|ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | |
|พัฒนาทางประวัติศาสตร์ |มรดกทางธรรมชาติ |มรดกทางวัฒนธรรม |มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
การละเล่นพื้นบ้าน
และนาฎศิลป์
การละเล่นพื้นบ้าน
การละเล่นพื้นบ้าน จังหวัดเลย ก็มีอยู่ในจังหวัดอื่นในภาคอีสาน เป็นส่วนใหญ่
อาจแตกต่างกันไปบ้าง ตามแต่ละท้องถิ่นทั้งการเรียกชื่อ และรายละเอียดในการเล่น
การละเล่นแม่นางด้ง
ส่วนใหญ่จะเสี่ยงทายฟ้าฝนว่าปีนี้ จะฝนตกดีหรือฝนแล้ง เพื่อที่ชาวบ้านจะได้เตรียมตัวในการเพาะปลูกตามสภาพฝน
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย กระด้ง (ต้องเป็นกระด้งของแม่หม้าย) สองใบ
ไม้คานสองอัน ใส่เครื่องบูชาผีไว้ในกระด้ง แล้วเอากระด้งสองอันประกบเข้าด้วยกัน
ใช้ไม้คานหนีบมัดให้แน่น หลักเสี่ยงทายสามหลัก ปักไว้ห่างจากพิธีประมาณ ๕๐
เมตร มีหลักแล้ง หลักฝน และหลักผิด กลองยาวสองใบ หันก้นเข้าหากระด้ง หันหน้ากลองออก
และวางไว้ตรงกันข้าม
ผู้เล่น นางเทียบหนึ่งคน เป็นคนแก่และเป็นหม้าย ผู้คนในบ้านให้ความเคารพนับถือ
ทำหน้าที่เชิญแถน และนำเซิ้ง ผู้จับกระด้งสองคน ต้องเป็นลูกคนสุดท้องทั้งคู่
ถ้าหาไม่ได้ให้เอาคนหัวปีทั้งคู่ก็ได้ ผู้ตีกลองสองคน ตีตามจังหวะเซิ้ง ลูกน้องนางเทียบ
สี่-แปดคน ร้องคำเซิ้งตามนางเทียบ และเดินตามหลังนางเทียบเป็นแถว
พิธีกรรม เริ่มด้วยการเชิญเทวดา หรือแถน เริ่มตีกลองจังหวะเซิ้ง ผู้จับคานหนีบกระด้ง
เอียงกระด้ง ไปมาซ้ายขวา ผู้นำเซิ้งเริ่มเซิ้งรอบ ๆ กางร่มดำด้วย เซิ้งเดินไปรอบ
ๆ จนกว่าผีจะมาเข้ากระด้ง พอผีเข้าสิงกระด้ง จะพลิกไปพลิกมา พาคนเดินจับไปยังหลักเสี่ยงทาย
พอไปถึงปรากฎว่า ไปตีเอาหลักจ้ำ แปลว่า จ้ำผิด อาจจะไม่พาเลี้ยงผีบ้าน หรือเล่นนางด้งผิดฤดู
เมื่อจ้ำพูดขอยอมจะเอาอะไรก็จะเลี้ยง แล้วจ้ำเอามือไปจับแขนผู้ถือดง อาการผีเข้าจะหาย
เป็นอันจบพิธี
การละเล่นหมอลำไทยเลย (แมงตับเต่า)
สมมติผู้เล่นเป็นตัวละครตามวรรณกรรมนิทาน หรือนิยายธรรมะ แฝงคติธรรมความเชื่อของกลุ่มชนท้องถิ่น
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๐ กลุ่มชนแถบนี้นำการเล่นแมงตับเต่า ไปแสดงตามงานบุญที่วัด
และงานบุญแจกข้าว ฯลฯ ผู้แต่ง หรือเจ้าของคณะ จะหานักแสดงในหมู่บ้านดูว่าเหมาะจะแสดงเป็นตัวอะไร
เช่น พระเอก นางเอก ชาวบ้านนิยมดูคณะที่มีผู้ชายแสดง ครูผู้ฝึกจะนำนิทานเหล่านี้มาเล่าให้เด็กเล็ก
ๆ ฟัง โดยการอ่าน แบบกลอนลำนำ สำเนียงไทเลย
เรื่องที่นิยมแสดงได้แก่ เรื่องท้าว กาฬะเกด (นางมณีจันทร์) ท้าวโสวัติ
นางแตงอ่อน จำปาสี่ต้น ท้าวสุริยวงศ์ ท้าวลิ้นทอง ลำเรื่องของชาวไทเลย มีวิธีการเล่นที่แตกต่างจากชาวอีสานทั่วไป
เช่น วาดการร้อง เป็นแนวแบบพื้นเมืองเลย เรียกว่า วาดการลำแบบไทเลย ผันอักษรตามเสียงไทเลย
ประกอบเครื่องดนตรีโบราณได้แก่ ระนาด แคน ซอไม้ไผ่ กลอง ฉิ่ง
ความสนุกสนานอยู่ที่ลูกเล่นพลิกแพลงของตัวตลก ตัวละครประกอบด้วย พระเอก นางเอก
กษัตริย์ มเหสี พี่เลี้ยง เสนา อำมาตย์ ม้า ฯลฯ
นาฎศิลป์และดนตรี
การฟ้อนรำของชาวไทเลย ที่ปรากฎมี ฟ้อนแห่กันหลอน ฟ้อนเซไล ฟ้อนผีตาโขน ฟ้อนผีขนน้ำ
ฟ้อนบวงสรวงพระธาตุศรีสองรัก ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน หรือผู้ชายก็ได้ การแต่งกายผู้หญิง
จะนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อหัวต่อตีน สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ผ่าอก ห่มผ้าสไบสีสุภาพ
ตามงานที่ฟ้อนรำ ผู้ชาย จะสวมกางเกงขาก๊วย เสื้อแขนสั้นผ่าอก สีสุภาพ มีผ้าขาวม้าคาดเอว
ดนตรีมี กลอง โปงลาง ฉาบ โหวด เติ่ง (พิณ) และแคน บรรเลงประกอบ เป็นการฟ้อนนำขบวนกันหลอน
หรือฟ้อนในงานดอกฝ้ายบาน งานฮีตสิบสอง งานการละเล่นผีตาโขน เป็นต้น
ฟ้อนทรงเจ้า
ใช้ฟ้อนในพิธีกรรมเลี้ยงประจำปีผีเจ้านาย ซึ่งเป็นอารัก (อารักษ์) หลักเมือง
คนทรงจะฟ้อนรำในรูปแบบอิสระ ตามจังหวะ กลอง แคน ฉาบ พิณ ที่ใช้บรรเลงประกอบ
เช่น การเลี้ยงเจ้าต้นร่มขาว
การเลี้ยงดังกล่าวคือ การมาชุมนุมของบริวารผีทรง และผีฟ้า ทุกคนจะมีอุปกรณ์เครื่องบูชาคายรักษามาร่วมด้วย
จากนั้นก็จะช่วยกันจัดทำเครื่องคายรักษา ทั้งข้าวปลาอาหารต่างก็หามาร่วมกันทำ
หัวหน้าจะเชิญผีต่าง ๆ มาเทียบคือ มาเข้าสิง เมื่อผีเข้าสิงแล้ว ทุกคนก็จะได้ร้องรำสนุกสนานกันอย่างเต็มที่
เป็นการปล่อยอารมณ์ได้อย่างอิสระ การเลี้ยงดังกล่าวจะทำกันในช่วงเดือนหก
ศาสนา
พิธีกรรม ความเชื่อ
พระพุทธศาสนา
เป็นศาสนาประจำชาติไทย มาแต่โบราณกาล มีข้อสันนิษฐานว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่จังหวัดเลย
เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานที่แสดงให้เห็นคือ ศิลาจารึกวัดพัทธสีมาราม
เป็นศิลาจารึกสมัยทวารวดี จำนวน ๓๙ หลัก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว
พระยาซายขาว (ทรายขาว) พ่อของเจ้าฟ้าร่มขาว เจ้าเมืองทรายขาว
ได้นำคนไทยกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาตามลำน้ำโขง และได้มาสร้างบ้านแปงเมือง อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเลย
ได้ป่าวประกาศให้ชาวเมืองมาร่วมกันสร้างวัดคือ วัดกลางเมืองซายขาว
(ทรายขาว) ปัจจุบันคือ วัดกู่คำ
เมื่อปี พ.ศ.๑๓๐๐
พระพุทธศาสนา มีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงตลอดมา เห็นได้จากการสร้างศาสนสถาน
และศาสนสมบัติ มีหลักฐานคำสอนที่สืบทอดกันมา โดยเก็บรวบรวมบันทึกไว้ในรูปของใบลาน
สมุดข่อย มากกว่า ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ เรื่อง
ศาสนพิธี
มีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ได้ ดังนี้
พิธีสมโภช และนมัสการพระธาตุศรีสองรัก
กระทำในวันเพ็ญเดือนหก เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา ชาวบ้านที่ชำนาญในพิธีการ
จะช่วยกันจัดเครื่องเพื่อทำพิธีบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ เครื่องบูชามีกระทงใหญ่
หนึ่งกระทง กระทงน้อยแปดกระทง กระทงใหญ่ใส่เครื่องบูชาอย่างละ ๑๐๐ กระทงน้อยใส่เครื่องบูชาตามจำนวนกำลัง
ของวันนั้น ๆ นอกจากนั้นยังทำกะเบียนย่อง ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่รูปแบน ๆ สี่เหลี่ยมเหมือนขันโตก
มีตีนสูง จำนวน ๑๐๐ ใบ ใส่อาหารคาว ๕๐ ใบ ใส่อาหารหวาน ๕๐ ใบ
เมื่อเครื่องดังกล่าวพร้อมแล้ว ก็ยกกระทงและกะเบียนย่อง ดังกล่าวเข้าไปใกล้องค์พระเจดีย์
ริมกำแพงแก้วด้านนอก นิมนต์พระสงฆ์สี่รูปมาสวดพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วกรวดน้ำใส่กระทง
และกะเบียนย่อง ทุกอัน พิธีทำก่อนเพล เสร็จแล้วก็ยกกระทงใหญ่ไปลอยน้ำ ในแม่น้ำหมัน
ซึ่งอยู่ใกล้องค์พระเจดีย์ กระทงน้อยยกไปบูชาตามบริเวณวัด ส่วนกะเบียนย่องยกไปวางไว้บนกำแพงแก้ว
รอบองค์พระเจดีย์เป็นเสร็จพิธี
พิธีสรงธาตุ
ทำภายหลังเมื่อทำพิธีบูชาพระธาตุเสร็จแล้ว โดยผู้สรงเอาน้ำอบ น้ำหอม ใส่ขัน
แล้วเอาดอกไม้จุ่มซัดไปรอบ ๆ องค์พระเจดีย์ การสรงพระธาตุทำดังนี้ คือ ผู้ชายให้เข้าไปในวงกำแพงแก้วรอบองค์พระเจดีย์พร้อมขันน้ำอบน้ำหอม
มีเจ้ากวนเป็นหัวหน้านำสรง และติดตามด้วยบรรดาแสน ซึ่งจัดยืนเรียงลำดับคือ
แสนด่าน แสนเขื่อน แสนหอม แสนฮอง แสนหนูรินทร์ แสนคำบุญยอ แสนจันทร์ แสนแก้วอุ่นเมือง
แสนบัวโฮม แสนศรีสองฮัก แสนดาวใจ แสนศรีสมบัติ แสนกลาง แสนศรีฮักษา แสนกลางโฮง
แสนสุขะ เมืองแสน เมืองจันทร์ และแสนกำกับเป็นคนสุดท้าย ต่อจากนั้นจึงจะถึงประชาชนผู้ชาย
ส่วนผู้หญิงก็นำโดยนางเทียม ถัดมาเป็นนางแต่งทั้งสี่คน แล้วจึงถึงประชาชนผู้หญิง
ให้สรงใส่กำแพงแก้วรอบนอกองค์พระเจดีย์ เข้าไปในกำแพงแก้วไม่ได้
พิธีสู่ขวัญธาตุ
คือ พิธีบายศรีสู่ขวัญธาตุ มีขันบายศรีสี่มุมของพระเจดีย์มุมละหนึ่งขัน ขันดังกล่าวทำมาจากบ้านต่าง
ๆ คือ บ้านเจ้ากวน บ้านนางเทียม บ้านนางแต่ง และบ้านแสนกลางโฮง บ้านละหนึ่งขัน
เมื่อตั้งขันบายศรีสี่มุมพระเจดีย์และจุดเทียนเวียนหัวแล้ว เจ้ากวนพร้อมแสนนั่งตามลำดับ
เช่นเดียวกับพิธีสรงธาตุ และประชาชนผู้ชาย นั่งเป็นวงรอบองค์พระเจดีย์ตอนในกำแพงแก้ว
ส่วนผู้หญิงนั่งรอบนอกกำแพงแก้วโดยมีนางเทียม และนางแต่งเป็นหัวหน้าแล้วมีผู้กล่าวคำสวด
หรือคำสู่ขวัญพระธาตุคนหนึ่ง ปกติเป็นหน้าที่ของแสนด่านหรือแสนเขื่อน คำกล่าวนั้นเป็นทำนองอ้อนวอนพระเจดีย์ให้ดลบันดาลให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมและผู้ที่เคารพนับถือทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข
ขณะกล่าวคำสู่ขวัญ ทุกคนประนมมือ พอผู้สวดกล่าวจบ บรรดาผู้ที่นั่งอยู่บริเวณนั้นยกมือขึ้นจรดหน้าผากไหว้พร้อมกันเป็นเสร็จพิธี
พิธีเวียนเทียน
หลังจากสู่ขวัญพระธาตุเสร็จก็ถึงพิธีเวียนเทียน ผู้จะเข้าพิธีเวียนเทียนคือผู้นั่งรอบองค์พระเจดีย์ตอนสู่ขวัญธาตุ
(มีเฉพาะผู้ชาย) โดยมีเจ้ากวนนั่งหัวแถว ถัดไปเป็นบรรดาแสนนั่งตามลำดับ ตำแหน่งเช่นเดียวกับพิธีสรงธาตุ
ถัดจากแสน ได้แก่ประชาชนที่ไปร่วมพิธีนั่งเรียงกันจนรอบองค์พระเจดีย์
เริ่มพิธีโดยเจ้ากวนเอาเทียนที่เวียนหัวผู้ไปในงานมารวมกันแล้วบิดให้เป็นมัด
ๆ หลาย ๆ มัด เทียนมัดแรกมีเทียนของเจ้ากวน นางเทียมและแสนเท่านั้น
เทียนมัดแรกนี้ทำเครื่องหมายมัดช่อดอกไม้ติดไว้ด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าเวียนครบสามรอบเมื่อใด
เจ้ากวนเป็นผู้จุดเทียนมัดแรกแล้วส่งให้คนถัดไปข้างขวา แล้วจุดเทียนมัดต่อไปจนหมดทุกมัด
จุดเทียนมัดใดก็ส่งต่อ ๆ ไปเวียนครบสามรอบจนเสร็จพิธี
การเวียนเทียนนี้มีผู้เอาขันใส่น้ำไปตั้งไว้ข้างล่างของเทียนที่เวียน เพื่อให้น้ำขี้ผึ้งหยดลงใส่ขันน้ำ
น้ำซึ่งรองรับหยดเทียนถือว่าเป็นน้ำสิริมงคล ชาวบ้านจะแบ่งกัน บางคนนำไปถึงบ้านแล้วใช้น้ำนี้ลูบศีรษะเพื่อขจัดเคราะห์เข็ญต่าง
ๆ และให้มีโชคลาภด้วย ส่วนเทียนที่เหลือจากเวียนเทียนก็แบ่งกันเอาไปถือติดตัวเพื่อคุ้มกันภัยอันตรายต่าง
ๆ
พิธีบวชนาคและจุดบั้งไฟ
เมื่อเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้วก็เริ่มพิธีบวชนาคที่พระอุโบสถในบริเวณวัดพระธาตุศรีสองรักต่อไป
พร้อมกับจุดบั้งไฟพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งปกติเริ่มภายหลังพระฉันเพลแล้ว การบวชนาคนี้ในปีหนึ่ง
ๆ มีหลายรูป เพราะมีผู้นิยมกันว่าผู้ใด ได้บวชที่วัดพระธาตุศรีสองรักมีอานิสงส์แรงมาก
เมื่อบวชแล้วก็แยกย้ายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ เพราะที่วัดพระธาตุศรีสองรักไม่มีพระภิกษุประจำอยู่เลย
ส่วนบั้งไฟที่จุดนั้นได้จากดินประสิว ที่แสนสุขบอกบุญขอเงินไปซื้อ แล้วแจกจ่ายให้ช่างตามละแวกหมู่บ้านไปจัดทำ
และได้จากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาทำขึ้นแล้วนำมาร่วมงานนี้
พิธีคารวะธาตุ
เมื่อเสร็จพิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก่อนจะกลับบ้าน เจ้ากวนแสน นางเทียม นางแต่งและผู้ที่มาร่วมงาน
ซึ่งยังไม่ได้กลับบ้านจะมานั่งร่วมชุมนุมกันรอบ ๆ องค์พระเจดีย์ กราบไหว้องค์พระธาตุ
จากนั้นแสนคนใดคนหนึ่งกล่าวคำขอขมาพระธาตุเจดีย์ ซึ่งมีแบบคำกล่าวโดยเฉพาะ
เมื่อกล่าวจบแล้วผู้ร่วมพิธีกราบอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีสมโภช และนมัสการพระธาตุศรีสองรัก
พิธีดังกล่าวทำเฉพาะกลางวัน เริ่มประมาณ ๙ นาฬิกา และทำติดต่อกันไปจนเสร็จพิธี
ซึ่งก็จะเป็นเวลาบ่าย บางปีเกือบค่ำก็มี
พิธีกรรมและความเชื่อ
ในจังหวัดเลยมีพิธีกรรมและความเชื่อของกลุ่มชนต่าง ๆ ดังนี้
พิธีกรรมแซปางชาวไทดำ
เป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพต่อหมอมดประจำหมู่บ้านของชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด
ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ในวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสามและเดือนหก
ในการประกอบพิธีจะมีเครื่องดนตรีคือ ปี่ บั้งบู (กระบอกไม้ไผ่)
พาดฮาดมีลักษณะเหมือนฆ้องทองเหลืองของพม่า กระทุ้งให้จังหวะอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
มีหมอมดเป็นผู้นำในการทำพิธีโดยจะสวมเสื้อฮี (เสื้อแขนยาวสีดำ) สวมซิ่นดำ
ถือดาบ จะขับร้องร่ายมนต์เป็นทำนองเพื่อเชิญผีสางเทวดามารับเครื่องเซ่นที่ต้นปาง
(เป็นพุ่มนำมาปักไว้ตรงกลางพิธีแล้วนำอาหารเสื้อผ้ามาห้อยประดับ) โดยหมอมดจะร่ายรำไปรอบ
ๆ ต้นปาง พร้อมกับผู้เข้าร่วมพิธีซึ่งแต่งกายชุดประจำเผ่า
การเสี่ยงเคราะห์
เป็นพิธีกรรมของไทเลยที่เชื่อกันว่า หากผู้ใดจะต้องประสบเคราะห์หามยามร้าย
ไม่ว่าจะเป็นเคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน หรือเคราะห์ยามก็ตาม มักจะมีลางบอกเหตุล่วงหน้า
เช่น นึ่งข้าวเป็นเลือด (ข้าวมีสีเข้ม) ได้ยินเสียงนกเค้าแมว เสียงนกถึดทือ
กลองดังขึ้นโดยไม่มีคนตี ไก่เกิดมามีสี่ขา สุนักออกลูกบนเรือน ไก่เถื่อนบินเข้าบ้าน
ไก่ตัวเมียงส่งเสียงขัน เห็ดงอกขึ้นกลางเตาไฟ ฝันว่าได้ฟ้อนรำขับประโคน ฝันว่าแต่งกายด้วยผ้าสีดำ
หรือสีหลาดสี ฝันว่าฟันหัก ฝันว่าเห็นไฟไหม้บ้าน หรืออ้างว่าตกอยู่ในสภาพพระศุกร์เข้งพระเสาร์แทรก
จะถึงระยะชะตาขาด หรือทาสสูญ เป็นต้น ผู้ใดมีลางสังหรณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็เชื่อว่า
เคาระห์ร้ายกำลังจะมาถึง
การสะกัดกั้นเคราะห์ดังกล่าวที่ชายไทเลยนิยมทำกันมากที่สุดคือ การบวงสรวงเทวดา
มีกายบูชาเทวดาประจำวันด้วย ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน บรรจุลงในกระทงเก้าหลัก
เก้าปัก และเก้าห้อง ต้องปั้นหุ่นของสัตว์ประจำทิศต่าง ๆ
ในการทำพิธีหมอพราหมณ์ จะนั่งทางด้านทิศเหนือ ผู้เสียเคราะห์จะนั่งทางด้านทิศใต้
หันหน้าเข้าหากัน โดยมีกระทง และเครื่องเซ่นไหว้อยู่ตรงกลาง ใช้สายสิญจน์เก้าเส้น
เวียนรอบกระทงสามรอบ แล้วผ่านผู้เสียเคราะห์ไปยังพาเสื้อพาผ้า แล้วหมอพราหมณ์จะทำพิธีบริกรรมคาถา
พร้อมกับประพรมน้ำส้มป่อย (น้ำมาต์) ให้ผู้เสียเคราะห์ เสร็จแล้วให้ผู้เฒ่าผู้เแก่
ญาติมิตร ผูกข้อมือให้ผู้เสียเคราะห์ เพื่อเรียกขวัญกลับมา และให้พ้นเคราะห์เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีแห่นางแมวขอฝน
เป็นพิธีท้องถิ่นอีสาน ปรากฎอยู่ทั่วไปในภาคอีสานแทงทุกหมู่บ้าน มีความเชื่อว่าทำพิธีแล้วฝนจะตก
ช่วงเวลาแห่นางแมว จะเป็นช่วงปลายเดือนเจ็ด ถึงต้นเดือนแปด อุปกร์มีชะลอมใส่แมว
พร้อมขันห้า
(เทียนห้าคู่
ดอกไม้ห้าคู่) แคนและหมอแคน กลองและคนตีกลอง
เริ่มพิธี มีการชุมนุมเทวดา จากนั้นแคนและกลองก็จะเริ่มบรรเลงเป็นจังหวะช้า
ๆ ผู้เฒ่าถือขันห้าเดินนำหน้า สองคนหามชะลอมแมวเดินตาม ผู้นำเซิ้งและลูกเสียง
(ผู้ร้องตาม) รวมทั้งชาวบ้านทั้งหมดเดินร่วมด้วย
|ย้อนกลับ
|บน
|หน้าต่อไป
|