ประชุมพงศาวดาร
หน้า ๓ หน้าต่อไป ๑๐ หอมรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ

            พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เดิมพระปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) แต่ยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่ง จึงขอมาให้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ กรรมการหอพระสมุดเห็นเป็นหนังสือพระราชพงศาวดารแปลกจากฉบับอื่น ๆ จึงให้เรียกชื่อว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐให้เป็นเกียรติยศแก่ผู้พบ
            หนังสือฉบับนี้ มีบานแพนกว่าเป็นหนังสือฉบับหลวง สมเด็จพระนารายณ์ ฯ มีรับสั่งให้แต่งขึ้นเมื่อปี จ.ศ.๑๐๔๒ กล่าวเนื้อความตั้งต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพนัญเชิง เมื่อปี จ.ศ.๖๘๖ ความค้างอยู่เพียง ปี จ.ศ.๙๖๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฯ เมื่อเตรียมทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ
            สมุดต้นฉบับที่ได้มาเป็นสมุดคำเขียนด้วยตังรง ฝีมือเขียนครั้งกรุงเก่า ตัวหนังสือลบเลือนหลายแห่ง กรรมการหอสมุดให้พิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ หอสมุดได้หนังสือพระราชพงศาวดาร ความเดียวกับฉบับหลวงประเสริฐ ฯ มาอีกสองเล่มสมุดไทย เป็นฉบับหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นฉบับลอกจากเล่มของหลวงประเสริฐ ฯ เพราะที่สุดไปค้างอยู่คำต่อคำเหมือนฉบับหลวงประเสริฐ ฯ
            พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ ความที่กล่าวเป็นอย่างย่อ ๆ แต่มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฎในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นออกไปอีกมาก ศักราชในฉบับนี้แม่นยำ และเชื่อได้แน่กว่าฉบับอื่น ๆ จึงเป็นหลักในการสอบหนังสือพงศาวดารได้เรื่องหนึ่ง


พระราชพงศาวดารกรุงเก่า
ฉบับหลวงประเสริฐ

            ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร (พ.ศ.๒๒๒๓) ณ วันพุธ ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนห้า ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้น ให้คิดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้

            จ.ศ.๖๘๖ (พ.ศ.๑๘๖๗) แรกสถาปนา พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง
            จ.ศ. ๗๑๒ (พ.ศ.๑๘๙๓) วันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนห้า เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา เก้าบาด แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุทธยา
            จ.ศ.๗๓๑ (พ.ศ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน พระราชกุมาร สมเด็จพระราเมศวรเจ้าราชสมบัติถิ จ.ศ.๗๓๒ (พ.ศ.๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี
            จ.ศ.๗๓๓ (พ.ศ.๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวง
            จ.ศ.๗๓๔ (พ.ศ.๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า แลเมืองแสงเชราได้เมือง
            จ.ศ.๗๓๕ (พ.ศ.๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว พระยาใสแก้ว แลพระยารามคำแหงเจ้าเมืองชากังราว ออกรบต่อท่าน ๆ ได้ฆ่า พระยาไสแก้วตาย พระยารามคำแหงแลพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ แลทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา
            จ.ศ.๗๓๖ (พ.ศ.๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีมหาธาตุฝ่ายบูรพาทิศ หน้าบันสิงห์สูงเส้นสามวา
            จ.ศ.๗๓๗ (พ.ศ.๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิศณุโลก ได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัวอพยพมาครั้งนั้นมาก
            จ.ศ.๗๓๘ (พ.ศ.๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว พระยารามคำแหงแลท้าวผ่าดองคิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง และจะทำมิได้ ท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี จึงเสด็จยกทัพหลวงตาม ท้าวผ่าคองนั้นแตกจับได้ตัวท้าวพระยาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
            จ.ศ.๗๔๐ (พ.ศ.๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว พระมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ เห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงออกถวายบังคม
            จ.ศ.๗๔๘ (พ.ศ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ ให้ปล้นเข้าเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองลำภาง ๆ จึงออกมาถวายบังคม แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน
            จ.ศ.๗๕๐ (พ.ศ.๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว สมเด็จพระบรมราชาธิราชประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้งเถิงกลางทางสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน เจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้เจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสีย
            จ.ศ.๗๕๗ (พ.ศ.๑๙๓๘) สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน พระราชกุมารท่านเจ้าพระญาราม เสวยราชสมบัติ
            จ.ศ.๗๗๑ (พ.ศ.๑๙๕๒) สมเด็จพระยารามเจ้าพิโรธเจ้าเสนาบดี ให้จับกุมเจ้าเสนาบดี ๆ หนีรอด แลข้ามไปอยู่ฟากปท่าคูจาม เจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้ามาแต่เมืองสุพรรณบุรี ว่าจะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุธยาถวาย สมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาเถิง จึงให้เจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสวยราชสมบัติ ท่านจึงให้สมเด็จพญารามไปกินเมืองปท่าคูจาม
            จ.ศ.๗๘๑ (พ.ศ.๑๙๖๒) มีข่าวมาว่าพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน แลเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล จึงเสด็จขึ้นเถิงเมืองพระบาง พญาบาลเมือง แลพญารามออกถวายบังคม
            จ.ศ.๗๘๖ (พ.ศ.๑๙๖๗) สมเด็จพระอินทราชาเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน เจ้าอ้ายพญา แลเจ้าญี่พญา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สพานป่าถ่าน เถิงพิราลัยทั้งสองพระองค์ พระราชกุมารเจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สององค์ สวมที่เจ้าอ้ายพญา และเจ้าพญาญี่ชนช้างด้วยกัน เถิง อนิจภาพ ตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ
            จ.ศ.๗๙๓ (พ.ศ.๑๙๗๔) สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปเอาเมืองนครหลวงได้ จึงให้พระราชกุมารท่านพระนครอินทรเจ้า เสวยราชสมบัติเมืองนครหลวงนั้น จึงให้พญาแก้วพญาไทย แลรูปภาพทั้งปวงมายังพระนครศรีอยุธยา
            จ.ศ.๘๐๐ (พ.ศ.๑๙๘๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์ เสวยราชสมบัติ สมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชกุมาร ท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต
            จ.ศ.๘๐๒ (พ.ศ.๑๙๘๓) เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร
            จ.ศ.๘๐๓ (พ.ศ.๑๙๘๔) เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข
            จ.ศ.๘๐๔ (พ.ศ.๑๙๘๕) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ เข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวร ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
            จ.ศ.๘๐๖ (พ.ศ.๑๙๘๗) เสด็จไปปราบพรรค ตั้งทัพหลวงตำบลปะท้ายเขษม ได้เชลย ๑๒๐๐๐๐ ทัพหลวงเสด็จกลับคืน
            จ.ศ.๘๑๐ (พ.ศ.๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน พระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า
            จ.ศ.๘๑๓ (พ.ศ.๑๙๙๔) มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับคืน
            จ.ศ.๘๑๖ (พ.ศ.๑๙๙๗) คนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก
            จ.ศ.๘๑๘ (พ.ศ.๑๙๙๙) แต่งทัพไปเอาเมือง ลิสบทิน เสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโดน
            จ.ศ.๙๑๙ (พ.ศ.๒๐๐๐) ข้าวแพงเป็นทะนานละแปดร้อยเบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้อง และแปดร้อยนั้น เกียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท
            จ.ศ.๘๒๐ (พ.ศ.๒๐๐๑) ให้บุณพระสาสนาบริบุรณ์ หล่อรูปพระโพธิสัตว์ ห้าร้อยชาติ
            จ.ศ.๘๒๒ (พ.ศ.๒๐๐๒) เล่นการมหรศพฉลองพระ แลพระราชทานแก่สงฆ์ แลพราหมณ์ และพรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพระยาเชลียงคิดเป็นขบถ เอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช
            จ.ศ.๘๒๓ พระยาเชลียงนำมหาราชจะมาเอาเมืองพิศณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้เมือง จึงยกทัพเปรอไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง มหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่
            จ.ศ.๘๒๔ (พ.ศ.๒๐๐๕) เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยพหนีไปเมืองน่าน ให้พระยากลาโหมไปตามได้คืนมา แล้วพระยากลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า

            จ.ศ.๘๒๕ (พ.ศ.๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก ตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า แลสมเด็จพระอินทราชาเจ้า เสด็จไปกันเมือง และสมเด็จพระบรมราชาเจ้า ตีทัพพระยาเถียรแตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร เป็นโกลาหลใหญ่ ข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ แลทัพมหาราชเลิกกลับคืนไป
            จ.ศ.๘๒๖ (พ.ศ.๒๐๐๗) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี
            จ.ศ.๘๒๗ (พ.ศ.๒๐๐๘) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีได้แปดเดือน แล้วลาพระผนวช
            จ.ศ.๘๓๐ (พ.ศ.๒๐๑๑) พระมหาราชท้าวบุญชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก
            จ.ศ.๘๓๓ (พ.ศ.๒๐๑๔) ได้ช้างเผือก
            จ.ศ.๘๓๔ (พ.ศ.๒๐๑๕) พระราชสมภพ พระราชโอรสท่าน
            จ.ศ.๘๓๕ (พ.ศ.๒๐๑๖) หมื่นนครให้ลอกเอาทองพระเจ้ามาหุ้มดาบ
            จ.ศ.๘๓๖ (พ.ศ.๒๐๑๗) เสด็จไปเอาเมืองชเลียง
            จ.ศ.๘๓๗ (พ.ศ.๒๐๑๘) มหาราชขอมาเป็นไมตรี
            จ.ศ.๘๓๙ (พ.ศ.๒๐๒๐) แรกตั้งเมืองนครไทย
            จ.ศ.๓๔๑ (พ.ศ.๒๐๒๒) พระยาสีหราชเตโชถึงแก่กรรม
            จ.ศ.๘๔๒ (พ.ศ.๒๐๒๓) พญาล้านช้างเถิงแก่กรรม แลพระราชทานให้อภิเษกพญาซ้ายขาวเป็นพญาล้านช้างแทน
            จ.ศ.๘๔๔ (พ.ศ.๒๐๒๕) ท่านให้เล่นการมหรสพ ๑๕ วันฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์ มหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ์
            จ.ศ.๘๔๕ (พ.ศ.๒๐๒๖) สมเด็จพระบรมราชเจ้าเสด็จไปวังช้างตำบลไทรย้อย
            จ.ศ.๘๔๖ (พ.ศ.๒๐๒๗) สมเด็จพระเชษฐาธิราช แลสมเด็จพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้งสองพระองค์
            จ.ศ.๘๔๗ (พ.ศ.๒๐๒๘) พระราชโอรสท่านลาผนวช แลประดิษฐานพระองค์นั้นไว้ที่พระมหาอุปราช
            จ.ศ.๘๔๘ (พ.ศ.๒๐๒๙) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้าง ตำบลสัมฤทธิบูรณ
            จ.ศ.๘๔๙ (พ.ศ.๒๐๓๐) ท้าวมหาราชลูกพิราไลย
            จ.ศ.๘๕๐ (พ.ศ.๒๐๓๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย แลเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้น เกิดอุบาทว์หลายประการ.... นึ่งในปีเดียวกันนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกเสด็จนฤพาน ณ เมืองพิศณุโลก
            จ.ศ.๘๕๒ (พ.ศ.๒๐๓๓) แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิไชย
            จ.ศ.๘๕๓ (พ.ศ.๒๐๓๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี
            จ.ศ.๘๕๔ (พ.ศ.๒๐๓๕) ประดิษฐานมหาสถูปพระบรมธาตุบรมธาตุ สมเด็จพระบรมไตรโลก แลสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า
            จ.ศ.๘๕๘ (พ.ศ.๒๐๓๙) ท่านประพฤติการเบญจาพิศพระองค์ท่าน แลให้เล่นการดึกดำบรรพ์
            จ.ศ.๘๕๙ (พ.ศ.๒๐๔๐) ท่านให้ทำปฐมกรรม
            จ.ศ.๘๖๑ (พ.ศ.๒๐๔๒) แรกสร้างวิหารวัดศรีสรรเพชญ์
            จ.ศ.๘๖๒ (พ.ศ.๒๐๔๓) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ ในวันอาทิตย์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนหก จ.ศ.๘๖๕ (พ.ศ.๒๐๔๖) ฉลองพระพุทธเจ้าพระศรีสรรเพชญ์ คณนาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทเถิงยอดพระรัศมีนั้น สูงได้ แปดวา พระภักตร์นั้นยาวได้สี่ศอก กว้างสามศอก พระอุระกว้างสิบเจ็ดศอก พระหล่อหนักห้าหมื่นสามพันชั่ง ทองคำหุ้มหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างหน้านั้นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ข้างหลังนั้นทองเนื้อหกน้ำสองขา
            จ.ศ.๘๗๗ (พ.ศ.๒๐๕๘) วันอังคาร ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองนครลำภาง ได้เมือง
            จ.ศ.๘๘๐ (พ.ศ.๒๐๖๑) สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างพระศรีสรรเพชญ์ เสวยราชสมบัติแรกตำราพิชัยสงคราม แรกทำสารบาญชี พระราชสัมฤทธิ์ทุกเมือง
            จ.ศ.๘๘๖ (พ.ศ.๒๐๖๗) ในเดือนเจ็ดนั้นคนทอดบาตรสนเทห์ ครั้งนั้นให้ฆ่าขุนนางเสียมาก
            จ.ศ.๘๘๗ (พ.ศ.๒๐๖๘) น้ำน้อย ข้าวเสียสิ้นทั้งปวง แผ่นดินไหวทุกเมือง เกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ รุ่งปี จ.ศ.๘๘๘ (พ.ศ.๒๐๖๙) ข้างแพงเป็นสามทะนานต่อเฟื้อง เบี้ยแปดร้อย เกียนหนึ่งเป็นเงินชั่ง หกตำลึง ครั้งนั้นประดิษฐานสมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช ให้เสด็จไปครองเมืองพิศณุโลก
            จ.ศ.๘๙๑ (พ.ศ.๒๐๗๒)..... มเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน สมเด็จพระอาทิตย์เจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จบรมราชาธิราชาหน่อพุทธางกูร ได้เสวยราชสมบัติ
            จ.ศ.๘๙๕ (พ.ศ.๒๐๗๖) สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านฤพาน สมเด็จพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัติ
            จ.ศ.๘๙๖ (พ.ศ.๒๐๗๗) พระราชกุมารท่านนั้นเป็นเหตุ จึงได้ราชสมบัติแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า
            จ.ศ.๙๐๐ (พ.ศ.๒๐๘๑) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเชียงในเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า แลพระเจดีย์เถิงเดือนสิบเอ็ดเสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน..... อนึ่งเมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพชรนั้นว่า พระญานารายณ์คิดเป็นขบถ ให้กุมเอาพระญานารายณ์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพชร
            จ.ศ.๙๐๗ (พ.ศ.๒๐๘๘) วันพุธขึ้นสี่ค่ำ  เดือนเจ็ด สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พญาพิศณุโลกเป็นทัพหน้า ตั้งทัพไชยตำบลบางบาน ณ วันเสาร์ ขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนเจ็ด จึงยกทัพหลวงไปกำแพงเพชร เถิงเมื่อวันอังคาร แรมเก้าค่ำ เดือนเจ็ด ตั้งทัพไชย ณ เมืองกำแพงเพชร ณ วันอาทิตย์ แรมสิบสี่ค่ำ เดือนเจ็ด ยกทัพไปตั้งเชียงทอง แล้วยกไปตั้ง ณ เมืองเชียงใหม่ เถิงวันอาทิตย์ขึ้นสี่ค่ำ เดือนเก้า ทัพหลวงเสด็จคืน จากเชียงใหม่ เถิงวันพฤหัสบดี ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเก้า ทัพหลวงเถิงเมืองกำแพงเพชร แล้วจึงเสด็จมายังพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายพระนครศรีอยุธยา ในวันพุธ ขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสาม เกิดเพลิงไหม้อยู่สามวัน จึงดับได้ มีบาญเรือนเพลิงไหม้นั้น ๑๐๐๕๐ เรือน ณ วันอาทิตย์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระไชยราชา ฯ เสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ ให้พญาพิศณุโลกเป็นทัพหน้า ยกทัพหลวงเสด็จไปเมืองกำแพงเพชร แล้วยกไปเชียงใหม่ ได้เมืองลำพูนไชย เถิงวันจันทร์ แรมสิบห้าค่ำ เดือนสี่ยกทัพหลวงจากเมืองเชียงใหม่ มายังพระนครศรีอยุธยา
            จ.ศ.๙๐๘ (พ.ศ.๒๐๘๙) เดือนหก สมเด็จพระไชยราชานฤพาน สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาในปีนั้นแผ่นดินไหว

            จ.ศ.๙๑๐ (พ.ศ.๒๐๙๑) ......เถิงวันอาทิตย์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติสี่สิบสองวัน ขุนชินราชและแม่ญั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เสวยราชสมบัติได้เจ็ดเดือน พระยาหงษาปังเสวกี ยกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือนสี่ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รบศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระอรรคมเหษี และสมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าเศิก ถึงสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั้น เสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวรไปแก่พญาหงษา แลจึงเอาพญาปราบ แลช้างต้นพญานุภาพ ตามไปส่งให้พระยาหงษาเถิงเมืองกำแพงเพชร แลพระยาหงษาจึงส่งพระมหาธรรมราชา ฯ สมเด็จพระราเมศวรเจ้า มายังพระนครศรีอยุธยา
            จ.ศ.๙๑๑ (พ.ศ๒๐๙๒) ......แรกให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยา
            จ.ศ.๙๑๒ (พ.ศ.๒๐๙๓) เดือนแปดขึ้นสองค่ำ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เจ้า ตำบลท่าแดง พระกรรมวาจาเป็นพฤฒิบาศ พระพิเชฏฐ์เป็นอัษฎาจารย์ พระอินโทร เป็นกรรมการ
            จ.ศ.๙๑๔ (พ.ศ.๒๐๙๕) ให้แปลงเรือแซเป็นเรือไชยแลหัวสัตว์
            จ.ศ.๙๑๕ (พ.ศ.๒๐๙๖) เดือนเจ็ด แรกทำการพระราชพิธีมัธยมกรรมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ตำบลไชยนาทบุรี
            จ.ศ.๙๑๖ (พ.ศ.๒๐๙๗) เสด็จไปวังช้าง ตำบลบางลมุง ได้ช้างพลายพัง หกสิบช้าง ในเดือนสิบสองได้ช้างพลายเผือก ตำบลป่ากาญจนบุรี สูงสี่ศอกมีเศษ ชื่อพระคเชนโทรดม
            จ.ศ.๙๑๗ (พ.ศ.๒๐๙๘) ได้ช้างเผือกพลาย ตำบลป่าเพชรบุรี สูงสี่ศอกเศษ ชื่อพระแก้วพงบาศ
              จ.ศ.๙๑๘ (พ.ศ.๒๐๙๙) เดือนสิบสองแต่งทัพไปลแวก พญาองค์สวรรคโลก เป็นนายกอง ถือพลสามหมื่น ให้พระญามนตรี ถืออาชญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกียน ฝ่ายทัพเรือให้พญายาวเป็นนายกอง ครั้งนั้นลมพัดขัด ทัพเรือมิทันทัพบก และพญารามลักษณ์ ซึ่งเกณฑ์เข้าทัพบกนั้น เข้าบุกทัพในกลางคืน แตกมาประทัพใหญ่ ครั้งนั้นเสียพญาองค์สวรรคโลก นายกอง ช้างม้ารี้พลมาก
            จ.ศ.๙๑๙ (พ.ศ.๒๑๐๐) วันอาทิตย์ขึ้นค่ำ เดือนสี่ เกิดเพลิงไหม้พระราชวังมาก เดือนสามทำการพระราชพิธีอาจาริยาภิเศก แลทำการอินทราภิเศกในวังใหม่ เดือนสี่พระราชทานสัตสตกมหาทาน ให้ช้างเผือกพระราชทานมีกองเชิงเงินสี่เท้าช้างนั้นเป็นเงิน พันหกร้อยบาท พระราชทานรถเทียมด้วยม้า แลมีนางสำหรับรถนั้นเสมอรถเจ็ดนาง ในเดือนเจ็ดเสด็จไปวังช้างตำบลโตรกพระ ได้ช้างพลายพังหกสิบช้าง
            จ.ศ.๙๒๑ (พ.ศ.๒๑๐๒) เสด็จไปวังช้างตำบลได้ช้างพลายพังสี่สิบช้าง
            จ.ศ.๙๒๒ (พ.ศ.๒๑๐๓) เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่ ได้ช้างพลายพังห้าสิบช้าง.....
            จ.ศ.๙๒๓ (พ.ศ.๒๑๐๔) พระศรีศิลป์บวชอยู่วัด แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลวังมดแดง พระสังฆราชวัดป่าแก้วให้พระศรีศิลป์ให้เข้ามาพระราชวัง ครั้งนั้นพญาสีหราชเดโชเป็นโทษรับพระราชอาชญาอยู่ จึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่าครั้นพ้นวันพระแล้วจะให้ลงพระราชอาชญาฆ่าพระญาสีหราชเดโชเสีย ขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันในวันพระนี้ พระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาในวันพฤหัสบดี แรมสิบสี่ค่ำ เดือนแปด เพลาเย็น ครั้นรุ่งขึ้นในวันพระ พระศรีศิลป์เข้าพระราชวังได้ ครั้งนั้นพระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น ครั้นรู้ว่าพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษแก่พระศรีศิลป์ ก็ให้เอาพระสังฆราชวัดป่าแก้วไปฆ่าเสีย
            จ.ศ.๙๒๔ (พ.ศ.๒๑๐๕) เสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย ได้ช้างพลายพังเจ็ดสิบช้าง
            จ.ศ.๙๒๕ (พ.ศ.๒๑๐๖) พระเจ้าหงษานิพัตรยกพลลงมาในเดือนสิบสอง ครั้งเถิงเดือนสองได้เมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเมืองพิศณุโลกข้าวแพงเป็นสามสัดต่อบาท คนทั้งปวงเกิดทรพิศน์ตายกันมาก พระเจ้าหงษาได้เมืองเหนือทั้งปวงแล้ว จึงยกพลลงมายังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยาออกเป็นพระราชไมตรี สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่าย เสด็จมาทำสัตยาธิษฐาน หลั่งน้ำสิโนทก ตำบลวัดพระเมรุ พระเจ้าหงษาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรเจ้า แลช้างเผือกสี่ช้างไปเมืองหงษา ครั้งนั้นพญาศรีสุรต่าน พญาตานีมาช่วยรบศึก พญาตานีนั้นเป็นขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ ณ ท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง ชาวพระนครเอาพวนขึงไว้รบด้วยชาวตานี ๆ นั้นตายมาก พญาตานีนั้นลงสำเภาหนีไปได้ ในปีเดียวนั้นพระเจ้าล้านช้างให้พระราชสาส์นมาถวาย ว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระเทพกษัตรเจ้า แลทรงพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระเทพกษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีให้แก่พระเจ้าล้านช้าง
            จ.ศ.๙๒๖ (พ.ศ.๒๑๐๗) พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้า ฯ ลงมาส่งยังพระนครศรีอยุธยา แลจึงพระราชทาน สมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าหงษารู้เนื้อความทั้งปวงจึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง ชิงเอาสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปถวายพระเจ้าหงษา
