ประชุมพงศาวดาร
หน้า ๕ หน้าต่อไป ๑๐ หอมรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พงศาวดารเขมร


            เมื่อปี จ.ศ. ๑๒๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ  จางวางกรมพระอาลักษณ์ และกรมอักษรพิมพ์ ให้จัดหาหนังสือ เรื่องพระราชพงศาวดาร ลำดับกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ เป็นเครื่องประดับพระปัญญา และสำหรับแผ่นดินสืบไป พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรโสภณ ได้จัดอาลักษณ์จำลองเรื่องพระราชพงศาวดาร ลำดับกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ทูลเกล้า ฯ ถวายหลายภาษา เรื่องพระราชพงศาวดารฝ่ายประเทศสยาม ประเทศจีน ประเทศมอญ คือ เรื่องราชาธิราชนั้น ได้ฟังได้รู้เรื่องด้วยกันเป็นอันมาก แต่เรื่องราชพงศาวดารเขมรนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ และพระยาธรรมาธิบดีพระเสนาพิจิตร หมื่นมหาสมุทร เป็นล่ามเขมรอยู่ในกรมมหาดไทย แปลเรื่องราชพงศาวดารเขมร เมื่อปี จ.ศ.๑๒๑๗ เสร็จแล้วเจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ในหอหลวง
            พงศาวดารเขมรดังกล่าวเก็บความได้ดังต่อไปนี้
            ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมนิพันธบท ทรงราชอยู่ในพระนครหลวง เมื่อปี จ.ศ.๗๐๘ และสุรคต เมื่อปี จ.ศ.๗๑๒ สมเด็จพระศรีจารผู้เป็นพระอนุชาได้ทรงราชย์ได้สามเดือนก็สุรคต พระบรมลำพงษ์ราชาผู้เป็นพระราชบุตรได้ทรงราชย์ ต่อมาในปี จ.ศ.๗๑๔ พระเจ้ารามาธิบดีที่หนึ่งกรุงไทยยกทัพมาล้อมเมือง จ.ศ.๗๑๕ พระเจ้าลำพงษ์ราชาสุรคต พระเจ้ารามาธิบดีจึงตั้งพระราชบุตร ของพระเจ้าลำพงษ์ให้ทรงราชย์อยู่ในพระนครหลวง ทรงพระนามพระเจ้าปาสัตร จ.ศ.๗๑๗ พระเจ้าปาสัตรสุรคต พระเจ้าปาอัศผู้เป็นพระอนุชาขึ้นครองราชย์ได้สามปีก็สุรคต พระเจ้ากระดมบองที่สี่ผู้เป็นพระราชบุตรผู้น้อย ขึ้นครองราชย์ในพระนครหลวง จ.ศ.๙๑๙ พระเจ้ารามาธิบดีกรุงไทย ยกกองทัพไปกวาดต้อนครัวเขมรเก้าหมื่นไปกรุงศรีอยุธยา พระศรีสุริโยปวงษ์ราชาผู้เป็นพระเจ้าหลานขึ้นทรงราชย์ในพระนครธมจน จ.ศ.๗๒๘ สุรคต พระบรมรามทรงราชย์ ในพระนครธมจนถึงปี จ.ศ.๗๓๒ ก็สุรคต พระเจ้าธรรมาโศกราชผู้เป็นพระอนุชาได้ทรงราชย์ในพระนครหลวง จ.ศ.๗๓๔ พระบรมราชาที่หนึ่งกรุงศรีอยุธยา ยกทัพมาล้อมเมืองอยู่เจ็ดเดือน ตีได้พระนครธม เมื่อปี จ.ศ.๗๓๕ พระเจ้าธรรมาโศกราชสุรคต พระเจ้าบรมราชาจึงตั้งพระราชบุตรของพระเจ้าธรรมาโศกราช ชื่อพระยาแพรกขึ้นทรงราชย์ พระนามพระอินทราชา พระบรมราชาเจ้าพระยาญาติใช้ให้มหาดเล็กทั้งสองไปลอบฆ่าพระอินทราชาในปีเดียวกันนั้น แล้วพระบรมราชาเจ้าพระยาญาติทรงราชย์อยู่ในพระนครธม จนถึงปี จ.ศ.๗๔๖ จึงได้ราชาภิเศก ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสุริโยปพันธ์ธรรมิกราชา จ.ศ.๗๕๐ พระองค์เสด็จมาสถิตย์อยู่ ณ เมืองพนมเพ็ญจัตุรจะราบเชียม จ.ศ.๗๙๕ พระชนมพรรษาได้ ๔๖ ปี พระองค์มอบเวนราชสมบัติให้พระนารายณ์รามาธิบดี ทรงราชย์ในพระนครพนมเพ็ญ จนถึงปี จ.ศ.๗๙๙ ก็สุรคต พระเจ้าศรีราชาทรงราชย์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระสุริโยทัย พระราชาทั้งสองทำศึกกัน ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จเจ้าพระยา ธรรมราชา ผู้เป็นพระราชบุตรพระบรมราชาเจ้าพระยาญาติ เจ้าพระยาธรรมราชานั้นเป็นบุตรออกคุณทรงพระอินทร์ เป็นพี่น้องกับพระยาเดโชที่อยู่กรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๘๓๐ พระชันษาได้ ๒๒ ปี จึงได้ทรงราชย์อยู่ในเมืองพนมเพ็ญ ได้ปราบดาภิเษก ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จพระธรรมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๘๓๘ ทรงราชย์ได้เก้าปี พระชันษาสามสิบ พระองค์แต่งให้พระเดชะไปขอกองทัพไทย พระเจ้ากรุงไทยยกทัพมาถึงตั้งสู้รบ จับได้สมเด็จพระเรียมกับสมเด็จพระภคินีโยนำไปกรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๘๔๗ พระชันษาได้สี่สิบ มีพระราชบุตรองค์หนึ่งชื่อเจ้าพระยาจันทราชา พระองค์ทรงราชย์มาถึงปี จ.ศ.๘๖๖ พระชันษาได้ห้าสิบแปดปีก็สุรคต สมเด็จเจ้าพระยางามขัติยราชา ทรงราชย์ต่อจากพระราชบิดาในเมืองปาสาณ ทรงพระนามสมเด็จพระศรีสุคนธบทราชาธิราช รามาธิบดี จ.ศ.๘๗๐ ขุนหลวงพระเสด็จชื่อเจ้ากันเดิมเป็นบุตรมนตรีเมืองปาสาณ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในเมืองปาสาณ ได้ลอบฆ่าพระเจ้าศรีสุคนธบท ฯ พระเจ้าจันทราชาผู้เป็นพระอนุชาพระเจ้าศรีสุคนธบท หนีไปกรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๘๗๘ พระองค์ถวาบบังคมลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระองค์เสด็จมาถึงเมืองโพธิสัตว์ ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองอมราวดีรันทบูร ชาวเมืองยอมเข้ากับพระองค์ทั้งสิ้น ได้ครองราชย์ จ.ศ.๘๘๒ พระชันษาได้สามสิบห้าปีมีพระราชบุตรทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา จ.ศ.๘๘๘ พระองค์ยกทัพไปรบกับเจ้ากัน ๆ ตายกลางศึก พระองค์กลับคืนมาเมืองโพธิสัตว์ บรรดาไพร่พลเมืองใหญ่น้อยก็ยอมเข้ากับพระองค์ทั้งสิ้น ให้ตั้งชื่อค่ายที่พระองค์เคยสถิตอยู่ว่า ค่ายบรรทายมีไชย สร้างพระพุทธรูปอัฐรัศองค์หนึ่งอยู่ ณ เมืองอมราวดีรันทบูร จ.ศ.๘๙๐ พระองค์มาสถิตอยู่ ณ เมืองลแวก ให้ก่อค่ายด้วยศิลาข้างล่างแล้วพูนดินบนศิลา แล้วสร้างพระพุทธรูปอัฐรัศสี่องค์ องค์หนึ่งทำด้วยไม้จริง พระบาทพระพุทธรูปทำด้วยศิลาผินพระปฤษฎางค์เข้าหากัน ผันพระพักตร์ออกทั้งสี่ทิศ แล้วสร้างพระวิหารมีมุขเด็กทั้งสี่ด้าน มียอดอยู่กลาง ฝาผนังประดับกระจกปิดทอง แล้วให้สร้างพระพุทธไสยาศน์นิพพานด้วยศิลา และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ ทำด้วยศิลาไว้ที่เนินเขาพระราชทรัพย์ จ.ศ.๙๐๒ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ยกทัพมาถึงพระนครหลวง พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชะนะพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าจันทราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมาก จ.ศ.๙๑๕ พระองค์อภิเษก ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสุริโยปพันธุธรรมิกราชา จ.ศ.๙๑๗ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้เจ้าพระยาโอง ผู้เป็นสมเด็จพระเรียมของพระเจ้าจันทราชา ยกทัพไทยไพร่พลเก้าหมื่นมาถึงเมืองโพธิสัตว์ พระองค์เสด็จไปรบกับสมเด็จพระเรียมซึ่งอยู่ ณ กรุงไทย พระองค์นำพระราชบุตรกับไพร่พลออกรบมีชัยชนะเจ้าพระยาโองราชา ๆ สุรคตในปีนั้น พระองค์ให้ปลงพระศพเสร็จแล้ว จับไทยไว้เป็นชเลยเป็นอันมาก แล้วพระองค์ให้จัดตกแต่งบูชาต้นศรีมหาโพธินั้นเรียกว่าพระโพธิมีบุญ จึงได้เรียกว่าเมืองโพธิสัตว์แต่นั้นมา พระองค์ให้สร้างพระวิหารแล้ว ให้เอาพานพระศรีของพระองค์ กับของพระเรียมมาสร้างเป็นพระพุทธรูปสององค์ ไว้ในพระวิหารนั้น แล้วพระองค์ให้บรรจุพระอัฐิของพระเรียมไว้ในพระวิหารนั้น แล้วเสด็จกลับคืนมา ณ ค่ายลงแวก เมื่อแผ่นดินของพระองค์นั้นทรงสพักยาวแปดศอก บรรดามุขมนตรีใหญ่น้อย ล้วนแต่ห่มผ้าสไบยาวแปดศอก ถือพัดใบตาล ขี่แคร่กั้นกรรชิง แต่บรรดามุขมนตรีใหญ่น้อย ถ้าจะทูลแลขานให้ว่า พระบาทเป็นเจ้า จ.ศ.๙๒๘ พระชันษาได้แปดสิบเอ็ดปีพระองค์สุรคต สมเด็จพระบรมราชาเกิดปี จ.ศ.๘๘๒ ทรงราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชบิดาอยู่ในค่ายลงแวกนั้น จ.ศ.๙๒๘ ทรงอภิเษกทรงพระนามสมเด็จเสด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี มีพระราชบุตรพระองค์หนึ่ง จ.ศ.๙๐๓ สมภพสมเด็จพระสัตถา เกิดพระราชบุตรองค์หนึ่ง จ.ศ.๙๒๗ สมภพเจ้าพระยาอ่อน จ.ศ.๙๓๒ พระองค์เสด็จไปสถิต ณ เมืองกุมพงสระสัง พระองค์ให้ไปตีเมืองนครราชสีมาแขวงกรุงไทยได้เชลยเป็นอันมาก ในปีเดียวกันนั้นเจ้ากรุงลาวให้ขุนนางสองคนกับไพร่พันหนึ่ง นำช้างใหญ่ช้างหนึ่งสูงแปดศอกมาชวนชนพนันเอาเมือง แต่ช้างของพระองค์สูงได้เจ็ดศอก พระองค์ให้ชนชนะช้างกรุงลาว จึงได้ให้ยื้อไพร่พลลาวไว้ แต่ให้ช้างนั้นกลับไป เจ้ากรุงลาวโกรธ จ.ศ.๙๓๓ เจ้ากรุงลาวยกทัพเรือทัพบกมา เจ้ากรุงลาวมาทางบกให้อุปราชมาทางเรือ เจ้ากรุงลาวมาถึงแดนเมืองสันธุก พระองค์ออกไปสู้รบกับเจ้ากรุงลาว รบชนะ เจ้ากรุงลาวหนีไปได้ จับได้แต่เชลยเป็นอันมาก จ.ศ.๙๓๔ อุปราชยกทัพมาถึงเกาะเจ้าราม พระองค์ทรงเรือประดับกระจกกับเรือนุภาพเป็นอันมากออกรบกับอุปราชลาว ได้ไชยชนะอุปราชลาวในเกาะเจ้าราม จับพวกลาวมาเป็นเชลยเป็นอันมาก แล้วให้เรียกลาวนั้นว่า อ้ายลาวเรือหัก จ.ศ.๙๓๔ พระชันษาได้ห้าสิบเจ็ด จึงสุรคต สมเด็จพระสัตถาขึ้นทรงราชย์ต่อจากพระราชบิดา อยู่ ณ ค่ายลงแวก จ.ศ.๙๓๘ พระองค์อภิเษก ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี มีพระราชบุตรสองพระองค์ แต่ครั้ง จ.ศ.๙๓๖ สมภพสมเด็จพระไชยเชษฐา จ.ศ.๙๔๑ สมภพสมเด็จเจ้าพระยาตน จ.ศ.๙๔๒ สมภพเจ้าพระยาราม ในปีนั้นพระองค์ยกกองทัพไปตีเขตแดนกรุงไทย ชนะได้ครอบครัวบ้าง จ.ศ.๙๔๖ พระองค์สบพระราชหฤไทยด้วยสมเด็จพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ ให้ทรงราชย์เป็นเสด็จกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ พระราชบุตรผู้พี่ได้อภิเษก ทรงพระนามพระบาทสมเด็จ เสด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี พระราชบุตรผู้น้อย อภิเษกทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๙๕๕ สมเด็จพระนเรศวรพระเจ้ากรุงไทย ยกกองทัพไพร่พลห้าหมื่นมารบกับพระองค์ พระองค์พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับสมเด็จพระราชบุตรทั้งสองหนีไปอยู่ ณ เมืองศรีส่อชอ จ.ศ.๙๕๖ พระองค์พาสมเด็จพระอัครมเหสีกับพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ไปเมืองลาว
            จ.ศ.๙๕๗ พระองค์และพระไชยเชษฐาพระราชบุตรใหญ่ สุรคตที่เมืองลาว ยังแต่พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระอนุชา พระชันษาได้สิบแปดปี อยู่เมืองลาว กล่าวเรื่องรวพระมหากษัตริย์ทรงราชย์อยู่ ณ ค่ายละแวกนั้นสิ้นความแต่เท่านี้
            ฝ่ายสมเด็จพระศรีสุพรรณผู้เป็นพระอนุชาพระบรมราชาไปอยู่เมืองลาวนั้น พระองค์เป็นพระมหาอุปโยราช จ.ศ.๙๔๑ สมภพพระราชบุตรทรงพระนามสมเด็จพระไชยเชษฐา จ.ศ.๙๕๑ สมภพพระอุทัยตั้งแต่พระองค์ยังเป็นพระมหาอุปโยราช จ.ศ.๙๕๕ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้พระองค์กับ กับพระราชเทพีพระราชบุตร แล้วกวาดต้อนครัวเขมรไปเป็นอันมาก จ.ศ.๙๕๖ พระนเรศวรเป็นเจ้านำพระองค์ไปกรุงศรีอยุธยา ให้แต่งพระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ รั้งอยู่อุดรฦาไชย
            กล่าวถึงนักพระรามเชิงไพร เมื่อปี จ.ศ.๙๐๗ สมภพนักพระรามเชิงไพร พระชันษาได้ห้าสิบปี ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองศรีส่อชอ จ.ศ.๙๕๗ พระองค์ยกทัพมาไล่กองทัพพระมหามนตรี กำจัดจากเมืองอุดรฦาไชยหนีกลับไปกรุงศรีอยุธยา พระองค์กลับไปเมืองศรีส่อชอ จ.ศ.๙๕๘ มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ ละวิศเวโล พระบรมราชาเสด็จไปเมืองลาวได้ขอมาเป็นบุตรบุญธรรม พระรามเชิงไพรจะล่อลวงฆ่าฝรั่ง ๆ รู้ตัวลอบฆ่าพระองค์สุรคต แล้วฝรั่งนั้นไปเชิญพระบรมราชาผู้เป็นพระราชบุตรน้อยของพระบรมราชา ฯ มาจากเมืองลาว จ.ศ.๙๕๙ พระองค์มาทรงราชย์อยู่ ณ เมืองศรีส่อชอ จ.ศ.๙๗๑ พระองค์ยกทัพไปจับเจ้าเมืองละบงคะมุม มีจามชื่อโปรัตกับแขกชื่อ ฬะสะมานาลอบฆ่าพระองค์สุรคต พระยาอ่อนผู้เป็นสมเด็จพระปิตุลาขึ้นทรงราชย์ ณ เมืองศรีส่อชอ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา จ.ศ.๙๗๒ พระองค์ถูกลอบฆ่าสุรคต เจ้าพระยาโยมผู้เป็นพระภัคนีโยขึ้นเสวยราชย์ ณ เมืองศรีส่อชอ ทรงพระนามสมเด็จพระแก้วฟ้า เมื่อ จ.ศ.๙๗๓ พระองค์ไม่ดำริราชกิจการศึกการแผ่นดินสิ่งใด พอพระทัยแต่จะเที่ยวไปประพาศป่า ล้อมมฤคชาติ ไม่ทรงประพฤติตามโบราณ ราชธรรม ทำการทุราจาร บรรดาราษฎรเมืองใหญ่น้อยเกิดการกำเริบ ตั้งตัวเป็นใหญ่ไล่จับกันไปขายกิน  เมืองนั้นเสื่อมสูญไปได้เจ็ดปี พระเจ้ากรุงไทยปล่อยให้สมเด็จพระศรีสุพรรณมาจากกรุงไทย มาทรงสนองสมเด็จพระเรียม ณ เกาะสาเกด สมเด็จพระเทวีกษัตรผู้เป็นพระมาตอฉา ถอดสมเด็จพระแก้วฟ้าออกจากราชสมบัติ แล้วพระองค์นำบรรดาพระราชวงศ์ใหญ่น้อยให้ไปพร้อมกันอยู่ ณ เกาะส่าเกด ให้ป่าวร้องตามบรรดาเจ้าใหญ่น้อย มาเข้ากับพระองค์บ้างยังบ้าง ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามภูมิลำเนาแล้วพระนางให้ไปขอสมเด็จพระไชยเชษฐา พระราชบุตรผู้น้องมาแต่พระเจ้ากรุงไทย พระเจ้ากรุงไทยโปรดพระราชทานให้มาแล้ว จึงให้สมเด็จพระราชบุตรทั้งสองปราบบรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยสิ้นราบแล้ว พระองค์ไปอยู่ที่ละวาเอมแขวงเมืองพนมเพ็ญ จ.ศ.๙๗๓ อภิเษกทรงพระนาม พระบาทสมเด็จเสด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๙๗๔ สมเด็จพระแก้วฟ้า จะลอบฆ่าสมเด็จพระมาตุลา พระองค์ทราบให้จับพิฆาตเสีย พระองค์ให้ทำพระภูษาเสื้อครุยเอาอย่างไทย จ.ศ.๙๘๐ ทรงเวนพระราชสมบัติให้สมเด็จพระไชยเชษฐาผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ จ.ศ.๙๘๑ พระองค์สุรคต สมเด็จพระไชยเชษฐาเสด็จมาทรงราชย์ ณ อุดงฦาไชย ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง จ.ศ.๙๖๖ สมภพพระเจ้ายาตัว จ.ศ.๙๗๕ สมภพพระเจ้ายาหนู จ.ศ.๙๘๒ สมภพเจ้าพระยาจันทร จ.ศ.๙๘๓ พระเจ้ากรุงไทยยกทัพมาถึงพนมจังกาง พระองค์ยกทัพไปสู้รบกับทัพพระเจ้ากรุงไทย ๆ หนีไป จับได้เชลยเป็นอันมาก แล้วพระองค์ให้เรียกไทยว่าเสียมจังกาง จ.ศ.๙๘๔ พระมหาอุปราชกรุงไทยยกทัพเรือมาถึง พระองค์ให้ทัพไปสู้รบ พระมหาอุปราชกรุงไทยต้านทานไม่ได้ ยกทัพถอยกลับไป พระองค์สร้างพระเจดีย์ใหญ่ชื่อ พระเจดีย์ไตรตรึงษ์บนเขาพระราชทรัพย์ จ.ศ.๙๘๑ พระองค์สุรคต สมเด็จพระอุทัยผู้เป็นพระอนุชา ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมราชา พระองค์ไม่ทรงราชย์ พระองค์ขึ้นเป็นมหาอุปโยราช
            ฝ่ายพระยาตัว  ทรงพระนามสมเด็จพระศรีธรรมราชา ทรงราชต่อจากพระราชบิดาในเกาะโค่ลก ได้อภิเษกทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระศรีธรรมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๙๙๒ พระองค์ให้ยกทัพไปจับชาวกรุงไทยในเขตรแดนเมืองนครราชสีมา จ.ศ.๙๙๖ พระองค์เกิดรบกับพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระมาตุลา พระมาตุลาให้พิฆาฏพระองค์สุรคต เจ้าพระยาหนูทรงพระนามสมเด็จพระองค์ทองขึ้นทรงราชย์อยู่ ณ อุดงฦาไชย เมื่อปี จ.ศ.๙๙๗ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระองค์ทองราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๑๐๐๐ จึงตะเลิงอยู่เมืองระลังเคริน คิดการกำเริบพระองค์ให้จับได้ จ.ศ.๑๐๐๑ พระองค์สุรคต นักนอนทรงพระนามสมเด็จพระประทุมราชา เป็นราชบุตรพระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชขึ้นทรงราชย์ ณ อุดงฦาไชย เมื่อปี จ.ศ.๑๐๐๑ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระประทุมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๑๐๐๒ สมภพสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ จ.ศ.๑๐๐๓ เจ้าพระยาจันทร์พระนามสมเด็จพระสัตถาออกเป็นสัตรู ลอลพิฆาฏสมเด็จพระมาตุลากับสมเด็จพระอนุชา ทั้งสองพระองค์สุรคต สมเด็จพระสัตถาทรงราชย์อยู่ ณ อุดงฦาไชย ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระรามาธิบดี
            ฝ่ายสมเด็จพระแก้วฟ้า พระองค์มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง เมื่อปี จ.ศ.๑๐๑๗ จ.ศ.๑๐๒๑ สมเด็จพระราชมารดาญวนให้ไปขอกองทัพญวนมารบ พระองค์จับได้ใส่กรงไปสุรคตที่เมืองญวน พระแก้วฟ้าหายไปกลางรบทัพเรือเมื่อปีนั้น แล้วญวนกลับมารบด้วยสมเด็จพระประทุมราชากับสมเด็จพระอุทัย ทั้งสองพระองค์ชนะญวน พระองค์จึงขึ้นทรงราชย์ ณ อุดงฦาไชย จ.ศ.๑๐๒๘ พระองค์ขึ้นทรงราชย์ทรงพระนามพระบาทสมเด็จ เสด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ครั้งนั้นเมืองบาเรนเป็นขบถ พระองค์ให้ยกทัพไปตีได้ ทรงตั้งสมเด็จพระอุไทยผู้เป็นพระอนุชาขึ้นเป็นมหาอุปโยราช จ.ศ.๑๐๓๔ สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาทรงพระนามสมเด็จพระประทุมราชา ผู้เป็นพระราชบุตรเขยคิดลอบฆ่าพระองค์ ๆ สุรคต พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์เป็นมหาอุปโยราชหนีไปเมืองญวน จะไปขอกองทัพญวนมารบกับสมเด็จพระประทุมราชาผู้เป็นพระภัคินีโย จ.ศ.๑๐๓๕ สมเด็จพระท้าวกษัตรีให้แขกลอบฆ่าพระองค์สุรคต นักชีทรงพระนามสมเด็จพระแก้วฟ้า ขึ้นทรงราชย์ในอุดงฦาไชย จ.ศ.๑๐๓๖ พระองค์สุรคต นักโนนผู้เป็นพระราชบุตร ขึ้นทรงราชย์ จ.ศ.๑๐๓๘ พระองค์สุรคต อยู่ ณ เมืองปรัมตำลึง เจ้าพระยาโสทรงพระนามสมเด็จพระศรีไชยเชษฐา ผู้เป็นพระอนุชาขึ้นครองราชย์อยู่อุดงฦาไชย นักโนนกับพระองค์เกิดรบกัน แล้วพระองค์ให้ไปขอกองทัพกรุงไทย พระนารายณ์เจ้ากรุงไทย ให้ยกกองทัพบกกองทัพเรือมาช่วยรบกับนักโนน จ.ศ.๑๐๔๑ นักโนนหนีไปเมืองญวน นักโนนมีแม่นางบุตรจีนคนหนึ่งชื่อนักนางเอม มีพระราชบุตรองค์หนึ่งชื่อนักอิ่ม จ.ศ.๑๐๔๔ นักโนนให้ไปเกลี้ยกล่อมจีนจงกลมาอยู่ ณ เมืองจาม จีนจงกลยอมเข้ากับพระองค์ ๆ ให้ยกทัพมารบได้เมืองโกรมนาย แล้วตีล่วงเข้ามาถึงเมืองพนมเพ็ญจนถึงเมืองอุดงฦาไชย ครั้งนั้นพระองค์ไปสถิตอยู่เมืองทรนจะรึง พระองค์ให้เกณฑ์กองทัพไปรบกับจีน พวกจีนถอยไปอยู่เกาะแตง จ.ศ.๑๐๔๕ พระองค์กลับมาสถิตอยู่อุดงฦาไชย จ.ศ.๑๐๔๖ นักโนนแต่เมืองญวนมาสถิตอยู่เมืองศรีส่อช่อ ให้พวกจีนมารบกับพระองค์อีก จ.ศ.๑๐๔๙ สมเด็จพระศรีไชยเชษฐา ทรงราชย์ได้สิบสองปี พระชันษาได้ยี่สิบเจ็ดปี ทรงประชวรไข้ทรพิษ จึงมอบเวรราชสมบัติถวายพระราชมารดา ครั้นหายประชวรแล้วออกทรงผนวชได้เจ็ดวันแล้วลาผนวช จ.ศ.๑๐๕๐ สมเด็จเจ้าพระยามาอยู่เมืองกันจงเอีย เป็นขบถคิดร้ายต่อพระองค์ แล้วหนีไปเข้ากับนักโนน พระองค์จึงรับครองราชสมบัติ พวกจีนยกมารบกับพระองค์ ๆ มีชัยชนะ จ.ศ.๑๐๕๑ นักโนนไปขอกองทัพญวนมาทำศึกกับพระองค์ ๆ มีชัยชนะ พวกญวน จ.ศ.๑๐๕๒ พระองค์ขึ้นทรงราชย์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จไชยเชษฐา บรมสุรินทราชาธิราชรามาอิศวร มีราชบุตรองค์หนึ่ง จ.ศ.๑๐๕๓ พระองค์สุรคต
            ฝ่ายเจ้าพระยายอง พระนามเป็นสมเด็จพระอุไทย มีราชบุตรองค์หนึ่ง เมื่อ จ.ศ.๑๐๕๔ ชื่อนักตน ในปีนี้พระวงษ์นำไพร่พลมาขึ้นกับพระไชยเชษฐา จ.ศ.๑๐๕๗ พระองค์มอบเวนราชสมบัติไปให้สมเด็จพระอุไทยอยู่ในอุดงฦาไชย จ.ศ.๑๐๕๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จรามาธิบดี
            จ.ศ.๑๐๕๘ พระรามาธิบดีสุรคต สมเด็จพระไชยเชษฐารับเอาพระราชสมบัติคืน พระองค์ให้ไปรับนักอิ่ม ผู้เป็นราชบุตรนักโนนมาจากเมืองญวน จ.ศ.๑๐๕๙ ตั้งพระนามนักอิ่มเป็นสมเด็จพระแก้วฟ้า แล้วยกราชบุตรีของพระองค์ให้เป็นชายา มีราชบุตรองค์หนึ่ง จ.ศ.๑๐๖๕ นักชีสมภพทรงพระนามสมเด็จพระสัตถา ต่อมาอ้ายอิ่มนเรนทรบุตรพระยาปัญญาเสนามอญ ขบถต่อพระองค์ ให้ไปนำเจ้าเมืองญวนยกทัพมารบกับพระองค์ พระองค์ถอยไปอยู่เมืองโพธิสัตว์ แล้วให้ยกทัพไปจับได้ตัวอ้ายอิ่ม
            จ.ศ.๑๐๗๖ พระศรีธรรมราชาทรงราชย์ พระชันษาได้ยี่สิบสี่ปี
            สมเด็จพระเจ้าทองผู้เป็นพระอนุชา ทั้งสองพระองค์ทำศึกรบกับสมเด็จพระแก้ว ๆ ผู้เป็นพระเรียม ๆ ให้ไปพาญวนกับพระศรีสุคนธบท กับชาวป่ากับลาวมาตั้งสกัดขัดทัพเกลี้ยกล่อมบรรดาชาวเมือง ๆ ทั้งปวงก็ยอมเข้ากับพระองค์ แล้วยกมาล้อมค่ายพระองค์ทั้งสองได้สามเดือน พระองค์ทั้งสองกับนักอิ่มหลีกหนีไปกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระแก้วฟ้าขึ้นครองราชย์ในอุดงฦาไชยต่อจากสมเด็จพระอนุชา เมื่อปี จ.ศ.๑๐๗๙ พระศรีธรรมราชากับสมเด็จพระองค์ทอง เมื่อปี จ.ศ.๑๐๘๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยารับสั่งให้เจ้าพระยาพลเทพ กับพระยาราชสุภาวดีกับไพร่พล ๑๕๐๐ นำพระองค์มาเป็นทางไมตรี ครั้นถึงเมืองปัตบอง สมเด็จพระแก้วฟ้าไม่รับเป็นทางไมตรี จ.ศ.๑๐๗๘ พระยาไทยทั้งสองนำพระองค์กลับไปกรุงศรีอยุธยา
            พระศรีธรรมราชา ทูลลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ ให้สมเด็จพระองค์ทองมาตั้งรักษาสกัดเมืองก่อนกองทัพไทยเมื่อปี จ.ศ.๑๐๗๘ พระองค์มาตั้งสกัดขัดด่าน เมืองปัตบองกับเมืองโพธิสัตว์ ชาวเมืองทั้งสองยอมอยู่กับพระองค์ สมเด็จพระแก้วฟ้าให้ยกกองทัพญวนมารบ พระองค์ต้องปืนญวนแล้วถอยมาอยู่กับคนป่าที่บ้านระซีสัน รอคอยกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา
            จ.ศ.๑๐๗๙ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ให้พระยาโกษากับพระยาเดโช นำทัพเรือเกณฑ์ไพร่พลห้าพันมารบ
            ทัพบกให้เจ้าพระยาจักรีเป็นใหญ่กับนายทัพนายกองเป็นอันมาก เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่ง พระองค์นำทัพไทยยกมา สมเด็จทองออกจากป่ารซีสันนำบรรดาชาวป่าเข้ามารบ
            ทัพเรือ พระองค์ให้ตั้งรับอยู่ ณ ค่ายบันทายมาศ กำปั่นรั่วถอยกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา
            พระศรีธรรมราชากับพระองค์ทองนำกองทัพไทยมาถึงเมืองบาโบ (เมืองบริบูรณ์) จ.ศ.๑๐๘๐ ทั้งสองพระองค์นำกองทัพไทยเข้ามาถึงอุดงฦาไชย สมเด็จพระแก้วฟ้านำไพร่พลเขมรกับญวนออกมารบกับ สมเด็จพระอนุชาทั้งสองพระองค์ กับนายทัพนายกองไทย พระองค์จึงให้ไปขอให้ถอยทัพกลับไปกรุงศรีอยุธยา แล้วจะนำดอกไม้เงินทองไปถวายเป็นเมืองขึ้น กับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  เจ้าพระยาจักรีกับแม่ทัพนายกองนำพระองค์ทั้งสองกลับไปกรุงศรีอยุธยา จ.ศ.๑๐๘๔ สมเด็จพระแก้วฟ้ามอบเวนราชสมบัติให้สมเด็จพระสัตถา ผู้เป็นพระราชบุตรครองราชย์อยู่อุดงฦาไชย ในปีนั้นตะเลิงอยู่ ณ เมืองนางแผอก คิดขบถ พระองค์ให้ไปปราบได้ พระไชยเชษฐาผู้เป็นพระไอยกา ยังสถิตอยู่เป็นอุปโยราชใหญ่ จ.ศ.๑๐๘๗ พระองค์สุรคต จ.ศ.๑๐๙๑ พระองค์ยกราชสมบัติถวายพระราชบิดา สมเด็จพระแก้วฟ้าขึ้นทรงราชย์อยู่ในอุดงฦาไชย ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช รามาอิศวรกรรมภูล ฯ ทรงราชย์ได้เจ็ดเดือนมอบเวนราชย์ให้แก่สมเด็จพระสัตถา ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี จ.ศ.๑๐๙๒ ลาวอยู่ ณ เมืองพะสูตบาพนม ตั้งตัวเป็นนักบุญธรรมชีชัน ไปฆ่าฟันพวกญวนถึงไซ่ง่อน และเมืองบาพนมด้วย พระองค์ทั้งสองให้ไปปราบนักบุญได้ จ.ศ.๑๐๙๓ เจ้าเมืองญวนโกรธ ให้ยกกองทัพมารบกับพระองค์ทั้งสองถอยทัพไปอยู่เปี่ยมแตรงแขวงเมืองสันธุก ครั้นญวนกลับไปแล้ว จึงเข้ามาอยู่อุดงฦาไชย จ.ศ.๑๐๙๔ เจ้าเมืองญวนยกกองทัพมาอีกครั้ง เสด็จทั้งสองถอยไปอยู่เปี่ยมกะเบาแขวงเมืองสันธุก ครั้นญวนกลับไปแล้วจึงเข้ามาอยู่ ณ เมืองละแวก
            พระไชยเชษฐา สุรคตเมื่อปี จ.ศ.๑๐๙๗ พระชันษาได้ ห้าสิบหกปี
            พระศรีธรรมราชา และสมเด็จพระองค์ทองผู้เป็นอนุชาได้สร้างเจดีย์ด้วยดีบุกปิดทองสูงเก้าวา และเจ็ดวาตามลำดับ แล้วออกผนวชองค์ละสองครั้งแล้วลาผนวช
            นักอิ่ม ออกผนวชสองครั้งในปี จ.ศ.๑๐๘๘ และ ๑๐๙๓ ต่อมาในปี จ.ศ.๑๐๙๗ สมเด็จพระราชบิดาให้พระนามเรียก สมเด็จพระศรีธรรมราชาแล้วพระองค์ถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ ให้มาเป็นไมตรีกับพระบรมราชา ๆ  ไม่ยอมเป็นไมตรี พระองค์จึงค้างอยู่ ณ เมืองนางรอง แขวงเมืองนครราชสีมา
            พระบรมราชา พระสัตถา ทั้งสองพระองค์เสวยราชย์ พระองค์ไม่วางพระทัยในสมเด็จพระศรีสุชาดา ซึ่งเป็นพระอัครมเหสี กับนักโสซึ่งเป็นสมเด็จพระอุไทย นักสงวนซึ่งเป็นสมเด็จพระไชยเชษฐากับเจ้าพระยาจันทร์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระประทุมราชา ผู้เป็นพระอนุชาทั้งสามพระองค์ พระองค์จึงเสด็จไปอยู่เมืองพนมเพ็ญ แล้วจะให้คนมาล้อมฆ่าคนทั้งสี่ พระองค์ทั้งสามผู้เป็นพระอนุชาคิดกำเริบ เที่ยวเกลี้ยกล่อมบรรดาครอบครัวในเมือง ลงแวก ชาวเมืองเข้ากับพระองค์ทั้งหมด พระบรมราชาและพระสัตถาทราบเหตุ ยกทัพมารบกับสมเด็จพระอุไทย ๆ มีชัยชนะสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ ไปสกัดทัพเมืองบาพนมฟากตะวันออก สมเด็จพระประทุมราชา สกัดทัพข้างฟากตะวันตก พระองค์ทั้งสองให้ยกไปตามพระบรมราชา พระสัตถากับนักอิ่ม ผู้เป็นพระอนุชาทั้งสามพระองค์ ซึ่งหนีไปเมืองญวน
            สมเด็จพระศรีธรรมราชา ซึ่งมาจากกรุงไทยนั้น ได้เกลี้ยกล่อมชาวป่าได้มากแล้ว จึงยกมาตีเมืองนคร ฯ ยอมอยู่กับพระองค์เมื่อปี จ.ศ.๑๐๙๙
            พระศรีธรรมราชากับสมเด็จพระองค์ทอง เมื่อปี จ.ศ.๑๐๙๙ ได้ถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ เบิกให้พระองค์เสด็จมาทัพเรือมาถึงเมืองจันทบุรี เข้าถึงเมืองกำปอด กะพงรโสม
            สมเด็จพระองค์ทอง เสด็จมาอยู่เมืองนางรอง รวบรวมชาวป่ายกมาตามสมเด็จพระศรีธรรมราชา มาถึงเมืองนคร แล้วมาอยู่ใกล้เกาะสำโรงแสน สมเด็จพระมาตุฉา กับสมเด็จพระอนุชา มารับเข้ามาอยู่ในแพรกสำโรงแสน
            พระศรีธรรมราชา ยกมาแต่เมืองนคร ไปเมืองสันธุก พามาอยู่พร้อมกับพระองค์ที่แพรกสำโรงแสน สมเด็จพระองค์ทองพาไพร่พลมาอยู่ อุดงฦาไชย ออกไปรับพระศรีธรรมราชาที่เสด็จมาจากเมืองกะพงโสม เข้ามาอยู่เมืองตรัง จ.ศ.๑๑๐๐ สมเด็จพระองค์ทอง ให้สมเด็จพระอุไทยผู้เป็นราชบุตร กับสมเด็จพระศรีไชยเชษฐา ผู้เป็นภัคินีโยไปรับพระองค์ถึงเมืองเชิงกรรชุม แล้วเสด็จมาอยู่เมืองพนมเพ็ญ แล้วมาอยู่อุดงฦาไชย ขึ้นทรงราชย์อีก ทรงพระนามสมเด็จเสด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี
            สมเด็จพระองค์ทอง ขึ้นเป็นมหาอุปโยราช เรียกสมเด็จพระรามาธิบดี
            จ.ศ.๑๑๐๙ พระศรีธรรมราชาประชวรสุรคต มุขมนตรีทั้งหลายจึงถวายราชสมบัติแก่ สมเด็จพระรามาธิบดี ในปีเดียวกันนั้นพระยานเรนทร์ตกเจ้า เมืองป่าสัก คิดกำเริบฆ่าญวนตั้งตัวเป็นใหญ่เกลี้ยกล่อมไพร่พลยกไปถึงเกาะโฮมเปี่ยมแม่สอสู้รบกับญวน จ.ศ.๑๑๑๐ เมืองญวนโกรธให้แม่ทัพญวนพาพระสัตถายกมารบชนะ พระยานเรนทร์ตก แล้วเผาเรือรบแตกขึ้นไปถึงบันทายสะแดก แตกไปถึงค่ายบันทายพนมเพ็ญ ค่ายเจ้าฟ้าทะละหะเอก ค่ายบันทายมุขกำพูลจนถึงพระยาฦา สมเด็จพระรามาธิบดี กับสมเด็จพระราชบุตร กับพระภัคินีโย พระภัคินียา ออกจากบันทายเพชรเสด็จไปกรุงศรีอยุธยา
            กองทัพญวน ส่งสมเด็จพระสัตถา มาอยู่บนตำหนัก สมเด็จพระอุทัยราชา ณ บึงปลาม้าได้หกเดือนพระยากลาโหมอก พระยาสุวรรณคาโลกอก กลับมาจากสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งไปอยู่กรุงศรีอยุธยา พระยาทั้งสองมาถึงเมืองโพธิสัตว์ คิดอ่านนำไพร่พลมาสู้รบกับญวนที่ทุ่งสาปอังกาม (ทุ่งร้านแกลบอิฐ) ตามไล่ญวนมาถึงบ้านบันทายเพชร
            นักองเอง ผู้เป็นพระอนุชาสมเด็จพระสัตถานั้น ประชวรสุรคต ณ เมืองกะพงชะนัง กองทัพญวนนำสมเด็จพระสัตถาถอยกลับไปเมืองญวน และสุรคตที่เมืองญวน
            พระยากระลาโหมอก พระยาสุวรรคาโลกอก รบชนะญวนแล้วอยู่เป็นใหญ่ในเมืองบันทายเพ็ชร จึงให้มีหนังสือไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ กับสมเด็จพระรามาธิบดีให้ทรงทราบเนื้อความทุกประการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จึงตรัสใช้ให้สมเด็จพระศรีไชยเชษฐา ออกมาถึงบันทายเพ็ชร เสด็จไปครองราชย์เมื่อปี จ.ศ.๑๑๑๑ ทรงพระนามสมเด็จพระศรีไชยเชษฐาราชาธิราชบรมบพิตร แล้วพระองค์ตั้งพระยาสุวรรคาโลกอก ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ เมื่อปี จ.ศ.๑๑๑๒ แต่บรรดามุขมนตรีเกลียดชัง จึงกราบทูลหาเหตุยุแยงว่าเจ้าฟ้าทะละหะอกคิดขบถ พระศรีไชยเชษฐจึงตรัสใช้โปทีมินกับบรรดาแขกจาม ยกไปล้อมจับเจ้าฟ้าทะละหะอก
            เจ้าฟ้าทะละหะอกรู้ตัวหนีไปกรุงศรีอยุธยา แล้วพระศรีไชยเชษฐ ตั้งพระยาจักรีเภาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ จ.ศ.๑๑๑๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รับสั่งโปรดให้สมเด็จพระรามาธิบดี กับบรรดาเจ้าเขมรทุกองค์ออกมาอยู่เมืองพม่าเก่า
            สมเด็จพระอุไทยราชา ยาตราไปอยู่เมืองนครวัด จ.ศ.๑๑๑๔ เจ้าฟ้าทะละหะเอกเป็นพระเกษตรหาเหตุอยากได้เป็นใหญ่ คิดกำเริบใช้หมื่นพรหมบุตรไปชักชวนสีเลสวดอยู่ ณ เขาขะโชล ให้ยกกองทัพไปล้อมจับพระศรีไชยเชษฐด้วยเหตุอยากได้ราชสมบัติถวายนักองตน สมเด็จพระรามาธิบดีทรงทราบแล้ว ให้ล้อมจับฆ่าเสียที่เขากำแรงพนม ชรอง
            สีลสวดตั้งตนเป็นเจ้าให้คนหนึ่งมือขาดเท้าขาด ตั้งให้เป็นองค์คุลีราชยกไพร่พลสามพัน เข้ามาถึงบ้านศีศะกระบือ ณ อุดงฦาไชย พระศรีไชยเชษฐ์ใช้พระยาพิศณุโลกบีเป็นแม่ทัพยกพลไปสู้รบกับทัพสีลสวด กับองค์คุลีราช แต่สู้ไม่ได้ จึงตรัสให้พระยาโพวิสาละราชองค์ยกไปช่วยรบรั้งทัพไว้ หมื่นพรหมรู้ข่าวว่าสมเด็จพระรามาธิบดีล้อมจับบิดาตนฆ่าตายแล้ว จึงพากองทัพสีลสวดหนีกลับไปเมืองพม่าเก่า ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดี ฯ พระแก้วฟ้า พระองค์ทอง ออกรบได้ชัยชนะ จับได้สีลสวดกับองค์คุลีราชใส่กรง นำมาถึงบันทายเพ็ชร พระศรีไชยเชษฐาให้ฆ่าเสียทั้งสองคน แล้วพระองค์มาอยู่บันทายเพ็ชร
            จ.ศ.๑๑๑๕ สมเด็จพระอุไทยราชาประชวรพระยอดสุรคต สมเด็จพระรามาธิบดี จึงตั้งพระนามอนักองค์ตน ผู้เป็นราชนัตโตเรียกว่าสมเด็จพระอุไทยราชาเหมือนพระราชบิดา แล้วตั้งสมเด็จพระศรีสุริโยพันธ์เป็นพระมหาอุปราช จ.ศ.๑๑๑๗ สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาประชวรสุรคต บรรดามุขมนตรีพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระรามาธิบดี จ.ศ.๑๑๑๙ พระมหาอุปราชให้มาลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา
            พระโสทัตอยู่เมืองเปียม รับเอาพระอุไทยราชาไปถึงเมืองเปียม แล้วใช้พระยาโกษาลำ พระยาโนเศรษฐีดอ กับ พระยศเป็นแม่ทัพยกมารบได้เมืองตรัง เมืองบันทายมาศ เมืองไพรกะบาด เมืองนครสัปติน เมืองบาที เมืองสำโรงทอง แล้วไปสู้รบกับสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ ที่เมืองบันทายเพ็ชร
            สมเด็จพระอุไทยราชายกไพร่พลจากเมืองเปียม ตามกองทัพมาภายหลัง ถึงเมืองกระพงกะสัง ตีขึ้นมาตามลำแม่น้ำเปียม มัจรุกได้มาเป็นเมืองขึ้นทุกตำบล ยกทัพมาถึงพนมเพ็ญ
            ทัพสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ ล่าถอยเข้ามาถึงค่าย พวกพลหนีกระจัดกระจายจากกัน
            สมเด็จพระแก้วฟ้า หนีไปอยู่วัดสะแบงแปลงตัวเป็นสงฆ์ สมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ หนีไปเมืองไพรกระดี นายทัพนายกองตามจับมาได้ ฆ่าเสียทีเมืองกะพงชะนัง
            นักองค์โนนนักองค์ชี หนีไปผนวชบนพระวิหารไตรยในพระราชวังของสมเด็จพระรามาธิบดี บรรดามุขมนตรีสมเด็จพระอุไทยราชาไปจับ สมเด็จพระแก้วฟ้าให้ลาผนวชแล้วนำไปฆ่าเสีย สมเด็จพระอนุชาติสตรีผู้เป็นอัครมเหสี สมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ คิดกันกับเจ้าฟ้าทะละหะเภา พระยาวงษาธิราชโสม ยกไปลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา ๆ ล่าถอยมาถึงกระพงหลวง ลงเรือพระที่นั่งให้จัดเป็นกองทัพให้กวาด บรรดาครอบครัว เขมร จีน จาม แขก ฝรั่ง บรรดาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเข้าเกลี้ยกล่อมเป็นข้าพระองค์ทั้งสิ้น แล้วถอยมาอยู่ ณ เกาะโพพระบาท แล้วยกทัพจากโพพระบาทไปรบชนะทัพเจ้าฟ้าทะละหะเภา สมเด็จพระรามาธิบดีพร้อมทั้งพระญาติวงศ์ จากบันทายเพ็ชรไปอยู่เมืองโพธิสัตว์ จ.ศ.๑๑๑๙ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระองค์ทองถอยไปอยู่ปลายเขตแดนเมืองโพธิสัตว์ ชื่อบอระวิล ข้างตะวันออกของไพรระลือซัน
            นักองค์โนนกับนักองค์ชี หนีจากเมืองโพธิสัตว์ข้ามไปอยู่เมืองสันธุก พึ่งพระยาเดโชโสมอยู่ แม่ทัพนายกองสมเด็จพระอุไทยราชา ล้อมจับได้สมเด็จพระอนุชาติสัตรีกับสมเด็จพระองค์ทองนำมาฆ่าที่เมืองกะปงชะนัง แล้วยกไปรบทัพพระยาเดโชโสม จับได้ฆ่าเสีย แล้วล้อมจับนักองค์ชีมาฆ่าเสีย
            นักองค์โนนผู้เป็นพระรามราชาต้องขังอยู่ในกรุง ขุนนางคนหนึ่งชื่อพระปาง ลอบพาหนีไปกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระอุไทยราชาขึ้นทรงราชย์เมืองบันทายเพ็ชร เมื่อปี จ.ศ.๑๑๒๐ พระชันษายี่สิบปี ทรงพระนามพระบาทสมเด็จ พระนารายณ์ราชาธิราชรามาธิบดี ฯ จ.ศ.๑๑๒๑ เจ้ากรุงลาวให้นำพระอัฐิสมเด็จพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระราชมารดามาถวาย
            จ.ศ.๑๑๒๙ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา จับเอาพระเจ้าดอกมะเดื่อไปได้
            พระเจ้าเสสังออกรบแพ้พม่า หนีมากรุงกัมพูชา จ.ศ.๑๑๓๑ พระเจ้าตาก เป็นบุตรจีนไหหง อยู่ในกรุงศรีอยุธยารบฆ่าพม่า พม่าหนีกระจัดกระจาย จึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าในกรุงศรีอยุธยา ใช้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลพระบาทบรมบพิตร ให้คิดทำดอกไม้เงินทองไปถวายพระเจ้าตากให้เป็นทรงพระราชไมตรี พระบาทบรมบพิตรเห็นว่าเจ้าตากเป็นราษฎรตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ จะให้เรานำดอกไม้เงินทองไปถวายจะไม่สมควร พระองค์ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น พระเจ้าตากกริ้วนัก จึงให้พระเจ้าอยู่หัววังหน้า เมื่อยังเป็นที่เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้นำสมเด็จพระรามกับบรรดาแม่ทัพนายกอง ครองไพร่พลยกมาถึงเมืองพระมหานครวัด พระบาทบรมบพิตรให้พระยากลาโหมปาง เป็นแม่ทัพใหญ่ออกไปต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ พระยากลาโหมปางตายในที่รบ ไพร่พลแตกหนีไป กองทัพไทยมีชัยชนะแล้วกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระบาทบรมบพิตรเมตตานักองค์ธรรมผู้เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระแก้วฟ้า ยกขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชบรมบพิตร
            จ.ศ.๑๑๓๒ สมเด็จพระโสทัต ผู้เป็นใหญ่ในเมืองเปียม คิดตามอำเภอใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรัง ยกทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่ เมืองจันทบุรี พวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ จ.ศ.๑๑๓๓ พระเจ้าตากคิดจัดเกณฑ์ไพร่พลให้เจ้าพระยายมราช เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกมาถึงเมืองบางคาน ตามทางบกถึงเมืองนครวัดปัตบอง เข้าถึงเมืองโพธิสัตว์
            พระเจ้าตากจัดทัพเรือ ใช้สำเภาเภตรานาวาใหญ่น้อย นำสมเด็จพระรามมาถึงเมืองเปียม มารบไล่พระโสทัต หนีไปอยู่เมืองตึกเขมา พระบาทบรมบพิตร ก็พาพระมเหสีกับบรรดาหญิง พระสนมกับบริวารชายหญิงมาขึ้นท่าอยู่บนพระที่นั่งนาวา เดินทางออกจากค่าย บรรดาครัวราษฎรทั้งหลายหนีลงเรือตามแห่พระองค์ไปถึง เมืองตะโลงโขดบดอันเจียน แต่ครัวบางพวกก็แวะซ่อนอยู่ในเกาะสะอันลงระสือ (ว่าวังไผ่) ชวนกันตัดไม้ไผ่ปักทำเป็นรั้วอยู่ล้อมเปี่ยมตะแอก
            พระเจ้าตากกับสมเด็จราม ตีเมืองเปียมแตกแล้ว ยกทัพเรือเข้าถึงเมืองพนมเพ็ญ ออกไปทะเลราดเซียม ยกตามเข้าไปจับเอาทาสชายหญิง ทรัพย์สิ่งของบรรดาครอบครัวที่ซุ่มซ่อนอยู่ ณ บึงมักสะ บรรดากองทัพไทยบ้างก็ยกลงไปตามครัวหลวงถึงเปียมเบ็ญจพรรณในเพลากลางคืน พบกับทัพพระยายมราชทอยต้อนครัวอยู่ภายหลัง ครั้งนั้นเจ้าเวียดนามทรงเมตตาให้องญวนเป็นแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นมาถึงทัพพระยายมราชทอย ช่วยรบมีชัยชนะ
            กองทัพไทยถอยกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา ไว้แต่ไทย ๕๐๐ ให้รักษาสมเด็จพระรามค้างอยู่เมืองกำปอด เกลี้ยกล่อมบรรดาราษฎรเมืองบันทายมาศเชิงกรรชุม จัดเป็นทัพยกมาถึงเมืองเปียมระกา พระยายมราชทอยให้จัดไพร่พลออกไปรบกับทัพสมเด็จพระราม
            ทัพพระยายมราชไทย ยกไพร่พลมาทางบกถึงเมืองนครวัดปัตบอง ล่วงมาถึงเมืองโพธิสัตว์ กวาดบรรดาครัวราษฎรเขมรหนุ่มสาวเขมรสาวนำไปกรุงศรีอยุธยา ประมาณ หมื่นคนเศษ สิ้นคนจากบ้านเมืองเกิดกลีใหญ่ในปีเถาะ เดือนอ้าย เดือนยี่ ถึงเดือนสามพระเจ้าเสสังสุรคต พระบาทบรมบพิตรลาเจ้าเวียดนาม ออกจากบดอันเจียตะโลงโขดุเข้ามาอยู่ แพรกมัดรันโด (ว่าคลองปากหมู)
            เจ้าเวียดนามตรัสใช้องโดยจีนเป็นเบาฮอมาอยู่ประจำรักษาพระบาทบรมบพิตร จ.ศ.๑๑๓๔ พระบาทบรมบพิตรไปอยู่แพรกปักปวัด (ว่าคลองบางเชือกหนัง) ใช้พระองค์นักด้วง ผู้เป็นสมเด็จพระองค์แก้วให้ไปเป็นทางพระราชไมตรีพูดจากับแม่ทัพแม่กองไทย ให้งดเสียอย่ารบกันให้เอ็นดูกับอาณาประชาราษฎรด้วย แม่ทัพแม่กองไทยก็ยินยอมพร้อมใจแล้วนำพระองค์แก้วเข้าปถึงกรุงศรีอยุธยา ขึ้นกราบทูลแก่พระเจ้าตาก จะขอเป็นทางพระราชไมตรีตามธรรมเนียมแต่บุราณ ครั้งนั้นพระเจ้าตากไม่ไว้ใจเชื่อ ให้ทำโทษองค์แก้วใส่คุก จ.ศ.๑๑๓๕ พระบาทบรมบพิตรมีแม่นางชื่อนักนางไชย สมภพพระราชบุตรองค์หนึ่ง ทรงพระนามนักองเอง จ.ศ.๑๑๓๖ พระองค์ไปอยู่ที่เกาะจีน พระองค์แก้วขอมารดากับภรรยาบุตรไปกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นพระเจ้าตากเชื่อว่าซื่อตรงจริง ให้ถอดออกจากโทษโปรดให้ขึ้นเฝ้าโดยปกติ
            พระบาทบรมบพิตร เห็นว่าสมเด็จพระรามทำสงครามครั้งนี้ด้วยอยากได้ราชสมบัติ ควรที่จะมอบเวนราชสมบัติถวาย อาณาประชาราษฎรทุกประเทศจะได้ความสุข จ.ศ.๑๑๓๗ พระองค์จึงให้พระมหาสังฆราช นำพระราชไมตรีไปแต่เมืองกำปอด เข้ามาถึงเมืองบันทายเพชร มอบเวนราชสมบัติถวายสมเด็จพระรามผู้เป็นพระอนุชา ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระรามราชาธราชบรมบพิตร
            พระบาทบรมบพิตร ผู้เป็นสมเด็จพระเรียมนั้น อยู่เป็นมหาอุปโยราช แบ่งบรรดาขุนทหารสำหรับที่จะทรงราชถวายพระรามราชา
            ขุนนางสำหรับที่มหาอุปราชนั้น แบ่งไปให้สมเด็จพระมหาอุปราช
            ขุนนางสำหรับที่สมเด็จพระมหาอุปโยราชนั้น พระองค์เอาไว้รักษาพระองค์โดยปกติ จ.ศ.๑๑๓๘ พระองค์ให้ช่างหล่อปืนบะเรียมเบญจรงค์กับเครื่องทำศึกไว้ ให้ตำดินดำหล่อกระสุนให้ตัดไม้ทำค่ายที่เมืองพนมเพ็ญมุขกำพูล พระองค์ไม่ยอมขึ้นแก่เมืองญวน ด้วยเมืองญวนเกิดศึกกับนักไพรไกเซิน ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่เมืองไกภู เกณฑ์ไพร่พลเข้าเป็นกระบวนทัพยกไปรบกับเจ้าเวียดนามที่เมืองเว้
            องจะแจ้เป็นใหญ่อยู่เมืองไซ่ง่อน ตั้งกองพิทักษ์รักษาบรรดาราษฎร ให้มากราบทูลสมเด็จพระรามราชา ขอเสบียงกับไพร่พลให้ไปช่วยรบไกเซินนั้น พระองค์ไม่ให้ไป องจะแจ้โกรธ ยกไพร่พลมาถึงค่ายจะโรยจังวา (ว่าแหลมทำเคย) ข้ามฟากพนมเพ็ญรบกับทัพเขมร สมเด็จพระมหาอุปโยราชบรมบพิตร ถอยไปอยู่แพรกสำโรง แสน
            ทัพญวนรบกับทัพเขมรไม่แพ้ชนะ กองทัพญวนก็กลับคืนไปเมืองญวน จ.ศ.๑๑๓๙ พระยาบวรนายกชูได้เป็นพระยาวิบุลราชคิดคดทูลสมเด็จพระมหาอุปราชว่าจะคิดลอบฆ่าพระรามราชา เอาราชสมบัติมาถวาย แต่สมเด็จพระมหาอุปราชไม่ยอม พระยาวิบุลราชกลัวความผิด กลับไปทูลสมเด็จพระรามราชาว่าสมเด็จพระมหาอุปราชคิดขบถ จึงใช้พระยาวิบุลราชไปลอบฆ่าสมเด็จพระมหาอุปราชสุรคต

บน