บ้านคอนดา บ้านกรวด ในตำบลหนองสาหร่าย  และที่บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านหนองสระ ในตำบลดอนเจดีย์
            อำเภอสองพี่น้อง  ที่บ้านดอนกระเบื้อง ในตำบลบ้านกุ่ม และที่บ้านดอนมะนาว ในตำบลต้นตาล
            อำเภอเดิมบางนางบวช  ที่บ้านคูเมือง ในตำบลทุ่งคลี
            จากการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ พบว่า เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีตอนล่างเคยเป็นชายฝั่งทะเลมาก่อน  แนวชายฝั่งทะเลได้ถอยร่นออกไปดังที่เป็นอยู่ปัจจุบันเมื่อไม่นานมานี้เอง
            มีชุมชนโบราณกระจายอยู่ทั่วพื้นที่จังหวัด ๑๙ แห่งด้วยกันในเขตอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
            อำเภอดอนเจดีย์  มีชุมชนโบราณบ้านสระกระโจม ในตำบลสระกระโจม ชุมชนโบราณบ้านหินแลง และชุมชนโบราณบ้านสำนักโก ในตำบลไร่รถ ชุมชนโบราณหนองหลอด ในตำบลดอนเจดีย์ ชุมชนโบราณบ้านหนองขนาบ และชุมชนโบราณบ้านกรวด ในตำบลหนองสาหร่าย
            อำเภอเดิมบางนางบวช  มีชุมชนโบราณบ้านอ่าวกระทุ่ม ในตำบลปากน้ำ ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง ในตำบลทุ่งคลี  และชุมชนโบราณบ้านเขาพระ ในตำบลเขาพระ
            อำเภอเมือง  มีชุมชนโบราณบ้านโพธิตะวันออก ในตำบลบ้านโพธิ ชุมชนโบราณบ้านบางกุ้ง ในตำบลบางกุ้ง ชุมชนโบราณบ้านหนองหิน และชุมชนโบราณบ้านหนองบัว ในอำเภอตลิ่งชัน
            อำเภอศรีประจันต์  มีชุมชนโบราณวัดเสาธงทอง ในตำบลมดแดง
            อำเภอสามชุก  มีชุมชนโบราณเนินทางพระ และชุมชนบ้านลาดสิงห์ในตำบลบ้านสระ
            อำเภออู่ทอง  มีชุมชนโบราณบ้านดอนทอง ในตำบลจระเข้สามพัน และชุมชนโบราณบ้านดอนกอก ในตำบลบ้านโข้ง
            เมื่อพิจารณาจากที่ตั้งของบรรดาชุมชนโบราณดังกล่าวจะพบว่าส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหรือลำน้ำต่าง ๆ ซึ่งมักจะตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นริมชายฝั่งทะเลเดิม ทำให้ง่ายต่อการรับกระแสวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอก นอกจากนั้นด้วยตำแหน่งของที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางของกระแสวัฒนธรรมจากอินเดียและจีน นับได้ว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญอีกสองแห่งของโลก
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            สุพรรณบุรีเคยมีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แบบสังคมกษตรกรรม เป็นลักษณะสังคมที่คลี่คลายมาจากสังคมเร่ร่อน แบบหาของป่าล่าสัตว์ในบริเวณพื้นที่ทางภาคตะวันตก ที่เป็นที่สูงและภูเขาลงมาสู่ที่ราบเพื่อประกอบการเกษตรและรวมกลุ่มเป็นชุมชนขึ้น โดยยังสืบทอดเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่าง ประเภทเครื่องมือหินและได้พัฒนามาใช้เครื่องมือโลหะในระยะต่อมา
            หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบในสมัยนี้ มีหลายอย่างด้วยกันคือ
            ขวานหินขัด  แบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันคือ

                -  ขวานหินขัดรูปแบบปลายมน  คือมีปลายข้างหนึ่งที่เป็นด้านคมจะมีขนาดใหญ่ และจะเรียวไปยังปลายอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะมน พบมากในเขตอำเภออู่ทอง
                -  ขวานหินขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีขนาดเล็ก ด้ามที่เป็นคมขวานและด้านสันขวานมีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
                -  ขวานหินขัดด้านข้างเป็นสัน  จะมีรอยฝนที่ปลายขวานทั้งสองข้างหรือข้างเดียว ส่วนปลายคมเป็นสันโค้ง
                -  ขวานหินขัดแบบมีบ่า  แบ่งออกได้เป็นสองแบบคือ ชนิดคมขวานสั้นแต่กว้าง และชนิดคมขวานยาวแต่แคบ
            เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกหรือเขาสัตว์  มีลักษณะรูปทรงคล้ายฉมวกทำด้วยเขาสัตว์เป็นเงี่ยง ใช้สำหรับจับสัตว์ พบที่บ้านดอนระฆัง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง
            แวดินเผา  เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับปั่นด้ายเพื่อทำเป็นเส้นใย พบมากในทุกแหล่งโบราณคดีของสุพรรณบุรี
