| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
มรดกทางศาสนา
พระแท่นศิลาอาสน์
ตั้งอยู่บนเนินเขา ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระพุทธบาทยุคล ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นที่เชื่อมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่ง ณ แท่นศิลาแลง ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า พระแท่นศิลาอาสน์ ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๘ ฟุต ยาว ๑๐ ฟุต สูง ๓ ฟุต มีมณฑปครอบอยู่ภายในพระวิหาร
วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด
แต่จากการสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์และทางโบราณคดี ก็น่าจะสร้างขึ้นไปสมัยอยุธยา
ประเพณีทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อใด
แต่ได้มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้คนมาสักการบูชาตามเทศกาล และนอกเทศกาล
ด้วยมีความเชื่อว่าการได้มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์แล้ว จะได้รับอานิสงค์สูงสุด
ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้คนในเขตทางตอนเหนือ ที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดอุตรดิตถ์
จะพยายามดั้นด้นขวนขวายมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต
ในวันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา งานเทศกาล จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น
๘ ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์
พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ตอนเช้าพระภิกษุสงฆ์ก็จะออกบิณฑบาตตามหมู่บ้าน
และบรรดาชาวบ้านก็จะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จ
ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารรับประทานกันทั่วหน้า รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการ
พระแท่น ฯ ด้วย เป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
ในบริเวณใกล้เคียงกันก็จะเป็นองค์อนุสรณ์ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมา
ณ ที่บริเวณนี้ได้ วัดพระยืน พุทธบาทยุคล วัดพระนอน และพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
ทำให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาพระพุทธเจดีย์ดังกล่าวทั้งหมดได้ในโอกาสเดียวกัน
หลวงพ่อเพชร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก
ประดิษฐานอยู่ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) ตลาดบางโพ อำเภอเมือง ฯ ชาวอุตรดิตถ์นับถือว่า
เป็นพระพุทธสำคัญประจำเมือง มีงานนมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่ของทุกปี
มีประวัติอยู่ว่า
หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งขุดพบมามอบให้
ประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ ซึ่งมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อเพชร เนื่องจากวัดหมอนไม้ไม่มีพระอุโบสถ
และอยู่ในที่เปลี่ยว ส่วนวัดวังหม้ออยู่ในที่ชุมชนน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า
ฯ ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือจัดหาพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ ไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร
พระพุทธรูปสำริดหลวงพ่อเพชรจึงถูกอัญเชิญไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทำให้หลวงพ่อเพชรเจ้าอาวาสเสียใจ
ได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ จนเวลาล่วงเลยไปเป็นเวลา ๑๐ ปี จึงได้มรณะภาพในป่าบนเขาบ้านนาตารอด
ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง ฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อเช่นเดิม
ตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
อยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เป็นวัดเก่าแก่คู่กับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาประทับยืนบนยอดเขานี้ เพื่อทอดพระเนตรไปยังทิศต่าง ๆ เป็นปริมณฑล และได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทไว้ จึงปรากฎรอยพระพุทธบาททั้งคู่บนศิลาแลง ต่อมาในสมัยสุโขทัย เจ้าธรรมราชกุมาร ผู้ครองนครศรีสัชนาลัยได้โปรดให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้มีการบูรณะพระมณฑป และทำหลังคาเป็นจุลมงกุฏ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนหลังคาเป็นจตุรมุข ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
มณฑปพระยืน เป็นมณฑปจตุรมุขศิลปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ยอดเป็นปลายแหลมขึ้นไปมีวิมานทั้งสี่ทิศ
บนยอดวิมานทำเป็นปล้องไฉน มีฉัตรแบบพุกาม ประดับใบระกาและหางหงส์ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางตัดแบบเชียงแสน
ภายในมณฑปมีรอยพระพุทธบาทคู่ประทับอยู่บนฐานดอกบัวทรงกลม ด้านหลังมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
ตั้งอยู่ในเขตตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล อยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ มีพระธาตุเจดีย์เก่าแก่อยู่องค์หนึ่งแบบทรงลังกา มีซุ้มคูหาที่ฐานทั้งสี่ทิศ มีเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่สี่มุม ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ ศาลาการเปรียญหลังเก่า และพระอุโบสถหลังเก่าอยู่ทางด้านซ้าย |
ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ มีพระอุโบสถเก่าแก่อยู่ ๑ หลัง สันนิษฐานว่า
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่สามด้าน ลายปูนปั้นที่ช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์และตัวเหรา รวมทั้งที่ซุ้มหน้าต่างประตูมีความวิจิตรงดงามอย่างยิ่ง
หน้าบันเป็นไม้จำหลักรูปครุฑจับนาค มีตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางลายเครือเถาก้านขด มีเทพนมอยู่เป็นระยะ มีรูปสัตว์สอดแทรกอยู่ตามลายเครือเถาที่เกี่ยวพันกันไปอย่างต่อเนื่อง
วัดกลางธรรมสาคร เดิมชื่อวัดโพธาราม
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๘๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณปี
พ.ศ. ๒๓๐๐ เคยเป็นท่าจอดเรือ เพื่อเดินเท้าไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ต่อมาลำน้ำเปลี่ยนทางเดินจึงเลิกใช้กัน และทางน้ำเดิมกลายเป็นบุ่งน้ำหน้าวัด
ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบุ่งวัดกลาง
ปัจจุบันพระวิหารได้พังทลายไปหมดแล้วเพราะขาดการบูรณะ พระอุโบสถหลังที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้เคยบูรณะไปบางส่วน
วัดใหญ่ท่าเสา
อยู่ในเขตตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน วัดท่าถนนเดิมชื่อวัดวังเตาหม้อ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวอุตรดิตถ์ เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๑ หน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้ว สูง ๔๑ นิ้ว หล่อด้วยสำริด ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ |
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |