ประชุมพงศาวดาร
หน้า ๘ หน้าต่อไป ๑๐ หอมรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

           พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นชาติรามัญได้เป็นใหญ่ในรามัญประเทศเพียงเท่านี้ เมื่อพระยาพะธิโรราชานั้นล่วงไปแล้ว กษัตริย์พม่าองค์หนึ่ง รามัญเรียกว่า ฝรั่งมังส่วย ไทยเรียกว่า ฝรั่งมังโสดถิ์ ยกทัพมาตีเมืองหงษาวดีได้แล้วให้ราชบุตรชื่อฝรั่งมังตรีผู้เป็นพระยาอุปราช อยู่ครองสมบัติในเมืองอังวะ จึงลงมาเป็นใหญ่อยู่ในเมืองหงษาวดี ได้สละพระมหามงกุฏทรงประดับเพชรมีราคามากถวายพระเกศธาตุร่างกุ้ง และได้ถวายพระอัครมเหสีเป็นทาสีพระเกศธาตุ แล้วไถ่พระอัครมเหสีด้วยทองคำสิบชั่ง เพื่อสละเป็นเครื่องสักการบูชาพระเกศธาตุ
           จ.ศ.๙๐๕ พระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ผู้เป็นใหญ่ในเมืองหงษาวดี มีรับสั่งถึงพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เป็นพระยาอุปราชอยู่ ณ เมืองอังวะ ให้เกณฑ์พลพม่าทั้งปวงลงมาสมทบกองทัพรามัญ ณ เมืองหงษาวดี แล้วพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ จึงยกพลพม่ารามัญ เข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา ไปโดยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีล่วงหัวเมืองสุพรรณบุรีเข้าไปถึงชานกรุงศรีอยุทธยา พวกพลล้มตายเป็นอันมากทั้งสองฝ่าย ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่ามอญขาดเสบียงลง จึงให้ล่าทัพกลับเมืองหงษาวดีโดยทางด่านบ้านรแหงทิศเหนือกรุงศรีอยุทธยา
           จ.ศ.๙๑๐ พระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองหงษาวดี เมืองอังวะ เมืองเชียงใหม่ พร้อมกันแล้วจึงให้อินแซะราชบุตรชื่อ ว่าฝรั่งมังตรีที่พระมหาอุปราชเป็นแม่กองทัพน่า พระองค์เป็นทัพหลวง ยกไปกรุงศรีอยุทธยาโดยทางบ้านรแหง ตีล่วงหัวเมืองฝ่ายเหนือลงไปจนถึงกรุงศรีอยุทธยา แล้วตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลทุ่งภูเขาทอง ตั้งแผ่ออกรายล้อมรอบกำแพงกรุงศรีอยุทธยา
           พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เห็นจะต่อสู้มิได้ จึงเสด็จออกมาเจรจากับพระเจ้าหงษาวดี ทั้งสองกลับเป็นไมตรีกันให้สัญญากันว่าจะไม่ทำร้ายแก่กันสืบไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็จัดเงินทองของดีมีค่าต่าง ๆ และช้างเผือก กับม้าดี ถวายมามาก แล้วพระเจ้าหงษาวดี จึงเลิกทัพกลับโดยทางด่านบ้านระแหง
           จ.ศ.๙๑๒ พระเจ้าฝรั่งมัดโสดถิ์ สินพระชนม์ ครั้งนั้นมีราชวงศ์กษัตริย์รามัญองค์หนึ่งคิดกับท้าวพระยารามัญทั้งปวง พร้อมใจกันจับขุนนางพม่าในเมืองหงษาวดี และในหัวเมืองรามัญทั้งปวงฆ่าเสียโดยมาก แล้วตั้งพระราชวงศ์กษัตริย์นั้นทรงพระนามพระเจ้าธอชุกคะลี ครองราชย์ในเมืองหงษาวดีต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาจึงเอาแก้ววิเศษต่าง ๆ ไปประดับฉัตรยอดพระเจดีย์ย่างกุ้ง
           พระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เป็นพระมหาอุปราชทราบเหตุการณ์ในเมืองหงษาวดีแล้ว จึงจัดกองทัพมาติดเมืองหงษาวดี จ.ศ.๙๑๓ พระองค์ก็ตีเมืองหงษาวดีได้
           พระเจ้าธอชุกคะลี หนีออกไปอยู่ป่าซ่อนตัวอยู่ในซอกเขาแห่งหนึ่ง จ.ศ.๙๑๔ พระเจ้าฝรั่งมังตรี ก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี ให้ราชบุตรเขยไปครองอยู่ ณ เมืองอังวะ
           จ.ศ.๙๑๗ พระเจ้าฝรั่งมังตรีให้เกณฑ์กองทัพพม่ากองทัพมอญ ให้อินแซะนันทกู ผู้เป็นราชบุตร ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช เป็นแม่ทัพหน้ายกเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยาทางด่านแม่ละเมาะ บ้านรแหง แล้วเลยมาทางเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเจ้าเมืองพิศณุโลก เป็นราชบุตรเขยพระเจ้าช้างเผือก ณ กรุงศรีอยุธยา เกรงอานุภาพพระเจ้าหงษาวดี จึงยกกองทัพฝ่ายเหนือทั้งปวง มาบรรจบกองทัพพระเจ้าหงษาวดี แล้วตามไปตีกรุงศรีอยุทธยาด้วย พระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวง ณ ทุ่งภูเขาทองฝั่งตะวันตกแห่งพระนคร จ.ศ.๙๑๘ พระเจ้าหงษาวดีก็ได้กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าช้างเผือกสวรรคตเสียก่อน เมื่อยังล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่ พระเจ้าหงษาวดีจึงอภิเษกเจ้าเมืองพิศณุโลก เป็นเจ้าพระนครศรีอยุทธยา ให้ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงหงษาวดี ถึงปีให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายตามธรรมเนียม แล้วยกทัพกลับทางด่านบ้านรแหง
           จ.ศ.๙๑๙ พระเจ้าธอชุกคะลี กับพระมเหสีที่ซ่อนอยู่ในป่าถึงแก่พิราลัยในป่า พะตอย
           พระเจ้าฝรั่งมังตรีมีอานุภาพมาก ชนะพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงในประเทศต่าง ๆ ได้เป็นใหญ่ในประเทศทั้งสี่ คือ รามัญประเทศ ภุกามประเทศ สยามประเทศ มลาวประเทศ รามัญเรียก พระเจ้าฝรั่งมังตรีว่า ตะละพะเนียเธอเจาะ แปลว่า พระเจ้าชนะสิบทิศ จ.ศ.๙๑๔ เมื่อพระเจ้าชนะสิบทิศแรกได้ราชสมบัตินั้นเจ้าลังกาชื่อพระยา วิมะละธรรมสุริย เป็นใหญ่อยู่เมืองศิริวัฒนะในเกาะลังกา ปรารถนาจะได้พระสงฆ์ที่ศีลบริสุทธิ์ ไปบวชกุลบุตรสืบสมณวงศ์ในลังกา จึงแต่งพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการมา ณ เมืองยะไข่ ซึ่งอยู่ในอำนาจ พระเจ้าชนะสิบทิศ ๆ จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองยะไข่ จัดพระสงฆ์ และพระไตรปิฎก กับเครื่องราชบรรณาการตอบแทนส่งออกไป พระเจ้าลังกาปรารถนาจะเป็นพระราชไมตรีกันต่อไป ต่อมาจึงส่งราชธิดาองค์หนึ่งกับเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวาย พระเจ้าหงษาวดียินดีนักตั้งพระราชมารดาอินแซะนันกู เป็นพระอัครมเหสีใหญ่ ตั้งราชธิดาพระเจ้าช้างเผือกกรุงศรีอยุธยาเป็น พระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางกษัตริย์ลังกาเป็น พระมเหสีขวา พระเจ้าฝรั่งมังตรีครองราชย์ได้ยี่สิบเก้าปี จนถึง ปี จ.ศ.๙๒๖ ก็สวรรคต อินแซะนันกู หรือที่มอญเรียกว่า นานกะยะผู้เป็นพระมหาอุปราชได้ครองราชย์สืบมา
           จ.ศ.๙๒๗ พระราชบุตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าชนะสิบทิศสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยกกองทัพขึ้นมา ณ เมืองหงษาวดี ทางด่านแม่ละเมาะ ว่าจะมาช่วยทำราชการสงครามตีเมืองอังวะ ครั้นถึงปลายแดนเมืองหงษาวดี พระราชบุตรกลับคิดขบถ กวาดครัวหัวเมืองปลายแดนได้แล้ว ก็กลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา พระเจ้านันกูตรัสสั่งให้ราชบุตรผู้ใหญ่ชื่อมังษาเกียด อันเป็นที่มหาอุปราช ยกกองทัพตามไปจับพระราชบุตรกรุงไทยให้ได้ พวกราชบุตรกรุงไทยยกข้ามแม่น้ำจิตดองไปแล้ว พระมหาอุปราชเห็นจะตามไม่ทัน จึงยกกองทัพกลับ
           จ.ศ.๙๒๙ พระเจ้าหงษาวดีตรัสสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชร ให้เจ้าเมืองพะสิมยกไปทางเมืองกาญจนบุรี ให้ถึงพร้อมกันแล้วช่วยกันระดมตีกรุงศรีอยุทธยา พระราชบุตรทั้งสองของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ก็รับอาสาพระราชบิดามาทำสงคราม ตีกองทัพเมืองหงษาวดีทางเหนือทางใต้แตกกลับมาสิ้น
           จ.ศ.๙๓๐ เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์เมืองร่างกุ้งทะลายลงมาเพียงชั้นกลาง พระเจ้าหงษาวดีสั่งให้กะเกณฑ์กันทำให้ปกติดังเก่า
           จ.ศ.๙๓๑ พระเจ้าหงษาวดี ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาโดยทางด่านเชียงทอง ยกไปตั้งถึงชานเมืองแล้ว ตั้งค่ายประชิดกรุงอยู่หกเดือน ครั้นถึงฤดูฝนก็ยกทัพกลับ
           จ.ศ.๙๓๒ พระเจ้าหงษาวดียกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีก ครั้นไม่ได้แล้วก็กลับมา ตั้งแต่นั้นมา ก็ขยาดฝีมือพระราชบุตรกรุงไทยทั้งสองพี่น้องนัก และมิได้ยกไปทำสงครามสืบไป จ.ศ.๙๔๐ เมื่อทราบข่าวว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาสวรรคต จึงตรัสสั่งให้ มหาอุปราชยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าเชียงใหม่เป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชเป็นทัพหลวง ยกเข้าไปทางด่านกาญจนบุรี
           พระเจ้ากรุงไทยทั้งสองพี่น้องยกทัพออกไป พบทัพพระมหาอุปราชา ณ แขวงเมืองสุพรรณบุรี รามัญกับไทยได้รบกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงไทยผู้เป็นพระเชษฐาไสช้างไปชนกับช้างพระมหาอุปราช ช้างมหาอุปราชเสียทีเบือนไป พระเจ้ากรุงไทยฟันด้วยพระแสงของ้าว พระมหาอุปราชถึงแก่กรรมในที่นั้น
           พวกพม่ารามัญทั้งปวงก็แตกกลับเมืองหงษาวดี แต่นั้นมาก็ให้ระอาฝีมือไทย มิได้คิดที่จะมาตีกรุงศรีอยุทธยาสืบไป
           จ.ศ.๙๔๒ พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยินข่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จกยกทัพออกไปตีเมืองหงษาวดี ก็เกรงกลัวนักจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการลงไปถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา ในปีนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้เสนาบดีออกไปตีเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาวใต้ เมืองทั้งสามก็เป็นเขตแดนของกรุงศรีอยุทธยาแต่นั้นมา ครั้งนั้นสงครามมอญกับไทยงดกันไปถึงเจ็ดปี รามพี่น้องัญทั้งปวงกลัวอานุภาพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธาทั้งสองพระองค์นั้น รามัญเรียกชื่อว่าตะละบากาวเตะ แปลว่าเจ้าสองพี่น้อง
           พระเจ้านั้นกู ตรัสสั่งให้พระยาทะละเป็นแม่กองเอาทองคำห้าชั่ง เงินหนักห้าชั่งไปแผ่ปิดพระเจดีย์ร่างกุ้ง แล้วให้รัดด้วยลวดเงินทรงบำเพ็ญกุศลเป็นอันมาก อยู่ต่อมาหัวเมืองรามัญทั้งปวง เห็นพระเจ้านันกู หย่อนกำลังลงมากแล้ว ก็พากันกระด้างกระเดื่อง
           จ.ศ.๙๕๐ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ทรงทราบข่าวว่าหัวเมืองมอญไม่เป็นปกติ จึงตรัสให้พระยาจักรี เป็นแม่กองทัพหน้า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทั้งสองพระองค์เป็นทัพหลวง ยกออกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีออกมาได้จนถึงเมืองเมาะตมะ ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดี ประชวรอยู่จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าตองอูลงมาช่วยป้องกันเมืองหงษาวดี เจ้าเมืองตองอู เห็นว่าจะรับกองทัพไทยในเมืองหงษาวดีนั้นไม่หยุด จึงเชิญพระเจ้าหงษาวดี และกวาดครัวชาวเมืองออกจากเมือง เผาเมืองหงษาวดีเสีย พาพระเจ้านันกูไปรักษาไว้ ณ เมืองตองอู
           พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เมื่อมาถึงเมืองเมาะตมะแล้วก็ยกขึ้นไปเมืองหงษาวดี ณ เดือนสาม ครั้นเห็นเมืองร้างอยู่ จึงรู้ว่าเจ้าเมืองตองอูพาพระเจ้าหงษาวดีไป
           จ.ศ.๙๕๓ เดือนอ้ายขึ้นสิบเอ็ดค่ำ พระองค์ทั้งสองยกตามไปล้อมเมืองตองอู ขณะนั้นกองทัพไทยขาดเสบียงอาหาร เห็นจะทำการไปไม่ตลอด ก็ให้ล่าทัพกลับจากเมืองตองอู แล้วให้กวาดครัวรามัญเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาครั้งนี้มากนัก พระเจ้านันกูครองราชย์ในเมืองหงษาวดีสิบปี จ.ศ.๙๕๔ สินพระชนม์ในเมืองตองอู ครั้งนั้น หัวเมืองมอญทั้งปวงไม่ไปขึ้นแก่เมืองตองอู เข้าไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาโดยมาก จ.ศ.๙๕๔ พระยาตองอูจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงไทย ขอเป็นเมืองขึ้นสืบไป ครั้งนั้นรามัญประเทศทั้งปวงไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาทั้งสิ้น
           พระเจ้าอังวะ มิได้ลงมาเบียดเบียนหัวเมืองรามัญทั้งปวง ด้วยเกรงอานุภาพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ประเทศรามัญมาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุทธยาประมาณ เจ็ดปี แต่ภายหลังกรุงศรีอยุทธยาเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระเจ้าแผ่นดินในภายหลังนั้นเพิกเฉยเสีย มิได้ทรงกังวลรามัญประเทศ หัวเมืองมอญทั้งปวงก็ตั้งแข็งเมืองเป็นแพนก ๆ อยู่ตามลำพัง ไม่มีเมืองใดเป็นใหญ่กว่ากัน

           จ.ศ.๙๖๒ มีฝรั่งนายกำปั่นคนหนึ่งชื่อกัปตันหันเชรามีทรัพย์มาก ก่อตึกค้าขายอยู่ ณ เมืองเสรี่ยง เป็นผู้มีปัญญามาก รู้จักเอาใจขุนนาง และราษฎรทั้งปวง ขณะนั้นเจ้าเมืองเสรี่ยงร้ายกาจนัก เบียดเบียนขุนนาง และราษฎร กัปตันหันเชรา จึงคิดกับชาวเมืองทั้งปวงพร้อมใจกัน เนรเทศเจ้าเมืองเสรี่ยงเสีย แล้วตั้งกัปตันหันเชราขึ้นเป็นใหญ่ในเมืองเสรี่ยง พระยาฝรั่งไม่ได้นับถือ พระพุทธศาสนา เป็นแต่ผู้ช่วยดูแลรักษาพระเจดีย์ใหญ่ และอารามทั้งปวงตามธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ครั้งนั้นมีพระมหาเถรสององค์ และเจ้าอธิการองค์พุทธ เจ้าอธิการเตอะละเจ ได้ชักชวนชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวง บำรุงพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นจึงยังบริบูรณ์อยู่ ครั้งเมื่อเมืองมอญต่างเมืองต่างอยู่ เมืองทวาย ก็ตั้งแข็งเมืองบ้าง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามิได้ยกมาปราบปรามให้อยู่ในอำนาจเมืองดังก่อน คงมีแต่เมืองมฤต กับเมืองตนาว สองเมืองยังขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุทธยา เมื่อพระยากับตันหันเชราเป็นเจ้าเมืองเสรี่ยงได้สิบสองปี
           จ.ศ.๙๖๕ พระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง รามัญเรียกว่า ตะละนันธอกระเดิงมณิก คำไทยว่า พระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว เป็นราชนัดดาพระเจ้าฝรั่งมังตรี ได้ยกกองทัพมาปราบเมืองได้มอญทั้งปวงตลอดลงมาจนเมืองทวาย แล้วยกไปตีเมืองมฤต เมืองตะนาว ทั้งสองเมืองไม่เห็นกองทัพกรุงศรีอยุทธยาออกมาช่วย ก็ยอมขึ้นแก่พระเจ้าอังวะ แล้วพระเจ้าอังวะได้ตรัสสั่งขุนนางพม่า ขุนนางรามัญให้เกณฑ์กันสร้างเมืองหงษาวดีให้คงดังเก่า แล้วพระเจ้าอังวะก็ยกทัพกลับไปเมืองอังวะ ขณะเมื่อพระเจ้าอังวะยกกองทัพมาตีเมืองเสรี่ยงนั้น พระยากับตันหันเชราเห็นว่าจะสู้พม่าไม่ได้ ก็พาพวกพ้องลงกำปั่นหนีไป ณ เมืองฝรั่ง
           พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทราบข่าว พระเจ้าปราสาทกลดแก้ว ลงมาปราบปรามเมืองมอญจึงปรึกษาด้วยแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า ถ้าแม้นยังคงไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา แม้นพระเจ้าอังวะยกมาตี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจะไม่ยกมาช่วย จำเราจะแต่งนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะขอเป็นเมืองขึ้น แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย ครั้น จ.ศ.๙๖๖ พระเจ้าเชียงใหม่จัดเครื่องราชบรรณาการมอบให้ราชทูตคุมขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะ ๆ มีพระทัยยินดีนัก แต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่  เมืองลำพูน  เมืองนครลำปาง ก็ไปขึ้นแก่เมืองอังวะ
           จ.ศ.๙๗๓ ปลายปี พระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว จัดให้พระราชวงศ์องค์หนึ่งอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วจึงพาพวกพ้องยกลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองหงษาวดี ตั้งราชบุตรชื่อมังรายตูปะเป็นพระมหาอุปราชเมืองหงษาวดี
           จ.ศ.๙๗๔ เดือนห้า พระเจ้าปราสาท ทองกลดแก้ว จัดรามัญสี่สิบสองครัว ถวายเป็นข้าพระเกศธาตุ ณ เมืองร่างกุ้ง พระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว อยู่ครองราชย์ ณ เมืองหงษาวดีไม่เสด็จอยู่ในเมือง ออกไปตั้งพระราชวัง ณ ตำบลเกลาะสะเกิบ แปลว่าสวน ได้ปฏิบัติซ่อมแปลงบูชาพระเจดีย์ร่างกุ้งไว้มาก ได้ครองราชย์ในเมืองอังวะหกปี ในเมืองหงษาวดี หกปี
           จ.ศ.๙๙๐ พระเจ้าเกลาะสะเกิบ สิ้นพระชนม์ ราชโอรสชื่อมังรายตูปะ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จ.ศ.๙๙๑ สิ้นพระชนม์ เจ้าเมืองสะเทิมเป็นเชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินพม่า ได้เป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี เกิดแผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักตกลง ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้ยกขึ้นดังเก่า จ.ศ.๙๙๖ พระเจ้าสะเทิบธรรมราชา กลับขึ้นไปครองราชย์ ณ เมืองอังวะได้สี่ปี
           จ.ศ.๑๐๐๐ ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักตกลงมาอีก พระเจ้าอังวะจึงคิดทำกุศลให้ระงับเหตุร้าย จึงให้บวชนาคพันรูปให้เท่าศักราช
           จ.ศ.๑๐๐๒ ได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ขึ้นไว้ดังเก่า จ.ศ.๑๐๑๑ พระเจ้าสะเทิมธรรมราชาสิ้นพระชนม์ในเมืองอังวะ ราชบุตรชื่อนันตะยะได้ราชสมบัติต่อมา จ.ศ.๑๐๑๑ ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งนั้นเอนไป จึงมีรับสั่งให้ถอนฉัตรนั้นขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้นซ่อมแซมดีแล้วจึงให้เอาลงไปปักไว้ดังเก่า
           จ.ศ.๑๑๑๘ กองทัพเมืองฮ่อยกมาติดเมืองอังวะ พระเจ้าเชียงใหม่ กลัวว่ากองทัพฮ่อได้เมืองอังวะแล้วจะยกมาตีเมืองเชียงใหม่ จึงใช้ราชทูตลงไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ๆ ก็ได้จัดกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่
           พระเจ้าอังวะ จึงมีรับสั่งมาถึงพม่าที่เป็นใหญ่ในเมืองรามัญทั้งปวง ให้เกณฑ์พวกรามัญขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ ครั้งนั้นราชวงศ์พระเจ้าอังวะองค์หนึ่งชื่อ มังนันทมิตร ได้มาเป็นเจ้าเมืองเมาะตมะ จึงเกณฑ์พวกรามัญขึ้นไปช่วยเมืองอังวะ พวกรามัญทั้งปวงหลีกหนีเสียมาก มังนันทมิตรจึงให้จับพวกเหล่านั้น เข้าคอกคลอกเสียด้วยเพลิง ขุนนางรามัญทั้งปวงจึงชักชวนกันเป็นขบถ จุดเพลิงเผาเมือง เมาะตมะ แล้วจับมังนันทมิตรได้ แล้วอพยพเข้าไปกรุงศรีอยุธยา เอาตัวมังนันทมิตรเข้าไปด้วย
           ทัพฮ่อซึ่งมาติดเมืองอังวะอยู่นั้น พอขาดเสบียงอาหารก็เลิกทัพกลับไป
           พระเจ้าอังวะทราบข่าวว่ามอญเมาะตมะเป็นขบถ็ทรงพิโรธนัก ตรัสสั่งให้ราชวงศ์องค์หนึ่งชื่อว่ามังสุราชา เป็นแม่ทัพยกตามไปจับมอญให้ได้ มังสุราชาติดตามครัวมอญที่เข้าไปตั้งอยู่ปลายแดนเมืองกาญจนบุรี แล้วมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองกาญจนบุรี ให้เอาความไปแจ้งแก่เสนาบดีในกรุงศรีอยุทธยาว่า จะขอเอาครัวมอญคืนไป พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบก็ไม่ยอมส่งครัวมอญออกไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงเกณฑ์กองทัพให้เจ้าพระยาโกษาเสนาบดีเป็นแม่ทัพ ออกไปรบกับพวกพม่า ณ ตำบลปลายด่านเมืองกาญจนบุรี กองทัพพม่าสู้ไม่ได้ แตกไปหลายครั้ง ต้องส่งทัพกลับเมืองเมาะตมะ จัดการเมืองเมาะตมะราบคาบแล้วก็ยกขึ้นไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะทราบเรื่องก็ครั่นคร้ามกองทัพไทย มิได้คิดจะให้ยกลงไปตีกรุงศรีอยุทธยาต่อไปอีก
           จ.ศ.๑๐๒๓ พระเจ้านันตะยะสิ้นพระชนม์ ราชบุตรพระเจ้าสะเทิมองค์หนึ่งเป็นน้องพระเจ้านันตะยะ ชื่อมังรายกะยอของได้ครองราชย์ในเมืองอังวะ ในเดือนสามเกิดแผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ตกลงมาข้างทิศตะวันตกเฉียงใต้ โหรทั้งปวงทูลทำนายว่าปีหน้าจะเกิดศึกในประเทศพม่ารามัญ ข้าศึกจะมาแต่ทิศตะวันออกเฉียงใต้
           จ.ศ.๑๐๒๔ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ จากขุนนางรามัญในเมืองเมาะตมะ เมืองจิตตอง และขอให้กองทัพกรุงศรีอยุทธยายกออกมา พวกรามัญทั้งปวงจะช่วยเป็นกำลัง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงจัดทัพเป็นสองฝ่าย ให้เจ้าพระยาโกษาเสนาบดี เป็นแม่ทัพบกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปยั้งอยู่เมืองเมาะตมะทัพหนึ่ง ให้พระยากำแพงเพชร เป็นแม่ทัพยกไปทางด่านบ้านระแหง ไปบรรจบกันที่เมืองเมาะตมะ ให้พระยาสีหราชเดโชขึ้นไป ณ เมืองเชียงใหม่ เกณฑ์พวกลาวเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร เข้ากองทัพ ยกออกไปข้างด่านเชียงใหม่ให้ถึงเมืองจิตตอง แล้วให้เกณฑ์รามัญเมืองจิตตองเข้ากองทัพ แล้วยกไปสมทบกองทัพหลวงที่เมืองเมาะตมะ พวกรามัญทั้งปวงชวนกันมาเข้ากองทัพไทยเป็นอันมาก แม่ทัพใหญ่จึงให้ยกไปตีเมืองหงษาวดี เมืองเสรียง เมืองร่างกุ้ง ก็ได้โดยง่าย  พม่าเจ้าเมืองพากันหนีกลับไปเมืองอังวะ เจ้าพระยาโกษาเสนาบดี จึงจัดพลไทยพลรามัญออกเป็นทัพเรือทัพบก ขึ้นไปจากเมืองร่างกุ้ง ตีหัวเมืองรามัญเมืองพม่าทั้งปวงแตกสิ้น จนถึงเมืองปะกันคือเมืองภุกาม อันเป็นเมืองหลวงเก่า ให้ตั้งค่ายประชิดเมืองภุกาม พระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้ราชบุตรมังจาเล เจ้าเมืองจาเล ทิ้งเมืองจาเลเสีย แล้วถอยขึ้นมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพุกามด้วยเมืองนั้นกำแพงเมืองมั่นคงนัก กองทัพไทยจะหักเข้าไปมิได้
           ขณะนั้นแว่นแคว้นเมืองอังวะข้าวแพงนัก เกิดเจ็บไข้ตายก็มาก พวกกองทัพขัดสนเสบียงจึงล่าทัพกลับไป พวกรามัญทั้งหลายชวนกันอพยพครอบครัวตามไป พระเจ้าอังวะจึงให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนยกกองทัพลงมา ณ รามัญประเทศ ให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมรามัญทั้งปวงให้เข้าอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน และห้ามปรามกันสิทธิขาดไม่ให้ขุนนางพม่าข่มเหงมอญสืบไป ครั้นนั้น พวกมอญค่อยได้ความสุข ขุนนางพม่าทั้งปวงก็จัดพลพม่า แยกย้ายกันไปรักษาหัวเมืองรามัญทั้งปวงไว้ หัวเมืองรามัญทั้งปวงก็กลับไปขึ้นแก่พระเจ้าอังวะเหมือนแต่ก่อน
           จ.ศ.๑๐๒๕ เดือนสิบได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ได้อังคาสเลี้ยงพระสงฆ์สามเมืองคือ เมืองเสี่ยง เมืองพะโค เมืองร่างกุ้ง พวกเจ้ามังรายกะยอปรารถนา จะลงมาเยี่ยมเยือน หัวเมืองรามัญทั้งปวง ได้เสด็จลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง แล้วสั่งให้ราชบุรุษออกไปสอดแนมจากราษฎรทั้งปวงว่า ในหัวเมืองมอญจนถึงเมืองทวาย ถ้าเจ้าเมืองและขุนนางผู้ใดสงเคราะห์ราษฎรโดยสุจริต ราษฎรสรรเสริญก็ให้มารับพระราชทานรางวัล และยศศักดิ์เพิ่ม ถ้าทำให้ราษฎรเดือดร้อน ก็ลงโทษตามโทษานุโทษ ครั้งรามัญทั้งปวงชวนกันสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าอังวะเป็นอันมาก พระเจ้าอังวะจึงให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ซึ่งหักลงมาให้เป็นปกติดังเก่า แล้วเสด็จกลับเมืองอังวะ ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็ราบคาบอยู่เป็นอันดี แต่เมืองมฤตกับเมืองตะนาว พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้ขุนนางมารักษาอยู่ และเมืองลาวพุงคำ คือเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร พระเจ้ากรุงไทยก็ให้ขุนนางไทยไปกำกับอยู่ พระเจ้าอังวะก็มิได้ให้กองทัพไปตีหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ ทั้งห้าตำบลนี้ต่อไป ไทยกับพม่าก็งดสงครามกันตั้งแต่นั้น
           จ.ศ.๑๐๒๖ เดือนอ้าย แผ่นดินไหว ยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งตกลงมาหลายชั้น อินทจักรหัก องค์พระเจดีย์ชำรุดไปมาก
           จ.ศ.๑๐๒๗ เดือนยี่ พระเจ้ามังรายกะยอของตรัสสั่งให้จัดผังอินทจักร เดือนสาม ให้ยกยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง พระองค์มีชนมายุสามสิบเก้าปี อยู่ในราชสมบัติสามสิบสี่ปี
           จ.ศ.๑๐๖๘ พระเจ้ามังรายกะยอของพระชนมายุ เจ็ดสิบสามปี สิ้นพระชนม์ อินแซะแมงราชบุตรได้ราชาภิเษก ชาวเมืองทั้งหลายเรียกว่า เนมะโยแมง แปลว่าเจ้าอาทิตย์ จ.ศ.๑๐๙๘ เนมะโยแมงสิ้นพระชนม์ ราชบุตรชื่อ มังลาวะมิน ได้ครองราชย์ต่อมา
           จ.ศ.๑๐๙๗ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามพระเจ้าธรรมิกราช ปรารถนาจะเป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะ ให้ราชทูตนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะยินดีนัก ให้แต่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการตอบกรุงศรีอยุทธยา ตั้งแต่นั้นมากรุงศรีอยุทธยากับกรุงอังวะเป็นทางพระราชไมตรีกัน
           จ.ศ.๑๑๐๑ เดือนห้า เวลาเช้า เกิดแผ่นดินไหวอยู่นาน ฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาว ณ เมืองหงษาวดีหังลงมา
           จ.ศ.๑๑๐๒ มะยวน ขุนนางพม่า คือ มองซวยตองกะยอ ซึ่งมาครองเมืองหงษาวดี แต่ปี จ.ศ.๑๐๙๙ รามัญทั้งหลายเรียกว่า มังสาอ่อง คิดขบถต่อพระเจ้าอังวะ จะตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี จึงคบคิดกับขุนนางพม่า และขุนนางมอญหลายคน ขุนนางรามัญคนหนึ่ง ชื่อ ธอระแซงมู เป็นนายกองช้างได้ปรึกษากับรองปลัด และยกกระบัตร มีหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ จึงตรัสสั่งให้มังมหาราชา กับมังรายองค์เนิน เกณฑ์ไพร่พลหนึ่งหมื่น ยกกองทัพไปจับมังสาอ่อง ๆ หนีไปอาศัยอยู่ในหัวเมืองทะละ เจ้าเมืองทะละจับตัวส่งมังมหาราชา ๆ เอาตัวไปฆ่าเสียที่เมืองหงษาวดี มังมหาราชาจึงตั้งให้มังรายองค์เนินครองเมืองหงษาวดีต่อไป ต่อมามังรายองค์เนินโลภ ข่มเหงราษฎรได้รับความเดือดร้อน
           จ.ศ.๑๑๐๒ เดือนยี่ มีชายผู้หนึ่งเป็นชาติเซมกวย บวชเป็นภิกษุมาช้านานในเมืองหงษาวดีใกล้บ้านอเวิ้ง ซึ่งมีพวกเงี้ยวอยู่ประมาณ สามร้อยเศษ เมื่อสึกจากภิกษุ เจ้าเมืองหงษาวดีเก่าตั้งให้เป็นพระยาชื่อ สมิงธอกวย พวกเซมกวยพูดภาษาไม่เหมือนภาษารามัญ เป็นชาวป่าอยู่นอกเมืองหงษาวดี สมิงธอกวยเป็นคนมีวิชาเป็นเสน่ห์แก่คนทั้งปวง พวกรามัญชาวเมืองรักใครมาก สมิงธอกวยได้คุมพวกเซมกวยประมาณ สามพันคนเศษ ครั้นเห็นมังรายองค์เนินข่มเหงราษฎรนัก จึงยกพวกมาตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลเภานักที่นอกเมืองหงษาวดี ส่วนธอระแซงมูรู้เหตุจึงมีหนังสือออกไปนัดหมายกับสมิงธอกวย กำจัดมังรายองค์เนินเสีย เมื่อกำจัดได้แล้ว สมิงธอกวยได้เป็นเจ้าเมืองหงษาวดี เมื่อปี จ.ศ.๑๑๐๓ ธอระแซงมูยกบุตรสาวชื่อมียายเสมให้เป็นภรรยาสมิงธอกวย สมิงธอกวยได้ครองราชย์ในเมืองหงษาวดี มีพระนามว่า พระยาพธิโรราชา จึงตั้งธอระแซงมู เป็นที่พระยาสัสดีแม่กองเลข ต่อมาได้ตั้งให้เป็นเจ้ามหาเสนาบดี เป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิขาดในรามัญประเทศทั้งปวง พระเจ้าหงษาวดีมีเมืองขึ้นสามสิบสองหัวเมือง พระเจ้าอังวะทราบข่าวจึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวง จะยกกองทัพไปจับสมิงธอกวยกับธองแซงมูฆ่าเสีย
           พวกโหรทำฎีกาถวายว่า ในสิบสองปีนี้เป็นคราวชะตาเมืองอังวะตก พวกรามัญทั้งหลายเป็นคราวชะตาขึ้น ถ้ายกทัพไปทำสงครามกับรามัญจะไม่มีชัย พระเจ้าอังวะจึงรับสั่งให้มังมหาราชายกกองทัพไปตั้งอยู่เมืองแปร รามัญเรียกเมืองปรอน อันเป็นพรมแดนรามัญกับพม่าต่อกัน เพื่อเป็นการขัดตาทัพไว้ก่อน ครั้งนั้นเจ้าเมืองเมาะตมะชื่อมังนราจอสูเป็นชาติพม่ากลัวมอญเมาะตมะ จะฆ่าเสียจึงพาครอบครัวและพวกพ้องหนีไปอยู่กับมังลักเวเจ้าเมืองทวายอันเป็นชาติพม่าด้วยกัน พระเจ้าหงษาวดีทราบเรื่อง จึงให้มีหนังสือไปถึงกรมการเมืองทวายทั้งปวง ให้ส่งมังนระจอสู กับมังลักเวขึ้นมา ณ เมืองหงษาวดี มิฉะนั้นจะให้กองทัพลงไปตีเมืองทวาย
           กรมการเมืองทวายรับหนังสือก็ตกใจคิดจะจับทั้งสองคนดังกล่าว ทั้งสองคนรู้เหตุนั้นจึงอพยพครอบครัวหนีลงไป ณ เมืองตะนาวศรี อันเป็นเขตแดนพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เจ้าเมืองตะนาวศรีมีหนังสือบอกเข้าไป ณ กรุงศรีอยุทธยา จึงมีรับสั่งให้ส่งทั้งสองคนกับพวกพ้องทั้งปวงเข้าไปกรุงศรีอยุทธยา แล้วให้ปลัดเมืองทวายกับเจ้าเมือง ตะนาวศรีกำกับกันยกกองทัพออกมารักษาเมืองทวายไว้ พระเจ้าหงษาวดีทราบเรื่องจึงคิดว่าจะสู้พม่าแต่ด้านเดียวก่อน จึงจัดเครื่องราชบรรณาการให้เจ้าเมืองเร นำลงมาถึงเจ้าเมืองตะนาวศรี และให้นำเจ้าเมืองเรเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แล้วพระเจ้าหงษาวดีจัดกองทัพบกกองทัพเรือ ยกขึ้นไป ณ เมืองปรอน เพื่อจะตีทัพมังมหาราชา แล้วจะเลยไปติดเมืองอังวะ
           ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบเรื่องว่ามังนราจอสู กับมังลักเว หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระองค์จึงให้แต่งพระราชสาส์นขอบพระคุณ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา กับเครื่องราชบรรณาการมอบให้ราชทูตลงไป ณ กรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงจัดราชทูตไทยสามนาย นำพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรรณาการตอบไปพร้อมราชทูตพม่า เดินทางไปทางปลายแดนเมืองตองอู
           ขณะนั้นพระยาหงษาวดีขึ้นไปตั้งค่ายประชิดเมืองปรอนอยู่ ยังไม่แพ้ชนะกับมังมหาราชา พอขาดเสบียงลงจึงให้เที่ยวแยกย้ายหาเสบียง มีกองหนึ่งมาจนถึงแดนเมืองตองอู พวกรามัญรู้จับได้ไพร่พม่าสองคนในขบวนราชทูตมาถวายพระเจ้าหงษาวดี เมื่อสอบถามได้ความว่า พระเจ้าอังวะให้ราชทูตไปขอกองทัพไทยขึ้นมาช่วยป้องกันเมืองอังวะก็ตกพระทัย จึงเลิกทัพกลับเมืองหงษาวดี
           ราชทูตไทยเฝ้าพระเจ้าอังวะแล้ว พระเจ้าอังวะพระราชทานรางวัล และเครื่องราชบรรณาการตอบแทนเสร็จแล้ว ก็ส่งราชทูตกลับทางเมืองเชียงใหม่
           พระเจ้าหงษาวดีปรึกษากับมหาเสนาบดี จะทำไมตรีกับพระเจ้ากรุงไทย ขอพระราชธิดามาตั้งเป็นพระอัครมเหสี แล้วแต่งพระราชสาส์นจัดเครื่องราชบรรณาการ มอบให้ราชทูตเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาโดยทางด่านกาญจนบุรี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงทราบก็ขัดเคืองพระทัย ว่าสมิงธอกวยไม่รู้จักประมาณตัว ก็ไม่ได้ตรัสปราศรัยด้วยราชทูตมอญ ตามธรรมเนียม แต่รับสั่งให้เสนาบดีเลี้ยงดูให้รางวัลแก่ราชทูตตามธรรมเนียม แล้วจึงให้มีหนังสือเสนาบดีตอบออกมา
กล่าวเปรียบเปรยสมิงธอกวยด้วยชาติตระกูลส่งให้ราชทูตรามัญกลับออกมา ครั้นพระเจ้าหงษาวดีทราบความในหนังสือก็โกรธ จึงปรึกษากับมหาเสนาบดี จะยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา มหาเสนาบดีทัดทานไว้
           จ.ศ.๑๑๐๓ เมืองมาตะรา เป็นเมืองขึ้นแก่เมืองอังวะ ตั้งอยู่เหนือเมืองอังวะขึ้นไป มีพวกรามัญอยู่ประมาณหมื่นเศษ มีรามัญคนหนึ่งชื่อนายอินท์บวชเป็นภิกษุ เรียนพระไตรปิฎกและจบไตรเพท สึกออกมาแล้วนุ่งผ้าขาวเรียกว่า ลมาตอินท์ เป็นที่นับถือของชาวเมืองทั้งปวง ครั้นนั้น มีสมิงหลายคนให้ความสัตย์สาบานต่อกัน คิดจะไม่เป็นข้าเจ้าอังวะต่อไป แล้วกวาดต้อนผู้คนที่อยู่นอกเมืองให้เข้ามาอยู่ในเมือง แล้วให้ขุดคูกว้างสามวา ลึกเจ็ดศอก จัดป้อมค่ายคูประตู หอรบ หน้าที่เชิงเทินให้มั่นคงเสร็จแล้ว สมิงโดดกับสิมแปะกะยอ ปรึกษากับขุนนางทั้งปวงว่าเมืองเรายังไม่มีเจ้าเมือง ควรไปเชิญลมาตอินท์มาครองเมือง ทุกคนก็เห็นพร้อมกัน ลมาตอินท์เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ใช้ให้สมิงโดด กับสมิงแปะกะยอไปตีเมืองยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองมาตะราขึ้นไป จับได้พวกจีนฮ่อมาได้จำนวนหนึ่ง เอามาทำพิธีฝังอาถรรพ์รอบเมืองมาตะรา
           พระเจ้าอังวะทรงทราบว่า พวกรามัญชาวเมืองมาตะราคิดขบถ จึงรับสั่งให้มังมหาราชาเกณฑ์พลพม่าหมื่นหนึ่ง ยกไปตีเมืองมาตะรา มังมหาราชาต้านทานกองทัพมอญไม่ได้แตกหนีกลับ อีกเดือนต่อมามังมหาราชาเกณฑ์ไพร่พลสามหมื่น ม้าพันหนึ่งไปล้อมเมืองมาตะรา แต่ก็แตกกลับไปอีก อีกเดือนต่อมามังมหาราชาเกณฑ์ไพร่พลห้าหมื่นยกไปล้อมเมืองมาตะราแต่ก็แพ้อีก

บน