            เครื่องมือโลหะ  เป็นพวกขวานสำริด ฉมวกสำริด และใบหอกสำริด พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนคา ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์

            เครื่องประดับต่าง ๆ  ได้แก่ กำไลสำริด  ลูกกระพวน ต่างหู  และลูกปัดแบบต่าง ๆ  แหล่งลูกปัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่บริเวณ อำเภออู่ทอง

           ภาชนะดินเผา  จะพบทุกแหล่งโบราณคดี รูปแบบส่วนใหญ่ที่พบมากที่สุดได้แก่ภาชนะทรงหม้อปากผาย ซึ่งถือเป็นเครื่องใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน
พัฒนาการของประวัติศาสตร์
    สุวรรณภูมิกับความสัมพันธ์กับสุพรรณบุรี
            เมื่ออารยธรรมอินเดียได้เริ่มแพร่เข้ามาสู่ดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาสังคมเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
            บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี  มีหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวกับตัวอักษรได้แก่การพบเหรียญกษาปณ์สมัยโรมันที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง เป็นเหรียญกษาปณ์สมัยจักรพรรดิวิคโรนุส ระหว่างปี พ.ศ.๘๑๒ - ๘๑๔ ด้านหน้าของเหรียญเป็นภาพพระพักตร์ ด้านข้างของจักรพรรดิ์ ตามขอบเหรียญมี่ตัวอักษรจารึก ซึ่งแปลว่า พระจักรพรรดิ์ซีซาร์ วิคโดรินุส ศรัทธาความสุข ความสง่า ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เมืองอู่ทองในอดีต น่าจะเป็นศูนย์กลางการค้าอีกแห่งหนึ่ง ระหว่างภูมิภาคตะวันออก และตะวันตกมาแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ ซึ่งอาณาจักรโรมันน่าจะมีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย และตะวันออกไกล โดยที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตองล่างของประเทศไทยน่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นจุดแวะพัก ระหว่างอินเดียเหนือกับเมืองออกแก้วในประเทศเวัยดนามในปัจจุบัน
            อารยธรรมแบบอินเดียที่ชัดเจนมาก ในภูมิภาคแถบนี้ได้แก่ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์
            หลังจากการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สาม ณ เมืองปาฎีลบุตร ในอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ส่งพระเถระ เดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง เก้าเส้นทาง หนึ้งในจำนวนนั้น พระโสณะและพระอุตระ ก็ได้ไปประกาศพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ สำหรับบริเวณที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ  ที่มีความเห็นแตกต่างกันไป ส่วนนักวิชาการชาวไทยหลายท่านเชื่อว่าสุวรรณภูมิ น่าจะเป็นดินแดนในประเทศไทย บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่เป็นเมืองโบราณนครปฐม เมืองโบราณคูบัวที่ราชบุรี และเมืองโบราณอู่ทองที่สุพรรณบุรี
            ข้อสรุปล่าสุดของนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าสุวรรณภูมิน่าจะเป็นบริเวณที่ครอบครุมพื้นที่ของประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนามและมาเลเซีย โดยมีชุมชนโบราณตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วไปอย่างเป็นอิสระต่อกัน มีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน รวมถึงชุมชนภายนอกสุวรรณภูมิด้วย
            ฟูนันถึงทวารวดี  เรื่องของอาณาจักรฟูนันเกิดจากการนำเสนอว่า ในจดหมายเหตุของจีน ได้กล่าวถึงเรื่องราวประมาณพุทธศตวรรตที่ ๘ เกี่ยวกับกษัตริย์ ฟันมัน แห่งอาณาจักรฟูนันได้ปราบปรามอาณาจักรต่าง ๆ กว่าสิบแห่ง ในจำนวนนั้นเชื่อว่ามีเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย โดยปรากฎชื่อเมืองจินหลิน เชื่อว่าเมืองดังกล่าวน่าจะอยู่บริเวณที่ลาบลุ่มภาคกลางของไทยในปัจจุบัน
            เหตุผลที่นำเสนอต่อไปมีว่าในแหลมโคชินไชนา มีร่องรอยเมืองโบราณเพียง ๓ - ๔ เมือง ที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมฟูนัน และในจำวนนี้มีเพียงเมืองออกแก้ว เมืองเดียวที่ได้มีการศึกษาไปแล้ว แต่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีร่องรอยของเมืองโบราณอยู่ประมาณ ๑๕ เมือง ที่มีรูปแบบาคล้ายกัน และปรากฎร่องรอยหลักฐานวัตถุ ในวัฒนธรรมแบบฟูนัน เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่บริเวณที่ราบแม่น้ำโขง ร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ หรือแรกเริ่มประวัติศาสตร์พบว่ามีอยู่น้อย และกระจายตัวอยู่ห่าง ๆ ส่วนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีร่องรอยสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ และสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ส่วนวัฒนธรรมแบบฟูนันที่เมืองออกแก้ว ในเวียดนามใต้ ไม่มีการสืบต่อลงไปในวัฒนธรรมแบบเจนละ แต่ขาดหายไป ซึ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมแบบทวารวดีในที่ราบลุ่ม ภาคกลางที่มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เช่น รูปแบบภาชนะดินเผา เครื่องประดับที่ทำด้วยทองหรือดีบุก รวมทั้งเครื่องประดับประเภทลูกปัด
            จากการศึกษาทางโบราณคดีบริเวณแหล่งโบราณคดีท่าม่วง อำเภออู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ - ๒๕๑๔ ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นแบบศิลปะฟูนันเป็นจำนวนมาก มำให้มีการตั้งสมมติฐานว่าดินแดนบริเวณดังกล่าว เป็นที่เกิดและที่ตั้งของอาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พัฒนามาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ตอนปลาย และในช่วงพุทธศตวรรตที่ ๙ กษัตรย์ฟันซิมันแห่งฟูนันได้ขยายอำนาจเข้ามาครอบครองประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งของชาวสยาม จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในระหว่างการยึดครองจินหลิน เมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมแบบฟูนันออกแก้ว ทางตอนใต้ของเวียดนามก็พบว่ามีหลักฐานคล้ายกัน
            บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง  ได้พบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมแบบฟูนันกระจายอยู่ทั่วไป ที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง มีดังนี้
                -  ประติมากรรมดินเผา  เป็นรูปพระภิกษุ สามรูปกำลังเข้าแถวยืนบิณฑบาต ครองจีวรเป็นริ้วพบที่เขาพระ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง มีขนาด ๑๖.๕๖ เซนติเมตร มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา  เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกเหลือเฉพาะพระพักตร์ พระบาท และส่วนหัวของนาคบางส่วน ส่วนองค์พระถึงพระเศียรหักหายไป พบที่บริเวณภายในเมืองโบราณอู่ทอง มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  ฝาจุกภาชนะดินเผา  เป็นรูปเทวีกับสิงห์ และมีคนพนมมืออยู่ข้าง ๆ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปคชลักษมี หรือพระลักษมีประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนดอกบัวขนาบด้วยช้างชูงวงรดน้ำ พบที่ในเมืองอู่ทอง รูปคชลักษมีนี้เป็นลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์เป็นเครื่องหมายมงคล ที่ใช้ทั้งในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ประติมากรรมนี้คล้ายกัยศิลปะอมราวดีของอินเดียที่ปรากฎภาพแกะสลัก การบูชาพระสถูป มีอายุประมาณพุทธศตวรรษตที่ ๘-๑๐
                -  ตะเกียงอานธะ มีสภาพชำรุเหลือเฉพาะส่วนที่ใส่น้ำมันเท่านั้น รูปแบบคล้ายตะเกียงโรมัน พบที่เมืองอู่ทองและบ้านดอนระฆัง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จัดอยู่ในศิลปะอมราวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษตที่ ๙ - ๑๐
                -  พระพุทธรูปหินสลักนูนสูง  เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีธรรมจักรและกวางหมอบ ทำด้วยดินเผา พบที่เขาพระ อำเภออู่ทอง จากพุทธศิลป์แสดงว่าได้รับอิทธิพลศิลปะแบบหลังคุปตะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศาตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  แผ่นภาชนะดินเผาสลักนูน  เป็นรูปกินรีสวมศิราภรณ์ เป็นแบบอินเดีย พบที่เมืองอู่ทอง มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  ตราดินเผา  เป็นรูปสิงห์นั่งชันขาหน้า เปรียบเทียบได้กับรูปสิงห์ที่ปรากฎในภาพสลักพุทธลังค์ ในศิลปะแบบอมราวดี ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๘ ดังนั้น ตราดินเผานี้ควรมีอายุในรูปหลังประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  ตราดินเผา  เป็นรูปคนต่อสู้ พบที่เมืองอู่ทอง มีลักษณะคล้ายเหรียญโรมันในคริสศตวรรษที่สาม มีอายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐
                -  ลูกปัดชนิดต่าง ๆ  เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสี และลูกปัดกระดูกสัตว์ เป็นต้น มีหลายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ - ๑๗ เซนติเมตร ยาว ๖ - ๑๓ มิลลิเมตร มีรูปแบบต่าง ๆ มากมาย พบที่เมืองโบราณอู่ทอง สามารถเปรียบเทียบได้กับแหล่งอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ออกแก้วและที่กักลาเซสินซิง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๑๖ เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่บอกถึง พัฒนาการสืบทอดมาในวัฒนธรรมแบบทวารวดี
                -  เหรียญเงินมีจารึก เป็นเหรียญเงินที่มีข้อความจารึกว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ แปลว่า พระเจ้าทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ เป็นจารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบครั้งแรกจำนวน ๒๑ เหรียญ บริเวณวัดประโทนเจดีย์ เมืองนครปฐมโบราณ ต่อมาได้พบเหรียญเงินที่มีจารึกแบบเดียวกันที่เมืองโบราณอู่ทอง จำนวนหนึ่งเหรียญ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ และพบที่บ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จำนวนหนึ่งเหรียญ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
            จากการศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรโตโลโปติ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๗  มีอยู่ว่าชื่อของอาณาจักรนี้ปรากฎในบันทึกเดินทางของพระภิกษุชาวจีนชื่อ เหี้ยนจัง ว่าเป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างรัฐศรีเกษตร (พม่า) ทางทิศตะวันตก และอิศาณปุระ (กัมพูชา) ทางทิศตะวันตก มีความเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่๑๒ ตำแหน่งที่ตั้งดังกล่าวนี้ แสดงว่าอาณาจักรดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
            คำว่าโตโลโปติ น่าจะตรงกับคำในภาษาสันสฤตว่า ทวารวดี  แนวคิดนี้ได้ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการ หลายท่านรวมทั้ง นายตากากุสุ ผู้แต่งจดหมายเหตุการเดินทางของพระภิกษุ อี้จิง
            ต่อมาได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาณาจักรทวารวดีกันมากขึ้น จากากรพบหลักฐานต่าง ๆ เป็นจำนวนมากทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ จึงทำให้คำว่า ทวารวดีใช้เป็นชื่อเรียกรูปแบบศิลปะซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ได้รับอิทธิพลจกาวัฒนธรรมแบบอินเดีย และปรากฎพบในประเทศไทยที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ โดยศาสตราจาร ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่เริ่มนำคำว่า ทวารวดีมาใช้เรียกกลุ่มศิลปะแบบนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๒ ซึ่งพบว่าศิลปะแบบดังกล่าวมีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
            ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีในระยะแรก ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า น่าจะอยู่ที่เมืองนครปฐมโบราณ โดยมีพระประโทนเจดีย์เป็นศูนย์กลางเมือง แต่ในระยะต่อมาเมื่อมีการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ทำให้ศาสตรจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เปลี่ยนข้อสันนิษฐานใหม่ว่าเมืองโบราณอู่ทองน่าจะมีความสำคัญมาก่อนเมืองโบราณนครปฐม
            จากการพบหลักฐานประเภทจารึกซึ่งจารึกภาษามอญโบราณจำนวนมาก ทำให้มีผู้เสนอความคิดเห็นว่า ในสมัยทวารวดีประชาชนในอาณาจักรนี้น่าจะพูดภาษามอญ แต่ความเห็นนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก

            เมืองโบราณอู่ทองปรากฎชื่อครั้งแรกในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ เมื่อครั้งที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเมืองโบราณที่ชาวบ้านเรียกว่า เมืองท้าวอู่ทอง ตั้งอยู่เหนือบ้านจระเข้สามพัน แขวงเมืองสุพรรณบุรี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง อยู่ใกล้กับเทือกเขาทำเทียม อันเป็นเขตแดนเมืองสุพรรณบุรีต่อกับเมืองกาญจนบุรี มีแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่าน ตัวเมืองมีกำแพงเมืองสองชั้น และมีสระใหญ่อยู่หลายสระ ด้านในมีโคกอิฐและร่องรอยของเจดีย์ และพบเหรียญเงินตราสังข์แบบเดียวกับที่ขุดพบที่วัดพระประโทน
            เมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจระเข้สามพัน ผังเมืองเป็นรูปวงรี ทอดตัวไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดตัวเมืองกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร มีร่องรอยการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาตนเองจากสังคมเกษตรกรรมในระดับหมู่บ้านเข้าสู่สังคมเมือง และกลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเมืองหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
            หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทองที่สำคัญอันแสดงถึงพัฒนาการและความเจริญของเมืองในอดีต นอกจากจารึกบนเหรียญเงินแล้วยังพบจารึก,เย ธมฺมา ฯ บนแผ่นอิฐ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาบาลี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกดังกล่าวพบที่บ้านท่าม่วง ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
            นอกจากนี้ยังพบจารึกบนแผ่นทองแดง บริเวณตรงข้ามกับโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ จารึกด้วยตัวอักษรแบบหลังปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ ข้อความในจารึกน่าจะกล่าวถึงพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ และพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๒ และพระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๓ ซึ่งมีอายุอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๑๖๐๙,๑๖๒๓
            นอกจากจารึกดังกล่าวแล้ว ยังพบโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่
            พระอุ้มบาตรปูนปั้น  ลักษณะของริ้วจีวรแสดงถึงอิทธิพลศิลปะแบบอมราวดี และแสดงถึงพุทธศาสนาในเมืองโบราณอู่ทองอีกด้วย
            เหรียญตรารูปหอยสังข์ศรีวัสสะ  รูปโคและปราสาท เป็นแบบเดียวกับที่พบในเมืองโบราณที่มีอิทธิพลวัฒนธรรมแบบทราวดี เช่นเมืองโบราณนครปฐม

            ธรรมจักรศิลาเสาหินแปดเหลี่ยมและแท่นรอง พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๑ อำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นเครื่องหมายปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า นิยมสร้างในอินเดีย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ ๓ สำหรับที่ปรากฎในประเทศไทยน่าจะสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ โบราณวัตถุดังกล่าวนี้ ได้พบที่เมืองโบราณนครปฐมเช่นกัน แต่ที่พบพร้อมทั้งแท่นและเสามีอยู่แห่งเดียวที่เมืองโบราณอู่ทอง
            พระพุทธรรูปสำริด  ศิลปะแบบทวารวดีรุ่นหลัง โดยมีการผสมผสานศิลปะพื้นเมืองเข้าร่วม พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง
            พระพุทธรูปปางประทานธรรม  ประทับนั่ง ศิลปะทวารวดีตอนปลาย พบที่เจดีย์หมายเลข ๑๓
            พระพิมพิ์ดินเผา เป็นพระพุทธรูปคล้ายปางลีลา พบที่เจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง
            ตุ๊กตาคนจูงลิง  ทำด้วยดินเผา ลักษณะเป็นรูปคนเปลือย พบที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง
            นอกจากโบราณวัตถุชิ้นสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังพบกลุ่มโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ดังนี้

            โบราณสถานหมายเลข ๑ (วัดปราสาทร้าง)  อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ประมาณ ๒ กิโลเมตร จากการดำเนินทางโบราณคดีทราบถึงการก่อสร้างเป็นสามระยะคือ
                - ระยะที่ ๑ สร้างในสมัยทวารวดี ฐานตั้งอยู่บนพื้นดิน ประกอบด้วยหัวและช่องซุ้มสี่เหลี่ยม
                - ระยะที่ ๒ สร้างในสมัยทวารวดี เป็นการต่อเติมจากระยะที่ ๑ ด้วยการก่อผนังทับมุขและซุ้มเจดีย์ตลอดแนวด้านใต้และ
ตะวันออกเฉียงใต้ พบแผ่นอิฐเขียนสีเป็นลายก้านขด ลายเรขาคณิต ทั้งยังเสริมด้วยเศษอิฐหักของการสร้างระยะที่ ๑ โดยรอบ
                - ระยะที่ ๓ เป็นการสร้างเสริมในสมัยอยุธยาทับบนฐานเจดีย์แบบทวารวดี
            โบราณสถานหมายเลข ๒  ตั้งอยู่นอกคูเมืองโบราณทางด้านทิศเหนือ ห่างจากพิพิธภัณฑ์ ฯ อู่ทองประมาณ ๕๐๐ เมตร ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ ๓๕ เมตร ย่อมุมทั้งสี่ด้าน มีเจดีย์ทั้งสี่มุม พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลามีลวดลายคล้ายกับที่พบ บริเวณโบราณสถานหมายเลข ๑๑ พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปศิลาปางเสด็จจากดาวดึงส์ กินรีดินเผา เศียรและบาทพระพุทธรูปทองคำ
            โบราณสถานหมายเลข ๙  ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญาราม (วัดเขาพระ) เป็นฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ ๑๐ เมตร ฐานตอนบนย่อมุมเป็นมุข มีช่องซุ้มประดับเป็นช่อง ๆ และเจดีย์ประจำมุมทรงกลมประดับที่ฐานทั้งสี่มุม พบพระพิมพ์ดินเผาปางเสด็จจากดาวดึงส์สององค์
            โบราณสถานหมายเลข ๑๐  ตั้งอยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข ๙ ไปทางด้านทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นเจดีย์ ทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๖ เมตร  พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปปางสมาธิและระฆังหินขนาดเล็ก
            โบราณสถานหมายเลข ๑๑  ตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขาทำเทียม ห่างจากโบราณสถานหมายเลข ๑๐ ไปทางด้านทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นฐานเจดีย์ทรงสี่เหลี้ยมจตุรัสยาวด้านละ ๑๐.๖๐ เมตร  พบพระพุทธรูปสำริดปางเสด็จจากดาวดึงส์จำนวน ๔ องค์ ธรรมจักรศิลาพร้อมเสาแปดเหลี่ยม และแท่นหินสี่เหลี่ยม พระพิมพ์ดินเผา ด้านหลังจารึก เมตเตยยโก และสาลิปตโต และพระโพธิสัตว์ดินเผา
            โบราณสถานหมายเลข ๑๓  อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ ฯ อู่ทองไปทางด้านทิศตะวันตกประมาณ ๘๐๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ยาวด้านละ ๕ เมตร แต่ละด้านมีซุ้มด้านละสองซุ้ม พบยอดสถูปศิลา สิงห์ศิลา พระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรม เสด็จจากดาวดึงส์ และสิงห์สำริด
            ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปประมาณ ๓ กิโลเมตร มีกลุ่มโบราณสถานคอกช้างดิน พบว่ามีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ถึง ๒๐ กลุ่มใหญ่ ๆ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ โบราณสถานที่สร้างด้วยดิน และที่สร้างด้วยอิฐ ศิลาแลงและหิน
            คอกช้างดิน  ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าเป็นเพนียดคล้องช้าง ความจริงน่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอีกมาก เช่น เหรียญเงิน จำนวน ๙ เหรียญ มีอยู่ ๓ เหรียญปรากฏจารึกอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต มีข้อความว่า ศรีทวาราวดี ศวรปุณยะ แปลว่า การบุญชองพระเจ้าศรีทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว ตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ และแผ่นหินจำหลักลายดอกไม้สีกลีบ
            จากหลักฐานที่พบดังกล่าว กลุ่มโบราณสถานเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานในอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งน่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่ของเมืองอู่ทอง ในลักษณะที่ตัวเมือง และบริเวณโดยรอบที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนา ส่วนบริเวณด้านนอกเมือง โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกของเมือง ซึ่งเป็นภูเขา และที่สูงเป็นกลุ่มอิทธิพลศาสนาพราหมณ์
            ตัวเมืองโบราณอู่ทองจัดว่าเป็นตัวแทนของพัฒนาการสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรี  เมืองโบราณ อู่ทองเริ่มเสื่อมความสำคัญลง ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ พร้อมกันกับการสิ้นสุดลงของวัฒนธรรมทวาราวดี  เมืองอู่ทองถูกทิ้งร้างไปเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยมีเมืองที่เชื่อกันว่าชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เจริญขึ้นมาแทน โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |