|ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |
|พัฒนาทางประวัติศาสตร์ |มรดกทางธรรมชาติ |มรดกทางวัฒนธรรม |มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ภาษาของคนในจังหวัดเลย มีสำเนียงที่แตกต่างจากคนในภาคอีสานอื่น เพราะคนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง หรือเชียงคงเชียงของ ในสมัยโบราณกลุ่มชนเหล่านี้ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมชนกลุ่มย่อย ๆ ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ได้นำวัฒนธรรมด้านภาษา มาใช้จึงทำให้ภาษาเมืองเลย แตกต่างจากภาษาอีสานถิ่นอื่น
            มีผู้เข้ามาศึกษาภาษาถิ่นในประเทศไทย จำนวน ๖๐ ภาษา โดยแบ่งภาษาไทย ออกเป็นเจ็ดกลุ่ม ในกลุ่มที่หกซึ่งเป็นกลุ่มภาษาลาว ที่พูดกันในภาคอีสานของไทย ก็ยังแบ่งเป็นกลุ่มภาษาที่พูดแตกต่างกันมาก เป็นสามกลุ่มย่อย คือ กลุ่มหลวงพระบาง กลุ่มเวียงจันทน์ และกลุ่มย้อ ภาษาเมืองเลยอยู่ในกลุ่มหลวงพระบาง อันประกอบด้วย ภาษาเมืองหลวงพระบาง ภาษาเมืองแก่นท้าว เมืองไชยบุรี ภาษาอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และภาษาอำเภอเมืองเลย เป็นต้น
            ในเขตจังหวัดเลย ยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อย คือ ภาษาไทดำที่บ้านนาป่าหมาด อำเภอเชียงคาน และภาษาไทพวน บ้านกลาง อำเภอเชียงคาน
            จารึก  มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ภาษาพูด แล้วจึงรู้จักใช้ภาษาเขียน โดยได้พยายามเขียนเครื่องหมายขึ้นมาแทนความรู้สึก นึกคิด จึงเกิดอักษรแสดงความคิดขึ้นมา เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของภาษาเขียน เป็นยุคเริ่มของประวัติศาสตร์ ในระยะแรกจะใช้สีเขียนหรือวาดอักษรภาพลายเรขาคณิตเป็นส่วนใหญ่ เริ่มแรกจะใช้แกะสลักเป็นภาพ สลักบนผนังถ้ำเพิงผา ซึ่งเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พอเริ่มเข้ายุคประวัติศาสตร์มีอักษรใช้ ก็นิยมจารึกอักษร ลงบนแผ่นดินเหนียว  แผ่นดินเผา เสาหิน หนังสัตว์ ผืนผ้า เปลือกไม้ ใบไม้ โลหะต่าง ๆ เช่น สำริด เหล็ก เป็นต้น จนถึงกระดาษอย่างปัจจุบัน
                รูปอักษรไทยถิ่นอีสานที่ใช้จารึก  การบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรของกลุ่มชนในภาคอีสาน ในสมัยโบราณนั้นได้มีการใช้ตัวอักษร ซึ่งเป็นของตนเอง แตกต่างไปจากตัวอักษรไทยที่ใช้อยู่ในภาคกลาง อักษรที่ใช้มีอยู่สองแบบคือ อักษรธรรมและอักษรไทยน้อย
                    อักษรธรรม  หรือบางทีเรียกอักษรยวน เรียกว่า อักษรธรรมอีสาน ที่แตกต่างจากอักษรธรรมภาคเหนือ ซึ่งเรียกว่า อักษรตัวเมือง ลักษณะอักษรธรรมใกล้เคียงกับอักษรมอญ พม่า เป็นอักษรทีใช้บันทึกเรื่องราวในพระพุทธศาสนา (คดีธรรม)  เป็นส่วนใหญ่ จึงมีความสำคัญเทียบเท่าอักษรขอม ซึ่งถือว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์
                    อักษรตัวธรรมอีสาน มีรูปร่างคล้ายคลึงกับอักษรพื้นเมือง ในภาคเหนือมากจนเกือบเป็นตัวอักษรชนิดเดียวกัน จนทำให้คิดว่าได้แบบอย่างมาจากอักษรมอญ หริภุญชัย (ลำพูน)
                    อักษรไทยน้อย  หมายถึง ตัวอักษรทีใช้อยู่ในภาคอีสานของไทย และอาณาจักรล้านช้างมาก่อน มีรูปร่างคล้ายอักษรไทย ชาวอีสานใช้บันทึกเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ได้แก่ วรรณกรรม การจดบันทึกวิชาการที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะตัวอักษรคล้ายตัวอักษร ที่ปรากฎในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ศิลาจารึกวัดศรีชุม สรุปได้ว่า ตัวอักษรไทยน้อย ได้รับแบบอย่างมาจากอักษรไทยสมัยพระเจ้าลิไท ผ่านเข้าสูล้านนาไทย พัฒนากลายเป็นอักษณฝักขาม แล้วแพร่หลายไปยังล้านช้าง จากนั้นจึงแพร่ขยายมายังภาคอีสานของไทย
                ประเภทจารึกจังหวัดเลย  จารึกจังหวัดเลย มีลักษณะเหมือนกันกับศิลาจารึกในภาคอีสาน ตลอดจนดินแดนอาณาจักรล้านช้าง หรือที่เป็นประเทศลาวในปัจจุบัน ที่มักบันทึกเหตุการณ์สำคัญ และเรื่องราวต่าง ๆ บนวัสดุที่เป็นศิลา หรือโลหะ เป็นส่วนใหญ่ แบ่งออกเป็นสองประเภท โดยพิจารณาจากวัสดุที่ใช้ในการจารึกคือ
                    กลุ่มศิลาจารึก  เป็นกลุ่มที่จารึกบนวัสดุประเภทศิลา ทั้งที่เป็นหินชะนวน หรือหินทราย มีรูปลักษณะเป็นแผ่นหินคล้ายในเสมา หรือทำเป็นแท่งหินคล้ายเสา เท่าที่สำรวจพบมี ๓๘ หลัก

                        - ศิลาจารึกวัดพัทธสีมาราม (วัดป่าช้า)  เป็นจารึกบนแท่งหิน หรือใบเสมาหินขนาดใหญ่ ชนิดหินทรายทอง เป็นพุทธศิลปะสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ใช้อักษรปัลลวะ หรืออักษรอินเดียใต้  ที่พบมากในประเทศไทยทุกภาค ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖  อักษรจารึกทั้ง ๑๒ บรรทัด ปรากฎอยู่ด้านข้างของใบเสมา หินที่แกะสลักเป็นรูปหม้อบริเวณกลางหิน พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ที่บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                        เนื่องจากอัษรจารึกลบเลือนมาก ไม่สามารถอ่านข้อความใหญ่ได้ พอสันนิษฐานคร่าว ๆ จากหลักฐานโบราณคดี ประเภทใบเสมาหินได้ว่า เป็นศิลปแบบทวารวดี สร้างขึ้นตามคติดในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
                        - ศิลาจารึกพระธาตุศรีสองรัก  เป็นใบเสมาหินชนิดหินชนวนทรงใบพาย ใช้อักษรธรรมอีสาน จำนวน ๔๓ บรรทัด จารึกด้านเดียว ศิลาจารึกสูง ๑.๓๖ เมตร กว้าง ๐.๘๓ เมตร เป็นจารึกหลักใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ โดยพระครูลุน เจ้าอาวาสวัดบ้านหนานแพ่ง และเพียศรีวิเศษ บ้านนาทุ่ม  สร้างขึ้นใหม่ตามเนื้อความเดิม อ้างถึงว่าได้จดตำนานที่เคยสร้างเป็นจารึกไว้แล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓  ซึ่งเป็นจารึกหลักเก่า ได้พบหลักฐานว่า จารึกหลักเดิมนั้นฝรั่งเศสได้เคลื่อนย้ายไป ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดแตกออกเป็นแปดชิ้นส่วน กรมศิลปากรได้สำเนาศิลาจารึกหลักนี้ จากประเทศลาว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ และได้พิมพ์เผยแพร่อยู่ในจารึกประเทศไทย เล่ม ๕ พ.ศ.๒๕๒๙ เนื้อความขาดหายไปมาก จารึกไว้สองด้าน ด้านหนึ่งเป็นอักษรตัวธรรม อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอม เนื้อความตรงกัน ไม่ต่างจากจารึกที่พระครูลุน จำลองไว้ นอกจากสามบรรทัดแรกที่ พระครูลุนกล่าวนำไว้ ปัจจุบันอยู่บริเวณด้านข้างของพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
                        เนื้อเรื่อง ในศิลาจารึกคือ เริ่มกล่าวถึงการจารึกหลักใหม่ และเริ่มเล่าเรื่องตำนานศิลาเลข (ศิลาจารึก)  หลักเก่าตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๓ สมัยพระไชยเชษฐาธิราช เป็นกษัตริย์เมืองเวียงจันทน์บุรีศรีสัตตนาคนหุต ร่วมสมัยกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา (อยุธยา)  กษัตริย์ทั้งสองจึงตั้งเมตตาไมตรีจิต คิดให้เป็นประโยชน์แก่สองแผ่นดิน จึงใช้ราชามหาอำมาตย์นำเรื่องปรารภที่จะผูกไมตรีต่อกันโดยสองกษัตริย์ให้ไปนิมนต์พระ
เถรานุเถระที่มีศีลบริสุทธิ์ฝ่ายกรุงศรีสัตตนาคนหุตและพระสงฆ์ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมหาอำมาตย์ฝ่ายกรุงศรีสัตตนาคนหุต กับมหาอำมาตย์ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา กำหนดหมายมาชุมนุมกันที่จักหลั่งน้ำสัจจา พระสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์และหลวงราชามหาอำมาตย์ ก็เอาน้ำสัจจาในกระออมแก้วแห่งกษัตริย์ทั้งสองเจือเป็นกระออมแก้วเดียวกัน เอาน้ำในกระออมนากแห่งมหาอุปราชเจ้าทั้งสองเจือเป็นกระออมนากเดียวกัน เอาน้ำในกระออมแก้ว น้ำในกระออมเงินแห่งมหาอำมาตย์ทั้งสองเจือกันเป็นกระออมเดียวกัน แล้วให้อ่านสัตยามีเนื้อความอ้างถึงพระมหากษัตริย์ทั้งสองแผ่นดิน พระราชวงศานุวงศ์ ได้เจรจากันที่จะให้เป็นพระราชไมตรีโดยบุพพประเพณี เพื่อจักสืบเชื้อสุริยวงศา และญาติวงศา เพื่อให้เป็นบรมสุขสวัสดิ์ เป็นประโยชน์แก่สมณพราหมณาจารย์ ชาวประชาราษฎร์ทั้งหลาย ขอจงเอาเป็นเอกสีมาปริมณฑลแผ่นดินอันเดียวกันไปชั่วลูกชั่วหลาน ห้ามมิให้ช่วงชิงดินแดน และไม่โลภเลี้ยวแก่กันจนสิ้นพระอาทิตย์ พระจันทร์
                        ครั้นอ่านสัจจะอธิษฐานเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็หลั่งน้ำสัจจะบนมหาปฐพี พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายก็มีใจภิรมย์ชมชื่นยินดี
มีเสน่หารักกันตั้งแต่ได้สร้างอุทิศกเจดีย์ศรีมหาธาตุ ไว้เป็นหลักด่านไว้กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่าน นอกจากนี้ได้บอกการ สร้างอุทิศกเจดีย์ศรีสองรักครั้งแรกเมื่อปีวอก โทศก ถึงปีกุน เบญจศก เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ และมหาอุปราชทั้งสองฝ่าย พระยาหัวเมือง
เสนาอำมาตย์ ก็ชุมนุมพระธาตุศรีสองรักจนเมื่อเดือน ๖ วันพฤหัสบดี ก็เสร็จสิ้นการฉลอง

                        - ศิลาจารึกวัดห้วยห้าว (หลักที่ ๑)  เป็นแผ่นหินรูปใบเสมาชนิดหินชนวน จารึกด้วยอักษรไทยน้อยที่คล้ายตัวอักษรฝักขามของล้านนา จารึกเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๕๐ จารึกด้านเดียว ขนาดสูง ๕๙ เซนติเมตร ด้านบนกว้าง ๒๓ เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง ๒๓ เซนติเมตร จารึกไว้ ๒๒ บรรทัด อักษรสมบูรณ์ชัดเจนทุกตัว พบที่วัดท่าข้าม บ้านท่าข้าม ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
                        กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สถาบันราชภัฏเลย
                        เนื้อเรื่องเป็นเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์แะกัลปนาที่ดินและสิ่งของให้กับวัดโบราณแห่งหนึ่งชื่อวัดห้วยห้าว เริ่มต้นจารึกด้วยคำว่า ศุภมัสดุ ซึ่งถือเป็นแบบแผนหรือรูปแบบคำขึ้นต้นในพระราชโองการหรือประกาศสำคัญ
                        ข้อความระบุว่า ลายจุ้มซึ่งเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง ครองราชย์ที่เวียงจันทน์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระโพธิวรวงศามหากษัตริยาธิราช ได้มีพระบรมราชโองการแก่อำมาตย์สองคนรับภาระสร้างศิลาจารึกหลักนี้ไว้กับวัดห้วยห้าวซึ่งเป็นวัดโบราณ สร้างมาแต่สมัยสมเด็จพระโพธิสาลราชที่ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๕๙ - ๒๐๙๑ ได้ให้เขตวัดทางยาวพันห้าร้อยวา ทางกว้างทิศตะวันออกพันสองร้อยวา ทางกว้างทิศตะวันตกห้าร้อยวา
                        นอกจากนี้จารึกดังกล่าวยังได้สาปแช่งผู้ทำลายหรือมาแย่งชิงเอาผลิตผลของวัดไปเป็นส่วนตน ให้ไปตกอบายทั้งสี่อันหมายถึงนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ตลอดไป

                        - ศิลาจารึกวัดห้วยห้าว (หลักที่ ๒)  เป็นหลักฐานแสดงการเป็นวัดหลวงในราชอาณาจักรล้านช้าง พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในโบสถ์วัดศรีชมชื่น บ้านนาอ้อ อำเภอเมือง ฯ  ทำด้วยหินแปรชนิดหินชนวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูง ๖๓ เซนติเมตร หนา ๓.๕ เซนติเมตร จารึกด้านเดียวด้วยอักษรไทยน้อยจำนวน ๑๕ บรรทัด
                        ข้อความในจารึกแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดห้วยห้าวในฐานะที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงการบริจาคเบี้ยและข้าว จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๕

                        - ศิลาจารึกวัดท่าแขก  เป็นศิลาจารึกเสาหินสี่เหลี่ยมด้านเท่า สูง ๗๙ เซนติเมตร กว้างด้านละ ๑๘ เซนติเมตร มีดวงฤกษ์ข้างบน จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน มี ๖ บรรทัด ปัจจุบันยังคงอยู่ที่วัดท่าแขก อำเภอเชียงคาน
                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงการบอกดวงชะตาฤกษ์ยาม วัน เดือน ปี ที่สร้างโบสถ์ ว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๙

                        - ศิลาจารึกวัดศรีคุณเมือง  เป็นหินอ่อนสีดำรูปใบเสมา สูง ๕๑ เซนติเมตร กว้าง ๕๓ เซนติเมตร มีดวงฤกษ์อยู่ด้านบนหนึ่งดวง ด้านล่างอีกสามดวง จารึกอักษรด้านเดียวด้วยตัวอักษรธรรมอีสานจำนวน ๑๐ บรรทัด ปัจจุบันยังอยู่ที่ผนังหน้าโบสถ์วัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน
                        เนื้อเรื่องมีดวงฤกษ์การผูกพัทธสีมาอุโบสถและการสร้างพระพุทธรูป เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๐ และกล่าวถึงบุคคลที่มาร่วมพิธี ค่าสร้าง ๒ หมื่น ๔๕ ตำลึงเศษบาทกว่า ๓ สลึง ๑ เฟื้อง

                        - ศิลาจารึกวัดศรีสองนาง (หอสองนาง)  ลักษณะเป็นเสาหินทราย สูง ๓๑ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร หนา ๑๐.๕ เซนติเมตร อยู่ในสภาพชำรุดหักครึ่งพบอยู่เพียงท่อนเดียว จารึกด้วยอักษรตัวธรรมอีสานเพียงด้านเดียว พบที่บริเวณวัดศรีสองนาง ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดเลย กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงการสร้างวัดพร้อมพระธาตุ สิ้นเงินหนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อย (บาท)

                        - ศิลาจารึกวัดท่าคก  เป็นแผ่นหินชนิดหินทรายรูปทรงใบพาย สูง ๔๖ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรตัวธรรมจำนวน ๘ บรรทัด เป็นจารึกที่อยู่วัดนี้มาแต่เดิม จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ผนึกติดผนังด้านหน้าข้างประตูโบสถ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปัจจุบันยังคงอยู่ที่วัดท่าคก อำเภอเชียงคาน
                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงการขุด (ผูก) พัทธสีมาวัดท่าคก มีขุนนางตำแหน่งพระศรีอรรฮาด กับภริยา บุตร พันธวงศา มีจิตเลื่อมใสศรัทธา พร้อมกันผูกพันธสีมา เพื่อไว้สืบทอดพระพุทธสาสนาจนกว่าจะล่วง ๕,๐๐๐ ปี ตอนท้านจารึกอธิษฐานขอให้สมดังปรารถนา ขออธิษฐานให้ถึงเมืองแก้วและนิพพานเป็นที่สุด
            กลุ่มจารึกพระพุทธรูป  เป็นกลุ่มจารึกบันทึกอักษรไว้ที่ฐานพระพุทธรูปโลหะ ทั้งที่เป็นสำริดทองแดงหรือทองเหลือง นิยมจารึกที่ฐานพระพุทธรรูปด้านหน้า ถ้าข้อความมีมากก็เขียนยาวต่อไปด้านข้างหรือด้านหลังของฐานพระ เนื้อหาที่บันทึกจะปรากฎการบอกกศักราชที่จัดสร้าง หรือปีที่จารึก อาจบอกชื่อพระพุทธรูป ชื่อสถานที่ที่เป็นวัดหรือวิหาร บอกวัตถุประสงค์ หรือเรื่องราวการจัดสร้าง บางครั้งบอกจำนวนเงิน หรือจำนวนโลหะที่ใช้หล่อมพระพุทธรูป
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปสำริดวัดศรีสุทธาวาส  พระอารามหลวง (วัดเลยหลวง)  จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๐ ด้วยอักษรธรรมอีสาน และอักษรไทยน้อย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔  บันทึกไว้สั้น ๆ สันนิษฐานว่า เป็นปีที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้

                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีสุทธาราม  พระอารามหลวง ๒ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๕ ด้วยอักษรธรรมอีสาน จำนวน ๔ บรรทัด กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ศิลาจารึกหลักนี้นับว่าเป็นจารึกที่มีความสำคัญ และมีความหมายมากที่สุด ต่อประวัติศาสตร์เมืองเลย
                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงปีที่จารึก ผู้ที่เป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ ที่มาร่วมพิธีคือ สมเด็จพระสังฆราชาเจ้า แห่งวัดกลางเมืองซายขาว (ทรายขาว)  พร้อมกับพระสงฆ์ทั้งหลาย และผู้เป็นประมุขฝ่ายฆราวาส คือ พระยาซายขาว (ทรายขาว)  พร้อมศรัทธามัคคนายก อุบาสก อุบาสิกา เมืองเลย และน้ำคู้ ได้พร้อมกันสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ไว้
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีคุณเมือง  อำเภอเชียงคาน ไม่ระบุศักราชที่สร้าง จารึกด้วยอักษรฝักขาม เนื้อเรื่องกล่าวถึงประวัติพระพุทธรูป ตอนท้ายจารึกบอกโลหะที่นำมาใช้สร้าง ลิ้นน้ำทอง (ใช้ทองเหลือง)  หกหมื่นหนึ่ง หมายถึง พระพุทธรูปมีน้ำหนัก ๗๒ กิโลกรัม
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีคุณเมือง ๒  อยู่ที่วัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗  ด้วยอักษรธรรมอีสาน มีเนื้อความว่า ผู้นำฝ่ายสงฆ์ชื่อ หัวครูบุดดี เป็นผู้รจนา (จารึก)  กับทั้งศิษย์โยม และหลวงตา เป็นผู้เอาดินปั้นอูบ (ซุ้ม)  พระพุทธรูปไว้กับพระศาสนาตราบเท่า ๕,๐๐๐ วัสสา และจารึกคำว่านิพพาน ไว้ตอนท้าย
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดจอมมณี  อยู่ที่วัดจอมมณี ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                        เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระภิกษุ นามว่า หัวซาบุญมา อินทวงศาวิริยะ...... เมืองชุมพร ได้สร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ ตอนท้ายของจารึกได้อธิษฐานว่า ที่ได้สร้างพระพุทธรูปไว้กับพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ ขอให้ได้บุญอานิสงฆ์มาก ตราบเท่าตัวผู้รจนา

                        - จารึกพระพุทธรูปวัดศรีภูมิ  อยู่ที่วัดศรีภูมิ อำเภอเมือง ฯ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๘  ด้วยอักษรไทยน้อย และอักษรตัวธรรมอีสาน มีเนื้อความกล่าวถึงวัน เดือน ปี ที่จารึก และผู้รจนา
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดมหาธาตุ  อยู่ที่วัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ ด้วยอักษรธรรมอีสาน มีเนื้อความว่า พระยาศรีอรรคฮาต กับภริยา บุตร ธิดา นัดดา (หลาน) ได้มีศรัทธาพร้อมกันสร้างพระพุทธรูปได้เพื่อโชตนา (สืบทอด)  พระพุทธศาสนาตราบเท่า ๕,๐๐๐ ปี ตอนท้ายจารึกบอกถึงคำอธิษฐานให้อานิสงฆ์ เป็นปัจจัยสู่พระนิพพานในภายภาคหน้า
                        - จารึกฐานพระพุทธรูปวัดกู่คำ  อยู่ที่วัดกู่คำ บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง ไม่ระบุปีที่สร้าง จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน มีเนื้อความกล่าวถึง พระภิกษุ นามว่า สุมณ ข้อความนอกนั้น ลบเลือนไป
            ตำนาน  ในจังหวัดเลย มีตำนานที่น่าสนใจ อยู่หลายตำนานด้วยกัน ดังนี้
                ตำนานพระธาตุศรีสองรัก  พระธาตุศรีสองรัก อยู่ในอำเภอด่านซ้าย เป็นโบราณสถานในพระพุทธศาสนา ที่ไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ประวัติการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ได้จากศิลาจารึกที่อยู่บริเวณด้านข้างองค์พระธาตุ ตามจารึกได้กล่าวถึงรายละเอียด การกระทำสัตยาธิษฐาน ปักปันเขตแดนกันระหว่างอาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรอยุธยา โดยมหาอุปราช เสนาอำมาตย์ และพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของทั้งสองอาณาจักร ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ศรีสองรักไว้ เป็นสักขีพยาน ในครั้งนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖  มีการเฉลิมฉลองสมโภชในวันเพ็ญ เดือนหก และถือเป็นงานประเพณีเทศกาลสำคัญ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
                ตำนานนางผมหอม  เป็นนิทานประจำถิ่น มีสถานที่ประกอบเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ใน เขตอำเภอภูกระดึง อำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอเชียงคาน ได้กล่าวถึงลำน้ำเมย ซึ่งไหลผ่านเขตอำเภอต่าง ๆ ดังกล่าว ชื่อสถานที่ที่ปรากฎในเรื่องได้แก่
                    ภูหอ  เป็นภูเขาสูง มีลักษณะเป็นลานกว้าง บนสันเขาคล้ายภูเขาไฟ สูงประมาณ ๑,๒๐๐ ฟุต บนยอดเขามีธารน้ำตก และต้นไม้แคระ กับเฟิร์น เป็นจำนวนมาก ในเรื่องอ้างว่า เป็นสถานที่ที่พญาช้าง ได้สร้างเป็นหอไว้ให้ลูกสาว คือ นางผมหอม พญาช้างสั่งให้ บริวารช้างขนก้อนหินมาทำหอโฮง ให้อยู่จึงเรียกว่า ภูหอมาจนทุกวันนี้
                    เมืองเซไล  ตามเรื่องกล่าวว่า  เป็นเมืองของท้าวหล้าน้ำ ตัวเอกของเรื่อง ที่ได้เปิดผอบเสี่ยงทาย ของนางผมหอม เชื่อกันว่าเมืองดังกล่าวคือ บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง ในปัจจุบัน
                ตำนานปฐมกัปป์  เป็นวรรณกรรมใบลานประเภทตำนาน กล่าวถึงสรรพสิ่งในโลก การเกิดโลก และสิ่งต่าง ๆ แต่แรกเริ่มที่ยังไม่มีพระศาสนา พระพุทธเจ้ายังไม่เกิด ยังไม่มี อินทร พรหม เทวดา ครุฑ นาค สัตว์ต่าง ๆ นรกก็ยังไม่เกิด ดิน น้ำ หิน ก็ยังไม่มี  พระอาทิตย์ยังไม่สว่าง พระจันทร์ยังไม่ส่องแสง เสาพระสุเมรุยังไม่ตั้ง มีเพียงอากาศที่กว้างเกินคณานับ ไม่มีขอบเขต ลมได้เกิดขึ้นก่อน พัดอยู่ไปมา เกิดเป็นน้ำไปทั่วแดน เป็นทะเล ลมพัดแม่น้ำบังเกิดเป็นปลา ชื่อ ปลาอานนท์ หนุนแผ่นดินไว้สืบมา จนทุกวันนี้
                ลมได้พัดน้ำเป็นแผ่นดิน สองแผ่น แผ่นหนึ่งผู้ชายเฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน คือ ปู่ ไคยะสังคะสา อีกแผ่นหนึ่งผู้หญิงเฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน คือ ย่า ไคยะสังคะสี เป็นคู่กัน
                ครั้งนั้นทั้งสองคนได้ ปั้นแปง (สร้าง) คนขึ้นคู่หนึ่ง เป็นชาย กับหญิง สร้างสัตว์ขึ้นบนแผ่นดินให้เป็นคู่ ยังไม่ได้บอกให้เสพกามคุณ แต่สัตว์มีตัณหาก็ได้สมสู่กัน
                เมื่อแรกสร้างคนแรกขึ้นมาใหม่ ๆ ทั้งคู่ยังไม่แข็งแรง ย่าไคยะสังคะสี  สิ่งใดให้กินก็ยังง่วงเหงา ซึมเซา จนเมื่อเอาหมากเข้า (ข้าว)  มาให้กินจึงได้แข็งแรง สามารถเดินไปมาได้ รู้จักการพูดจากัน  จากที่กล่าวมาคนจึงกินข้าว กินปลา ในเวลาต่อมา ได้อาศัยข้าว น้ำเป็นอาหารสืบต่อมา
|ย้อนกลับ |บน |หน้าต่อไป |