| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ขนบธรรมเนียมประเพณี
            วัฒนธรรมการแต่งกาย  สตรีชาวจันทบุรีในอดีต นิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มผ้าแถบ บางทีก็ห่มแบบตะเบงมาร เด็กก็นุ่งผ้าโจงกระเบนเช่นกัน และนิยมสวมเสื้อกันมาก
            พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะทางเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ทรงกล่าวถึงการแต่งกายของผู้หญิงที่อยู่บริเวณบ้านสระบาป มีความตอนหนึ่งว่า
                "ผู้หญิงที่นี่เห็นสวมเสื้อมากเหมือนพวกลาวทรงดำ ใช้ผ้าสีน้ำเงินตัดเป็นเสื้อกระบอกดุมจีนบ้าง เสื้อเอวบ้าง"
                ผ้าที่ใช้เป็นผ้าพื้นที่ทอในเมืองจันทบุรี ดังที่ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
                "ผ้าพื้นนั้นออกจากเมืองปีหนึ่งเพียง ๒๐๐ ผืน ๓๐๐ ผืน ราคาผืนละกึ่งตำลึง แต่ใช้ในพื้นเมืองมากด้วย ราษฎรในพื้นเมืองนุ่งผ้าพื้นทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครนุ่งผ้าลายเลย"
            การแต่งการมีการพัฒนามาเป็นนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอกระเช้า ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นนุ่งผ้าซิน สวมเสื้อคอกระเช้า เวลาอยู่ที่บ้าน
            การแต่งกายของผู้ชายเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ชาวไร่จะนุ่งผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง กางเกงขาก๊วย ไม่นิยมสวมเสื้อ นิยมใช้ผ้าขาวม้าคาดพุง พาดบ่า คล้องคอ ตามแต่ชอบ เมื่อออกงานนิยมสวมเสื้อคอกลม และยังคงใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวหรือพาดบ่า ปัจจุบันเปลี่ยนมานุ่งกางเกงขาสั้นและกางเกงขายาวตามสมัยนิยม
            ประเพณีของท้องถิ่น  พอประมวลได้ดังนี้
                ประเพณีตักบาตรเทโว  ของชาวตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง ฯ เริ่มด้วยการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับบิณฑบาต โดยเดินจากวัดโบสถ์บางจะกะถึงวัดพลับ เนื่องจากการเดินจากวัดโบสถ์มีพื้นที่ลาดเอียงไปจนถึงวัดพลับ โดยสมมติว่าพระพุทธเจ้า
เสด็จลงมาจากสวรรค์ มีการอัญเชิญพระพุทธรูปหนึ่งองค์ประดิษฐานอยู่บนล้อเลื่อนมีบุษบกและมีบาตรตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป มีคนลากรถบุษบกนำหน้า พระสงฆ์เดินตาม ชาวบ้านจะเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง ยืนเรียงรายทั้งสองฟากเส้นทางเพื่อรอใส่บาตร บางปีมีชาวบ้านแต่งตัวเป็นพระอินทร์เดินนำขบวน ตามด้วยนางฟ้าโปรยข้าวตอกดอกไม้แก่ผู้มาตักบาตร ตามท้ายด้วยขบวนกลองยาว เสร็จการตักบาตร แล้วบางคนก็จะจำศีลที่วัด และพูดคุยกับพระสงฆ์
                ประเพณีทอดกฐินตก  ของชาวบ้านสามฝ่าน อำเภอท่าใหม่  ช่วงเวลาที่ทำการทอดกฐินคือเริ่มวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด ถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบสอง  แต่ถ้าวัดไม่มีผู้มาจองกฐินในปีนั้นก็จะถือว่ากฐินตก ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้วัด จะประชุมกำหนดนัดหมายที่จะจัดกฐินสามัคคีขึ้น
                พิธีการจะมีการสมโภชกฐิน นิมนต์พระสงฆ์ให้สวดมงคลคาถาในเวลาเย็น ตอนกลางคืนจะมีมหรสพ รุ่งเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะนำเครื่องกฐินไปทำพิธีสงฆ์ในโบสถ์ เสร็จพิธีการทอดกฐินแล้วมีการโปรยทานสำหรับเด็ก ๆ และผู้ยากจนที่บริเวณโบสถ์หรือที่ลานวัด เป็นอันเสร็จพิธี
               ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูด หรือพระบาทพลวง  เป็นเทศกาลเดือนสาม ที่ปฏิบัติกันมาช้านาน แต่เดิม เริ่มขึ้นไปนมัสการในวันขึ้นหนึ่งค่ำถึงขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม  แต่มาระยะหลัง ได้เปิดเวลาให้นมัสการมากขึ้น ก็ได้เปิดนมัสการนานขึ้นเป็น ๓๐ วัน  ๔๕ วัน และตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นต้นมาได้เปิดให้นมัสการ ๖๐ วัน โดยเริ่มนมัสการตั้งแต่เดือนสามเช่นเดิม
               ประเพณีชักพระบาท  ของชาวบ้านตะปอม  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตรพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และในการนี้ได้นำเอาพระพุทธบาทจำลองมาจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี โดยทางเรือ เมื่อมาถึงอำเภอแหลมสิงห์ ได้จัดพิธีฉลอง จากนั้นได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดตะปอนน้อย
                พระพุทธบาทจำลองทำด้วยผ้ากว้างประมาณห้าศอก ยาวยี่สิบเอ็ดศอก ประกอบด้วยรอยพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซ้อนอยู่บนผืนผ้าชิ้นเดียวกัน
                คนสมัยก่อนเชื่อว่า รอยพระพุทธบาทสามารถขจัดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ปีใดมีโรคระบาดื ชาวบ้านจะนำพระพุทธบาทจำลองออกแห่ โดยจะม้วนผ้รอบพระพุทธบาทให้กลมแล้วเอาผ้าห่อข้างนอกอีกหลายชั้น  แล้วนำไปใส่เกวียน ประดับเกวียนให้สวยงาม มีคนตีกลองอยู่บนเกวียนด้วย แล้วแห่ไปตามด้านต่าง ๆ  ถ้าบ้านใดมีผู้เจ็บป่วยมากก็จะอัญเชิญรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้นไปบนบ้าน โดยมีพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่ว เพื่อให้โรคภัยไข้เจ็บหายหรือเบาบางลง
                ต่อมาได้เปลี่ยนจากแห่เป็นชักเย่อแทน โดยถือเอาวันหลังวันสงกรานต์ ประมาณวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี ในการชักเย่อนี้จะให้ชาย - หญิง อยู่คนละข้าง โดยผูกเชือกกับเกวียนขณะที่ทั้งสองฝ่ายออกแรงดึงเชือก คนตีกลองที่อยู่บนเกวียน จะตีกลองรัวจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายชนะถือเป็นสิริมงคล ฝ่ายแพ้ก็จะขอแก้ลำใหม่  หลังวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะนำรอยพระพุทธบาทไปบำเพ็ญตามทางแยกเข้าหมู่บ้านต่าง ๆ แห่งละ ๑ - ๒ วัน นับแต่บ้านตะปอนน้อยไปจนถึงบ้านหนองเสม็ด เพื่อเป็นการฉลองรอยพระพุทธบาท หลังเจริญพระพุทธมนต์  ชาวบ้านจะนำเกวียนที่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นมาชักเย่อ รุ่งเช้าจะมีการทำบุญ
ตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี
                นับจากเวลาที่นำรอยพระพุทธบาทไปทำพิธีตามสถานที่ต่าง ๆ ในตำบลตะปอน ใช้เวลาหนึ่งเดือน
                ประเพณีทำบุญส่งทุ่ง  ของบ้านตะปอนน้อย อำเภอขลุง ทำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ประมาณกลางเดือนมกราคม เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
                ประเพณีนี้มีที่มาจากพระพุทธศาสนาคือ ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำบุญของพระโกญฑัญญะกับสุภัททะปริพาชก เกี่ยวกับเรื่องการทำบุญคือ ทุกขั้นตอนในการทำนาตั้งแต่ไถนา หว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา ข้าวตั้งท้องและเก็บเกี่ยวเสร็จ โกญฑัญญะจะทำบุญทุกครั้ง ผลบุญของท่านทำให้ท่าน ได้เป็นสาวกเบื้องต้นของพระพุทธเจ้า ส่วนสุภัททะเมื่อทำนาเสร็จขั้นตอนแล้วจึงทำบุญเพียงครั้งเดียว ทำให้ท่านได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นองค์สุดท้าย ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน ทำให้เห็นการเปรียบเทียบในการทำบุญได้ชัดขึ้น ดังนั้นชาวพุทธส่วนใหญ่เมื่อจะทำสิ่งใดจะต้องทำบุญก่อนเสมอ
                ในการทำบุญส่งทุ่งของชาวบ้านตาปอนน้อย จะทำหลังจากทำนาเสร็จแล้วเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณ โดยจะมาพร้อมกันที่ศาลากลางทุ่งของหมู่บ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น หลังจากนั้นจะมีการเล่นสนุกสนานรื่นเริงกัน
                ประเพณีทำบุญกลางทุ่ง ของบ้านพลูยาง ตำบลสีพยา อำเภอท่าใหม่ กระทำในเดือนมกราคม มีการนิมนต์พระสงฆ์เย็นที่กลางทุ่ง ในเย็นวันนั้นจะมีการเผาข้าวหลาม ทำขนมจีน และข้าวหมาก รุ่งขึ้นเช้าจะนำอาหารที่ทำเตรียมไว้นั้นมาถวายพระสงฆ์ และนำมาถวายอีกครั้งตอนเพล เป็นอันเสร็จพิธี
                ประเพณีทอดผ้าป่าโจร  ของบ้านสามผาน อำเภอท่าใหม่ โดยจัดทอดผ้าป่าโจรบริเวณทางสามแพร่ง หรือบริเวณที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต ทำได้ไม่จำกัดเวลาทั้งในพรรษาและนอกพรรษา เพื่อถวายเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ขาดผ้าบังสุกุล
                ผู้จัดทอดผ้าป่าโจรต้องเตรียมผ้าขาวซึ่งยาวเป็นหลาสีย้อมกรัก เข็ม ด้าย พร้อมทั้งบริวารผ้าป่านั้น ในการจัดต้องทำกันภายในครอบครัว และญาติพี่น้องที่นับถือเท่านั้น เวลาที่ใช้ทอดผ้าป่าโจรจะทำในเวลาใกล้รุ่ง คือก่อนพระสงฆ์ ออกบิณฑบาต โดยนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จัดเตรียมนั้นไปวางไว้ที่ทางสามแพร่ง หรือตามบริเวณที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต และจุดธูปปักเป็นระยะตั้งแต่กองผ้าป่าออกไปยังบริเวณที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตจะมองเห็น และทราบที่ตั้งของกองผ้าป่า เมื่อพระสงฆ์รูปใดพบเห็น ท่านจะไปยังที่วางกองผ้าป่า พระสงฆ์รูปใดพบกองผ้าป่า ผ้าป้านั้นก็จะเป็นสิทธิของพระสงฆ์รูปนั้นทันที
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น
           งานทอและงานจักสาน  งานทอมีทั้งงานทอเสื่อ และงานทอผ้าพื้นเมือง ส่วนงานจักรสานนั้นเครื่องจักรสานที่ยังคงอยูในความนิยมคือ เครื่องจักรสานจากต้นคล้า และจากไม้ไผ่

                เสื่อจันทบูรหรือเสื่อแดง  ชาวจันทบุรีรู้จักการทอเสื่อมากว่าร้อยปีแล้ว ผู้ริเริ่มกลุ่มแรกคือ กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค ที่อาศัยอยู่บริเวณวัดคาธอลิค หรือที่เรียกว่า หมู่บ้านญวน ซึ่งในปี พ.ศ.๒๒๕๔ บาทหลวงเฮิตได้มาดูแลพวกคาธอลิคได้นำพวกญวนที่มีฝีมือในการทอเสื่อมาด้วย
                ในสมัยนั้น การทอเสื่อต้องซื้อกก และปอจากชาวบ้านตำบลต่าง ๆ มาจัก และลอก กกที่ใช้ทอเสื่อคือ กกกลมมีลำต้นกลวง ผิวมันและเหนียว เมื่อทอเป็นเสื่อจะให้สมัผัสที่นุ่มนวลขัดถูได้มันงดงาม เป็นที่นิยม
                เมื่อนำกกมาจักเป็นเส้นเล็ก ๆ แล้วนำมาผึ่งตากให้แห้งสนิทแล้ว จึงนำไปย้อมสี เดิมใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้หรือหัวพืช มีสามสีคือ สีแดงได้จากเปลือกยาง สีดำได้จากผลมะเกลือ และจากการนำกกไปหมักโคลน สีเหลืองได้จากหัวขมิ้นโขลกเอาน้ำมาต้มย้อม ต่อมาจึงนำสีวิทยาศาสตร์มาใช้ส่วนมากเป็นสีเยอรมัน ชนิดที่ใช้ย้อมแพรและไหม
                หลังจากเส้นกกย้อมสีแห้งแล้วจึงเริ่มขบวนการทอสื่อ เอกลักษณ์ของเสื่อจันทบูรต้องมีสีดำ สีแดง และใช้ปอเป็นเส้นยืน จะทนทานกว่าเส้นยืนที่เป็นพลาสติก
                การทอเสื่อจันทบูรซบเซาไประยะหนึ่ง เนื่องจากการขุดพลอย และเจียรไนพลอยเฟื่องฟูขึ้น จูงใจให้ชาวหมู่บ้านญวนหันมาค้าพลอย และเจียรไนพลอย
                การทอเสื่อจันทบูรเริ่มรุ่งเรืองอีกครั้ง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๓ โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระองค์ได้ทรงส่งเสริมให้ข้าราชการบริพารในวังสวนบ้านแก้ว ทอเสื่อกกแล้วนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้แบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าถือ เข็มขัด แผ่นรองจาน ฯลฯ ผู้ทอสื่อได้เห็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แปลกตา ก็เกิดความคิดที่จะประดิษฐ์ของใช้ใหม่ ๆ ขึ้น เช่นเสื่อม้วน เสื่อเม้มริม เป็นต้น การทอเสื่อจึงเริ่มฟื้นฟูอีกครั้ง หมู่บ้านที่ปลูกกกและทอเสื่อได้เอง เช่น บ้านขอม บ้านลาว บ้านบางสระแก้ว บ้านเสม็ดงาม ฯลฯ ได้เริ่มทอเสื่อกันอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงหมู่บ้านตำบลบางกะไชย บ้านตะกาดเง้า บ้านหนองคัน พร้อมทั้งมีการขยายพื้นที่ปลูกกกออกไปอีก
                กลุ่มเกษตรทอเสื่อเริ่มต้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ มีการแบ่งกลุ่มปลูก กลุ่มทำเส้นกก กลุ่มทอ กลุ่มเย็บ ในระยะแรก ๆ มีการเย็บเป็นกระเป๋า จานรองแก้ว เสื่อพับโดยอาศัยรูปแบบจากวังสวนแก้ว เริ่มขยายงาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ - ๒๕๒๔ การแปรรูปจากเสื่อกกมาเป็นเสื่อบุฟองน้ำ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕  มีการผลิตเพื่อขายต่างประเทศด้วย เช่น ญี่ปุ่น ส่วนตลาดต่างประเทศแถบเอเชียและอเมริกา จะเป็นรูปของกล่องใส่เครื่องประดับ ของที่ระลึก ซึ่งใช้สีดำแดงเป็นส่วนใหญ่
                    การเตรียมกก เมื่อกกตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงได้มีการทำนากก ซึ่งจะทำในที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึงเริ่มด้วยการไถคราด เก็บวัชพืชต่าง ๆ ออกเช่นเดียวกับการทำนา เมื่อเตรียมดินเสร็จก็หาหัวกกใหม่ มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายหัวข่าที่มีหน่ออ่อนของกกโผล่ขึ้นมา และนำไปปลูกเช่นเดียวกันกับการทำนาข้าว
                    เมื่อกกอายุได้ ๑ - ๒ เดือน ต้องทำการกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เดิมใช้ขี้น้ำปลาที่เป็นกากของปลาจากการทำน้ำปลา ปัจจุบันใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์คือ ปุ๋ยยูเรีย เมื่อกกอายุได้ ๔ - ๕ เดือน จึงสามารถตัดมาใช้ได้ สีที่ย้อมยากที่สุดคือสีขาว ชาวจันทบุรีนิยมใช้สีขาวของกกที่แห้งเองตามธรรมชาติ (สีออกเหลืองนวลเกือบขาว) โดยคัดเลือกจากกกที่มีลำต้นค่อนข้างอ่อน ผิวกกจึงจะมีสีเสมอกัน จากนั้นนำไปต้มน้ำเดือดผสมเกลือเล็กน้อย เพื่อคงสภาพสี และป้องกันมิให้เกิดเชื้อรา
                กกที่ตัดมาจะนำมาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ ๓ - ๔ ซีกต่อต้น เรียกว่า การจักกก นำกกที่จักแล้วมามัดแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้งสนิท ก่อนจะนำไปย้อมสีให้นำกกที่แห้งสนิทนี้ไปแช่น้ำให้นิ่มเสียก่อน
                นอกจากกกแล้ว ยังมี เอ็นที่ใช้ร้อยฟืมเพื่อใช้ในการทอเสื่อด้วย เอ็นที่ใช้นำมาจากต้นปอกะเจา ซึ่งปลูกได้ง่ายโดยใช้เมล็ดปลูกหว่านบนดินที่เตรียมไว้ ต้องหว่านให้แน่นเพื่อว่าเมื่อปอกะเจาโตขึ้นจะมีลำต้นตรงและสูง ไม่มีกิ่ง เวลาลอกเปลือกจากลำต้นจะทำได้โดยสะดวก ระยะเวลาที่ปลูกปอประมาณเดือนพฤษภาคม ใช้เวลา ๔ - ๖ เดือน จึงนำมาใช้ทำเป็นเอ็นได้
                วิธีทำเอ็นให้ลอกเปลือกปอออกมาขูดให้เหลือแต่ใยที่เหนียวมาก แล้วนำไปตากให้แห้งจากนั้นเอาไปย้อมสีเป็นสีอ่อน เมื่อนำไปทอกับกก สีจะได้กลมกลืนกัน แล้วนำเส้นปอไปฉีกให้เป็นเส้นฝอย โดยดึงผ่านตะปูหรือเหล็กแหลม แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นเอ็นที่มีความยาวติดต่อกันพันใส่แกนไม้ไว้ สำหรับใช้ทอเสื่อต่อไป

                    วิธีทอเสื่อ  อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอเสื่อได้แก่ กก ที่ย้อมสีแล้ว เอ็น ฟืม ไม้ทุ่งกก และม้ารองนั่ง
                    ก่อนทอเสื่อต้องนำเอ็นมาขึงไว้กับหูก (ไม้สองอันพืมอยู่ตรงกลาง) โดยร้อยเอ็นผ่านรูฟืมจนเต็มฟืม การทอเสื่อส่วนมากจะใช้คนทอสองคน ให้คนหนึ่งเป็นคนพุ่งกกเข้าไประหว่างฟืมกับเอ็น  อีกคนจะเป็นคนเลื่อนฟืมมากระทบกับเส้นกก ให้เข้าชิดติดเป็นผืนเดียวกัน

                เครื่องจักสานจากต้นคล้า  ต้นคล้ามีลำต้นกลม มักขึ้นเป็นกอ เปลือกต้นคล้าที่แก่จะเหนียว เมื่อนำมาจักผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาสานเป็นเสื่อเรียกว่า เสื่อคล้า เสื่อคล้าจะแข็งแรง ทนทาน แต่ไม่สะดวกในการเคลื่อยย้ายจึงนิยมทำใช้ในครัวเรือนเท่านั้น

                งานเครื่องปั้นดินเผา จังหวัดจันทบุรีมีอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ - ๒๔๗๐ โดยชาวจีนที่มีความรู้ทางด้านได้มาตั้งหลักแหล่ง และประกอบอาชีพเครื่องปั้นดินเผา แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มทำกระเบื้อง และกลุ่มภาชนะดินเผา
                งานเครื่องปั้นดินเผามีการพัฒนารูปแบบเทคโนโลยี เกิดผลิตภัณฑ์หลากหลายเป็นที่นิยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                เครื่องประดับอัญมณี จันทบุรีมีชื่อเสียงในการผลิตดครื่องประดับอัญมณีที่งดงามหลากหลายรูปแบบ มีความประณีตเป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องประดับอัญมณีทั้งในรูปแบบเดิมและแบบสมัยใหม่ เครื่องประดับในรูปแบบเดิมที่ยังอยู่ในความนิยมคือ การทำแหวนกล

              แหวนปู แหวนปลา  เป็นของดีเมืองจันท์ เป็นที่รู้จักและแสวงหากันมากอย่างหนึ่ง ตัวเรือนเป็นรูปปูทะเล พญานาค กุ้ง ท้องวงเป็นวงเรียงกันอยู่เมื่อถอดก้านสี่วง จะคล้องกันอยู่ไม่แยกจากกัน และเมื่อประกอบกันอย่างถูกวิธี แหวนจะมีสี่ด้านเรียงชิดกัน ผู้เป็นเจ้าของต้องรู้วิธีประกอบว่า ต้องจับด้านใดสอดก้านใด ดังนั้นเจ้าของแหวนบางท่านจึงมักให้ช่างทองพันก้านทั้งสี่มิให้หลุดจากรูปเดิม
               แหวนกล นอกจากจะเป็นเครื่องประดับที่สวยงามและแปลกแล้ว ยังถือว่าเป็นสัญญลักษณ์ของเมืองจันท์ และยังเป็นสิ่งที่ฝึกความจำ ฝึกสมาธิและทำให้ใจเย็น สุขุมรอบคอบ
               ปัจจุบันแหวนปูยังคงเป็นหัตถกรรมที่เลื่องชื่อของเมืองจันทบุรี และช่างได้พัฒนารูปแบบโดยนำเอาสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง และปลาชนิดต่าง ๆ มาประดิษฐ์ และประดับตกแต่งด้วยพลอยหลากสีอย่างสวยงาม

                การเจียระไนพลอย  พลอยดิบตามธรรมชาติแม้จะมีความงามอยู่ในตัว แต่เมื่อได้มีการตกแต่งเพิ่มเติม อันได้แก่ การตัดเหลี่ยม ขัดมัน ก็จะทำให้เกิดความแวววาวสวยงาม เพิ่มคุณค่าของพลอยให้สูงขึ้น
               จันทบุรีเป็นแหล่งรวมแรงงานที่มีประสบการณ์ในการเจียระไนพลอยมาเป็นเวลานาน กล่าวกันว่าในระยะแรกหมู่ชาวญวนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำจันทบุรี และแถบถนนศรีจันท์เป็นช่างเจียระไน ต่อมาอาชีพนี้จึงได้แพร่หลายออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วจังหวัด
               ตามถนนในตัวเมืองจันทบุรีรวมทั้งตามตรอกซอกซอย จะเห็นว่ามีโต๊ะเจียระไนพลอยอยู่ทั่วไป ช่างเจียระไนพลอยมีทั้งหนุ่มสาวชาวจันทบุรี และชาวอีสาน คนหนึ่งเจียระไนพลอยได้ประมาณวันละสองกะรัต
               การเจียระไนเริ่มจากการนำพลอยดิบมาดูว่า พลอยเม็ดนี้มีรอยร้าวตรงไหน น้ำเป็นอย่างไร ควรเจียระไนเป็นรูปทรงใดเพื่อที่จะรักษาเนื้อพลอยให้ได้มากที่สุด และให้ความงามสูงสุด จากนั้นจึงนำโกลนคือ วางเหลี่ยมพลอยให้พอเหมาะแล้วจึงเริ่มเจียระไนรูปทรงของพลอยที่นิยม มีอยู่สี่แบบด้วยกันคือ
                    เหลี่ยมเกสร หรือเหลี่ยมเพชร  เป็นการเจียระไนพลอยเป็นทรงกลมตัดเหลี่ยมรุ้งประกาย
                    เหลี่ยมกุหลาบ  เป็นการเจียระไนเป็นทรงกลมเหลี่ยมตัดจะใหญ่กว่าเหลี่ยมเกสร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เหลี่ยมขโมย มักใช้กับพลอยเม็ดเล็ก ๆ
                    หลังเบี้ย  เป็นการเจียระไนแบบนูนเรียบไม่ขึ้นเป็นเหลี่ยม ส่วนล่างตัดตรง มักใช้กับพลอยสตาร์ เพื่อขับให้เหส้นเหลือบบนหน้าพลอยขึ้นเด่น มีความคมชัดทั้งหกขา
                    เหลี่ยมมรกต  เป็นการเจียระไนพลอยเป็นทรงเหลี่ยมตัดมุมเป็นชั้น ๆ มักใช้กับพลอยที่มีน้ำดีเป็นเลิศ เป็นแบบที่นับว่าเป็นยอดนิยม
                การเผาพลอย  เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นการนำเทคนิคการใช้ความร้อนมาทำให้พลอยราคาถูก กลายเป็นพลอยน้ำงามราคาแพง
                    วิธีการเผาคือ ใช้ความร้อนตั้งแต่ ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป เผาพลอยที่ต้องขจัดความขุ่นในเนื้อพลอยออก โดยใช้เวลาในการเผาไม่ต่ำกว่าสี่ชั่วโมง พลอยที่ได้จากการเผาจะมีสีเข้มสวย และน้ำใสสะอาดขึ้น
                    ปัจจุบันพลอยแทบทุกเม็ดจะผ่านการเผาเพื่อความงามหมดจด แต่การเผาพลอยจะต้องใช้ผู้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์เท่านั้น จึงจะรู้ว่าพลอยชนิดใดสามารถเผาได้ และควรเผาด้วยอุณหภูมิเท่าใด กับด้วยกรรมวิธีอย่างใด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |