| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

บ้านบุ้งวัวงิ้ว
            อยู่ในเขตตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเนินดินเตี้ย ๆ  โบราณวัตถุที่พบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย ขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลสีขาว เศษภาชนะดินเผา หม้อกันกลม ชามก้นกลมแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบกับลายขูดและลายประทับ  จากหลักฐานที่ปรากฏบ่งชี้ว่าชุมชนที่ใช้เครื่องมือหินขัด มีการล่าสัตว์ และเป็นสังคมกสิกรรม
ผาเขียนเขาตาพรม

           อยู่ที่บ้านถ้ำดิน ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน เขาตาพรมเป็นเขาหินทราย สูงประมาณ ๓๐๐ เมตร ภาพเขียนที่เพิงผา กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑,๕๐ เมตร อยู่สูงจากพื้นผาประมาณ ๖ เมตร  พื้นหน้าเรียบ ภาพเขียนสีแดงลักษณะเป็นภาพวาดลายเส้น โดยภายนอกเขียนรูปสัญลักษณ์ ประกอบด้วยภาพเขียนคล้ายรูปคน ภาพรูปทรงเรขาคณิต เป็นรูปวงกลมและเส้นโครง รูปจุกไข่ปลาคล้ายรวงข้าว นักเป็นภาพเขียนสีแห่งแรก และแห่งเดียว ในจังหวัดอุตรดิตถ์เท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน ยังไม่สามารถกำหนดอายุของภาพได้ว่าอยู่ในสมัยใด
            
แหล่งโบราณคดีปางต้นผึ้ง
            อยู่ในเขตอำเภอเมือง  ได้พบโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ลูกปัดหิน มีดสำริด ขวานสำริด ลูกปัดสำริด เศษภาชนะดินเผาแบบผิวเรียบ และแบบผิวประทับลายต่าง ๆ มี ๔ สี คือ สีดำ สีน้ำตาล สีส้ม และสีนวล เนื้อดินหยาบ มีทรายและแกลบผสม  สันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีวังแพวน
            อยู่ในเขตตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา สภาพทั่วไปเป็นลานตะพักน้ำ พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินกระเทาะ  เศษภาชนะดินเผา  เศษภาชนะดินเผาแบบไม่เคลือบ  เศษเครื่องถ้วยจีน และเศษไหเคลือบสีน้ำตาล  สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในระบบสังคมแบบเร่ร่อน และในระยะต่อมาน่าจะเคยเป็นที่พักค้างแรมของพ่อค้าชาวจีนมาก่อน
แหล่งโบราณคดีแก่งตาน
            อยู่ริมแม่น้ำน่านในเขต ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา โบราณวัตถุที่พบได้แก่เศษภาชนะดินเผาผิวขัดมัน และผิวเรียบ มีลายเชือกทาบเส้นเล็กและเส้นใหญ่  ลายประทับตาข่าย และไม่มีลาย  ชิ้นส่วนเครื่องมือหินขัด ก้อนดินเผาไฟ เครื่องถ้วยลายครามจีน เศษไห เนื้อดินสีเทาแบบไม่เคลือบ  สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ที่เดินทางมาโดยทางน้ำ และเดินเท้ามาตามริมฝั่งแม่น้ำน่าน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓
แหล่งโบราณคดีถ้ำกระดูก เขาผาตั้ง
            อยู่ที่เขาผาตั้ง บ้านถ้ำดิน ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน  เป็นถ้ำอยู่สูงบริเวณยอดเขามีอยู่สองถ้ำคือ ถ้ำบน และถ้ำล่าง พบใบหอกสำริด กำไลหินทำจากหินสีขาวเนื้อแกร่ง เศษภาชนะดินเผา แต่งผิวด้วยลายขูดขีดและลายเชือกทาบ  สันนิษฐานว่า เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนในยุคกสิกรรมสมัยหลัง
แหล่งประวัติศาสตร์เวียงเจ้าเงาะ

            อยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๙ ไร่ อยู่ห่างจากพระแท่นศิลาอาสน์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๘๐๐ เมตร  พื้นที่เป็นที่ราบดินปนศิลาแลง  และบางส่วนเป็นศิลาแลงล้วน  มีผู้สันนิษฐานว่า อาณาจักรสุโขทัยได้ใช้เวียงเจ้าเงาะเป็นหน้าด่าน  โดยได้ขุดคันดินเป็นแนวกำแพงเมืองต่อจากมุมกำแพง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ออกไปแล้วปรับปรุงเวียงเจ้าเงาะเดิมขึ้นเป็นเมืองอีก  จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดีระบุว่า เวียงเจ้าเงาะลักษณะพื้นที่เป็นรูปไข่ ต่างจากเมืองโบราณอื่น ๆ ตรงที่มีกำแพงเจาะลึกลงไปในชั้นศิลาแลงถึงสามชั้น ที่เรียกว่าตรีบูรณ์  ชาวเมืองอุตรดิตถ์ขนานนามเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เวียงเจ้าเงาะ และเวียงท้าวสามล อยู่ห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น มีคูล้อมรอบ คันคูชั้นนอกบางตอนก่อด้วยศิลาแลง บางตอนมีคู ๓ ชั้น บางตอนมีคู ๒ ชั้น  เป็นเมืองที่เก่ากว่าเมืองทุ่งยั้ง และเมืองพิชัย
บ่อเหล็กน้ำพี้

            อยู่ในเขตตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน เหล็กน้ำพี้เป็นเหล็กกล้าเนื้อดี นิยมนำไปถลุง แล้วนำแร่ที่ถลุงได้ไปใช้ทำอาวุธ และเครื่องใช้ต่าง ๆ ปัจจุบันบ่อเหล็กน้ำพี้เหลืออยู่เพียงสองบ่อ คือ บ่อพระขรรค์และบ่อพระแสง  การที่ได้ชื่อดังกล่าวของทั้งสองบ่อก็เนื่องจากว่า ได้เคยมีการนำเหล็กน้ำพี้จากทั้งสองบ่อดังกล่าว ไปตีเป็นพระแสงและพระขรรค์ เพื่อทูนเกล้า ฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์  ได้กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ หลายตอนด้วยกันว่า เหล็กจากบ่อน้ำพี้นี้ ได้นำไปใช้ทำพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ดาบล้างอาถรรพ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน ดาบนันทกาวุธของพระยาพิชัยดาบหัก  นอกจากนี้ยังได้นำไปเป็นส่วนผสมในการหล่อพระเครื่อง  ผงว่าน และลูกประคำในสมัยก่อน  เนื้อของเหล็กน้ำพี้จะมีผิวมันวาวคล้ายสีปีกแมลงทับ มีความเหนียวไม่เปราะ
เมืองพิชัย

            อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิชัย มีวัดหน้าพระธาตุอยู่ในเขตคันคูเมืองด้านทิศตะวันตก  ด้านทิศตะวันออกยังมีคันดิน และคูเมืองที่ยังปรากฏอยู่ชัดเจน  เมืองพิชัยเป็นเมืองเก่าแก่ และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย  ตลอดมาถึงอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรรัตนโกสินทร์  สันนิษฐานว่า เมืองพิชัยตั้งมาเมื่อประมาณ ๘๐๐ - ๙๐๐ ปีมาแล้ว  พร้อม ๆ กับการตั้งอาณาจักรสุโขทัย  เป็นเมืองรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองพิษณุโลก และเมืองสวรรคโลก  ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑) เมืองพิชัยได้จัดอันดับอยู่เป็นหัวเมืองชั้นตรี และเป็นเมืองหน้าด่านทางเหนือของอาณาจักรอยุธยา  มีความสำคัญรองลงมาจากเมืองพิษณุโลก เมืองพิชัยได้ลดความสำคัญลงมาเมื่อมีการย้ายที่ว่าการเมืองมาอยู่ที่ ตำบลบางโพ ท่าอิฐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองตาชูชก

            อยู่ที่บ้านเด่นสำโรงริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน เมืองนี้ไม่ทราบชื่อเดิมว่าชื่อเมืองอะไร การที่ได้ชื่อว่าเมืองตาชูชก  เนื่องจากชาวบ้านได้เรียกชื่อนี้กันมานาน  อันมีที่มาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งนอกจากชื่อเมืองแล้ว บรรดาสถานที่ต่าง ๆ ก็ยังได้ชื่อจากเรื่องนี้อยู่มาก เช่น ถนนมัทรี เขาวงกต วัดคลิงคราช เป็นต้น  เมืองตาชูชกมีแม่น้ำน่านเป็นคูเมืองทางด้านทิศตะวันตก  ด้านทิศเหนือมีคลองตรอน และคลองน้ำข้าวเป็นคูเมือง  ด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองและกำแพงเมืองเหลืออยู่บางตอน  ลักษณะของคูเมืองเป็นคูเมือง ๒ ชั้น และมีกำแพงเมือง ๓ ชั้น
            ภายในตัวเมืองมีวัดคลิงคราชตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน  วัดนี้ได้สร้างขึ้นมาใหม่โดยสร้างทับวัดร้างเก่า ในบริเวณวัดมีสระน้ำเก่า  ที่ขอบสระบางตอนมีซากอิฐเก่าเหลืออยู่  คาดว่าจะเป็นฐานสิ่งก่อสร้างของวัด  ในตัวเมืองพบเศษเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป
            เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองโบราณอื่น ๆ แล้ว จะพบว่าการที่มีกำแพงเมือง ๓ ชั้น และคูเมือง ๒ ชั้นนั้น เหมือนกับสุโขทัยเมืองเก่า  เพราะจากศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของกรุงสุโขทัยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา  แสดงว่าเมืองสุโขทัยมีกำแพงเมือง ๓ ชั้น  ดังนั้นเมืองตาชูชก ก็น่าจะเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย
ย่านประวัติศาสตร์ลับแล

            ในเขตอำเภอลับแลปัจจุบันมีเมืองเก่าอยู่ ๒ เมือง คือเมืองทุ่งยั้ง เป็นเมืองหน้าด่านชั้นนอกของกรุงสุโขทัย โดยขึ้นอยู่กับเมืองเชลียง  อีกเมืองหนึ่งคือเมืองลับแล ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา  แม้ว่าเมืองลับแลยังสำรวจไม่พบหลักฐานของตัวเมือง  เช่นกำแพงเมือง และคูเมืองก็ตาม  แต่เมืองลับแลก็มีตำนานเล่าสืบกันมานานว่าเป็นเมืองมหัศจรรย์ มีที่ตั้งที่ลึกลับซับซ้อน คนแปลกหน้ายากที่จะเข้าไปได้  เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแต่ป่าไม้ ไม่ค่อยพบเห็นบ้านเรือน มีบรรยากาศเยือกเย็น เมื่อเวลาเย็นดวงอาทิตย์ยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว  เพราะมีดอยม่อนฤาษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์  ป่าบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่าลับแลง ต่อมาได้เพี้ยนเป็นลับแล  ชาวลับแลส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทุเรียน  สวนลางสาดซึ่งอยู่บนเขา ผู้ชายชาวลับแลต้องใช้ชีวิตในสวนเป็นระยะเวลานาน  ปล่อยให้ภรรยาและลูกๆอยู่เฝ้าบ้าน เมื่อมีผู้คนผ่านมาจึงเห็นมีแต่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่จึงให้ฉายาเมืองลับแลว่าเมืองแม่ม่าย
            มีตำนานทางพุทธศาสนาเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่หมู่บ้านซึ่งต่อมาชื่อว่าเมืองทุ่งยั้งนั้น  พระพุทธองค์ได้ประทับที่พระแท่นศิลาอาสน์ แล้วเสด็จมาเดินจงกรมที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ได้ทอดพระเนตรไปทางทิศเหนือ เห็นหนองน้ำกว้างใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อว่า หนองพระแล  และพระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรไปยังที่ตั้งเมืองลับแล ปรากฎว่ามีต้นไม้บังอยู่มากมายเหมือนกับเป็นที่ลี้ลับ  ดินแดนดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่าลับแล
            มีตำนานพื้นบ้านเล่าว่า  เมืองลับแลเป็นเมืองแม่ม่าย ตั้งอยู่ในที่ลี้ลับ  พลเมืองมีแต่ผู้หญิงยึดมั่นในคุณความดี มีวาจาสัตย์ ต่อมามีชายชาวทุ่งยั้งผู้หนึ่ง หลงทางเข้าไปที่เมืองลับแล ได้พบสาวเมืองลับแลเกิดรักกันและได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ฝ่ายหญิงให้ฝ่ายชายสัญญาว่าจะไม่พูดเท็จ ทั้งสองมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง  วันหนึ่งภรรยาออกไปเก็บผักหักฟืน ลูกหิวนมร้องไห้ไม่หยุด  ผู้เป็นพ่อจึงปลอบลูกว่าแม่กลับมาแล้วเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้  เมื่อภรรยากลับมาทราบว่าสามีกล่าวเท็จจึงต้องไห้สามีออกจากเมืองไป
            มีตำนานที่เกี่ยวกับกำเนิดเมืองลับแลอยู่ว่า  เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๕๐๐ สมัยอาณาจักรโยนก  มีนครพันธ์สิงหนวัติโยนกชัยบุรีเชียงแสนเป็นราชธานี  ได้มีราษฎรหมู่หนึ่งอพยพไปหาทำเลที่ทำมาหากินแห่งใหม่ โดยได้เดินทางลงทางใต้ ผ่านจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่  จนมาถึงหุบเขาลับแลเห็นว่ามีภูมิประเทศที่เหมาะสม จึงตกลงใจสร้างเมืองขึ้นที่บ้านเชียงแสน  เมื่อได้ตั้งหลักแหล่งมั่นคงดีแล้วจึงได้ส่งตัวแทนกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด  เมื่อเดินทางกลับได้นิมนต์พระสงฆ์มาด้วยได้สร้างวัดแห่งแรกชื่อวัดเก้าเง้ามูลศรัทธา (วัดใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ราชบุตรกษัตริย์ แห่งโยนกนครได้ครองเมืองลับแลคนแรกเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๑๓ ได้มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้น จึงให้พวกชาวเชียงแสนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านคอกช้าง  บ้านต้นเกลือ และบ้านท้องลับแล  ส่วนพวกที่มีเชื้อสายจากเวียงจันทน์ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านยางกระดาย  บ้านนาแต้ว  บ้านนาทะเล และบ้านปากฝาง
บึงหล่ม

            อยู่ในเขตตำบลนาอิน อำเภอพิชัย  บึงหล่มเคยเป็นเมืองๆหนึ่ง  ต่อมาเกิดอาเพทอันเนื่องมาจาก พฤติกรรมของผู้ที่จะขึ้นครองเมืองแทนเจ้าเมืองเดิม แผ่นดินไหวอยู่ ๗ วัน ๗ คืน แผ่นดินถล่มกลายเป็นหนองบึงมีน้ำท่วมขังอยู่ซึ่งต่อมาเรียกว่าบึงล่มหรือบึงหล่ม  ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ จากตำนานดังกล่าว ทำให้เป็นที่มาของชื่อสถานที่อีกหลายแห่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันคือ ขณะเกิดแผ่นดินไหว สองแม่ลูกของเจ้าเมืองที่เป็นต้นเหตุแห่งอาเพท ได้หนีตายไปคนละทิศคนละทาง ลูกชายหนีไปทางใต้ และได้ไปหยุดพักอยู่ ณ ทุ่งแห่งหนึ่งนึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะตนเป็นเหตุ  เกิดเสียใจประกอบกับความหิวโหว จึงสิ้นใจตาย ณ ที่นั้น  ต่อมาทุ่งแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าทุ่งสงสาร  ปัจจุบันคือทุ่งสาน ตำบลฆ้องวัง อำเภอพรมพิราม จังหวัดพิษณุโลก  ส่วนแม่หนีไปทางเหนือได้ไปหยุดพักที่บริเวณเชิงเขาแห่งหนึ่ง ต่อมาหมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านนางอิน และได้เพี้ยนไปเป็นบ้านนาอิน  จากนั้นนางได้เดินทางต่อไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ภายหลังได้ชื่อว่า บ้านนางยั้ง  ปัจจุบันคือตำบลนายาง นางได้เดินทางต่อไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง แล้วหยุดคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านนางคำนึง และได้เพี้ยนมาเป็นบ้านนาคะนึง
บ่อน้ำทิพย์ที่เวียงเจ้าเงาะ

            บริเวณนี้เป็นที่ตั้งเมืองเก่าแห่งหนึ่ง ที่คาดว่าเป็นเมืองซ้อนเมืองมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  อยู่ติดกันกับเมืองทุ่งยั้ง  มีวัดพระบรมธาตุตั้งอยู่ใกล้กัน  ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งเมืองโบราณ ที่เรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ  บริเวณใกล้ ๆ เวียงเจ้าเงาะมีหลุมบ่อที่มีลักษณะเป็นถ้ำ และอุโมงค์อยู่มาก  มีโบราณวัตถุตกหล่นแตกหักอยู่ในหลุมและอุโมงค์อยู่หลายแห่ง
            บ่อน้ำทิพย์  อยู่ใต้กำแพงศิลาแลงของเวียงเจ้าเงาะ  มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า น้ำในบ่อน้ำทิพย์นั้นตักขึ้นมาเท่าใดก็ไม่แห้ง  ทั้งที่เป็นบ่อน้ำตื้น น้ำในบ่อใสสะอาด ใช้ดื่มกินได้ บางรายก็นำไปใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
            จากพงศาวดารโยนกของพระกิจกรจักร มีความตอนหนึ่งว่า เจ้าธรรมกุมารเจ้าเมืองกัมโภชนคร หรือเมืองทุ่งยั้ง ได้ทราบความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำในบ่อน้ำทิพย์  พระองค์ได้ทรงสร้างพระแสงดาบประจำพระองค์ โดยใช้น้ำในบ่อน้ำทิพย์ชุบพระแสงดาบนี้ ก็ปรากฏว่าเหตุอัศจรรย์คือ เมื่อพระแสงดาบถูกน้ำทิพย์  เนื้อดาบได้แปรสภาพเป็นสีปีกแมลงทับ และมีความแข็งแกร่ง คมวาว ต่อมาพระองค์ได้ใช้พระแสงดาบนี้สยบช้างป่าได้  กิติศัพท์ได้เลื่องลือออกไป  บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ  ต่างก็พากันมานำน้ำทิพย์ไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บยังบ้านเมืองของตน  บ่อน้ำทิพย์จึงเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเวียงเจ้าเงาะมาตั้งแต่บัดนั้น
เมืองทุ่งยั้ง

            ทุ่งยั้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาแต่สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า เป็นเมืองท้าวสามลในเรื่องสังข์ทอง  มีหลักฐานตามองค์ประกอบของเรื่องเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ อยู่เป็นอันมาก เช่นเมืองท้าวสามล  สระเจ็ดนาง สถานที่พระสังข์ไปหาเนื้อหาปลา  เวียงเจ้าเงาะ ที่ทำนา กระท่อมปลายนา สนามตีคลี หลุมคลี นอกจากนี้ในวิหารหลวงวัด พระบรมธาตุ ทุ่งยั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเรื่อง สังข์ทองเอาไว้  สันนิษฐานว่า เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยาปรากฏให้เห็นอยู่บางส่วน  รวมทั้งมีรูปเจ้าเงาะและนางรจนา แกะสลักด้วยศิลาแลง ขุดพบที่เวียงเจ้าเงาะ  นอกจากนั้นยังพบรูปปั้นเจ้าเงาะที่ทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาเคลือบน้ำยา  มีเนื้อดินแบบเตาทุเรียงศรีสัชนาลัยสูงประมาณ ๘ นิ้ว
เมืองกาหลง
            มีตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า เจ้าชายโควินกุมาร ได้ออกตามหาบิดามารดาได้เดินทางผ่านมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งได้พบหอกลองและมีกลองตั้งอยู่หลายลูก  ได้พบพระธิดาแห่งเมืองกาหลง ซึ่งเข้าไปแอบซ่อนหลบนกอินทรีย์อยู่ในกลอง  เจ้าชายโควินปราบนกอินทรีย์ได้ แล้วรับพระธิดาไว้เป็นพระภัคคินี แล้วช่วยกันนำหีบศพของพระราชมารดาของพระนาง ที่เหลือจากการเป็นเหยื่อของนกอินทรีย์ไปวางไว้บนก้อนหินใหญ่ ทางทิศใต้แล้วจารึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่เมืองกาหลงไว้ที่หน้าผาใกล้ประตูเมือง  หน้าผาดังกล่าวเรียกว่า เขาเขียน  ยังมีรอยจารึกเป็นตัวอักษรติดอยู่ที่หน้าผาแห่งนั้นแต่ไม่มีผู้ใดอ่านออก  หน้าผาดังกล่าวอยู่บนเทือกเขาเดียวกับเขาตาพรม ในเขตอำเภอทองแสนขัน  ต่อมาพระนางและเจ้าชายโควินได้ดำเนินการบูรณะเมืองกาหลงขึ้นใหม่  โดยให้สร้างที่บ้านนาป่าคายกับบ้านนาลับแลงปัจจุบัน  แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองตรอน  ตั้งบ้านน้ำพี้เป็นคลังอาวุธ  อาศัยเหล็กที่บ่อแร่ บ่อพระขรรค์ และบ่อพระแสง ซึ่งเป็นเหล็กเนื้อดีไปสร้างอาวุธ
บ้านนาลับแลง
            ความเป็นมาของบ้านนาลับแลงมีความเกี่ยวเนื่องกับบ้านนาป่าคาย  เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ได้แยกตัวออกไป มีข้อสันนิษฐานการตั้งหมู่บ้านนี้อยู่ ๒ ประเด็นคือ
            ประเด็นแรก  เกี่ยวข้องกับบ่อเหล็กน้ำพี้ ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กที่ใช้ทำอาวุธของพระมหากษัตริย์มาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ในการนี้จำเป็นต้องใช้กำลังทหารมาเฝ้ารักษา  ทหารส่วนหนึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่แถบเมืองบางยาง (อำเภอนครไทย) ต่อมาเมื่อปลดประจำการแล้วจึงได้ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่บริเวณนี้ และได้ชักชวนญาติพี้น้องมาอยู่ด้วยเพราะเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์  ผู้คนก็มากขึ้นตามลำดับ  จนกลายเป็นชุมชนใหญ่จนต้องมีการขยับขยายไปถึงบ้านแสนขัน บ้านท่าช้าง และบ้านพงสะตือ
            ประเด็นที่สอง  อ้างถึงการก่อสร้างวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ถึงสมัยสุโขทัย และมีความสอดคล้องกับประวัติหมู่บ้านแสนขัน  มีตำนานกล่าวว่า ชาวหลางพระบางได้ทราบข่าวว่า จะมีการก่อสร้างวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ก็เกิดศรัทธา  จึงรวบรวมทองคำได้จำนวนหนึ่ง ว่ากันว่าได้ถึงแสนขัน จึงเดินทางไปยังเมืองบางยาง (อำเภอนครไทย) ข้ามลำน้ำแควน้อย ผ่านบ้านปางหมิ่นจนถึงบ้านแสนขัน ก็ทราบว่าวัดพระแท่นศิลาอาสน์สร้างเสร็จแล้ว  จึงได้รวบรวมทองทั้งหมดฝังไว้ที่หมู่บ้านแห่งนี้ และเลยเป็นธรรมเนียมของทุกปี ที่มีงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ในช่วงกลางเดือนสาม  จะมีชาวหลวงพระบางมาร่วมงานเสมอ  โดยผ่านเส้นทางต่อจากบ้านแสนขัน แล้วมุ่งสู่บ้านนาป่าค่าย บ้านแก้ว หรืออีกทางหนึ่งจะมุ่งสู่บ้านน้ำพี้ บ้านป่าขนุน ไปยังวัดพระแท่นศิลาอาสน์  นอกจากนี้ชนบางกลุ่มเห็นว่าบริเวณบ้านแสนขัน บ้านนาป่าค่าย บ้านน้ำพี้ เป็นทำเลเหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน  จึงมาตั้งรกรากอยู่นับเป็นต้นตระกูลของคนพื้นบ้านนั้นต่อมา
บ้านท่าเสา หาดท่าอิฐ

            การเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าเสา เริ่มต้นแต่เมื่อใดยังไม่ทราบแน่ชัด จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของ พระอุโบสถวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านท่าเสามาแต่เดิม ประมาณอายุว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ท่าเสาเป็นตลาดบกที่ชาวเมืองแพร่นำสินค้าเดินบกข้ามเขาพลึงมาพักเตรียมไปขายที่ท่าอิฐ  บ้านท่าเสาได้ชื่อมาจากการประกอบอาชีพตัดไม้ล่องซุง ซึ่งเป็นอาชีพที่ประกอบกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ
            หาดท่าอิฐ  ในสมัยก่อนเป็นตลาดการค้าใหญ่  มีพ่อค้านำสินค้าเดินบกมาจากเมืองเหนือ เช่น  แพร่  น่าน  เชียงราย  ตลอดไปจนถึงสิบสองปันนา  ทางทิศตะวันออกก็มีพ่อค้าจากอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หลวงพระบาง ต่างนำสินค้าเดินบกมายังหาดท่าอิฐ  ส่วนทางใต้ก็จะมีพ่อค้านำสินค้าจากภาคกลาง มาขึ้นเรือที่หาดท่าอิฐ  ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างแดนกัน  เป็นชุมชนที่คับคั่งมากแห่งหนึ่ง
            เมื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ  เส้นทางรถไฟจะตัดผ่านมาทางบ้านท่าเสา และมีสถานีรถไฟท่าเสาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ชื่ออุตรดิตถ์แปลว่าท่าน้ำทางทิศเหนือ  มีความหมายมาจากหาดท่าอิฐ
            หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  สภาพตลาดการค้าของท่าเสาก็ซบเซาลงไป  เพราะมีถนนสายใหม่ ๆ เกิดขึ้นทำให้การคมนาคมสดวกขึ้น  ความสำคัญของท่าเสาก็ลดลงไปจนหายไปจากความทรงจำ
 
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |