ประชุมพงศาวดาร
หน้า ๗ หน้าต่อไป ๑๐ หอมรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พงศาวดารมอญพม่า

            เรื่องพระราชพงศาวดารพม่ามอญนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ขุนสมุทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ และขุนอักษรรามัญ นายขำเปรียญ นายสุดเปรียญ นายจุ รวมสี่นาย เป็นล่ามคัดแปลออกจากหนังสือรามัญใบลานเป็นภาษาสยาม เมื่อ จ.ศ.๑๒๑๙ แต่ท่อนปลายนั้นได้เรียงตามจดหมายเหตุ เมืองหงษาวดี เมืองอังวะ ต่อเข้าในท่อนต้น เสร็จแล้วเจ้าพนักงานเก็บไว้ในหอหลวง ยังไม่ใคร่แพร่งพรายรู้เรื่องกันทั่วไป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลอจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตีพิมพ์ ณ โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง
            สาระในพงศาวดารมอญพม่าเก็บความได้ดังนี้
            จุลศักราชในปฐมปริเฉทได้ ๕๒๒ สมเด็จพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแล้วแปดพรรษา เสด็จจาริกมาถึงเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งบัดนี้เป็นที่ตั้งเมืองหงษาวดีในประเทศรามัญ ครั้งนั้นประเทศที่จะเป็นที่ตั้งเมืองหงสาวดียังเป็นทะเลอยู่ แต่ภูเขาสุทัศนนั้น เมื่อน้ำแห้งงวดไปจะผุดขึ้นสูงประมาณยี่สิบสามวา ดูแต่ไกลเหมือนพระเจดีย์ ครั้นน้ำเปี่ยมฝั่งพอกระเพื่อมน้ำอยู่ พวกรามัญจึงเรียกว่า สุทัศนบรรพต ต่อมาไม้รกฟ้างอกขึ้นบนยอดเขาต้นหนึ่ง เรียกว่าเขาสุทัศนมรังสิตผุดขึ้นมานานมาเปลี่ยนไปเรียกว่า มุตาวจนทุกวันนี้  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงประเทศที่จะตั้งเมืองหงสาวดีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นหงษ์ทองสองตัวลงเล่นน้ำอยู่ จึงทรงทำนายว่าสืบไปภายหน้า ประเทศที่หงษ์ทองทั้งสองลงเล่นน้ำนั้น จะเป็นมหานครขึ้น ชื่อว่าเมืองหงษาวดี และจะเป็นที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์ศรีมหาโพธิ พระศาสนาคำสั่งสอนของเราจะรุ่งเรืองตั้งอยู่ในที่นี้ ครั้นพระพุทธเจ้านิพพานได้พันปี หาดทรายที่ภูเขาสุทัศนมรังสิตนั้นได้ตื้นขึ้นมาได้สิบสามวา
            มีเรือเภตราใหญ่ลำหนึ่ง แล่นข้ามมาแต่เมืองพิทยานคร จะไปค้าขาย ณ เมืองสุวรรณภูมิ เมื่อแล่นมาถึงประเทศที่จะตั้งเมืองหงษาวดี แขกพวกเรือได้เห็นหงษ์ทองสองตัว ก็พากันเชยชมหงษ์นั้น ครั้นกลับไปเมืองพิทยานคร แขกนายเรือไปกราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชา ๆ ทราบเหตุจึงตรัสถามอาจารย์ผู้หนึ่งชื่อ อาทิตยภารทวาชะ เป็นผู้ฉลาดรู้ไตรเพทได้ทราบทูลถึงเรื่องในคัมภีร์จดหมายเหตุ ถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ ในตำราไตรเพทก็มีความว่าไว้อย่างนั้น พระเจ้าบัณฑุราชาจึงตรัสว่า จำเราจะข้ามไปกำหนดจดหมายไว้ให้เป็นสำคัญ นานไปภายหน้าจะได้เป็นอาณาเขตของเราสืบไป แล้วให้เอาเสาศิลาท่อนหนึ่งให้จารึกอักษรศักราช ปีเดือน วันขึ้นแรมไว้ว่า ประเทศนี้พระองค์ได้มาจองไว้ แล้วให้ห้มเสาศิลาไว้ด้วยแผ่นเหล็ก ให้อาทิตยภารทวาชะ คุมพวกแขกลงเรือข้ามมาถึงประเทศดังกล่าว ไปดูชัยภูมิซึ่งจะเป็นที่ตั้งพระนคร เห็นหาดทรายที่หงษ์ทองทั่งคู่ลงมาจับอยู่นั้นเหมาะสม จึงให้ปักเสาศิลาลงในที่นั้นให้เป็นสำคัญ ล่วงไปได้อีกร้อยหกสิบปี หาดทรายดังกล่าวตื้นดอนขึ้นเป็นแผ่นดิน พระเจ้าบัณฑุราชองค์ต่อมาอีกสองชั่วพระองค์ได้ทราบว่าเสาศิลา ซึ่งพระเจ้าปู่ให้ปักไว้นั้น จะมีผลประโยชน์อยู่ จึงให้อำมาตย์ผู้หนึ่งคุมพวกแขกเจ็ดสิบคนมาอยู่รักษา ล่วงไปอีกห้าสิบหกปี ที่แห่งนั้นดอนขึ้น บางแห่งเป็นไร่นา บางแห่งเป็นป่ารนามรกชัฏอยู่
            ครั้งนั้น ในเมืองอรินทรบุรี คือ เมืองภุกาม พระเจ้าโกวะธรรมได้ครองราชย์ในเมืองสุธรรมวดี คือ เมืองสเทิม พระเจ้าอรินธมราชได้ครองราชย์ ข้างทิศใต้ป่าเมาะตมะ มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองรัมวดี คือ เมืองร่างกุ้ง พระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์มีเจ็ดองค์ ๆ เป็นคำรบเจ็ด ทรงพระนาม พระเจ้าเสนะคงคา ในภูเขาแครงนาค มีฤาษีรูปหนึ่งชื่อโลมดาบศอาศัยอยู่ ยังมีนางนาคตัวหนึ่งแปลงเพศเป็นนางกุมารี ขึ้นมาเที่ยวที่ภูเขาแครงนาคได้ร่วมสังวาสกับเพทยธรคนหนึ่ง เป็นบุตรพระเจ้ากระลึงคราษฐ์
มีครรภ์ตกเป็นฟอง โลมดาบศพบเข้าเก็บมารักษาไว้ครบสิบเดือน ฟองไข่แตกออกเป็นกุมารีรูปงาม โลมดาบศจึงเลี้ยงไว้จนเจริญวัย พรานชาวเมืองริมวดีเห็นเข้า ก็ไปทูลพระเจ้าเสนะคงคาให้ทราบ พระเจ้าเสนะคงคาให้อำมาตย์ไปขอต่อ โลมดาบสมาเป็นอัครมเหสี พระนามวิมลาราชเทวี มีโอรสสององค์ชื่อ สมละกุมาร และวิมลกุมาร เมื่อราชกุมารทั้งสองเจริญวัย ต่อมาเมื่อทราบว่าพระอัครมเหสีเป็นชาตินาค ก็ถูกวางยาตายไป คนทั้งหลายรู้ความเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ยอมให้ราชกุมารทั้งสองอยู่ในพระนคร นำไปมอบตัวให้แก่โลมดาบส ราชกุมารทั้งสองจึงได้ไปถวายตัวทำราชการอยู่ในพระเจ้าอรินธม ณ เมืองสุธรรมวดี นางภัทราราชกุมารี พระธิดาพระเจ้าอรินธมรักใคร่กับสะมลกุมาร พระเจ้าอรินธมทราบก็ทรงโกรธ ตรัสสั่งจะให้จับราชกุมารทั้งสองประหารชีวิตเสีย ราชกุมารทั้งสองหนีมาหาโลมฤาษี ๆ จึงแนะนำให้ไปอยู่ ณ ประเทศที่หงษาวดีมี ราชกุมารทั้งสองจึงเกลี้ยกล่อมผู้คนได้ร้อยเจ็ดสิบคน เอาไม้ไผ่มัดเป็นแพ  แล้วข้ามไปยังประเทศหงษาวดี คนทั้งหลายที่อยู่บ้านชายป่า รู้ว่าราชกุมารทั้งสองข้ามมา ตั้งอยู่ในที่นั้นก็พากันมาอยู่ด้วยได้ประมาณพันคนเศษ ราชกุมารทั้งสองจึงปรึกษากันว่าพวกเราก็มากขึ้นแล้ว จะสร้างพระนครอยู่ในประเทศที่ใดจึงจะดี
            ขณะนั้นสมเด็จพระอัมรินทราธิราช ได้ทราบความดำริของราชกุมารทั้งสอง ก็ทรงระลึกถึงพุทธพยากรณ์ จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์นครวัฒกี มาถามราชกุมารทั้งสองว่าปรึกษากันด้วยการสิ่งใด ราชกุมารทั้งสองก็แจ้งให้ทราบ นครวัฒกีจึงบอกว่าการทั้งนี้ไว้เป็น พนักงานของเรา
            นครวัฒกีมองไปดูเห็นประเทศข้างทิศตะวันออกที่หงษ์ทองจับอยู่เป็นชัยภูมิที่เหมาะ แต่ประเทศที่นั้นสจาตทุโล กับพวกแขกสิบเจ็ดคนไปตั้งรักษาอยู่เดิม และบอกว่าตำบลนี้เป็นของเรา และได้แจ้งที่มาของเรื่องแต่เดิมให้ทราบว่าได้ครั้งที่ตำบลนี้เป็นทะเลลึกได้สิบสามวา พระเจ้าบัณฑุราเยนได้ให้เอาเสาศิลามาทิ้งไว้ท่อนหนึ่ง ยาวเจ็ดศอกใหญ่ห้ากำจารึกอักษรศักราชไว้ นครวัฒกีจึงตอบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการทำภายหลังเรา เราได้จดหมายจองไว้ เมื่อน้ำยังลึกได้ยี่สิบสามวา โดยได้เอาเสาทองคำท่อนหนึ่งยาวเจ็ดศอก กว้างเจ็ดกำ จารึกอักษรมาทิ้งไว้เป็นสำคัญมีแจ้งอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะแสดงของสำคัญ ก็กล่าวอ้างแก่กับในวันรุ่งขึ้น ในคืนวันนั้นสมเด็จอัมรินทราธิราชจึง นฤมิตเสาทองคำแท่งขึ้นท่อนหนึ่ง พร้อมด้วยจารึกศักราชไว้ลึกลงไปใต้เสาศิลาของพวกแขกอีกสิบวา
            วันรุ่งขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายมาพร้อมกันแล้ว สจาตทุโลจึงให้พวกแขกขุดลงไปลึกสิบสามวา เอาเสาศิลาขึ้นมาแสดงหลักฐาน ฝ่ายนครวัฒกีก็ให้พวกมอญขุดลึกลงไปอีกสิบวา เอาเสาทองคำขึ้นมาแสดงให้เห็นพร้อมทั้งจารึกศักราช สจาตทุโลจึงยอมแพ้ สถานที่ที่ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันนั้น เป็นกลางเมืองเรียกว่า อินทจักรเมือง ต่อมาได้สร้างพระสถูปลงไว้ ณ ที่นั้นเรียกว่า ยัดเติง คือ พระเจดีย์เห็นหลัก ฝ่ายสจาตทุโลกับพวกก็พากันไปตั้งอยู่ ณ ตำบลแห่งหนึ่ง รามัญเรียกว่า ตายคะลา คำไทยว่า โรงแขก
            พระอินทรให้พวกมอญเอาเสาทองคำไปฝังไว้ข้างทิศใต้ ต่อมาพวกรามัญได้ก่อพระสถูปบรรจุพระเกษาธาตุไว้องค์หนึ่งเรียกว่า พระเจดีย์ได้ชนะ จากนั้นก็เริ่มสร้างพระนคร โดยเอาสถานที่ได้เสาทองคำขึ้นมา ที่หงษ์ทองทั้งคู่เคยจับอยู่นั้น ให้เป็นอินทจักรกลางเมือง สร้างกำแพง ค่าย ค ูประตู หอรบ พระราชวัง ปราสาททองเรือนยอดเสร็จแล้ว สมมตินามชื่อ เมืองหงษาวดี ได้ราชาภิเษกสมลราชกุมารผู้พี่ด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี เมื่อศักราชในตติยปริเฉทได้ ๕๑๔ ปี พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๑๑๑๖ พรรษา สมลราชกุมารเป็นปฐมกษัตริย์ทรงพระนาม พระเจ้าสักรทัต วิมลกุมารผู้เป็นอนุชา ทรงพระนามพระเจ้าสักตรทัดที่สอง และได้มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกสิบเจ็ดพระองค์ สืบมาได้ร้อยห้าสิบปี ทั้งสิบหกพระองค์แรกล้วนทรงพระราชศรัทธา บำรุงพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ และทศกุศลธรรมบท สร้างพระอุโบสถวิหาร การเปรียญ กุฎี ศาลา อาราม พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ ปลูกต้นไม้ศรีมหาโพธิ ตั้งความเพียรเรียนภาวนา รักษาศีล มีเมตตาจิต ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาถึงกษัตริย์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่สุดวงศ์องค์ที่สิบเจ็ด ทรงพระนามพระเจ้าติสราชา กลับถือทิฐิไปเลื่อมใสในลัทธิเดียรถี ไม่นับถือพระรัตนตรัย นับถือแต่เทพารักษ์ แล้วตรัสให้ราชบุรุษเก็บเอาพระพุทธรูปทั้งปวงไปทิ้งเสียในแม่น้ำคงคา
            มีนางกุมารีคนหนึ่ง เป็นธิดาเศรษฐีอยู่ในเมืองหงษาวดี ชื่อนางภัทรา มีจิตรเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ และรักษาศีลบำเพ็ญทานมิได้ขาด วันหนึ่งขณะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ได้คลำพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ปิดทองอร่ามงามนักจึงถามทาสีว่า เหตุใดพระพุทธรูปจึงมาจมน้ำอยู่เช่นนี้ นางทาสีก็บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินตรัสสั่ง และถ้าผู้ใดนมัสการบูชาพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ และนับถือคุณพระรัตนตรัยแล้ว ถ้าพระองค์ทราบจะให้จับฆ่าเสีย นางภัทราได้ฟังแล้วก็คิดว่าเราจะสู้เสียสละชีวิตถวายพระรัตนตรัยแล้ว จึงชวนทาสีที่เป็นบริวารงมพระพุทธรูปได้หลายองค์ยกไปตั้งไว้ในศาลา ตำบลที่นางภัทราคลำถูกพระพุทธรูปนั้น ต่อมาเรียกเป็นภาษารามัญว่า กยัดสะโปดเถาะ แปลเป็นไทยว่า ที่คลำถูกพระ
            พระเจ้าดิสราชาทรงทราบก็ทรงโกรธ จึงตรัสให้ไปจับตัวนางภัทรา ขณะนั้นนางยังชำระล้างพระพุทธรูปไม่แล้ว ปรารถนาจำทำกุศลให้สำเร็จ นางจึงให้แหวนเพชรมีราคามากวงหนึ่งแก่ราชบุรุษ ขอผลัดแค่ให้พอชำระล้างพระพุทธรูปแล้ว จึงจะยอมไปตามรับสั่ง ราชบุรุษก็ยอมรออยู่ พระเจ้าดิสราชาจึงให้ราชบุรุษไปอีกพวกหนึ่ง นางขัดไม่ได้จึงยอมมา พระเจ้าดิสวาราตรัสถาม นางก็รับเป็นสัตย์ พระองค์จึงให้ฆ่านางเสียโดยให้พานางออกไปที่แจ้ง แล้วให้เอาช้างซับมันมาแทง นางจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วแผ่เมตตาไปในพระเจ้าแผ่นดิน และควารญช้าง บริกรรมภาวนาว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ แต่เท่านี้ ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย คุณเมตตา บันดาลให้ช้างสะดุ้งตกใจกลัว ร้องอื้ออึงแล้วหนีไป พระองค์จึงให้พานางไปฝังลงในหลุมเพียงอก คลุมด้วยฟางข้าวเอาเพลิงจุดเผา นางก็ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย บริกรรมภาวนา แผ่เมตตาไปเหมือนเดิม เพลิงก็ไม่เป็นอันตราย พระองค์จึงตรัสถามกับนางว่า ถ้ารูปพระของนางประเสริฐแล้ว ทำให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้นางจึงจะรอดชีวิต ถ้าทำไม่ได้ก็จะให้สับกายเสียเป็นเจ็ดท่อน นางก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชา ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้านับถือคุณพระรัตนตรัยเป็นที่ยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง พระรัตนตรัยประเสริฐกว่าสิ่งทั้งหลายในโลก ด้วยเดชะ ความสัตย์ของข้าพเจ้าสองประการนี้ ขอให้พระรูปแปดองค์นี้ ลอยขึ้นไปในอากาศให้ถึงสำนักพระเจ้าแผ่นดิน ให้เห็นประจักษ์แก่ตาโลก จบคำอธิษฐานพระพุทธรูปทั้งแปดองค์ก็ลอยขึ้นไปบนอากาศ ที่พระพุทธรูปลอยนั้นต่อมาคนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ลงไว้ รามัญให้ชื่อว่า ตีละบอเติน คำไทยว่า พระบินขึ้น พระเจดีย์นั้นอยู่ข้างทิศตะวันออกของวัดปะลองซอน พระพุทธรูปทั้งแปดให้ลอยออกไปทางทิศตะวันตก ณ ที่ซึ่งพระพุทธรูปทั้งแปดลอยกลับออกมา ต่อมาคนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ชื่อว่า กะยัดปอ แปลว่า พระบิน ตำบลที่พระพุทธรูปทั้งแปดองค์ลงประดิษฐานนั้น เรียกว่า ตำบลกะยัดปอซอ คำไทยว่า พระลง พระเจ้าดิสราชาได้เห็นคุณของนางเป็นที่ประจักษ์ จึงตั้งนางเป็นพระอัครมเหสีให้ชื่อว่า สมเด็จพระภัทราราชเทวี พระนามยังปรากฎอยู่ถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าดิสราชาก็รู้คุณพระพุทธศาสนา จึงให้เที่ยวเก็บพระพุทธรูป ซึ่งหักพังมากองไว้แล้วได้พระเกศธาตุองค์หนึ่ง จึงก่อพระเจดีย์สวมพระพุทธรูปทั้งปวงไว้ แล้วบรรจุพระเกศธาตุไว้ในพระเจดีย์นั้น ให้ชื่อว่าพระโวรต แปลว่ากองแก้ว ต่อมาชื่อเปลี่ยนไปเรียกว่า กะยัดกลอมพะโว แปลว่า พระร้อยกอง ต่อมาชื่อเปลี่ยนไปอีกเรียกว่า กะยัดกลอมปอน แปลว่า พระเจดีย์ร้อยอ้อม ชื่อนั้นปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ ครั้นพระเจ้าดิศราชาทิวงคตแล้ว เมืองหงษาวดีสิ้นวงศ์กษัตริย์รามัญ ร้างเป็นป่าไปครั้งหนึ่ง

            กาลต่อมากษัตริย์พม่าชื่อว่า พระเจ้าอลังคจอสู่ เป็นใหญ่ในภุกามประเทศ ยกกองทัพมาตีเมืองหงษาวดีกับเมืองสเทิมได้ เสด็จประพาสป่าชื่อตำบลเมาะตมะ เห็นภูมิฐานสนุกจึงให้สร้างเมืองลง ณ ที่นั้น ให้ชื่อว่า เมืองเมาะตมะ แล้วตั้งแขกผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมือง จากนั้นเสด็จลงไปประพาสป่า ณ ชายทะเลฝั่งตะวันออก ถึงตำบล ตะแว มีต้นทุเรียนมาก จึงให้สร้างเมือง ณ ที่นั้นให้ชื่อเมือง ตะแว คือ เมืองทะวาย ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งให้เป็นเจ้าเมือง กับไพร่พลพอสมควร แล้วกวาดครัวรามัญเมืองหงษาวดี เมืองสเทิมไปเมืองภุกาม ทั้งสองเมืองก็ร้างไป เมืองทวายที่สร้างไว้ให้พวกพม่าอยู่นั้น คนในเมืองพูดภาษาพม่า ต่อมาภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ว่าพม่าพอฟังได้ ภาษาทวายนั้นไม่เหมือนกับภาษารามัญ
            จ.ศ.๖๓๐ พระเจ้าอลังคจอสู่สวรรคตไปแล้ว พระเจ้าภุกามองค์ใหม่ ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งชื่อ สมิงอะขะมะมอญ ลงมาสร้างเมืองหงษาวดี รวบรวมพวกรามัญในที่ต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองหงษาวดีให้เป็นปกติดังเก่า ต่อมาสมิงอะขะมะมอญคิดขบถต่อพระเจ้าภุกาม แล้วได้ครองเมืองพะโค คือเมืองหงษาวดี ไม่ได้ขึ้นแก่เมืองพุกาม เชื้อวงศ์สมิงพม่าสามองค์ได้เสวยราชย์ในเมืองหงษาวดี เมื่อสมิงตะยาพยาได้เสวยราชย์นั้น ปี จ.ศ.๖๓๔
            มีมอญรามัญคนหนึ่งชื่อมะกะโท เป็นชาวเมืองเมาะตมะ เป็นคนมีวาสนามีทรัพย์มาก มิตรสหายก็มีมาก เข้ามาทำราชการอยู่ในสมเด็จพระร่วงเจ้า ณ เมืองศุโขทัย แล้วหนีกลับมาเมืองเมาะตมะ จ.ศ.๖๔๓ คิดขบถจับ อสิมามางเจ้าเมืองเมาะตมะฆ่าเสีย แล้วได้เป็นใหญ่ในเมืองเมาะตมะ มีอานุภาพมาก หัวเมืองรามัญทั้งปวงยำเกรง แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมิงวาโร คำไทยเรียกพระเจ้าฟ้ารั่ว
            จ.ศ.๖๔๖ พระเจ้าฟ้ารั่วให้สร้างปราสาทในเมืองเมาะตมะ เป็นปฐมกษัตริย์ในเมืองเมาะตมะ
            จ.ศ.๖๕๕ พระเจ้าฟ้ารั่วได้ช้างเผือกผู้ช้างหนึ่ง ชาวเมืองทั้งปวงจึงเรียกพระองค์ว่า ตะละจงพะต่าง แปลว่า พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าตะยาพยากับ พระเจ้าฟ้ารั่วส่งเครื่องบรรณาการไปมาถึงกัน ตั้งสัญญากันไว้ว่า ถ้าพม่ายกกองทัพลงมาเมื่อใดให้ยกไปช่วยกัน อย่าให้พม่าย่ำยีรามัญสืบต่อไปได้
            ต่อมาพระเจ้าภุกาม ให้ยกทัพเรือมาตีเมืองหงษาวดี พระเจ้าฟ้ารั่วยกกองทัพมาช่วย ตีพม่าแตกกลับไป แล้วพระเจ้าตะยาพยาคิดคดต่อมิตร จะจับพระเจ้าฟ้ารั่วฆ่าเสีย พระเจ้าฟ้ารั่วรู้ตัวจึงได้ชนช้างกัน พระเจ้าฟ้ารั่วจับพระเจ้าตะยาพยาได้จึงฆ่าเสีย แต่นั้นมาเมืองพะโคคือ เมืองหงษาวดีก็อยู่ในอำนาจพระเจ้าฟ้ารั่ว ๆ ก็กลับมาครองราชย์ในเมืองเมาะตมะดังเก่า ได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวง
            ตะแววุ่น เจ้าเมืองทวายคิดเกรงรามัญจะย่ำยี จึงมาขึ้นแก่พระเจ้าฟ้ารั่ว ณ เมืองเมาะตมะ
            จ.ศ.๖๗๔ พระเจ้าฟ้ารั่ว สวรรคต มะกะตาผู้น้องพระเจ้าฟ้ารั่วได้ราชสมบัติ ได้พระนามว่าพระยารามประเดิด
            จ.ศ.๖๗๖ สมิงมังลคิดพี่เขยจับพระยาประเดิดฆ่าเสียแล้ว ให้บุตรชายครองราชย์ได้พระนามว่า พระยาแสนเมือง ขณะนั้นตะแววุ่น เจ้าเมืองทวาย เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าฟ้ารั่วสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มาขึ้นแก่เมืองเมาะตมะอีกต่อไป
            จ.ศ.๖๘๐ พระเจ้าแสนเมือง ยกกองทัพไปตีเมืองทวายได้ แล้วไปตีเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนได้แล้ว ให้พระเจ้าเชียงใหม่ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ถ้าถึงปีแล้วให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย พระองค์อยู่ในราชสมบัติสิบสี่ปี จ.ศ.๖๘๑ สิ้นพระชนม์ เจ้าชีผู้น้องได้ครองราชย์ได้พระนามว่าพระยารามไตย เสวยราชย์ได้แปดปี ขุนนางรามัญชื่อ ชีปอนฆ่าในปี จ.ศ.๖๘๙ ได้มีการฆ่ากันอีกหลายคน จนถึงพระยาอายลาว ครองราชย์ได้สิบแปดปี
            จ.ศ.๗๐๗ พระยาอายลาวถึงแก่กรรม พระยาอู่ได้เสวยราชย์เป็นองค์ที่แปด มีช้างเผือกทุกองค์ ชาวเมืองเรียกว่าพระเจ้าช้างเผือกทั้งแปดองค์ เมืองเมาะตมะเกิดขบถเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเนือง ๆ เมืองเชียงใหม่ก็ตั้งแข็งเมือง จ.ศ.๗๑๐ เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตมะแต่ตีไม่ได้
            จ.ศ.๗๑๖ พระยาอู่ให้สมิงพะตะบะ อยู่รักษาเมืองแล้วไปคล้องช้างในป่า ต่อมาสมิงพะตะบะเป็นขบถ พระยาอู่เข้าเมืองเมาะตมะไม่ได้ จึงไปตั้งอยู่ในเมืองพะโค จ.ศ.๗๒๐ พระยาอู่เสวยราชในเมืองหงษาวดีได้สิบสองปี จ.ศ.๗๓๔ พระยาอู่ได้ก่อสร้างพระเกศธาตุเจดีย์ในเมืองร่างกุ้ง ให้โตใหญ่สูงขึ้นอีกสี่สิบศอก พระยาอู่เสวยราชในเมืองเมาะตมะมาสิบหกปี และเสวยราชย์ในเมืองหงษาวดีอีกสิบเก้าปี รวมเสวยราชย์สามสิบห้าปี พระชนมายุได้หกสิบปี

            จ.ศ.๗๔๕ พระยาอู่ทิวงคต พระโอรสชื่อสีหราชาได้ครองราชย์ เรียกว่า พระเจ้าราชาธิราช ต้องปราบข้าศึกมาก จนสิ้นศัตรู แล้วก็ได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศ แล้วได้ทำศึกกับพม่าเนือง ๆ จึงมิได้สถาปนาพระมหาธาตุ และอาราม ได้แต่สัการบูชาบำเพ็ญทานอยู่ได้ประมาณสามสิบแปดปี พระชนมายุได้ ห้าสิบสี่ปีก็ทิวงคต เมื่อปี จ.ศ.๗๘๓ โอรสชื่อพระยาธรรมราชาได้ครองราชย์ต่อมา อยู่ได้สามปีก็ทิวงคต เมื่อปี จ.ศ.๗๘๖ พระชนม์ได้สามสิบสองปี
            น้องพระธรรมราชาชื่อพระรามเกิดได้เสวยราชย์ต่อ เป็นผู้ฉลาดในกลอุบาย เอาชัยชนะข้าศึกประจามิตรได้โดยง่าย ไม่ต้องทำสงคราม มีพระทัยกว้างขวาง ได้สร้างกุศลไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ทรงเตรียมการไว้จะก่อพระเจดีย์ย่างกุ้งให้สูงขึ้นหกสิบศอก จ.ศ.๘๑๕ ได้ลงมือก่อพระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วก็สินพระชนม์ในปี จ.ศ.๘๑๘ ครองราชย์ได้สามสิบห้าปี พระชนม์ได้หกสิบห้าปี
            พระยาแก่นท้าวได้ครองราชย์ทรงรักษาสุจริต บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ บำรุงสมณชีพราหมณ์ราษฎรให้เป็นสุข เป็นผู้ซื่อตรงที่ควรทำโทษก็ทำโทษ ที่ควรจะโปรดก็โปรดตามความชอบ คนทั้งหลายเกรงกลัวนัก ชวนกันสอนบุตรหลานไม่ให้กระทำความชั่ว บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข
            พระเจ้าแก่นท้าวมีอีกพระนามหนึ่งว่า พระยาพะโร ได้บำรุงพระพุทธศาสนามาก ทรงบริจาคทรัพในการก่อพระเจดีย์ย่างกุ้ง ที่ยังค้างอยู่นั้น ได้ก่อสวมขึ้นไปจนถึงคอระฆัง เพราะมีพระทัยเอ็นดูราษฎรมากไม่เร่งรัด ครองราชย์ได้สี่ปี จ.ศ.๘๒๒ พระชนม์ได้ยี่สิบห้าปีก็สวรรคต
            พระยาทาษราชา เป็นหลานพระยายักขราชาได้ครองราชย์ จ.ศ.๘๒๕ ทิวงคต
            พระยายุตราชา เป็นหลาน พระยายักขราชา ได้ราชสมบัติ คนทั้งหลายเรียก สมิงกำลัง แปลว่าพระยากำพร้า ใจร้ายนัก มีแต่ทำการบาปหยาบช้า มิได้คิดการกุศลและบำรุงพระพุทธศาสนา ครองราชย์เจ็ดเดือนก็สวรรคต ในปี จ.ศ.๘๒๕ พระราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชยังเหลืออีกองค์หนึ่ง รามัญเรียกว่า วิสัทธราชา ต่อมาเรียกพระยาท้าวได้ครองราชย์ ได้บำเพ็ญพระราชกุศล และบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระสถูปน้อยใหญ่ สร้างอาราม กุฎี พิหาร ถวายพระภิกษุนับประมาณมิได้ มีบุญญาธิการมาก กษัตริย์ต่างเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายก็มาก
            ข้างภุกามประเทศ พระเจ้าภุกามให้สร้างเมืองใหม่แล้วให้ชื่อว่า เมืองอังวะ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิราวดี ฝั่งตะวันออก ตรงเมืองจะเกิงขาม เหนือเมืองภุกามเก่าขึ้นมาทางประมาณห้าวัน เมืองพุกามนั้นพม่าเรียกว่า เมืองปะกัน รามัญเรียก เมืองพะกำ แล้วพระเจ้าภุกามก็ยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองอังวะๆ ก็เป็นเมืองหลวงในประเทศพม่าตั้งแต่นั้นมา เมื่อขณะนางพระยาท้าวได้ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี
            พระเจ้าอังวะทรงทราบว่า เจ้าแผ่นดินเมืองรามัญเป็นสตรีก็ดีพระทัยนัก ปรารถนาจะได้รามัญประเทศเป็นเขตแดนของพระองค์ ล่อลวงนางพระยาท้าวให้เสด็จออกจากเมืองหงษาวดี แล้วขุนนางพม่าก็จับพระนางไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ จึงตั้งพระนางเป็นพระอัครมเหสี ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็อ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ
            พระมหาปิฎกธะระ ราชบุตรเลี้ยงนางพระยาท้าว อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ ได้ปรึกษาขุนนางรามัญทั้งปวง จะคิดอุบายพานางพระยาท้าวกลับมาครองกรุงหงษาวดีดังเก่า จึงได้เที่ยวเทศนาในเมืองทุกตำบล ขุนนางและราษฎรในเมืองอังวะก็นิยมนับถือจนมีชื่อเสียงปรากฏไป ต่อมาได้เข้าไปเทศนาในพระราชวัง จึงได้พบกับนางพระยาท้าวยินดีนัก ได้ตกลงกันที่จะเชิญเสด็จกลับมาเมืองหงษาวดี จึงคิดอุบายพาพระนางมาเมืองหงษาวดีได้ แล้วรามัญทั้งปวงก็มิได้นอบน้อมต่อพระเจ้าอังวะสืบไป
            ต่อมา พระมหาปิฎกธารา คิดสงสัยตัวด้วยลักพานางพระยาท้าวลงไปนั้น จะเกี่ยวข้องในข้ออทินาทานสิกขาบท เห็นว่าจะไม่บริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนา จึงได้สึกออกมาแล้วนางพระยาท้าวก็ตั้งให้เป็นพระยาอุปราช นางพระยาท้าวครองราชย์เมื่อภายหลังนี้ได้เจ็ดปี ก็มอบราชสมบัติให้แก่พระยาอุปราช แล้วเสด็จลงมาเมืองร่างกุ้ง ให้ก่อพระอุโบสถในที่ใกล้พระเจดีย์ร่างกุ้ง ให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ใหญ่ แล้วให้เอาเงินมาชั่งหนักเท่าพระองค์ คิดเป็นราคาทองหนักยี่สิบห้าชั่ง ให้ช่างแผ่หุ้มพระเจดีย์ตแต่ยอดลงมา แล้วตั้งราชบุรุษเป็นตัวนายใหญ่สี่คน นายรองสี่คน ไพร่ร้อยคนให้เป็นข้าพระปฏิบัติ พระเกศธาตุร่างกุ้ง แล้วให้หล่อระฆังหนักร้อยเจ็ดสิบชั่งไว้สำหรับตีที่ลานพระเจดีย์ ได้ปักเสาศิลามีแป้นรายรอบพระเจดีย์ ฯลฯ นางพระยาท้าวพระชนม์หกสิบห้าปีก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี จ.ศ.๘๓๒ ในปีนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพมาตีเมืองทวายได้แล้วกวาดครัวเรือนทวายไปมาก พระยาอุปราชมีชื่อว่าพระยาธรรมเจดีย์ เพราะเหตุทรงพระไตรปิฎก พระองค์ชำนาญทั้งคดีโลกคดีธรรม มีพระราชศรัทธามาก ออกไปตั้งพระราชวังอยู่ในทิศตะวันตกของพระมุตาว ต่อมาได้เสด็จไปเมืองร่างกุ้ง ให้หล่อระฆังใบใหญ่ใบหนึ่งทองหนักแสนแปดหมื่นชั่ง ปากกว้างแปดศอก ลึกสิบศอก สร้างไว้บริเวณพระเกศธาตุเจดีย์ พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สิบสี่ปีก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี จ.ศ.๘๕๓
            ราชบุตรพระเจ้าธรรมเจดีย์ชื่อหัตถีราชา คนทั้งหลายเรียกว่าพระยาราม ได้ฆ่าราชกุมารพี้น้องทั้งหลายเป็นอันมากด้วยเกรงจะชิงราชสมบัติ ต่อมาจึงตั้งอยู่ในราชธรรมสิบประการ
            จ.ศ.๘๕๔ เกิดพายุใหญ่ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักพังลงมา ลมพาไปตกถึงเมืองเสี่ยง พระยารามได้จัดแจงยกขึ้นดังเก่า พระชนม์ได้สี่สิบแปดปี ก็สร้างพระเจดีย์สี่สิบองค์ล้อมพระเจดีย์ใหญ่ในเมืองร่างกุ้ง พระองค์พระชนม์ได้ หกสิบเจ็ดปีก็สิ้นพระชนม์ ราชบุตรชื่อพระธิโรราชาได้ครองราชย์ ตั้งอยู่ในยุติธรรมน้อยนัก
            จ.ศ.๘๙๒ พระเจ้าธิโรราชา ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา ตีล่วงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี เข้าไปจนเห็นกำแพงกรุงศรีอยุธยา แล้วเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สะดวกด้วยขัดสนสะเบียง จึงส่งทัพกลับกรุงหงษาวดี พระชนม์ยี่สิบแปดปีก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี จ.ศ.๙๐๑

บน