ประชุมพงศาวดาร
หน้า ๖ หน้าต่อไป ๑๐ หอมรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์


            สมเด็จพระมหาอุปโยราช ประชวรและสุรคตใสปี จ.ศ.๑๑๓๙ จ.ศ.๑๑๔๐ พระเจ้าตากตรัสให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวง เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาจักรี กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ นำไพร่พลไทยหนึ่งหมื่น ยกไปตีเมืองลาวตลอดไปจนถึงเมืองเวียงจันทน์ เจ้าพระยาทั้งสองยกมาถึงเมืองบันทายเพ็ชร ขอไพร่พลกับเสบียงจากพระรามราชา ฯ ให้ไพร่พลเมืองกะพงสวาย เมืองศรีสุนทร เมืองไพรเวง เมืองตะบงคะมุม ประสมได้ครบหนึ่งหมื่น กับเสบียงให้เจ้าพระยาจักรียกทัพบกเดินทางไปเมืองกะพงสวาย
            เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพเรือขึ้นไปทางทะเลธม ถึงเมืองสมบุกสมบูรณ์  รื้อศิลาที่ขวางลำน้ำ นำเรือแง่ทรายแง่โอขึ้นไปถึงเมืองลาวสทึงแตรง คิดหามเรือแง่ทราย ข้ามถนนศิลาขวางลำน้ำเลยไปถึงเมืองโขง เมืองจำปาศักดิ์ เมืองแจละแม หัวเมืองทั้งนั้นก็ยอมอยู่เป็นเมืองขึ้น แล้วยกเลยไปถึงค่ายเมืองเวียงจันทน์ ๆ สู้รบกับเจ้าพระยาทั้งสอง
            สมเด็จพระรามราชา พระยาพระคลังธรรมไปตั้งกองสีข้าวสารส่งเสบียงอยู่ ณ เมืองกะพงธม เกณฑ์ชาวเมืองกะพงสวายทั้งชายหญิงงสีข้าวสาร
            ไพร่พลเขมรเมืองกะพงสวายหนีกลับจากกองทัพ พระรามราชาแต่งคนให้ะเที่ยวจับราษฎร ๆ ก็คุมกันมาไล่ฆ่าฟันพระยาพระคลังธรรมกับข้าหลวง สมเด็จพระรามราชาให้ไปเอาพระยาเดโชแทน พระยาแสนข้างฟ้าเปียง พระยามนตรีเสนหาโลเข้ามาถึงบันทายเพ็ชรให้ทำโทษทั้งสามคน
            พระยาเดโชแทนนั้น โปรดให้คืนกลับไปเมือง จ.ศ.๑๑๔๑ พระยาเดโชแทน พระยาแสนข้างฟ้าเปียง พาอาณาประชาราษฎรไปเป็นอันมาก พระรามราชาให้ไปเอาเจ้าฟ้าทะละหะมูยกมาจากเมืองปาสัก ให้ไปตามสกัดพระยาทั้งสองพี่น้อง กับบรรดาราษฎรเมืองกะพงสวายแลโคกแซะ แต่ฟ้าทะละหะมูไปเข้าด้วย พระยาทั้งสองพร้อมมีใจกันตั้งค่ายรายทัพ ลาดตระเวณมาถึงเมืองเปียมแสน สมเด็จพระรามราชา ยกไพร่พลไปถึง ต่อรบแต่เปียมแสนตลอดขึ้นไปถึงกะปงธม พระยาวิบุลโสค้างอยู่บันทายเพ็ชร คิดใช้พระยาเทพอรชุนหลวงลงไปถึงองเฮาผู้ใหญ่ ของกองทัพญวน กับทัพพระยาอธิกะวงษาสวิด เจ้าเมืองจำปาสัก ยกขึ้นมาพนมเพ็ญ จะโรยจังวา พระยาวิบุลโสนำไพร่พลไปถึงบันทายเพ็ชร เชิญพระราชบุตรของสมเด็จพระมหาอุปโยราชพนะนามนักองเอง พระชันษาได้เจ็ดปีมาไว้ที่เรือพระที่นั่งแง่โอ จับพระราชบุตรสมเด็จพระรามราชาทั้งสี่องค์มาพิฆาฏ เผาพระราชมณเฑียร บรรดาราษฎรแตกตื่นตกใจหนีไปซ่อนตัวอยู่
            ทัพญวนไล่ตามยื้อแย่งเอาทรัพย์สิ่งของคฤหัสถ์ พระสงฆ์เป็นอันมาก ส่วนพระปฏิมาคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้น ทิ้งลงในน้ำผุเปื่อยอันตรธาน บรรดาข้าเฝ้าหนีไปทูลพระรามราชา ณ เมืองกะปงธม พระองค์ถอยทัพมาถึงกะพงชะนังพบทัพญวน ทัพเขมรอยู่แพรกบาพัง (ปัจจุบันเรียกแพรกฝรั่ง) ได้สู้รบกันพระองค์ปราชัยหนีขึ้นบกทิ้งเรือแง่สายเรือแง่ทราย เรือแง่โอ ไปอยู่พนมจำแลง จัดแจงทัพให้ออกมารบพ่ายแพ้กองทัพญวน ทัพเขมรข้างล่างยกไปล้อมจับได้ สมเด็จพระรามราชาใส่กรงนำมาฆ่าเสียที่บึงขยอง เมื่อเดือนสิบปีเดียวกัน ครั้งนั้นเจ้าฟ้าทะละหะมุ ตั้งตัวขึ้นชื่อว่าเจ้าฟ้าทะละหะมหาราชบพิตร
            บรรดามุขมนตรีปุโรหิต คิดเวนราชสมบัติถวายนักองเองขึ้นครองราชย์ เมื่อปี จ.ศ.๑๑๔๑
            พระยายมราชแปนเป็นข้าเก่าสมเด็จพระรามราชา เจ้าฟ้าทะละหะมุให้ไปอยู่กับพระยาเดโชแทนผู้น้อง ณ เมืองกะพงสวาย ทราบความไปถึงเจ้าตาก ๆ รับสั่งให้หาพระองค์แก้ว แล้วมีรับสั่งบอกว่าจะใช้ให้ออกไปเอาตัว พระยายมราชแบนเขมรเข้ามา จึงตรัสสั่งให้ทำท้องตราใช้พระองค์แก้วออกมาถึงเจ้าฟ้าทะละหะมุ กับพระยากลาโหมชู ให้มอบพระยายมราชแบนมาแก่พระองค์แล้ว ได้ตัวพระยายมราชแบนมาถวายพระเจ้าตาก ๆ รับสั่งด่าพระยายมราชแบนว่าเป็นขุนนางผู้ใหญ่ทำให้เสียพระเกียรติยศ แล้วให้เอาไปทำโทษจำคุกไว้
            จ.ศ.๑๑๔๓ เมื่อเดือนอ้าย พระเจ้าตากทรงทราบข่าวว่า บรรดาขุนนางเขมรคืนเข้ามากับญวน ตรัสใช้พระราชบุตรชื่อ พระเจ้าน้อย กับเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสิงห์ นำไพร่พลสองหมื่นแยกไปสามทาง
            เจ้าพระยาจักรีให้ยกไปทางนครวัด พระเจ้าน้อยให้ยกไปทางบันทายเพ็ชร เจ้าพระยาสุรสีห์ให้ยกมาทางเมืองกะพงสวาย เจ้าฟ้าทะละหะมุ รู้ข่าวแล้วแต่งให้ไปกวาด บรรดาครอบครัวที่มีเรือแต่เมืองนครวัด ปัตบอง สะโทง กะพงสวาย เข้ามาอยู่บันทายเพ็ชร ให้พระยาเดโชแทนจัดเตรียมไพร่พลตั้งรายเป็นกองทัพ ระวังรักษาเมืองกะพงสวาย
            เจ้าฟ้าทะละหะมุ แต่งคนให้เก็บไพร่พลทำค่ายรายทัพระวังรักษาอยู่กะพงหลวง และเปียงชำนิดกับกะพงระเตะ (ว่าท่าเกวียน)
            พระยากลาโหมซู ยกทัพเรือขึ้นไปเมืองทเลธม คอยระวังรักษากวาดบรรดาครอบครัวราษฎร ลงเรือมาแต่เมืองกะแจะ เมืองสมบุกสมบูรณ์พร้อมแล้ว นำลงมาจอดอยู่ ณ เมืองเกียนสวาย แต่งให้ไปขอกองทัพญวนมาช่วยรบกับกองทัพไทย
            กองทัพพระเจ้าน้อย มาทางเมืองปัตบอง เมืองตะคร้อ เมืองขลุง เมืองตรอง เมืองบริบูรณ์ มาถึงบ้านตรึงบรรไลย บรรดาราษฎรตกใจพากันลงเรือมาถึงพนมเพ็ญไปจอดอยู่ฟากเกาะลว้าเอม พระบาทบรมบพิตรไปอยู่ ณ เกาะเกิด พระยากลาโหมซูตั้งตัวขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งค่ายรายทัพอยู่จะโรยจังวา
            พระเจ้าเวียดนามใช้องผอมาเป็นแม่ทัพใหญ่ นำไพร่พลกับเรือแง่สาย เรือแง่ทราย ยกขึ้นมาตั้งอยู่จะโรยจังวา
            ทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกมาถึงเมืองกะพงสวายตีทัพพระยาเดโชแทน ณ โคกปะ (แปลว่าสีเสียด) แตกหนีเข้าป่า แล้วยกมาตั้งค่ายรายทัพอยู่เมืองเปียมชีดอง จะข้ามไปฟากตะวันออก จอผอมาใช้องกวางหนำนำทัพญวน ใช้พระยากระลาโหมปานำกองทัพเขมรยกไปตั้งอยู่เกาะแดท (ว่าเกาะลอย) คอบรบกับทัพเจ้าพระยาสุรสีห์  ให้พระยายมราชปางกับทัพญวนทัพเขมรยกไปตั้งอยู่เกาะจีน คอยรบกับทัพพระยาน้อย ณ เปียมชำนิด แต่เดือนยี่ถึงเดือนสี่ครั้งนั้นพระเจ้าตากเสียพระจริต ตรัสให้เฆี่ยนบรรดาราษฎร แลขุนนาง ทั้งกลางวันกลางคืน
            บรรดาเมืองนอกหนีออกไปประชุมกันเป็นกองทัพฆ่าฟันเจ้าเมือง พระเจ้าตากตรัสใช้พระยาสรรค์ยกพลออกไปสังกัดทัพโจรทั้งปวงนั้น พระยาสรรค์พร้อมใจกันกับขุนแก้วผู้น้อง กลับยกทัพมา บรรดาขุนนางกับราษฎรก็มีจิตรยินดีทั้งพระสงฆ์ คฤหัสถ์ชายหญิง ถึงเพลาสามยามเศษ พระยาสรรค์ขุนแก้วยกกองทัพเข้าไปโห่ร้องยิงปืนเข้าข้างทิศอิสาณ พวกฝรั่งนอนเฝ้าปืนอยู่บนศีรษะค่ายยิ่งโต้ตอบกันจนสว่าง บรรดาฝรั่งหนีลงมาจากค่าย พระยาสรรค์เข้าไปทูลพระเจ้าตากว่า บรรดาขุนนางกับอาณาประชาราษฎรคิดพร้อมกันกำเริบทั้งสิ้นแล้ว พระเจ้าตากว่ากูปรารมภ์แต่ศัตรูมันจะมาแต่ประเทศอื่น แต่บัดนี้บรรดาลูกกูมันว่าพ่อคิดคดเป็นบ้าแล้วจะให้พ่อบวชก็ตาม จะใส่โซ่ตรวนพ่อก็ดี พ่อจะรับตามลูกบังคับนั้น พระยาสรรค์จึงบังคับเจ้าพนักงานให้หาโซ่ตรวนมาใส่พระเจ้าตาก กับเจ้ารามลักษณ์ด้วย แล้วให้บวชอยู่ในพระวิหารวัดแจ้ง แต่งให้คนอยู่เฝ้ารักษา พระยาสรรค์เข้าไปอยู่ในตำหนักพระเจ้าตากอยากได้เป็นเจ้า เจ้าพระยานครราชสีมา มีหนังสือให้ไปตามเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์กลับไปกรุงศรีอยุธยา ให้เอาพระเจ้าตากกับเจ้ารามลักษณ์ พระเจ้าน้อยกับพระยาสรรค์ไปพิฆาตเสียสิ้น เจ้าพระยาจักรีผู้พี่ขึ้นเสวยราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวง เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้น้องเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหน้า เมื่อเดือนห้า จ.ศ.๑๑๔๔
            ทัพญวนไกเซินยกมารบกับเจ้าเวียดนาม ๆ จึงให้คนมาขอกองทัพเขมรไปช่วยรบ เจ้าฟ้าทะละหะมุ สมเด็จเจ้าพระยาซู ใช้พระยากลาโหมปาเป็นแม่กองครองไพร่ ห้าพัน ยกไปช่วยเจ้าเวียดนาม แพ้ไกเซินตายในทุ่งป่ายุง เสียไพร่พลเขมรเป็นอันมาก ไกเซินรบชนะไล่เจ้าเวียดนามลงเรือสมุทหนีไปพึ่งบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุธยา
            องผอมา หนีไปถึงบันทายเพ็ชร เจ้าฟ้าทะละหะมุให้คนส่งองผอมาเข้าไปถึงเมืองปัตบอง ไปถึงเมืองไพรดุก บรรดาเขมรที่ใช้ไปส่ง องผอมานั้นฆ่าองผอมากับพวกญวนตายสิ้น ครั้งนั้นพระบาทบรมบพิตร ออกจากเกาะเกิดเข้าไปสถิตย์ข้างใต้คลังสะแบกเพียงแพรกมีลาภแห่งหนึ่ง
            สมเด็จเจ้าพระยาซู มีหนังสือถึงพระยายมราชแบนผู้เป็นเพื่อน ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เอาเนื้อความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ขอพระยายมราชแบนมาช่วยคิดราชการเมืองเขมร ทั้งสองพระองค์ก็พระราชทานให้
            พระยายมราชแบนลอบฆ่าสมเด็จเจ้าพระยาซูตาย แล้วให้ฆ่าบรรดาขุนนางพวกพ้องข้างสมเด็จเจ้าพระยาซู แล้วพระยายมราชขึ้นว่าที่เจ้าฟ้าทะละหะมุ บรรดาโพพระวงศ์จามควบคุมกันตั้งค่ายรายเป็นทัพเรือเข้ามาถึงพนมเพ็ญไล่ทัพพระยายมราชผู้ว่าท่เจ้าฟ้าทะละหะ
            แขกเจ้าพระพุฒชื่อตอน เซด ฯ กับบรรดาพวกแขกพากันกำเริบ ยิงปืนถือเครื่องสาสตราวุธออกไปไล่ พระยายมราชผู้ว่าที่เจ้าฟ้าทะละหุ กับพระยากลาโหมปก นำพระบาทบรมบพิตร กับสมเด็จพระท้าวทั้งสอง กับสมเด็จพระเรียมกระษัตริย์ทั้งสามพระองค์ ลงพระที่นั่งนาวาเข้าไปถึงเมืองโพธิสัตว์ เมืองปัตบอง ไปถึงกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า รับสั่งให้สมเด็จพระเรียมกระษัตริย์ทั้งสามองค์ไปอยู่ในพระราชมณเฑียร ตั้งขึ้นเป็นพระอัครชายา
พระยากลาโหม เป็นพระบิดาเลี้ยง ให้รักษาพระบาทพระบรมบพิตรอยู่คอกกระบือแห่งหนึ่ง กับสมเด็จพระท้าวทั้งสอง
               พระยายมราชแบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็น เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ฯ จ.ศ.๑๑๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัสใช้เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ออกมาคิดราชการเมืองเขมร เมื่อเดินทางมาถึงเมืองปัตบอง คิดใช้พระจักรีแกมมาอยู่รักษาเมืองโพธิสัตว์ ใช้พระยายมราชกันไปรักษาเมืองนครวัด คอยระวังกองทัพจามจะยกไป
               จ.ศ.๑๑๔๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ตรัสให้พระเจ้าหลานเธอนำเจ้าเวียดนามยกกองทัพมาตามเรือถึงเมืองป่าสัก แล้วตรัสใช้เจ้าพระยานครสวรรค์  เจ้าพระยาอภัยรณฤทธิ์  เจ้าพระยาฤทธิอัคเน ข้างฝ่ายบกยกไปเมืองปัตบอง เป็นแม่กองตักเตือน เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ กับบรรดามุขมนตรี นายทัพนายกองให้เร่งรีบยกไพร่พลออกมาถึงค่ายรายทัพยกไปเก็บเอาบรรดาทรัพย์สิ่งของแขกจามอยู่ ณ เมืองโรดำรี อนึ่งให้ไปช่วยทัพพระเจ้าหลานเธอกับเจ้าเวียดนาม ณ เมืองปาสัก เจ้าพระยานครสวรรค์ นำทัพไทยเขมรยกไปเมืองเปียมจอซาแดก ถึงแพรกพระยามัน สู้รบกับญวนไกเซินหลายครั้ง ยกเลยเข้าไปเปียมบาราย ยกไปตีค่ายบ้านป่ายุง ไล่ฆ่าฟันแม่ทัพแม่กองไพร่พลเขมรแตกหนี ทิ้งเรือขึ้นบกลัดป่ายี่สิบวันถึงเมืองพนมเพ็ญ ญวนไล่เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ถอยจากค่ายลงแวกเข้าไปเมืองปัตบอง บรรดาทัพไทยกลับไปกรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๑๑๔๗ ญวนไกเซินชื่อองโกอุยกระวินกงเป็นใหญ่ขึ้นมาอยู่รักษาราษฎรเมืองเขมร เว้นแต่เมืองบาราย เมืองนครวัด เมืองโพธิสัตว์ เมืองปัตบอง นอกจากนั้น ที่เข้าอยู่เป็นเมืองขึ้นกับญวน ก็รักษาตัวคอยท่าพระบาทบรมบพิตร จ.ศ.๑๑๔๘ องโกอย ฯ กลับไปรักษาเมืองไซ่ง่อน แต่องผอมากับองทุงเบนกับเจ้าฟ้าทะละหะ แทน และพระยายมราชกุย พระยากระลาโหมอก ให้อยู่รักษาเมืองละว้าเอมโพธิ์พระบาท พนมเพ็ญ
            เจ้าเวียดนามซึ่งนำทหารญวนหนีออกจากกรุงไทยนั้นมาถึงเกาะตรน เกลี้ยกล่อมบรรดาไพร่พลญวนยกทัพมาตีเมืองตักเขมา ประมวนสอ
            เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ อยู่เมืองปัตบองรู้ข่าวจัดแจงยกกองทัพออกไปให้กวาดบรรดาครัวราษฎรจีนเขมร จะเข้าไปไว้ในเมืองปัตบอง แล้วใช้พระยาจักรีแกบเป็นแม่กองใหญ่ ยกไพร่พลไปถึงตักวินอันลงสาร แล้วยกไปถึงแพรกโกรดเกาะโตก ฯ เลยไปถึงแพรกทะเลิงรบกับญวนไกเซิน ตั้งแต่ จ.ศ.๑๑๔๙ ถึง จ.ศ.๑๑๕๐ มาพบกับทัพเวียดนาม ก็ชวนกันระดมช่วยรบชนะไกเซิน จ.ศ.๑๑๕๑ พระยาจักรีแกบเป็นแม่กองใหญ่จับได้เจ้าฟ้าทะละหะ แทนกับบรรดาขุนนางข้างทัพล่างทำโทษ เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ให้นำเจ้าฟ้าทะละหะแบนไปกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทรงพระกรุณาพระราชทานให้เจ้าฟ้าทะละหะแบนคืนคงดังเก่า
            เจ้าเวียดนามรบได้เมืองนครปันแง จับได้ไกเซินชื่อดกแซมแล้วให้ฆ่าเสีย จ.ศ.๑๑๕๒ เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ไปอยู่บ้านอุดงฦาไชย ให้ทำค่ายปีกกาหอรบข้างตะวันออก ณ วัดศาลาให้ขุดตลอดไป ข้างเหนือถึงโพโคลง ข้างใต้ถึงวัดสมโพธิ คอยระวังรักษาเมือง
            จ.ศ.๑๑๕๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ให้เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์เกณฑ์ไพร่พลเขมร หนึ่งหมื่นนำเข้าไปทำราชการขุดคลองวัดสระเกษ ครั้งนั้น พระบาทบรมบพิตรมีพระแม่นางชื่อนักนางโอด สมภพราชบุตรพระนามนักองค์จันท์ จ.ศ.๑๑๕๕ นักนางแก สมภพราชบุตรพระนามนักองค์พิมพ์ จ.ศ.๑๑๕๖ นักนางโอด สมภพราชบุตรพระนามนักองสงวน นักนางรด สมภพราชบุตรพระนามนักองค์อิ่ม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ อภิเษกพระบาทบรมบพิตรพระราชทานนามว่า สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชรามาธิบดี ฯ แล้วพระราชทานให้พระยากระลาโหมปก เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ฯ เป็นพระบิดาเลี้ยงโปรดให้ออกมาครอบครองรักษากรุงกำพูชาธิบดี เมื่อปี จ.ศ.๑๑๕๖
            เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้รักษาเมืองปัตบอง และเมืองนครวัด ทรงตั้งขึ้นเป็นหัวเมืองใหญ่ พระบาทบรมบพิตรสถิตย์อยู่ตำหนักกระสือข้างใต้วัด พระวิหารสำนอ (ว่าตะกั่ว) แล้วให้ทำพระราชวังด้วยกระดาน ปลูกพระราชมณเฑียร จ.ศ.๑๑๕๗ ตรัสใช้พระยาวังสอด พระยาวิบูลเอกไปกราบถวายบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ ขอบรรดาครอบครัวของพระองค์กับของมุขมนตรี ออกมาจากกรุงศรีอยุธยา พระองค์บัญญัติจัดการบ้านเมือง ตั้งจตุสดมภ์เอกสี่นายถือศักดินาหนึ่งหมื่น
            ตั้งพระยามหาเทพ พระยามหามนตรี เหมือนอย่างที่กรุงเทพมหานคร ภรรยาขุนนางที่ผัวมีตำแหน่ง ถือศักดินาตั้งแต่หนึ่งพันขึ้นไป ก็ให้มีชื่อเสียงเป็นยศขึ้นทุกคน ธรรมเนียมเขมรไม่มีเบี้ยหวัด ขุนนางผู้ใหญ่ก็ได้กินเมืองส่วย ขุนนางผู้น้อยลงมาก็ได้กินบ้านส่วย ที่เป็นพระหลวงก็มีแต่เลขส่วยหาเลี้ยงนายไม่ได้กะเกณฑ์ราชการ เว้นเสียแต่ทัพศึก
            ขุนนางเมืองเขมรมีสี่พวก พวกหนึ่งเป็นของทรงราชย์คือเจ้ากรุงกัมพูชา พวกหนึ่งเป็นของอุปโยราช พวกหนึ่งเป็นของอุปราช พวกหนึ่งเป็นของสมเด็จพระท้าวคือมารดาเจ้ากรุงกัมพูชา
            ขุนนางในทรงราชย์ คือ ฟ้าทะละหะเป็นใหญ่มีเมืองขึ้นสองเมือง พระยาเดโชเจ้าเมืองกะพงสวาย พระยาเพ็ชรเดโชเจ้าเมืองเชิงไพร จตุสดมภ์ทั้งสี่คือ พระยายมราช พระยาวัง พระยากระลาโหม พระยาจักรี
            พระยายมราชว่าราชการในเมือง พระยานครบาลปลัด พระยายศเกียรติ์ เสมียนตรา มีเมืองขันคือ พระยาพิศณุโลก เจ้าเมืองเชิงกรรชุม พระยาอุไทยธิราชเจ้าเมืองลำโรงทอง พระยาเสนานุชิตเจ้าเมืองคำปอด พระยาโยธาธิบดีเจ้าเมืองบันทายมาศ พระยาธิเบศร์สงครามเจ้าเมืองกระปงโสม
            พระยาวังว่าราชการกรมวัง พระยาศรีทิพเนตร เป็นปลัดขวา พระยาเนตรอุไทยเป็นปลัดซ้าย พระเทพเสนาเสมียนตรา มีเมืองขึ้นคือ พระยาสวรรคโลกเจ้าเมืองโปริสาท พระยาแสนสงครามเจ้าเมืองศรีสุนทร พระยาแสนเสนาเจ้าเมืองลแวก พระยายศไชยเจ้าเมืองขลุง
            พระยากระลาโหมว่าราชการข้างกรมท่า พระยาเทพประชุนเป็นปลัด พระภักดีนุชิตที่เสมียนตรา มีเมืองขึ้นคือ พระยาวรชุนเจ้าเมืองทะเปิงคะมุม พระยาธรรมาเจ้าเมืองสมบุรณ์ พระยาราชาไมตรีเจ้าเมืองพนมเพ็ญ พระยานราธิบดีเจ้าเมืองไพรแวง
            พระยาจักรีว่าราชการข้างมหาดไทย และกรมช้าง พระราชนิกูลเป็นปลัด พระยาภักดีทีเสมียนตรา มีเมืองขึ้นคือ พระยาธรรมาเดโชเจ้าเมืองบาพนม พระยาแสนท้องฟ้าเจ้าเมืองโคกสะ พระยาราชาโชเจ้าเมืองสะทึงดรอง พระยาลือจักรี เจ้าเมืองลำดวน พระยามโนสงครามเจ้าเมืองสวายทาดเพด
            พระยามหามนตรี พระยามหาเทพ เป็นเรือนหลวงทูลฉลอง พระยามหาเสนา พระยาราชสงคราม เจ้ากรมซ้ายขวาว่าที่อาสาหกเหล่าทหารหลวง พระยาวงษาสรรเพ็ชรรักษาหอไตร พระยาพระเสด็จเจ้ากรมสังฆการี พระยาสุภาธิบดี พระยามนตรีกุศราช เจ้ากรมลูกขุนศาลา พระยาโกษาธิบดี พระยาพระคลัง เจ้ากรมคลังเงิน..... พระยาพหลเทพสาตราธิบดี พระยาพหลเทพเกษตรานิยก เป็นที่พระยาพหลเทพกรมนา..... พระยาวงษาธิบดี พระยาศรีธิเบศร์ราชาเป็นที่สัสดี พระยาราชาภิแพทย์ พระยาแพทยาเจ้ากรมหมอยา หมอนวด..... พระยาราชาเศรษฐีพระยามโนเศรษฐี เจ้ากรมลูกค้า..... พระยารามโยธา เจ้ากรมปืนใหญ่ พระยาเสนาธิบดี เจ้ากรมปืนดาบศิลาคาบชุด พระมนตรีเสน่หา นายน่าไม้ พระเดโชไชย นายหอก พระราชาธิบดี เจ้ากรมอาสาจาม พระยาไชยธิราชเจ้ากรมคลังเหล็ก พระโชดึกเจ้ากรมตีตราเงิน พระสุพรรณทิพราชเจ้ากรมช่างทอง ช่างเงิน..... พระรักษาไชยบาน นายอากรน้ำไชยบาน พระรัตนเสนา พระรัตนาธิบดีเจ้ากรมโคระแทะ..... พระอินทรวิไชยเจ้ากรมอากรปลาแห้ง..... พระอาลักษณ์เจ้ากรมอาลักษณ์
            พระมหาอุปโยราชเป็นที่วังหลัง มีขุนนางตำแหน่งที่สมเด็จเจ้าพระยา อย่างฟ้าทะละหะ มีเมืองขึ้นคือพระยามนตรีเสนา เจ้าเมืองกระพงเสียม จตุสดมภ์ทั้งสี่พระยาวงษาอรรคราชเป็นที่ยมราช มีเมืองขึ้นคือ พระยาวงษาอันชิดเจ้าเมืองบาที พระยาธรรมาธิบดีว่าที่พระคลัง มีเมืองขึ้นคือพระเสนาธิบดีเจ้าเมืองบริบูรณ์ พระยาพิบูลว่าที่กระลาโหม มีเมืองขึ้นคือพระยามนตรี เสนหาเจ้าเมืองไพรกะดี ฯลฯ
            ขุนนางในทำเนียบพระมหาอุปราชเป็นวังหน้า พระเชตเป็นผู้ใหญ่อย่างฟ้าทะละหะ มีเมืองขึ้นคือ พระยาเสนาสงครามเจ้าเมืองโฉลง มีจตุสดมภ์ทั้งสี่ ฯลฯ
            พระยาเอกราชเป็นที่ยมราช มีเมืองขึ้นคือพระยาแสนธิบดี เจ้าเมืองสลาพะเรียม ฯลฯ
            พระยาราชมนตรีปลัดหลวงทูลฉลอง ฯลฯ
            มารดาของเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งยกเป็นที่สมเด็จพระท้าวนั้นมีขุนนางสำหรับเข้าเฝ้า พระยาวงษาอรรคราช เป็นที่พระยาวัง ฯลฯ
            สมเด็จพระองค์แก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสใช้ให้ไปอยู่รักษาเมืองเปียมได้หนึ่งปี แล้วกลับมาอยู่เมืองบันทายเพ็ชร จ.ศ.๑๑๕๗ เดือนสี่ พระบาทบรมบพิตร เสด็จไปถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ ในกรุงศรีอยุธยา และถวายบังคมลากลับมากรุงกัมพูชาธิบดี เมื่อปี จ.ศ.๑๑๕๘ เดือนหก พอถึงเดือนสิบสองสุรคต พระชันษาได้ยี่สิบสี่ปี มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าทะละหะ นำพระศพเข้าไปกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงโอสำเจก มีรับสั่งมาว่าให้นำพระศพคืนกลับด้วยพม่ายกทัพมา ให้แต่พระยาจักรีแบนนำไพร่พลห้าพัน เข้าไปช่วยทำราชการศึก ฟ้าทะละหะจึงให้พระยาจักรีแบนนำไพร่พลห้าพันไปกรุงศรีอยุธยา เจ้าฟ้าทะละหะเชิญพระศพกลับเมืองบันทายเพ็ชร จ.ศ.๑๑๖๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงเจ้าฟ้าทะละหะปา ให้เกณฑ์กองทัพยกไปช่วยเข้าเวียดนามรบกับองไกเซินที่เมืองไกฟู เจ้าฟ้าทะละหะเกณฑ์ไพร่พลห้าพัน ยกออกไปถึงเมืองลำดวน บรรดาไพร่พลหนีกลับมาสิ้น เจ้าฟ้าทะละหะจึงให้เอาพระยาวังหลงไปฆ่า แล้วใช้พระยากระลาโหม พรหมเป็นแม่ทัพยกพลห้าพันไปรบค่ายไกฟูช่วยเจ้าเวียดนาม
            จ.ศ.๑๑๖๓ เจ้าฟ้าทะละหะ ใช้สมเด็จเจ้าพระยาเดิมชื่อเอกกับอีกห้าพระยา และช่างจีนช่างแขกจาม ทำสำเภาใหญ่ลำหนึ่งบรรทุกได้ห้าพันหาบไปขายแก่จีนได้ราคาเป็นเงินหกพันเหรียญ
            เจ้าเวียดนาม ว่าพระยากระลาโหมพรหม กับบรรดาแม่ทัพนายกอง ซึ่งไปช่วยนั้นเป็นขบถ ให้จับตัวไปทำโทษ ได้เมืองเว้แล้วจึงโปรดให้พ้นโทษ กลับมาเมืองบันทายเพ็ชร
            พระยากลาโหมอวดอ้างว่าไปช่วยเจ้าเวียดนามทำศึก แล้วกระด้างไม่กลัวเจ้าฟ้าทะละหะ ๆ จึงให้จับทำโทษจำไว้ถึงเดือนยี่ จ.ศ.๑๑๖๔ เจ้าฟ้าทะละหะเชิญสมเด็จพระราชบุตรผู้ที่ไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ณ กรุงเทพ ฯ แล้วคุมตัวพระยากลาโหมเข้าไปถวาย เจ้าฟ้าทะละหะนำเงินหกพันเหรียญ มูลค่าสำเภาไปถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับ พระราชทานคืนมา
            จ.ศ.๑๑๖๕ เดือนสิบสองแรมหกค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า สวรรคต เจ้าฟ้าทะละหะเข้าไปกรุงเทพ ฯ อยู่ช่วยงานพระบรมศพ จ.ศ.๑๑๖๗ เจ้าเวียดนามใช้องกายโดย องโดยโบ องนอกจากนั้นสิบเจ็ดคน ญวนไพร่เจ็ดสิบแปดคนนำหีบสามใบมีแพรหกสิบแปดผืน กับราชสาส์นมาถวายเจ้าฟ้าทะละหะ ๆ จัดแต่งรับ
            เจ้าฟ้าทะละหะ จัดรับบำเรอสิ้นเงินสี่ร้อยตำลึง ให้ดำเนินกลับไปเมืองญวน เดือนอ้าย จ.ศ.๑๑๖๗ เจ้าฟ้าทะละหะแห่สมเด็จพระราชบุตรเป็นเจ้า ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๑๑๖๘ เดือนหก เจ้าฟ้าทะละหะป่วย ชันษาได้หกสิบห้าปีถึงแก่กรรม ณ กรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ยกศพเป็นโอฬาริก อธึกมหิมาสำเร็จแล้ว โปรดอภิเษกสมเด็จพระราชบุตรผู้พี่พระชันษาได้สิบหกปีขึ้นทรงราชย์ ทรงพระนามสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสุริโยพันธุ์ ฯ พระราชทานเครื่องยศพระพักตร์ภูษาอันประเสริฐ เสด็จบาตรามาถึงบันทายเพชร เสด็จขึ้นบนพระราชมณเฑียร เมื่อเดือนสิบ จ.ศ.๑๑๖๙ เจ้าเวียดนามตรัสใช้องจันซือง้อกับ องผอซือกิน นำตราทองสี่เหลี่ยมรูปสิงห์โตข้างบนมีน้ำหนักเจ็ดแน่นมาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้า ถึงเดือนสาม จ.ศ.๑๑๖๙ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้สมเด็จพระองค์แก้วกับพระยาจักรีแบน นำเครื่องราชบรรณาการเข้าไป ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ขอสมเด็จพระมหากษัตริย์บรมบพิตรผู้เป็นสมเด็จพระท้าวกับสมเด็จพระมาตุจฉา ทรงพระนามนักองค์เภา ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้แล้ว
            สมเด็จพระมาตุจฉา ทรงพระนามสมเด็จพระศรีวรราชธิดานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า ยกเป็นสมเด็จพระราชเทพี มีพระราชบุตรีสององค์ ทรงพระนามพระองค์เจ้ากัมพูช์ฉัตร กับพระองค์เจ้าวงษ์ขัติยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสห้ามไว้ให้อยู่ในกรุงศรีอยุธยา
            จ.ศ.๑๑๗๐ เดือนแปด สมเด็จพระองค์แก้วกับพระยาจักรีแบน แห่งสมเด็จพระท้าว กับสมเด็จพระมาตุจฉา มาถึงบันทายเพ็ชร เดือนอ้ายพระบาทผู้เป็นเจ้าเสด็จไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว
            จ.ศ.๑๑๗๑ เดือนหก พระบาทผู้เป็นเจ้าถวายบังคมทูลลากลับ เดือนสิบเอ็ด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวประชวร สวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหน้า เดือนสิบสอง เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ป่วยถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวง ซึ่งเสวยราชใหม่ให้พระยาวิบุลย์ราชแบนเป็นเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้สมเด็จพระอนุชาใกล้เคียง กับสมเด็จพระอนุชารอง และสมเด็จพระองค์แก้ว พระยากระลาโหมเมือง พระยาจักรีแบน นำเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายช่วยในการพระบรมศพ เมื่อเดือนสี่ จ.ศ.๑๑๗๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวง ตั้งพระยศพระราชทานนามสมเด็จพระอนุชาใกล้เคียง ขึ้นเป็นสมเด็จพระไชยเชษฐามหาอุปโยราช
            พระราชอนุชารอง พระราชทานพระนามขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ พระมหาอุปราช พระราชทานเครื่องยศพักตร์ภูษา
            เดือนสิบพระยากลาโหมเมือง พระยาจักรีแบนคิดขบถต่อพระบาทผู้เป็นเจ้า ๆ ตรัสใช้ให้ฆ่าพระยากลาโหมเมืองกับพระยาจักรีแบน เมื่อข่าวไปถึงพระยาเดโชเมน ๆ จึงเกณฑ์ไพร่พลตั้งเป็นกองทัพอยู่ในเมืองกะพงสวาย
            เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์คิดทำค่ายในเมืองปัตบอง พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยามหามนตรีเภา กับพระยามหาธิราชมาดไปเมืองเว้ ทูลพระเจ้าเวียดนาม แล้วตรัสใช้พระยาวงษาอรรคราชว่าที่พระยาจักรี เป็นพระยาเดโชยกไพร่พลไปเมืองกะพงสวาย พระยาเดโชเมนพาบุตรภรรยาหนีไปกรุงศรีอยุธยา เดือนอ้ายเจ้าเวียดนามตรัสใช้องลกกับ องผอเตือง ยกไพร่พลหนึ่งพันกับเรือแง่โอ แง่ซาย แง่ลาย ขึ้นมาตั้งทัพอยู่เกาะจีน แล้วตรัสใช้องติงเกี๋ยยกไพร่พลหนึ่งหมื่น กับเรือขึ้นมาตั้งทัพอยู่เกาจีน เดือนยี่องลิวถินเป็นใหญ่ในเมืองไซ่ง่อน กับทุงโงนยกไพร่พลกับเรือขึ้นมาตั้งอยู่เมืองแพรกมีลาภไปถึงปลายเกาะจีน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวง วังหน้าตรัสใช้พระยาสีหราชรองเมือง พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ยกไพร่พลเป็นอันมากมาถึงเมืองปัตบอง พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยาธรรมาเดโช ออกไปรักษาด่านอยู่เปียมบันทายมาศ ตรัสใช้พระยาเสนาอันชิดออกไปรักษาด่านอยู่เปียมแสน ตรัสใช้พระยาบวรนายกสอดไปตั้งรักษาด่านอยู่กะพงชะนัง ตรัสใช้พระยาเทพวรชุน หาบออกไปออกไปรักษาด่านอยู่สะทึงปรัดกันเตล เดือนยี่องกิวลิน องติงเกี๋ยเห็นว่าจะไม่มีราชการ จึงทูลลาพระบาทผู้เป็นเจ้ายกไพร่พลกลับไซ่ง่อน จ.ศ.๑๑๗๓ เดือนห้ามีฝรั่งใช้ใบกำปั่นลำหนึ่ง บรรทุกสินค้าของมีราคาเข้ามาค้าขาย จอดอยู่กะพงตูก พระบาทผู้เป็นเจ้าพระราชทานที่พระยาราชาภิแพทย์แบบฝรั่ง ให้เป็นพระยาประเทศราชขนเอาบรรดาสิ้นค้าฝรั่งถวายนั้นขึ้น พระบาทผู้เป็นเจ้าพระราชทานข้าวสารกับสรรพสิ่งของเต็มกำปั่นแล้ว ฝรั่งกราบถวายบังคมลากลับไป
            เดือนสิบเอ็ด อ้ายไชยตั้งตัวเป็นนักบุญ อยู่เกาะกะโซน พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยายมราชคงกับบรรดาแม่ทัพนายกอง จับอ้ายไชยได้แล้วนำไปฆ่าเสีย เดือนอ้ายสมเด็จพระองค์แก้วประชวรชันษาแปดสิบสองถึงแก่กรรม เดือนสาม สมเด็จพระมหาอุปโยราชลาผนวช เสด็จออกจากบันทายเพ็ชร พระยาสี่คนกับคนเมืองโพธิสัตว์มารับแห่พระองค์ไปเมืองโพธิสัตว์ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสนิมนต์พระมหาสังฆราช พระสังฆราชา พระมหาธาตุ ให้ไปตามเชิญให้เสด็จกลับ แต่พระองค์หาเสด็จกลับไม่ จึงให้ขุนนางสี่คนไปกราบทูลเชิญเสด็จอีก พระองค์ก็หามาไม่ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยาบวรราชไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนาม ๆ บอกลงลิวกินเป็นใหญ่ ๆ ใช้องจินเกนเทืองนำพลห้าร้อยกับเรือขึ้นมาจอดอยู่เกาะจีนตั้งกองรักษาพระบาทผู้เป็นเจ้า
            พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวงวังหน้า ตรัสใช้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองใหญ่ กับพระยาสีหราชรองเมือง พระยาท้ายน้ำ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาสุรสงคราม นำไพร่พลห้าพันยกมาถึงเมืองปัตบอง ตรัสใช้พระยาพลเทพกับบรรดาแม่ทัพนายกองให้รีบยกมาทางสทึงแครง สมเด็จพระมหาอุปโยราช ยกไปเอาเมืองสมบุรณ์อีก พระบาทผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่ากองทัพไทยยกมา จึงตรัสใช้พระยายมราชคง นำไพร่พลหนึ่งพันยกไปตั้งรักษาด่านลาดตระเวณระวังเมืองระเว ตรัสใช้พระยาโยธาสงครามมา พระยามนตรีเสนหามั่น พระยานราธิบดีไชย ฯลฯ มาอยู่เมืองกะพงชะนังด้วยกันกับพระยาบวรนายกสอด แล้วตั้งพระยาธรรมเดโชมัน เป็นกองใหญ่ทางเรือ ระวังรักษาราชการ
            สมเด็จพระมหาอุปโยราช ตรัสใช้พระยาภิมุขวงษากุยไปทำให้กำเริบแขวงเมืองตะวันตก เมื่อเดือนห้าตรัสใช้ตวนซอกับพระยาจักรีมาด เป็นแม่กองใหญ่ยกไปเมืองตะวันตก
            องเชืองเกนเทือง ใช้องจันกว้างไปเมืองปัตบองกลับมาถึงเมืองโพธิสัตว์ แล้วสมเด็จพระมหาอุปโยราชก็เอาองจันกว้างไว้เสีย
            พระบาทผู้เป็นเจ้ามาสถิตอยู่กะพงโพตูก พระมนตรีเสนหาตกหนีมาบอกว่า เจ้าพระยายมราชไทยใช้พระยายมราชควน พระยาจักรีเชด พระยาท้ายน้ำ ฯลฯ นำไพร่พลสองพันยกมาทางเรือ
            เจ้าพระยายมราช พระยารองเมือง ฯลฯ กับบรรดาแม่กองไพร่ สามพันแห่สมเด็จพระมหาอุปโยราชมาทางบก ออกจากเมืองโพธิสัตว์ ทัพเรือเข้ามาถึงเมืองกะพงชะนัง พระยาธรรมเดโชนัน ฯลฯ กับบรรดาแม่ทัพนายกองต้อนครอบครัวพลางสู้พลาง บรรดาแม่ทัพแม่กองไทยปล่อยองจันกว้านออกมาแล้วบอกว่าไทยมามากนัก พระยาธรรมเดโชมัน ฯลฯ ใช้พระมนตรีสงครามไปเรือพายลำหนึ่ง เข้ามากราบทูลพระบาทผู้เป็นเจ้าว่า กองทัพไทยยกมาถึงเมืองกะพงชะนังไพร่พลก็มาก พระบาทผู้เป็นเจ้าทรงทราบทุกประการแล้ว จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งนาคออกจากค่ายโพดูก กับบรรดาพระญาติวงศ์ และบรรดาหญิงสนมบริการ
            องเชียงเกนเทืองกับญวนทั้งปวงก็ออกเรือในเวลากลางคืน แห่พระบาทผู้เป็นเจ้ามาถึงพนมเพ็ญ ไปจอดอยู่ดีศะเกาะกีอิด สมเด็จพระมหาอุปโยราชกับสมเด็จพระอนุชาที่สุดตกใจกลัวญวน นำนักมารดาองกับบรรดาคน ซึ่งเป็นขึ้นบกมา
            กองทัพไทยไล่ พระยาธรรมเดโช พระยาโยธาสงคราม พระยาบวรนายกไปถึงเกาะเกียนถวาย มาตั้งอยู่จะโรยจังวา (ว่าแหลมทำเคย) กวาดต้อนบรรดาเรือครอบครัวนำกลับมาจอดอยู่ที่พนมเพ็ญ และบันทายเพ็ชร เดือนหก พระบาทผู้เป็นเจ้าพบเรือพระที่นั่งหอไตร กับเรือพระที่นั่งปันคะเสด สมเด็จพระไอยกา สมเด็จพระท้าว และสมเด็จพระราชมารดา กับบรรดามุขมนตรีทั้งปวงพร้อมกันแล้ว องเกนเชือกก็ให้โยงเรือพระที่นั่งพระบาทผู้เป็นเจ้าเสด็จยาตรา โดยมหานที่สี่วันถึงแพรกดักเปรียง จึงจอดเรือพักอยู่ ครั้งนั้นองกินเป็นใหญ่อยู่เมืองบันแง ใช้ผอองเว้ทำหนังสือมากราบทูล ให้เสด็จเข้าไปอยู่เมืองปันแง แล้วให้นำไพร่พลเขมร ซึ่งอยู่ ณ เมืองตะละพัง ยกมาตั้งอยู่เกาะว้าเอม ต่อรบกับกองทัพไทย ซึ่งอยู่จะโรยจังวา แล้วใช้องเชืองวินทันยกออกไปตั้งอยู่เมืองเปียมมัจรูคอยฟังข่าวราชการ
            องค์ผอเว้เชิญพระบาทผู้เป็นเจ้า เสด็จออกจากแพรกดักเปียวไปเมืองปันแง องสิวกินถวายอีแปะพันพวง กับข้าวสารพันถัง จึงพระราชทานแจกให้มุขมนตรีใหญ่น้อย แล้วพระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสให้พระยาบวรราชเอก กับพระยาพลเทพขวัญ และตวนผอแขกเป็นเจ้าพระพุฒ ไปเฝ้าเจ้าเวียดนามที่เมืองเว้ กราบทูลข้อราชการเมืองเขมร เจ้าเวียดนามทราบมีพระบัญฑูรว่าอย่าได้วิตกเลย พระยาทั้งสองกับตวนผอถวายบังคมลา มากราบทูลพระบาทผู้เป็นเจ้า ครั้นเดือนเก้า เจ้าเวียดนามใช้องเหียมกินนำทองคำกับเงิน ผ้าแพร กับอีแปะห้าพันตะโนด มาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้า พระองค์พระราชทานให้บรรดามุขมนตรี เสนาประชาราษฎรใหญ่น้อยทุกคน ครั้นเดือนสิบสมเด็จพระมหาอุปราช กับสมเด็จพระอนุชาผู้น้อยเข้าไปกราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ไม่แต่แม่ทัพนายกองไทยเขมร ให้อยู่รักษาค่ายพนมเพ็ญ ครั้นเดือนสิบเอ็ด เจ้าเวียดนามใช้องตากุนแม่กองใหญ่ออกจากเมืองเว้ มาถึงไซ่ง่อนคิดทำสำเภอกับเรือแง่ลาย แง่ทราย แล้วเกณฑ์ไพร่พลสำรองไว้ จะส่งพระบาทผู้เป็นเจ้ากลับคืนมากรุงกัมพูชาธิบดี เดือนยี่ เจ้าเวียดนามใช้ญวนนำอีแปะหนึ่งพันมาพระราชทานขุนนางกับราษฎร แล้วถวายเงินยี่สิบแน่น เดือนสาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสใช้พระมหาอำมาตย์ถือหนังสือรับสั่งไปทูลเจ้าเวียดนามด้วยราชการเมืองเขมร เดือนห้ามบัณฑูรเจ้าเวียดนามบังคับมาให้องตากุนจัดแจงแห่พระบาทผู้เป็นเจ้ากลับไปเมืองบันทายเพ็ชร แล้วพระราชทานเงิน สามร้อยห้าสิบเจ็ดแน่นกับข้าวเปลือกสองหมื่นถัง มาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้ากับอีแปะห้าพันพวง ให้แจกบรรดามุขมนตรี กับบรรดาราษฎรได้ทุกคน จ.ศ.๑๑๗๕ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้ตวนผอเป็นพระยาราชเดชะ กับองทุนโงนยกไพร่พลสองพันออกจากเมืองแง แห่นำหน้ามาองทินเฮากับองลูทูเป็นเจ้าเมืองทั้งสี่กับญวนไพร่พลสองหมื่น ขี่สำเภากับเรือแง่ลาย แง่ทราย แง่อ่อ ออกจากเมืองบันแง เดือนหก องตากุนเป็นใหญ่กับพระบาทผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระท้าว สมเด็จพระราชมารดา นำบรรดาครอบครัวมุขมนตรี ออกจากเมืองบันแง แห่พระบาทผู้เป็นเจ้าเสด็จขึ้นมาถึงค่ายกะพงโพธิโดก (ว่าท่าโพธิน้อย) บรรดาขุนนางเขมรที่ค้างอยู่พากันมาถวายบังคม จึงตรัสใหไปไหว้องตากุน ผู้เป็นใหญ่แล้วมอบถวายปืนกับเครื่องสาตราวุธ ลูกกระสุนดินดำกับ ข้าวเปลือก ข้าวสาร โปรดให้พระยาเดโชเม่น ให้คงเป็นเจ้าเมืองสันธุกเหมือนก่อน
            บรรดาขุนนางใหญ่น้อยที่ค้างอยู่ค่ายบันทาย มิได้ไปแห่พระบาทผู้เป็นเจ้า ทรงยกโทษไว้ให้คงที่ทำราชการเหมือนแต่ก่อน
            บรรดาภรรยาขุนนางที่แห่สมเด็จพระอนุชาทั้งสามองค์ เข้าไปกรุงศรีอยุธยานั้น ก็ทรงเลี้ยงไว้ ส่วนทาษชายหญิง ทรัพย์สิ่งของก็ให้คงอยู่กับเจ้าของไม่เอาโทษ แล้วพระยาพิพัฒนโกษา กับพระยาพิไชยอินทรา ฯลฯ นำไปพลไทยเขมรกลับไปเมืองปัตบองและกรุงเทพ ฯ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยาเอกราชแทน พระยาศรีสุริยวงศ์ศุขนำศุภอักษรเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์  ๆ ตรัสใช้พระมหาอำมาตย์นำเงินเหรียญหนึ่งพัน กับข้าวเปลือก ร้อยเกวียน ผ้าลาย ผ้าแพรมาพระราชทานพระผู้เป็นเจ้า กับพระญาติผู้ใหญ่ เดือนเก้า องตากูนเป็นใหญ่ เชิญพระบาทผู้เป็นเจ้าจากค่ายโพธิโตกมาสถิตอยู่ ณ ค่ายทำใหม่ ให้เรียกว่า บันทายแก้ว แล้วให้ทำค่าย ๆ หนึ่งอยู่ฟากละว้าเอม ปลูกฉางข้าวเปลือก ทำที่ปลูกตำหนักสำหรับเจ้าเวียดนามไว้ที่แหลมจะโรยจังวา ให้บรรดามุขมนตรีญวน เขมร ไปถวายบังคมระลึกถึงพระคุณเจ้าเวียดนาม แล้วจึงไว้องเชืองเกนเป็นเบาฮอ กับองเทียบกิน องเบาทับ กับไพร่พลพันห้าร้อย อยู่รักษาพระบาทผู้เป็นเจ้า แล้วองตากุน กับองเหียบกิน องเชืองวินทัน องทุนโงน กราบลาพระบาทผู้เป็นเจ้า นำไพร่พลกลับไปเมืองญวน องญวนผู้ใหญ่เอาบรรดาช้างพังไปเป็นอันมาก เดือนสิบเอ็ด เจ้าเวียดนามใช้องเหิบกิบนำเงินแน่นมาให้ใช้ค่าช้างแปดสิบเชือกที่องตากุนนำไปถวาย ช้างพลายใหญ่เจ็ดช้าง ให้เป็นเงินสามสิบห้าแน่นช้างพลาย รองสี่สิบสามช้างเงินเก้าสิบแน่น ช้างพังแปดช้างให้เงินสิบหกแน่น รวมเป็นเงินสามร้อยสิสามแน่น เดือนสามเจ้าเวียดนามตรัสใช้องเหียบกิน นำหมวกเสื้อกางเกงกับบรรดาเครื่องยศ มาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้า ๆ ตรัสใช้เจ้าฟ้าทะละหะกับพระทิพาวงษา นำเรือดั้งสองลำพร้อมด้วยเครื่องประโคมพิณพาทย์ ไปรับองเหียบกินถึงกงก๋วนจะโรยจังวา องเหียบกินมอบเครื่องประดับให้เจ้าฟ้าทะละหะนำไปถวายให้เสด็จทรง รุ่งขึ้นเสด็จไปถวายบังคมพระบารมีรับพระบัณฑูรเจ้าเวียดนามบรรดาขุนนางนุ่งกางเกงใส่เสื้อโพกศีรษะตามเพศญวนทุกคน จ.ศ.๑๑๗๖ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยาสุภาธิบดีนอง พระยาบวรเทศดำ นำของถวายไปถวายตอบพระคุณเจ้าเวียดนาม ณ เมืองเว้เป็นครั่ง ขี้ผึ้ง งา รง ผลกระวาน ผลเร่ว อย่างละ ห้าสิบชั่ง น้ำรักยี่สิบกระออม เดือนเก้าพระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยายมราชตวนผอ พระยาธรรมเดโชมัน คุมไพร่พลสามพัน ออกไปเอาพระยาเดโชเมนกับพระยาเมนผู้น้อง ซึ่งพาบุตรภรรยาหนีไปอยู่เมืองโขง พระบาทผู้เป็นเจ้าพระราชทานตวนหมัดผู้พี่ที่เป็นพระยายมราชให้เป็นพระยาเดโช ให้พระยาศรีอรรคราชน้อง เป็นพระยาปลัดเดโชอยู่รักษาเมืองกะพงสวาย ให้หมื่นเที่ยงบุตรเจ้าพระยา อภัยธิเบศร์แบนเป็นพระวิเศษสุนทรอยู่รักษาเมืองปัตบอง เดือนสี่พระบาทผู้เป็นเจ้าทรงพระบัญญัติใหม่ว่า บรรดาขุนนาง เมื่อครั้งก่อนถ้าถึงแก่กรรม แต่มีบุตรให้เอามรดกเป็นหลวงตามบรรดาศักดิ์ ถ้าเป็นหมันไม่มีบุตรให้ยกมรดกเสีย เอาแต่ทรัพย์ที่เป็นหมันตามสิ่งของที่มีมากน้อย ถ้าราษฎรเป็นหมันไม่มีบุตร ถึงแก่กรรมแล้วเอาทรัพย์ของผู้นั้นเป็นของถวาย ถ้ามีทาษก็ให้แบ่งถวาย ถ้ามีเครื่องประดับและทรัพย์อื่น ๆ ก็ให้แบ่งออกไปเป็นของถวาย บัดนี้มีพระราชบัญญัติใหม่ให้ยกเสียไม่ให้เอา ถ้าขุนนางผู้ใดขืนเอาไว้มีโทษถึงสิ้นชีวิตด้วยไม่มีความเมตตา บรรดามุขมนตรี และอาณาประชาราษฎรก็มีความยินดี สรรเสริญพระเดชพระคุณทุกคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ จ.ศ.๑๑๗๗ มีหนังสือพระยาเดโชกราบทูลว่า มีทัพไทยยกมาแต่เมืองนครราชสีมา จึงตรัสใช้สมเด็จเจ้าพระยาดีเป็นแม่กองใหญ่ พระยาโยธาสงครามมัน กับพระยาเอกราชแทนพระยานรินทร์นอง ออกไปอยู่รักษาเมืองโพธิสัตว์ ตรัสใช้พระยานเรนทรเสนามา พระอินทรวิไชยกับอาวันแขกไปทางเรือรักษาครัว ณ เกาะกำยาน เดือนหก กับพระยาเอกราชแทน ไปเอามูลค้างคาวที่แขวงเมืองปัตบอง ไทยชื่อพระยารามคำแหง ฯลฯ เกณฑ์ไพร่พลออกมาห้ามปราม แล้วไล่พระยาเอกราชแทนกลับเมืองโพธิสัตว์ พวกไทยเมืองปัตบอง กวาดครอบครัว ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำที่เกาะกำยาน และที่ตั้งบ้านเรือนบนบก ณ บ้านสมอแครงไปเมืองปัตบอง เดือนแปดเจ้าเวียดนามใช้องอินโปมาถาม เอาถ้อยคำสมเด็จเจ้าพระยา กับพระยาเอกราชแทน แล้วนำความไปกราบทูลเจ้าเวียดนาม ๆ บังคับองกงดงให้มีหนังสือมาเอาตัวสมเด็จเจ้าพระยา ไปเมืองไซ่ง่อน เดือนสิบพระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยายมราชตวนผอ ฯลฯ คุมตัวสมเด็จเจ้าพระยาไปถึงเมืองศรีสุนทร เดือนสิบเอ็ด ตรัสใช้พระยายมราชตวนผอ ฯลฯ ไปจับสมเด็จเจ้าพระยาให้ทำโทษแล้วคุมไปเมืองไซ่ง่อน เดือนอ้ายเจ้าเวียดนามตรัสใช้องยัมทัน องวินทัน กับองผอเทือง นำไพร่พลญวนสี่พัน ไพร่พลเขมร ณ เมืองพระตะพังหนึ่งพัน ขึ้นมาตั้งค่ายอยู่เปียมมัจรุก ขุดคลองไปประจบกับเปียมนั้น เป็นทางไกลสองหมื่นหกพันห้าร้อยวาแล้ว ให้ขุดคลองแต่มีจรุกไปต่อกับทางข้างตะวันออกไกล หกพันแปดร้อยห้าสิบสองวา เกณฑ์ราษฎรเขมรให้ช่วยทำด้วย ญวนยกข้ามจากเกาะแตงขึ้นมาตั้งอยู่ฟากตะวันตก เสมอกับคลองขุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่เกาะกระดาษแห่งหนึ่ง เดือนสิบ พระบาทผู้เป็นเจ้าตรัสใช้พระยายมหามนตรีตน กับพระยาราชอิศุรองนำน้ำรักสองร้อยกระออม ลงเรือที่เมืองกำปอด ไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ตรัสใช้พระยาจักรีสอด พระยามหาเสนาบาด นำขี้ผึ้งกระวาน ครั่ง รง เร่ว อย่างละหนึ่งหาบ งาช้างหนักหนึ่งหาบ นอรมาดสองยอด ไปเมืองเว้ถวายเจ้าเวียดนาม เดือนสิบเอ็ด เจ้าเวียดนามใช้องวินทันเจ้าเมืองล่องโห้ให้นำหมวกกับกางเกงเสื้อ มาพระราชทานแก่บรรดาขุนนางเขมรที่มีศักดินา ๑๐๐๐๐ ศักดินา ๘๐๐๐ สำหรับนุ่งห่มตามบันดาศักดิ์ใหญ่น้อย ไปถวายบังคมพระบารมีเจ้าเวียดนามที่แหลม จะโรยจังวา เป็นเครื่องยศยี่สิบเจ็ดสำรับ
               พระราชทรัพย์ที่ไปถวายไปนั้น พระเจ้าเวียดนามรับเอาแต่นอร์มาดสองยอด งากิ่งหนึ่ง กระวาน เร่ว ครั่ง รง ขี้ผึ้ง อย่างละสิบเอ็ดชั่ง เหลือนอกนั้นถวายกลับคืนมา แล้วถวายลำทองแปลว่า แพรลายวงเป็นรูปมังกรทอง กับแพรอย่างอื่น และผ้าขาวแก่พระบาทผู้เป็นเจ้า เดือนสาม เจ้าเวียดนามตรัสใช้องวินทันเจ้าเมืองล่องโห้ มาเป็นเปาโฮรักษาพระบาทบรมบพิตร จ.ศ.๑๑๗๘ ทรงปรึกษาองเบาฮอบังคับขุนนางบรรดาเมืองขึ้นให้ป่าวร้องบอก เจ้าเมืองกับราษฎรให้อุตส่าห์ทำนา เรือนหนึ่งผัวเมียให้ได้ข้าวห้าสิบถัง เอาค่านาห้าถัง ถ้าได้มากเกินกว่านั้น แต่มีบุตรหลานข้าทาษก็ไม่ให้เอาค่านาให้มากกว่าห้าถัง แล้วให้เอาบาญชีในเรือนหนึ่ง มีบุตรหลานข้าทาษชายหญิงใหญ่น้อยเท่าใดให้รู้ เดือนอ้ายตรัสใช้พระยาราชเดชะหลง พระพิมุติวงษา นำศุภอักษร กับของถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวง กับของถวายช่วยการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า กับของถวายกรมหลวงไปลงเรือที่เมืองกำปอด เดินทางเรือไปกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสร็จงานแล้วเดินทางกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวง จึงพระราชทานผ้าลายกับผ้าแพรมาให้แก่พระบาทผู้เป็นเจ้า

บน