            จ.ศ.๙๓๐ (พ.ศ.๒๑๑๑) ในเดือนสิบสองพระเจ้าหงษายกพลมาแต่เมืองหงษา ครั้นเถิงวันศุกร์ขึ้นค่ำ เดือนอ้าย พระเจ้าหงษามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา ตั้งทัพตำบลหล่มพลี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ประชวรนฤพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการศึก แต่พระเจ้าลูกเธอศรีเสาวนั้นตรัสเอาพระทัยใส่ เสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ไม่ไว้พระทัย ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม
            ครั้งนั้น การเศิกซึ่งรักษาพระนครก็คลายลง ครั้น จ.ศ.๙๓๑ (พ.ศ.๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนเก้า เพลารุ่งแล้ว ประมาณสามนาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงษา ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ทำการปราบดาภิเษก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา อนึ่ง เมื่อพระเจ้าหงษาเสด็จกลับคืนไปเมืองหงษานั้น เอาสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าไปด้วย
            จ.ศ.๙๓๒ (พ.ศ.๒๑๑๓) พญาลแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุธยา ยืนช้าง ตำบลสามพิหาร ได้รบพุ่งกัน ขางในเมืองพระนครยิงปืนออกไปต้อง พญาจัมปาธิราชตายกับคอช้าง พญาลแวกเลิกทัพกลับไป
            จ.ศ.๙๓๓ (พ.ศ.๒๑๑๔) สมเด็จพระนารายน์บพิตรเป็นเจ้าเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองพิศณุโลก
            จ.ศ.๙๓๔ (พ.ศ.๒๑๑๕) น้ำน้อยนัก
            จ.ศ.๙๓๕ (พ.ศ.๒๑๑๖) น้ำน้อยเป็นมัธยม
            จ.ศ.๙๓๖ (พ.ศ.๒๑๑๗) น้ำมากนัก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระประชวรทรพิศม์
            จ.ศ.๙๓๗ (พ.ศ.๒๑๑๘) พญาลแวกยกทัพเรือมายังพระนคร ฯ ในวันเสาร์ขึ้นสิบค่ำ  เดือนอ้าย ชาวเมืองลแวกตั้งทัพเรือ ตำบลพแนงเชิง ได้รับพุ่งกัน เศิกลแวกต้านมิได้ เลิกทัพกลับไป จับเอาคน ปากใต้ไปครั้งนั้นมาก ปีนั้นน้ำ ณ กรุงศรีอยุธยาน้อย
            จ.ศ.๙๔๐ (พ.ศ.๒๑๒๑) พญาลแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรีมิได้เมือง ครั้งนั้น พระยาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองลแวก มาสู่พระราชสมภาร อยู่มาก็หนีกลับคืนไปเมือง
            จ.ศ.๙๔๒ (พ.ศ.๒๑๒๓) รื้อกำแพงกรุงพระนครออกไปตั้งเถิงริมแม่น้ำ
            จ.ศ.๙๔๓ (พ.ศ.๒๑๒๔) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคม คิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก แลยกมาจากเมืองลพบุรี ยืนช้างอยู่ ตำบลหัวตรี บรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้น ยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง ในปีนั้นมีหนังสือมาแต่เมืองหงษา ว่าปีมะเส็งตรีนิศกนี้อธิกมาศมิได้ ฝ่ายกรุงพระนคร ฯ นี้มีอธิกมาศ อนึ่งในวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ เดือนยี่ ข่าวมาว่าพระเจ้าหงษานฤพาน อนึ่งในเดือนสามนั้น พญาลแวกยกพลมาเอาเมืองเพชรบุรี เสียเมืองเพชรบุรีแก่พญาลแวก
            จ.ศ.๙๔๔ (พ.ศ.๒๑๒๕) พญาลแวกแต่งทัพให้มาจับคนปลาย ด่านตวันออก
            จ.ศ.๙๔๕ (พ.ศ.๒๑๒๖) เกิดเพลิงไหม้แต่จวนกลาโหม ลามไปเถิงในพระราชวัง ลามไหม้ไปเมืองท้ายเมือง ครั้งนั้นรู่ข่าวมาว่าข้างหงษาทำทางมาพระนคร ฯ
            จ.ศ.๙๔๖ (พ.ศ.๒๑๒๗) สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิศณุโลก รู้ข่าวมาว่าเจ้าหงษากับเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยเศิกพระเจ้าหงษา....ครั้นเถิง ณ วันพุธ แรมเก้าค่ำ เดือนห้า เสด็จออกตั้งทัพไชย ตำบลวัดยม เมืองกำแพงเพชร วันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปเถิงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนคร ฯ ....ในปีนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวงมายังกรุงพระนคร ฯ ในปีเดียวนั้น พระยาหงษาให้ พระเจ้าสาวถี แล พญาพสิมยกพลมายังกรุงพระนคร แลวันพุธ ขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ เพลาเที่ยงคืนแล้ว สองนาฬิกาเก้าบาด เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพ ตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงษาแตกพ่ายหนีไป....
            จ.ศ.๙๔๗ (พ.ศ.๒๑๒๘) พระเจ้าสาวถียกพลลงมา ตั้งทัพ ตำบลสะเกษ ตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ ถึงเดือนสี่ ครั้นเถิงวันพุธ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนห้า เวลารุ่งแล้วสี่นาฬิกาบาด เสด็จพยุหบาตราตั้งทัพไชย ตำบลหล่มพลี ณ วันเสาร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนห้า เสด็จจากทัพไชยโดยทางชลมารคไปทาง ป่าโมก ....ครั้นเถิงวัน พฤหัสบดี แรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีป ออกดาช้างม้าทั้งปวงอยู่ ณ ริมน้ำ แลพระอาทิตย์ทรงกลด รัศมีกลดนั้น ส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่ง ครั้งนั้นตีทัพเจ้าสาวถี ซึ่งตั้งอยู่ตำบลสะเกษแตกพ่ายไป ในปีเดียวนั้นมหาอุปราชยกพลมาโดยทางกำแพงเพชร ตั้งทำนาอยู่ที่นั่น
            จ.ศ.๙๔๘ (พ.ศ.๒๑๒๙) วันจันทร์ แรมแปดค่ำ เดือนสิบสอง พระเจ้าหงษางาจีสยาง ยกพลลงมาเถิง กรุงพระนคร ฯ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ เข้าล้อมพระนคร ตั้งทัพ ตำบลขนอนปากคู แลทัพมหาอุปราชตั้ง ขนอนบางตนาว ทัพทั้งปวงตั้งรายกันไปล้อมพระนครอยู่ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระเจ้าหงษาเลิกทัพคืนไปใน วัน จ.ศ.๙๔๙ (พ.ศ.๒๑๓๐) วันจันทร์ แรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า เสด็จโดยทางชลมารค ไปตีทัพมหาอุปราชแตกพ่ายไปตั้งอยู่ ณ บางกระดาน วันศุกร์ แรมสิบเอ็ดค่ำ เดือนหก เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพมหาอุปราช แตกพ่ายไป วันพฤหัสบดี ขึ้นค่ำ เดือนเจ็ด เสด็จพระราชดำเนินพยุหบาตรา ออกตั้งทัพไชย ณ วัดเดชะ ตั้งค่ายขุดคูเป็นสามารถ วันพฤหัสบดี ขึ้นแปดค่ำ เดือนเจ็ด เอาปืนใหญ่ลงสำเภาขึ้นไปยิงเอาค่ายพระเจ้าหงษา ๆ ต้านมิได้ก็เลิกทัพไปตั้ง ณ ป่าโมกใหญ่ วันจันทร์ ขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตีทัพข้าเศิก ๆ นั้นแตกพ่าย และไล่ฟันแทงข้าเศิกเข้าไปจนค่ายพระเจ้าหงษานั้น วันอังคาร แรมสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินออกตั้งเป็นทัพซุ่ม ณ ทุ่งหล่มพลี ออกตีทัพข้าเศึก ได้รบพุ่งตลุมบอนกันกับม้าพระที่นั่ง ทรงพระแสงทวนแทงเหล่าทหารตาย ข้าเศึกแตกพ่ายเข้าค่าย แลไล่แทงฟันข้าเศึกเข้าไปจนถึงน่าค่าย วันจันทร์ แรมสิบค่ำ เดือนสาม เพลานาฬิกาหนึ่งจะรุ่ง เสด็จยกทัพเรือออกไปตีทัพพระยานคร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ปากน้ำมุทเลา เข้าตีทัพเถิงในค่าย ข้าเศิกพ่ายหนีจากค่าย แลเผาค่ายข้าเศิกเสียสิ้น พระเจ้าหงษาก็เลิกทัพคืนไป พระญาลแวกมาตั้ง ณ บางซาย ครั้งนั้นเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน วันพฤหัสบดี ขึ้นค่ำ เดือนสาม เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหบาตรา จากบางกระดานไปตั้งทัพไชย ณ ซายเดือง แล้วเสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก
            จ.ศ.๙๕๐ (พ.ศ.๒๑๓๑) วันจันทร์ แรมแปดค่ำ เดือนสิบสอง แผ่นดินไหว
            จ.ศ.๙๕๑ (พ.ศ.๒๑๓๒) ข้าวแพงเป็นเกียนละสิบตำลึง ปิดตราพญานารายณ์กำชับ วันศุกร์ แรมเจ็ดค่ำ เดือนยี่ แผ่นดินไหว
              จ.ศ.๙๕๒ (พ.ศ.๒๑๓๓) วันอาทิตย์ แรมสิบสามค่ำ เดือนแปด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน วันอังคาร แรมสองค่ำ เดือนสิบสอง มหาอุปราชา ยกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพญาพสิม ตำบลจรเข้สามพัน

              จ.ศ.๙๕๔ (พ.ศ.๒๑๓๕) วันศุกร์ แรมสองค่ำ เดือนสิบสอง อุปราชายกมาแต่เมืองหงษา ณ วันเสาร์ แรมค่ำ เดือนอ้าย..... ครั้งเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิง แดนเมืองสุพรรณบุรี ตั้งทัพตำบลพังตรุ วันอาทิตย์ขึ้นเก้าค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สี่นาฬิกาสองบาด เสด็จพยุหบาตรา โดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลมะม่วงหวาน วันพุธขึ้นสิบสองค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สองนาฬิกาเก้าบาด เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค เมื่อใกล้รุ่ง เห็นพระสารีริกธาตุ ปาฏิหารไปโดยทางที่จะเสด็จนั้น วันจันทร์แรมสองค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ห้านาฬิกา สามบาด เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยนุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชา ตำบลหนองสาหร่าย .....เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน แลเอาขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น แลช้างต้น พระยาไชยนุภาพ..... พระราชทานชื่อเจ้าพระยาปราบหงษา
            จ.ศ.๙๕๕ (พ.ศ.๒๑๓๖) วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ เสด็จเถิงพระมหาปราสาท ทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เอามอญเผาเสียประมาณร้อย วันศุกร์ขึ้นสิบค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา หกบาด เสด็จพยุหบาตราไปเอาเมืองละแวก ตั้งทัพไชยตำบลบางขวด เสด็จครั้งนั้นได้ตัวพญาศรีสุพรรณ ในวันพุธ แรมค่ำ เดือนสี่
            จ.ศ.๙๕๖ (พ.ศ.๒๑๓๗) ยกทัพไปเมืองสโตง
            จ.ศ.๙๕๗ (พ.ศ.๒๑๓๘) วันอาทิตย์ ขึ้นสามค่ำ เดือนอ้าย เพลารุ่งแล้ว สามนาฬิกา เก้าบาด เสด็พยุหบาตราไปเมืองหงษา ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลมะม่วงหวาน เถิงวันจันทร์ แรมสิบสามค่ำ เดือนสี่ เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นเมืองหงษามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา
            จ.ศ.๙๕๘ (พ.ศ.๒๑๓๙) วันอังคาร ขึ้นสี่ค่ำ เดือนหก  ลาวหนีขุนจ่าเมืองรบลาว ตำบลตะเคียนด้วน.....
            จ.ศ.๙๖๑ (พ.ศ.๒๑๔๒) วันพฤหัสบดี ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนสิบเอ็ด เพลารุ่งแล้ว สองนาฬิกา แปดบาด เสด็จพยุหบาตราไปอยู่เมืองตองอู ฟันไม้ข่มนาม ตำบลหล่มพลี ตั้งทัพไชยตำบลวัดตาล..... วันพุธขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู ทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณสามสิบเส้น ตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเป็นอันมาก วันพุธ แรมหกค่ำ เดือนหก ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนคร ฯ
            จ.ศ.๙๖๓ (พ.ศ.๒๑๔๔) เดือนเจ็ดมีสุริยุปราคา ในปีนั้นรับพระอิศวร แลพระนารายน์เป็นเจ้า ไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวกันทั้งสี่คานหาม
            จ.ศ.๙๖๔ (พ.ศ.๒๑๔๕) เสด็จไปประพาสลพบุรี
            จ.ศ.๙๖๕ (พ.ศ.๒๑๔๖) ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้
            จ.ศ.๙๖๖ (พ.ศ.๒๑๔๗) วันพฤหัสบดี แรมสามค่ำ เดือนยี่ เสด็จพยุหบาตรา จากป่าโมกโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพไชยตำบลพระหล่อ วันนั้นเป็นวัน อูน แลเป็นสงกรานต์ พระเสาร์ไปราษีธนูเป็นองษาหนึ่ง ครั้งนั้นครั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้ว

บน