| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

            สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๗ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นบุตรบุญธรรม เจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายก ต่อมาเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังหลวง ได้เลื่อนเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และพระยาตาก เจ้าเมืองตากตามลำดับ ต่อมาได้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ได้ไปรั้งเมืองก็มีสงครามกับพม่า จึงได้อยู่รับราชการที่กรุงศรีอยุธยา
            พระยาวชิรปราการได้ออกรบกับพม่า ที่ล้อมกรุงอยู่หลายครั้ง เห็นว่าผู้ปกครองแผ่นดินอ่อนแอ กรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่า จึงได้รวบรวมไพร่พลไทย - จีนได้ ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าไปทางทิศตะวันออก ระหว่างทางได้ต่อสู้กับข้าศึก ได้รับชัยชนะจนเป็นที่กล่าวขานของคนทั่วไป จึงพากันมาสวามิภักดิ์ทำให้มีกำลังมากขึ้น จึงได้ตั้งตนเป็นเจ้าตากเพื่อสะดวกในการรวบรวมกำลังกอบกู้อิสรภาพ ทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองสำคัญ เหมาะสมเป็นที่มั่นรวบรวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด
            เมื่อรวบรวมกำลังประกอบด้วยเรือ ๑๐๐ ลำ ไพร่พลอีก ๕,๐๐๐ คน ยกกำลังไปทะเลเข้าขับไล่พม่าออกไปจากค่ายโพธิสามต้น กู้อิสรภาพของไทยจากพม่าได้
            ชาวจันทบุรีถือว่าพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทางใช้เมืองจันทบุรีเป็นฐานที่มั่นเพื่อกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมาได้

            พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้สนภาลัย ทรงพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยได้เกิดกรณีพิพาทกับญวน ทรงเกรงว่าญวนจะเข้ามยึดเมืองจันทบุรี เป็นที่มั่นสู้รบกับไทย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กอง ออกไปสร้างป้อมค่าย และเมืองขึ้นใหม่คือ ค่ายเนินวง ตำบลบางจะกะ นับว่าพระองค์ทงสายพระเนตรอันยาวไกล เห็นความสำคัญของเมืองจันทบุรี และได้ดำเนินการป้องกันไว้แต่เนิ่น

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ ทรงเสด็จเยือนจันทบุรีถึงสองครั้งในปี พ.ศ.๒๔๑๙ และในปี พ.ศ.๒๔๒๔
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีด้วยเหตุสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระองค์ได้ให้รัฐบาลไทยทำสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ โดยฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนเมืองประจันตคีรีเขต (เกาะกง) ให้ฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสถอนกำลังออกไปจากจันทบุรี
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากประพาสยุโรป กอ่นเสด็จกลับคืนสู่พระนคร พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงมีพระราชดำรัส อันแสดงถึงความมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวเมืองจันทบุรี เป็นอย่างยิ่ง

            สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  เดิมทรงพระอิสริยยศเป็น หม่อมเจ้ารำไพพรรณี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จมาประทับที่จังหวัดจันทบุรีที่บ้านแก้ว อำเภอท่าช้าง อำเภอเมือง ฯ  ต่อมาบริเวณนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เรียกว่า สวนบ้านแก้ว  พระองค์ได้ประทับอยู่ ณ วังสวนบ้านแก้ว เป็นเวลาถึง ๒๐ ปี ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญและเป็นประโยชน์กับชาวจันทบุรีคือ
              อุตสาหกรรมทอเสื่อ  ทรงริเริ่มการออกแบบลวดลาย ปรับปรุงเทคนิคการฟอกสีและการย้อมสี ทรงคิดประดิษฐ์เสื่อ เป็นเครื่องใช้แบบต่าง ๆ อันเป็นแนวทางให้เกิดความเจริญกับอุตสาหกรรมทอเสื่อ นำรายได้มาสู่จังหวัดจันทบุรีมากขึ้น
              ด้านสาธารณสุข  พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกศัลยกรรมพร้อมเครื่องมือผ่าตัด พระราชทานชื่อว่า ตึกประชาธิปก ให้แก่โรงพยาบาลจันทบุรี ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลจันทบุรีได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลประชาธิปก จันทบุรี
               ด้านการศึกษา  เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปประทับ ณ วังสุโขทัย ทรงเห็นว่าวังสวนแก้วควรใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวจันทบุรี จึงได้พระราชทานให้กับกระทรวงศึกษา ตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี ปัจจุบันคือ สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี
            สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗  ทรงเป็นผู้นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่จังหวัดจันทบุรี เป็นเอนกอนันต์ ประทับอยู่ในดวงใจของชาวจันทบุรีตลอดไป
            สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส  บุนนาค)  เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑  ได้เข้ารับราชการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เป็นที่นายสุจินดา หลวงศักดิ์ นายเวรมหาดเล็ก และเป็นที่จมื่นไวยวรนารถ มหาดเล็ก ตามลำดับ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก และต่อมาได้เป็นที่เจ้าพระยาพระคลัง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไทยเกิดพิพาทกับญวน เกรงว่าญวนจะมายึดเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่นสู้รบกับไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองออกไปสร้างป้อมค่ายและเมืองขึ้นใหม่ ณ ที่มีชัยภูมิดีเหมาะแก่การต่อสู้ข้าศึก
            เจ้าพระยาพระคลังพิจารณาเห็นที่เนินวง เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงให้ขุดคู พูนเชิงเทิน ก่อเสมาบนหลังเชิงเทินด้วยศิลาแลง
ตั้งปืนใหญ่รายรอบตามช่องกำแพงเมือง สร้างอยู่หนึ่งปีจึงเสร็จ และได้สร้างวัดโยธินนิมิตไว้ในเมือง ใช้เวลาสร้างอยู่สี่เดือน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเจ้าพระยาพระคลังเป็นที่สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔  ท่านถึงแก่พิราลัยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
            สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นบุตรคนหัวปีของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส  บุนนาค)  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ ได้เป็นที่หลวงนายสิทธิ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังในการสร้างเมืองใหม่ที่ค่ายเนินวง หลวงนายสิทธิ์ต่อเรือรบอย่างฝรั่งได้เป็นลำแรกที่เมืองจันทบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้พระราชทานชื่อว่า เรือแกล้วกลางสมุทร
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ และเป็นอยู่ถึงห้าปี และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

            พระยาวิสูตรโกษา (พัก  สาณะเสน)  มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านทำเนียบ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง ฯ  เป็นบุตรพระยาประเสริฐสัจธารี (เยื้อง  สาณะเสน)  ท่านได้รับราชการเป็นทูตไทยประจำในยุโรปตลอดชีวิตราชการ แะได้ทำหน้าที่เป้นพระพี่เลี้ยงให้กับพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ ขณะที่พระองค์เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศในยุโรป
            เมื่อพระยาวิสูตรโกษาเกษียณอายุราชการแล้วได้กลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม และได้สร้างทับสาณะเสน ใช้ชีวิตแบบรักสันโดษ ชอบการทำสวน สวนของท่านเป็นที่เลื่องลือ แม้ในปัจจุบันว่ากระท้อนหวานต้องกระท้อนสวนพระยาวิสูตร
            พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น  สุนทรเวช)  เกิดในตำบลท่าเรือจ้างตลาดใต้ (ตลาดล่าง) อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ ได้ติดตามบิดาไปประเทศอินเดีย ได้เรียนภาษาฮินดูสตานี และภาษาอังกฤษที่กัลกัตตา เมื่อกลับมาเมืองไทยได้เข้าเรียนหนังสือที่สำนักเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (อุ่ม) วัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพ ฯ เมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้เข้าเรียนแพทย์ในโรงเรียนแพทยาลัย รุ่นที่ ๖ ได้เรียนทั้งแพทย์แผนโบราณ และแผนปัจจุบัน เมื่อจบแล้วได้เป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์อยู่สองปี เข้ารับราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี
                ผลงานที่ท่านได้นำความเจริญมาสู่จังหวัดจันทบุรี มีหลายประการด้วยกัน คือ
                    ๑. ตัดถนนผ่านช่องเขาสระบาปและเขาไม้แก้ว เข้าไปบริเวณหลังเขา เป็นทางลัด เป็นระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ทำให้หมู่บ้านต่าง ๆ หลังเขาสระบาป เช่น บ้านอ่าง อำเภอมะขาม  บ้านมาปไพ อำเภอมะขลุง  ติดต่อกับจังหวัดได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และทำให้พื้นที่ที่ถนนตัดผ่านเป็นสวนผลไม้ขนาดใหญ่
                    ๒. ค้นคว้าเรื่องปุ๋ย เผยแพร่ให้กสิกรนำไปใช้ในสวนผลไม้ จัดทำหนังสือเผยแพร่ความรู้ในการทำสวนผลไม้ นำข้าวพันธุ์ดีจากกรมกสิกรรมไปปลูก และเผยแพร่พันธุ์
                    ๓. ใช้วิชาแพทย์ประกอบยาจากสมุนไพร รักษาผู้ถูกพิษสุนัขบ้าและถูกงูพิษกัดโดยไม่คิดมูลค่า นับว่าผลงานของท่านเป็นแบบฉบับอันควรสรรเสริญ และเจริญรอยตามอย่างยิ่ง

            หลวงสาครคชเขตต์ (ประทวน สาคริกานนท์)  เกิดในตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอท่าใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ บิดาชื่อหลวงกลางบุรี เข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดราชการ อยู่ในโรงเรียนกรมพระสมมติอมรพันธ์ กรมพระคลังข้างที่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ จากนั้นได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนนายทหารบก (รุ่นเก่า) ๒ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเสมียนเอก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ จากนั้นได้มารับราชการในตำแหน่ง หลายตำแหน่งที่จังหวัดจันทบุรี เริ่มด้วยตำแหน่งอักษรเลข เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ และเป็นนายอำเภอขลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสาครเขตต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ ท่านเป็นผู้เขียน และเรียบเรียงหนังสือจดหมายเหตุ ความทรงจำสมัยฝรั่งเศส ยึดเมืองจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๔๗ เป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับคนรุ่นหลัง ให้ได้ทราบประวัติความเป็นมาของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดในสมัยที่ถูกฝรั่งเศสยึดครอง ตลอดจนการเรียกร้องดินแดนคืน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |